ความสำคัญของการฟังธรรม

วันที่ 15 พค. พ.ศ.2558

ความสำคัญของการฟังธรรม

 

 เทคนิคการวางใจในขณะฟังธรรม

 

ความสำคัญของการฟังธรรม

     ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ทุกคนประกอบด้วยจิตหรือใจสิงสถิตอยู่ในตัวของเรา และใจของเรานั้น แม้ไม่อาจจะเห็นได้ด้วยตาว่าใจมีลักษณะอย่างไร อยู่ตรงไหน แต่เราก็ทราบกระบวนการทำงานของใจที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ต่างๆ คิด จดจำ และรับรู้ไว้ ทั้งนี้ใจจะมีช่องทางติดต่อ กับโลกภายนอกและทำหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยผ่านทางช่องทาง 5 ช่องทาง คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกายอารมณ์หรือสิ่งที่ผ่านเข้ามาในช่องทางทั้งห้านี้ มีความสำคัญ เพราะสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพ จิตใจของมนุษย์ได้ ไม่ว่าจะความสุข ความทุกข์ ดีใจ เสียใจ รวมไปถึงความคิด คำพูด และการกระทำ โดยเฉพาะอารมณ์ที่ผ่านมาทางหูและตา1)

     อารมณ์ที่ผ่านมาทางหู เพราะหูเป็นเพียงอวัยวะเดียวในช่องทางทั้ง 5 ที่ไม่สามารถจะสั่งให้ปิดกั้น หรือเลือกที่จะรับอะไรหรือไม่รับอะไร ต่างจากตาที่สามารถหลับได้ ถ้าได้พบอารมณ์ที่ไม่พึงพอใจ จมูกก็สามารถกั้นไม่ให้ได้กลิ่นที่ไม่น่าปรารถนาได้ ลิ้นถ้ารู้ว่าไม่ดี ไม่อร่อยก็คายทิ้งได้ สัมผัสก็สามารถเลือกที่จะสัมผัสสิ่งดีหรือไม่ดีได้ แต่หูต้องทนรับฟังสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เสียงที่ผ่านมาทางหู แล้วแปรเป็นการรับรู้จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สามารถพัฒนาจิตใจของเราให้สูงขึ้นหรือต่ำลงก็ได้ การฟังในพระพุทธศาสนานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยยกระดับจิตใจของมนุษย์ได้สูงสุดจนกระทั่งหมดกิเลส เป็นพระอรหันต์ การฟังในที่นี้ ก็คือ การฟังธรรมนั่นเอง

    ธรรมในที่นี้ หมายถึง สิ่งที่ดีงามตั้งแต่เรื่องคุณธรรม เรื่องของการทำความดี เรื่องที่ฟังแล้วทำให้ใจสูงขึ้น การฟังธรรมจึงเป็นการฟังสิ่งที่ดีงาม เพื่อจะยกใจของผู้ฟังให้ดีขึ้นสูงขึ้นและการฟังธรรมนั้น ไม่ใช่เพียงรับคำพูดของผู้แสดงธรรม แต่ยังเป็นการซึมซับเอาความสงบความรู้แจ้งที่ถ่ายทอดผ่านกระแสเสียงอันทรงธรรมมาก่อกุศลจิตในปัจจุบัน ทำนองเดียวกับคนในโลกชอบฟังดนตรีที่ตนโปรดไม่อิ่มไม่เบื่อ ผู้ปรารถนาธรรมย่อมชอบฟังธรรมจากผู้ทรงคุณบ่อยๆ มิรู้หน่ายเช่นกัน แม้จะฟัง ซ้ำแล้วสักกี่รอบก็ตามที

  ในสมัยพุทธกาล มีผู้แสดงธรรมได้อย่างยอดเยี่ยมอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมจบ จะมีผู้บรรลุธรรมขั้นต่างๆ เป็นจำนวนมาก เราจึงคุ้นเคยกับคำว่า พุทธสาวก พุทธสาวิกา อรหันตสาวก คำว่า สาวก นี้ล้วนเป็นคำที่บ่งถึง ผู้ฟัง นั่นคือ บุคคลเหล่านั้นล้วนอาศัยการฟังธรรม จึงได้บรรลุธรรมตามพระพุทธเจ้าไป ดังนั้น การฟังธรรม จึงถือเป็นสิ่งสำคัญของบุคคลที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งการฝึกฝนขัดเกลาแก้ไขนิสัยในตัวเอง และในการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุธรรม

    ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวไว้ว่า การที่ชนทั้งหลาย มีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ผู้ซึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ได้สร้างบุญในพระศาสนามากมาย ที่ได้ทำบุญเช่นนั้น ก็เพราะได้ฟังธรรม ถ้าไม่ได้ฟัง ก็หาทำได้ไม่ ท่านได้อธิบายว่า ถ้าว่ามนุษย์เหล่านี้ไม่พึงฟังธรรม เขาก็ไม่พึงถวายข้าวยาคูประมาณกระบวยหนึ่งบ้าง ภัตประมาณทัพพีหนึ่งบ้าง นอกจากนี้ เว้นพระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเสีย แม้พระสาวกทั้งหลายมีพระสารีบุตรเป็นต้น ผู้ประกอบด้วยปัญญาซึ่งสามารถนับหยาดน้ำได้ ในเมื่อฝนตกตลอดกัลป์ทั้งสิ้น2) ก็ยังไม่สามารถจะบรรลุโสดาปัตติผลเป็นต้น โดยธรรมดาของตนได้ ต่อฟังธรรมที่พระอัสสชิเถระเป็นต้น แสดงแล้ว จึงทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล และทำให้แจ้งซึ่งสาวกบารมีญาณ ด้วยพระธรรมเทศนาของพระศาสดา3) นั่นคือ แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีบุญในตัวมากพอที่จะบรรลุธรรมได้ แต่ถ้าหากยังขาดกัลยาณมิตรอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเหล่าพระสาวกคอยชี้แนะ ก็จะไม่สามารถบรรลุธรรมได้ นอกจากนี้ การฟังธรรม ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากสำหรับมนุษย์ มีพุทธพจน์ได้กล่าวไว้ว่า

 

“    กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ กิจฺฉํ มจฺจานชีวิตํ กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ กิจฺโฉ พุทฺธานมุปฺทาโท”

“    ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก, ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นอยู่ยาก,

การฟังพระสัทธรรมเป็นของยาก การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นการยาก”   4)

 

*****************************************************************************  

 1) พ.ท. ปิ่น มุทุกันต์, มงคลชีวิต ภาค 3, (กรุงเทพฯ : พับลิเคชั่น, 2519), หน้า 137.
 2) เป็นปัญญาประเภทภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการภาวนา.
 3) ขุททกนิกาย ธรรมบท, มก. เล่ม 43 หน้า 326-327.
 4) ขุททกนิกาย ธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 329.

*****************************************************************************

จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027535100777944 Mins