อุปนิสัยของผู้ฟังที่สั่งสมมาในอดีต
ในที่นี้รวมถึงอุปนิสัยที่อาจจะเกิดขึ้นในภพก่อนๆ จนกระทั่งอุปนิสัยในปัจจุบันมีผลต่อการฟังธรรม และได้รับผลจากการฟังธรรม ว่าจะมีได้มากน้อยเพียงไร พระพุทธเจ้าได้จัดแบ่งอุปนิสัยที่สั่งสมไว้ในภพก่อนๆ ที่มีผลต่อการฟังธรรมไว้ดังนี้9) คือ
1)อุคฆฏิตัญญูบุคคล คือ บุคคลที่ตรัสรู้ธรรม ขณะที่ท่านยกหัวข้อขึ้นแสดงธรรม หมายถึง บุคคลที่เพียงแค่ยกหัวข้อธรรมขึ้นแสดง โดยที่ยังไม่ได้ทำการอธิบายในรายละเอียด ก็สามารถเข้าใจปฏิบัติตามได้ จนกระทั่งสามารถบรรลุธรรม ในที่นี้มีเรื่องของพระพาหิยเถระเป็นตัวอย่างท่านเป็นบุคคลที่ไปเข้าเฝ้าพระพุทธศาสดาขอฟังธรรมในขณะที่พระองค์กำลังเสด็จบิณฑบาต พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสห้ามถึง 3 ครั้ง ว่ายังไม่ใช่เวลาฟังธรรมแต่พาหิยะก็ได้อ้อนวอนขอให้พระองค์ทรงแสดงธรรม พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรมสั้นๆ ว่า
“ดูก่อนพาหิยะ เพราะเหตุนั้นแลท่านพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เมื่อเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟังเมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ดูก่อนพาหิยะ ท่านพึงศึกษาอย่างนี้แล ดูก่อนพาหิยะ ในกาลใดแล เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี ในกาลใด ท่านไม่มีในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้ ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”10)
เพียงเท่านี้พาหิยะก็สามารถปล่อยใจตามพุทธดำรัสจนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง นี่ก็เป็นตัวอย่างประการหนึ่งของบุคคลที่มีอุปนิสัยสั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติ เปรียบเสมือนกองไฟที่มีเชื้อ มีไฟอยู่พร้อม เหลือเพียงรอคนไปจุด ไปกระตุ้นก็สามารถสว่างพรึบติดได้เลย
2)วิปจิตัญญูบุคคล คือ บุคคลตรัสรู้ธรรม ต่อเมื่อท่านแจกแจงความโดยพิสดาร คือ ต้องมีการอธิบายขยายความจำแนกวิธีการ หัวข้อธรรมให้ละเอียดแล้วจึงจะเข้าใจ ปฏิบัติตามจนกระทั่งบรรลุธรรมได้ ดังเช่นตัวอย่าง พระปัญจวัคคีย์ได้ฟังพระศาสดาตรัสว่า ขันธ์ 5 เป็นอนัตตา แล้วทรงอธิบายว่าถ้าขันธ์ 5 เป็นอัตตาแล้วไซร้ ขันธ์ 5 นั้นก็จะไม่พึงเป็นไปเพื่อความลำบาก และจะพึงปรารถนาได้ตามใจว่า ขอจงเป็น อย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธองค์ได้อธิบาย แจกแจงให้เห็นจนกระทั่งพระปัญจวัคคีย์ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์11)
3)เนยยบุคคล คือ บุคคลตรัสรู้ธรรมตามลำดับขั้นตอน ต้องเรียน ต้องสอบถาม ต้องใส่ใจโดยแยบคาย เมื่อได้ศึกษาไตร่ตรองจนเข้าใจ จึงนำไปปฏิบัติ และบรรลุธรมได้
4)ปทปรมบุคคล คือ บุคคลฟังมาก พูดมาก ทรงจำมาก สอนมาก ยังไม่ตรัสรู้ธรรมในชาตินั้น
9) อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต, มก. เล่ม 35 หน้า 350.
10) ขุททกนิกาย อุทาน, มก. เล่ม 44 ข้อ 49 หน้า 126.
11) วินัยปิฎก มหาวรรค, มก. เล่ม 6 ข้อ 20 หน้า 52.
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย