หลักสำคัญของการนั่งสมาธิ |
ความสบาย ความสบายเป็นหัวใจสำคัญของการเข้าถึงแหล่งความสุขภายในอีกประการหนึ่งมีลักษณะ และวิธีการสร้างอย่างไร ลักษณะของอารมณ์สบาย อารมณ์สบาย และลักษณะของความสบายกับการทำสมาธิดังนี้ 1) ความหมายของอารมณ์สบาย อารมณ์สบาย คือ การหยุด นิ่ง เฉยๆ สบายๆ โดยที่ไม่กด คำว่าสบาย เสมือนเราทานอาหารอร่อย จึงมีอารมณ์เคี้ยวและมีอารมณ์กลืน ฉันใด เมื่อเรารักษาอารมณ์สบายซึ่งเป็นอารมณ์ทางใจ เราก็จะมีอารมณ์อยากทำต่อไปเรื่อยๆ อารมณ์สบาย คือ หยุดนิ่งต่อเนื่องเรื่อยๆ เป็นอารมณ์ที่เราพึงพอใจเป็นอารมณ์ที่เราชอบ และเราสามารถรักษาอารมณ์นี้ไปได้ สามารถทำต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่เบื่อและยกเลิกกลางคัน 2) ลักษณะของความสบายกับการทำสมาธิ คำว่า สบาย คือ เฉยๆ แรกๆ จะไม่สบายจริง แต่เมื่อภาวนา (สัมมาอะระหัง)ไปเรื่อยๆ จะเข้าถึงความสบายแท้จริงในภายหลัง อารมณ์ที่สบาย คือ อารมณ์ที่พอเหมาะพอดี ไม่ตึงเกินไป โดยใช้กำลังของกล้ามเนื้อหรือกด ลูกนัยน์ตาลง สบายอารมณ์ สบายเฉยๆ เป็นอารมณ์ที่ถูกต้องและเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ความสบายเป็นเทคนิคทางธรรมชาติ เป็นศิลปะอย่างหนึ่งเป็นความรู้สึกเหมือนกับการพักผ่อน มีอารมณ์สดชื่นเมื่อได้อารมณ์สบายจะมีความรู้สึกว่า “ เวลาหมดไปอย่างรวดเร็ว ” 3) มีความสุขกับการนั่ง ลักษณะของความสบายที่ควบคู่กับการทำสมาธินั้นเป็นความสบายแบบอิสระหรือปล่อยวาง อุปมา คล้ายกับการนำผ้าเนื้อโปร่งบางเบามาตัดเป็นวงกลม นำไปวางบนฐานไม้กลม เนื้อไม้ขัดจนเนียน เป็นมันเรียบ เย็นสบาย ฐานจะมีขนาดใหญ่กว่าหรือว่าเท่าๆ กันกับผ้าก็ได้ แล้วตอกตะปูขนาดเล็กที่สุดยึดตรงกึ่งกลางผ้าแผ่นกลมนั้นไว้กับฐานเพียงจุดเดียว ผ้าเนื้อบางๆ ที่พลิ้วตัวเบาเป็นอิสระบนฐานกลมนั้น เปรียบได้กับ ความสบาย ในขณะที่ตะปูตัวน้อยตรงกลาง เปรียบเหมือน ใจที่จรดนิ่งไว้กับกลาง ปล่อยผ้าให้เป็นอิสระสบาย ให้ผ้าค่อยๆ สัมผัสความสบายของเนื้อไม้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลมที่นาบลงผ้าได้จังหวะ ผ้าทั้งผืนก็จะแนบ สนิทกับฐานไม้ได้เอง โดยไม่ต้องทากาว เราอาจเปรียบอิสระภาพของผ้าเหมือนความสบายที่ไม่ติดยึดกับอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดี หรือไม่ดี หรือเรื่องใดๆ ปล่อยทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติ หน้าที่มีเพียงวางใจไว้กับกลาง สนใจแต่กลาง โดยจะนึกให้เป็นดวงแก้ว ดวงดาว ดอกไม้ หรือองค์พระก็ได้ หายไปก็นึกใหม่โดยไม่มีอาการหงุดหงิด รำคาญ เบื่อที่นึกดวงดาวก็เปลี่ยนมานึกดอกไม้ เบื่อดอกไม้อยากได้ความสงบก็เปลี่ยนมานึกองค์พระ สลับไปสลับมาอย่างไรก็ได้แต่ต้องให้อยู่ตรงกลาง นึกอยู่ตรงกลางอย่างมั่นใจ ส่วนความมั่นใจของผู้ที่ยังไม่ชำนาญในกลาง คือ การมั่นใจไปเลยว่า ที่นึกไว้ในท้องนั้นคือ ศูนย์กลางกาย เริ่มต้นเพียงขอให้สิ่งที่นึกอยู่ในท้องเท่านั้นเป็นใช้ได้ ไม่ต้องไปคาดคั้น แต่ต้องคะเนหรือต้องทำความเข้าใจก่อนว่าศูนย์กลางกายอยู่ที่ไหน ใหม่ๆ ของการฝึกจะรู้สึกเหมือนใจตันคล้ายฐานไม้กลมๆ ที่สมมติข้างต้นไปก่อน แต่ฝึกไปอย่างสบายๆ สักระยะจะรู้สึกว่าช่องตะปูตัวเล็กที่ตอกไว้นั้นขยายได้ หรือราวกับว่าหัวตะปูที่ตอกไว้ใสกลายเป็นแก้ว หรือในหลายๆ ท่าน ราวกับตะปูทั้งตัวคล้ายถูกถอนออกไป ความสนใจในผืนผ้าไม่มีอีก ซ้ำช่องตะปูเดิมกลับกลายเป็นโพรงใสๆ ลึกลงไป บางทีช่องโพรงนั้นก็ขยายได้ บางทีก็เท่าเดิม ฝึกไปๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรเลย ทำเพียงสนใจกับกลาง ทุกอย่างปล่อยให้เป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นไปตามอำนาจของผู้รู้ภายในไม่ช้าไม่นาน ช่องโพรงนั้นจะโล่งกว้างขยายออกไปจนรู้สึกได้ เมื่อถึงเวลาหรือสภาวะดังกล่าวนี้ ความสบายภายในจะซึมซับขึ้นจากศูนย์กลางกาย เป็นความสบายที่แท้จริง ซึ่งจะแตกต่างจากความสบายภายนอกจนผู้ฝึกรู้สึกได้ ความสบายนี้จะซึมซ่านออกผสานกับความสบายภายนอกที่มีอยู่เดิม ทำให้ความสบายแผ่ไหลออกไปถ้วนทั่วทั้งเรือนกาย เป็นความสบายที่ส่งผลต่ออารมณ์ จิตใจ ร่างกาย และสุขภาพ กระนั้น เราก็จะไม่ติดอยู่กับสบายนี้ แต่รับรู้ได้ สัมผัสได้นำมาใช้ประโยชน์ได้ เมื่อถึงคราวทำสมาธิความสบายดังกล่าวนี้จะเป็นพื้นฐานในการฝึกต่อไป ใจจะถูกสอดส่งเข้าไปวางนิ่งในท่ามกลางความสบาย ยังคงสนใจแต่ศูนย์กลางกาย กลางของความรู้สึกภายใน ความสบายจะเริ่มเปลี่ยนเป็นความสงบ ความสงบ จะทบกลับให้ยิ่งสบาย เกิดเป็นความใสสว่าง หรือส่งผลให้ยิ่งหยุด ยิ่งนิ่ง เข้าไปในท่ามกลางความสงบสบาย ถึงวาระนี้ เป็นไปได้ที่สภาวธรรมภายในจะปรากฏ เช่น ปรากฏเป็นดวงใสสว่างขนาดเล็กเท่าดวงดาวแวววาวอยู่ท่ามกลางความสงบสบายในกลางตัว หรือ ขนาดกลางเท่าดวงจันทร์วันเพ็ญ เด่นใสอยู่ในกายตน หรือขนาดใหญ่กระจ่างดังดวงอาทิตย์ยามเที่ยงวันแต่เย็นสบายอยู่ในศูนย์กลางกายของตน แต่จะเป็นเช่นไร จะสว่าง จะสุกใส จะสบายเพียงไหน ย่อมต้องพอใจในสิ่งที่ทำได้ ขอให้พอใจในสิ่งที่ได้รับ และพอใจที่วางใจเบาๆ ลงไปในกลางอย่างไม่รู้เบื่อหน่าย หากสภาวธรรมปรากฏจริง เป็นของจริง เรื่องความเกียจคร้านในการปฏิบัติจะไม่มีวันเกิดขึ้น ความอึดอัดไม่มี ความทุกข์ไม่มา เพราะมนุษย์ย่อมปรารถนา ย่อมเสาะแสวงหาความสุขที่ยิ่งๆ ขึ้นไป และความสุข ความสบาย ความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในไม่มีความสุนทรีย์ภายนอกใดๆ มาเปรียบเทียบได้ หากทำได้จริง สัมผัสจริง จะไม่มีวันวิ่งหนีหายห่างจากการปฏิบัติธรรมเลย และผลแห่งการปฏิบัติธรรมจะน้อมนำทำให้ผู้ทำได้จริงมีแต่พัฒนาไปทางที่ดี ไม่ว่าจะเป็นวาจา กิริยา ความคิด และการปฏิบัติตน เพราะผู้ที่มีความสงบภายในย่อมต้องอยู่ในที่อันสงบ สะอาด ผู้มีความสบายภายใน ย่อมยังทุกอย่างรอบตนให้เกิดความสบาย กลายเป็นสัปปายะ จึงมีผู้พูดเสมอว่าจะแก้ปัญหาใดต้องแก้จากข้างในสู่ภายนอก เพราะ ” ใจ” เป็นเครื่องกำหนดเป็นเครื่องบ่งบอก และเป็นกำลังที่จะบันดาลทุกอย่างให้เป็นไป แต่การทำสมาธิเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำได้ไม่ง่ายนัก เทคนิคของการนำความสบายมาใช้ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะความสบายอย่างใจที่ตั้งมั่นจะทำให้เกิดความสงบ แล้วความสงบอย่างสบายๆ จะทำหน้าที่น้อมใจเข้าไปสู่สภาวะของสมาธิ จากนั้นสภาวะของสมาธิก็จะส่งความสบายภายในออกมาผสมผสานกับความ สบายภายนอก กลายเป็นมวลแห่งความสบายใหม่ ที่จะเป็นพื้นฐานของการทำสมาธิให้ละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป |
ความสำคัญของความสบาย พระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้กล่าวถึงความสำคัญของความสบายเอาไว้หลายประการดังนี้ คือ 1.ความสบายเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม4) 2.ความสบายเป็นหัวใจสำคัญของการเข้าถึงแหล่งความสุขภายใน 3.ความสบายเป็นสิ่งที่เมื่อนั่งสมาธิแล้วต้องเริ่มทำ ไม่ว่าจะได้ธรรมะระดับใดก็ตาม 4.ความสบายเป็นบ่อเกิดแห่งความง่ายในการเข้าถึงธรรม 5.แม้เราจะยังไม่เข้าถึงธรรมในวันนี้ แต่อารมณ์สบาย คือ ของขวัญอันยิ่งใหญ่แก่จิตใจ ซึ่งจะทำให้เราเข้าถึงธรรมกายในวันหน้า 6.พอสบายๆ ดวงแก้ว องค์พระภายในจะเกิดขึ้นจะมาเอง 7.ความสบายจะทำให้เกิดความเพลิน มีความพึงพอใจที่จะทำสมาธิต่อ คล้ายๆ กับทำอารมณ์ให้มีรสอร่อย เหมือนกับทานอาหารที่มีรสอร่อย ทำให้มีอารมณ์เคี้ยว มีอารมณ์กลืน มีอารมณ์ที่จะทำต่อไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีความรู้สึกว่าฝืน หรือพยายาม 8.อารมณ์สบายเป็นรากฐานแห่งความสำเร็จ อารมณ์เยือกเย็นเป็นบ่อเกิดแห่งความสงบภายใน ใครมีอารมณ์อย่างนี้นั่งแล้วจะมีความสุขทุกรอบ อารมณ์สบายสำคัญมากกว่าการเห็น ประเภทและระดับของความสบาย ประเภทและระดับของความสบาย5)หากจะจัดแบ่งประเภทของความสบายนั้น เราสามารถจัดแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1)ความสบายที่เราสร้างขึ้น เป็นความสบายที่เกิดจากการที่เราห่างไกล จากสิ่งของ บุคคลที่ทำให้เราไม่สบายใจ หรืออาจจะเกิดขึ้นจากการแสวงหาอารมณ์ที่ทำให้เกิดความสบาย เช่น ชมนกชมไม้ ทานอาหารถูกใจ อยู่สงบคนเดียว 2)ความสบายที่เกิดขึ้นเอง เป็นความสบายที่เกิดจากนั่งสมาธิแล้วก็เกิดขึ้นมาเอง โดยที่เราไม่ได้ไปนึกคิด ทำอะไรเลย สบายที่เกิดขึ้นเองนี้มีอยู่หลายระดับ แต่ที่ควรเข้าใจ มี 2 ระดับ คือ 1.ความสบายในระดับเบื้องต้น 2.ความสบายในระดับเบื้องลึก ความสบายในเบื้องต้น คือ สบายอยู่ในระดับที่ไม่ทุกข์ คือ ไม่ทุกข์แต่ก็ยังไม่สุข ไม่สุขไม่ทุกข์ ลักษณะอาการ คือ นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ถึงกับสุขแต่ก็ยังไม่ทุกข์ อารมณ์สบายในเบื้องต้นนี้ แบบที่คนทั่วไปเข้าใจ ว่าคือ อารมณ์เฉยๆ เปรียบเทียบเหมือนกับเราไปแบกหรือหิ้วน้ำขึ้นดอย หรือเข็นครกขึ้นภูเขา เข็นขึ้นมาเรื่อยๆ เทียบกับนั่งเฉยๆ เราจะตอบได้เลยว่า การนั่งเฉยๆ สบายกว่า นี่คือความสบายในเบื้องต้น ความสบายในเบื้องลึก คือ ความสบายที่แท้จริงซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการรักษาอารมณ์สบาย เบื้องต้นให้ต่อเนื่องกันทำอารมณ์ที่นิ่งๆ เฉยๆ ให้ต่อเนื่องกันไม่เผลอ ในที่สุดก็จะเข้าไปถึงความสบาย ที่แท้จริงซึ่งอยู่เบื้องลึก มีลักษณะอาการที่ใจเริ่มจะขยาย เริ่มจะละเอียดลงไป อาการก็คือจะโล่ง รู้สึกว่า โล่งใจ ร่างกายเหมือนจะโปร่งๆ กลืนกันไปกับธรรมชาติได้ เหมือนเป็นวัตถุที่โปร่งแสงโปร่งใส โปร่งๆ เบา เหมือนฟองสบู่ ฟองแชมพูที่เป่าเล่น จะมีอาการโล่งโปร่งเบา นั่นคือความสบายที่แท้จริงในระดับถัดไป นอกจากความสบายทั้ง 2 ระดับนี้ ถ้ายังรักษาความหยุดความนิ่งเฉย ที่เจือไปด้วยความโล่ง โปร่งเบา สบายต่อไปอีกโดยวิธีการเดิม ก็จะสบายเพิ่มขึ้นไปอีก คือ อาการที่ โล่ง โปร่ง เบา สบาย ก็ละเอียดลงไปเรื่อยๆ ขยายความรู้สึกตัวเรา จะขยายกว้างขวางออกไปเหมือนตัวพองโต ขยายออกไปจนกระทั่งไม่มีขอบเขต คำว่าไม่มีขอบเขตตอนนี้ ความรู้สึกเหมือนเราไม่มีร่างกาย ไม่มีตัวตน กลืนกันไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรรยากาศ กว้างออกไป ใจก็จะนิ่งๆ นุ่มๆ หยุดนิ่งเฉย ถ้ายังคงรักษาอารมณ์นี้ให้ต่อเนื่องต่อไปอีก โดยไม่คำนึงถึงความมืดหรือความสว่าง ไม่คำนึงว่า จะรู้จะเห็นอะไร หรือจะได้อะไร แค่รักษาอารมณ์ที่หยุดนิ่งที่มีความสบายอย่างนั้นต่อไปอีก ก็จะยิ่งสบาย เพิ่มขึ้น กายของเราก็จะสงบ ระงับ นิ่ง ความรู้สึกที่ต้องฝืนต้องพยายามนั่งเพื่อให้ได้สมาธิก็หมดไป ความราบเรียบของกายและใจเกิดขึ้น และจะนิ่งเอง ร่างกายเหมือนถูกตรึงติดอยู่กับพื้น ความสบายจะเพิ่มขึ้น จนเรามีความพึงพอใจ และความสุขก็จะมาในตอนนี้ เราจะรู้สึกว่าเป็นสุข ที่เรายอมรับว่าใจของเราเป็นสุข ปลอดกังวล ไม่มีเรื่องคน เรื่องสัตว์ เรื่องสิ่งของ คล้ายๆ กับเราอยู่คนเดียวในโลกจริงๆ เป็นตัวคนเดียว เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งหลาย จะนิ่ง นุ่มๆ ละมุนละไม ตอนนี้สบายอย่างแท้จริง เป็นความสุขที่ ละเอียดอ่อนประณีต วิธีทำใจให้สบาย 1.ทำใจหลวมๆ ให้ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ทิ้งไปให้หมด ความคิดต่างๆ ภารกิจการงาน การศึกษา เล่าเรียน เรื่องครอบครัวหรือเรื่องอะไรต่างๆ นอกเหนือไปจากนี้ ให้ปลดปล่อยวาง ทำประหนึ่งว่า เราไม่เคยพบปะสิ่งเหล่านั้นมาก่อน ไม่เคยมีความคิดกับสิ่งเหล่านี้มาก่อนเลย คล้ายๆ กับเราอยู่คนเดียวในโลก ทำใจให้ปลอดโปร่งว่างเปล่าประดุจภาชนะที่ว่างหรือความว่างของอากาศ ไม่มีความคิดอะไรเลย 2.ใจสบาย ร่างกายก็สบาย เราจะรู้สึกว่า เราจะนั่งอยู่ในท่านี้ คิดอย่างนี้ไปนานแค่ไหนก็ได้ โดยไม่มีความรู้สึกกังวลกับการเห็น ให้คิดว่าเรามานั่งเพื่อให้ใจสงบ ใจหยุดหรือใจนิ่ง ส่วนการเห็นเป็นผลพลอยได้ ไม่เห็นไม่เป็นไร เอาสบายไว้ก่อน เมื่อเราพอใจจะไม่ปวดต้นคอ ไม่มึน ไม่ซึม ไม่หงุดหงิด พระราช- ภาวนาวิสุทธิ์ได้กล่าวไว้ว่า “ หากตึง มึน ซึม เครียด ให้ปรับอารมณ์ให้สบายก่อนอย่ากลัวเสียเวลา” เมื่อปวดต้นคอ อย่าฝืนให้ลืมตาขึ้น ไปล้างหน้าล้างตา เดินเหินให้สดชื่นแล้วกลับมานั่งใหม่ หรือถ้า เมื่อยมากทนไม่ไหว เปลี่ยนอิริยาบถ ให้ลุกไปข้างนอก บิดเนื้อบิดตัวสักพัก แล้วค่อยกลับมานั่งใหม่ สิ่งที่ตามมาจากใจที่สบายกายที่สบายนั่นคือ ใจจะค่อยๆ รวมตัวหยุดนิ่ง เกิดอาการโล่ง โปร่ง เบาสบายมากขึ้น เมื่อใจสบายให้หยุดนิ่งอย่างเดียวไม่ต้องภาวนา สบายต้องคู่กับสติ ถ้าเผลอสติ สบายเหมือนกันแต่เรื่อยเปื่อย สบายต้องมีสติกำกับอย่าให้เผลอ ตรงนี้ต้องฝึกฝน บางทีสบายเกิน เผลอหลับไปเลย ต้องปรับปรุงแก้ไข ถ้าไม่ปรับจะมีแต่ฟุ้งกับหลับ ถ้าไม่แก้จะติดไปตลอดชาติ 3.ไม่คิดถึงสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัว ให้มีความรู้สึกจริงๆ ว่า เราให้อภัยทุกคนเท่ากับให้ ความสบายกับตัวของเรา ความลังเลสงสัย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ ความท้อ ความง่วง ความเคลิบเคลิ้มต้องปลดปล่อยวางให้หมด นึกถึงสิ่งที่สบายๆ จะช่วยให้ใจสบายเช่น เรื่องความดี กุศล บุญ ธรรมชาติ ฯลฯ 4.ทำใจให้แช่มชื่น เบิกบาน สะอาด บริสุทธิ์และผ่องใส 5.เมื่อสบายดวงแก้วจะใสแจ๋ว นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย แม้ว่าจะยังไม่เห็นจุดกึ่งกลางก็ตาม รู้สึก ไม่ได้ใช้กำลัง 6.ให้รักษาอารมณ์สบายก่อนที่จะนั่ง จนเกิดความรู้สึกอยากนั่ง มีความพอใจในการนั่ง เห็นไม่เห็นเป็นเรื่องรอง 7.ในการทำสมาธิ เราต้องรักษาอารมณ์สบายให้แช่มชื่นเบิกบาน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน โดยประคองใจอย่างแผ่วเบาที่ศูนย์กลางกาย ไม่คิดหวังผลใดๆ แม้ว่าเราจะประคองได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ไม่ต้องหงุดหงิด หรือกังวลใดๆ ขอเพียงให้ประคองใจสบายๆ ใจเย็น เราก็จะเข้าถึงจุดที่ปรารถนา 8.อารมณ์สบายจะต้องฝึกกันทั้งวันและทุกวัน พูดถึงเรื่องสบาย ทำเรื่องที่สบาย นึกแต่เรื่องที่สบาย แล้วอารมณ์สบายจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องฝืนหรือพยายามที่จะต้องทำ ประโยชน์ของความสบายต่อการทำสมาธิ ประการแรก ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดๆ คือ “ ความสบายทำให้ลมหายใจละเอียด” ในขณะที่ความตึง ความเครียด การใช้ความพยายาม ความตั้งใจ ทำให้ลมหายใจหยาบและติดขัด อัดแน่น เช่น หายใจแรง หายใจหอบ หายใจไม่สะดวก เหล่านี้คือสิ่งที่เรียกว่า อาการหยาบ ของลมหายใจ มีผลทำให้ใจไม่สามารถแตะหรือสัมผัสจุดศูนย์กลางได้ ถึงแตะได้ก็ไม่แนบสนิท แตะแบบตึงๆ กดๆ หรือเป็นความรู้สึก ดึงๆ รั้งๆ ไม่เกิดความรู้สึกประชิดระหว่างใจกับศูนย์กลางกาย เวลาแตะหรือนึกถึงศูนย์กลางกายไม่เกิดความสบาย ไม่รู้สึกชื่นใจ ทั้งๆ ที่ศูนย์กลางกายเป็นแหล่งที่ความสุขทั้งปวงมาไหลมาประมวลกัน ประการที่สอง ความสบายทำให้ไม่เกิดความหน่วง หรือ ติดกับกายหยาบจนส่งผลถึงอารมณ์ เช่น หงุดหงิดกับสิ่งรอบตัวจนรู้สึกร้อนไปหมด ตั้งใจ เกร็งใจจนรู้สึกแข็งเย็นอยู่ในช่องท้อง แม้กระทั่งทำให้ ไม่ต้องเหนื่อยในการที่จะต้องต่อสู้จัดการกับตัวเองให้เข้าที่เข้าทา |
*******************************************************************************
3) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 14 สิงหาคม 2533. |
4) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 24 มีนาคม 2535. |
5) พระราชภาวนาวิสุทธิ์, พระธรรมเทศนา, 24 มีนาคม 2535 - 5 กุมภาพันธ์ 2538. |
******************************************************************************
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย