ประสบการณ์ต่างศาสนา3)
อุบาสิกาท่านหนึ่งเกิดในตระกูลที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เธอได้รับคำเชิญชวนให้ไปปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรมช่วงสั้น ครั้งละ 7 วัน และผู้ที่เชิญชวนก็อธิบายให้ฟังว่าการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่ใช่เป็นการจะไปทำให้เปลี่ยนแปลงศาสนาหรือขัดแย้งความเชื่อถือดั้งเดิม แต่เป็นเพียงวิธีที่ทำให้เข้าถึงความสุขภายในเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับความเชื่อใดๆ ทั้งสิ้น ใครก็ได้ที่ต้องการแสวงหาความจริงและต้องการแสวงหาความสุขที่แท้จริง ก็ไปปฏิบัติได้
อุบาสิกาท่านนี้ก็ไปปฏิบัติธรรม แต่เนื่องจากว่าเธอคุ้นเคยกับความเชื่อดั้งเดิมและไม่คุ้นเคยกับความเชื่อใหม่ ในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นเมื่อถึงคราวที่เข้าประชุมในห้องปฏิบัติ พุทธศาสนิกชนก็ก้มกราบพระอาจารย์ แต่เธอมีความรู้สึกขัดแย้ง ว่าคำสอนดั้งเดิมนั้น ห้ามไหว้พระ ทั้งๆ ที่พระเป็นคนดี เป็นผู้ที่เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เป็นผู้ให้อย่างเดียว และเป็นผู้แสวงหาความบริสุทธิ์ หาความดีตลอดชาติ ไม่เคยไปคิดจะไปเบียดเบียนใคร หรือทำให้ใครเดือดร้อน มีแต่คิดพัฒนาตัวเองให้บริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป จากความโลภ ความโกรธ ความหลง แต่ถูกสอนให้ปิดหู ปิดตากันมาอย่างนั้นตลอด ว่าของดีอย่างนี้อย่าไปไหว้ อย่าไปพบ อย่าไปเห็น ถ้าเห็นแล้วก็ให้รังเกียจ คือไม่อยากให้พบพระนั่นเอง
เธอก็ไม่ไหว้ไม่กราบ ซึ่งพระอาจารย์และทุกท่านที่ไปนั้นก็ไม่ได้ถือสาเพราะว่า เธอไม่คุ้นเคยกับ พิธีกรรม ประกอบกับข้อห้ามดั้งเดิมนั้นมีอยู่ แต่ก็ทำสมาธิภาวนาด้วยกัน แม้แต่คำภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ก็รู้สึกขัดแย้งในใจ ลำบากใจที่จะภาวนา สัมมาอะระหัง เพราะว่ายึดมั่นถือมั่นในคำสอนดั้งเดิมอยู่ กลัวจะไปผิดคำสอนแล้วเป็นบาป บาปแล้วยังไม่พอจะถูกลงโทษเสียอีก เพราะฉะนั้นก็ภาวนาในสิ่งที่ตัวเคารพ นับถืออันสูงสุด ท่านก็ภาวนาของท่านไปด้วยการระลึกนึกถึงชื่อของสิ่งที่สูงสุดนั้น
ภาวนาไปเรื่อยๆ อย่างสบายๆ ใจ ในไม่ช้าใจของท่านก็หยุดนิ่งอยู่ภายใน เข้าไปพบความสว่าง พบดวงธรรมและก็พบพระธรรมกายที่อยู่ในตัวท่าน ถึงตรงนี้เธอก็ปฏิเสธทันทีว่าไม่เอา องค์พระที่ผุดเกิดขึ้นในตัวในตัว ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีความตั้งใจเพราะรังเกียจ ไม่อยากให้ขึ้น แต่ว่าจิตของเธอมันเริ่มบริสุทธิ์ เริ่มหยุดนิ่ง ก็เข้าไปถึงสิ่งที่มีอยู่ แต่เธอไม่เข้าใจว่าสิ่งที่มีอยู่นี้มันมีอยู่ก่อนแล้ว ในตอนแรกก็ปฏิเสธ พยายามที่จะรื้อฟื้นจิตขึ้นมาสู่ระดับหยาบอีก จากละเอียดมาสู่ระดับหยาบ แต่เนื่องจากกุศลเก่าของเธอมีมากพอ ก็ตรึงเธอให้ติดอยู่กับพระธรรมกายภายในนั้นตลอดเวลา เธอก็เห็นสิ่งนั้นและก็เป็นสิ่งนั้นด้วย
ความสุขก็ทะลักพรั่งพรูออกมาอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เธอลุกออกจากห้องปฏิบัติสมาธิ แล้วก็ไปนั่งร้องไห้อยู่ข้างนอกห้อง แต่ว่าเป็นน้ำตาแห่งความปีติ เป็นน้ำตาเย็นที่หลั่งไหลออกมาด้วยความปีติ ที่ได้เข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัว พระอาจารย์ได้ไปถามเธอว่าร้องไห้ทำไม เธอก็พูดออกมาซึ่งเป็นประโยคที่น่าฟังทีเดียว บอกว่าได้ค้นพบสิ่งที่มีอยู่ในตัวของท่านเอง ได้ค้นพบแล้ว แม้ว่าจะเริ่มต้นภาวนาด้วยถ้อยคำที่ไม่ใช่สัมมา อะระหังก็ตาม และเดี๋ยวนี้ยังเป็นอยู่เลย ยังเป็นองค์พระอยู่เลย มีความสุขมาก อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต มีความปลื้มปีติ ก็ทนไม่ไหว น้ำตาจึงไหลออกมา
อีกท่านหนึ่งเกิดในตระกูลของอิสลาม เป็นมุสลิมที่เคร่งครัด ท่านมีโอกาสได้มาพบปะหลวงพ่อ หลวงพ่อได้พูดคุยกับท่านว่า “ สิ่งที่จะแนะนำนี้เป็นของกลางๆ ของโลก เป็นของกลางของโลกเหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ดวงดาว ที่ชาติไหนภาษาไหนก็ลืมตามองเห็นได้ และมีอยู่ในตัวของคุณนั่นแหละ เพราะฉะนั้นจะ ไม่ขัดแย้งกับความเชื่อถือดั้งเดิมเลย คุณเริ่มลงมือปฏิบัติเถิด” แล้วหลวงพ่อก็แนะนำให้เขาทำ โดยถามเขาว่า “ คุณนึกอะไรได้ง่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณนึกแล้วจะทำให้คุณมีปีติ มีความสุข มีความสงบได้”
เขาบอกว่า เครื่องหมายหรือสัญญลักษณ์ของศาสนา ที่นับถืออยู่ นึกแล้วมีความสุข มีปีติ มีพลังใจ คือเครื่องหมายของดาวเดือนเสี้ยว หลวงพ่อก็บอกว่า “ เอาเถอะ เอาสิ่งนั้นแหละเป็นนิมิต เป็นที่ยึดที่เกาะ ของใจของคุณ” แล้วหลวงพ่อก็ถามเขาต่อไปอีกว่า “ มีถ้อยคำอันใดที่คุณนึกแล้วมีปีติ มีความสุข มีความเบิกบาน มีพลังใจในการสร้างความดี” เขาบอกว่า ถ้อยคำที่นึกถึงพระผู้เป็นเจ้า คือพระอัลเลาะห์ นึกถึงคำนี้แล้ว ทำให้มีปีติ มีความสุข มีพลัง หลวงพ่อก็แนะนำว่า
“ คุณก็นึกถึงสัญลักษณ์ทางศาสนาของคุณ แล้วนึกภาวนาถ้อยคำว่า พระอัลเลาะห์ แต่ว่าให้นึกอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 อย่างสบายๆ คุณต้องมีวิธีการนึกที่ถูกต้อง คือ นึกอย่างสบาย นึกไว้ในกลางท้อง แล้วท่องคำภาวนาไป ทำไป ส่วนอะไรจะเกิดขึ้นเดี๋ยวคุณก็เจอเอง เจออะไรแล้วมาเล่าให้หลวงพ่อฟังหลวงพ่อจะรับฟัง ”
ท่านนั้นท่านก็นำไปปฏิบัติ ท่านก็ท่องของท่านไป ท่องไปด้วยความเคารพเลื่อมใส ในพระผู้เป็นเจ้า กับสัญญลักษณ์ทางศาสนาของท่าน ท่องไปเรื่อยๆ กระทั่งถึงจุดๆ หนึ่ง ใจมันหยุดนิ่งถูกส่วน บริกรรมนิมิต คือดาวเดือนเสี้ยวก็ดี บริกรรมภาวนาคือคำว่าพระอัลเลาะห์ก็ดี ส่งถึงที่หมาย ก็เกิดสิ่งที่สามขึ้นมา คือใจมันหยุดนิ่งกึ๊กลงไปเลย พอนิ่งถูกส่วนแล้ว แสงสว่างก็เกิดขึ้น ความสุขก็เริ่มพรั่งพรูออกมา และก็เห็นดวงใสๆ
เขาก็ดูต่อไปเพราะเขาไม่รู้เรื่องอะไรมาก่อนเลย เขาก็ดูไปเรื่อยๆ ในที่สุดองค์พระก็ผุดขึ้นมา พอองค์พระผุดเกิดขึ้นมา เขาก็ลืมตาขึ้น ปฏิเสธองค์พระ เขาบอก ไม่เอาๆ ปฏิเสธ แต่ก็เสียดายประสบการณ์ และความสุขที่ได้รับเมื่อสักครู่นี้ รู้สึกมันสบาย มีความสุขจังเลย ที่ได้เห็นแสงสว่าง เห็นดวงธรรม ก็หลับตาลงไปใหม่ พอนิ่งถูกส่วนเห็นแสงสว่างอีก เห็นดวงธรรม เดี๋ยวองค์พระมาอีกแล้ว ท่านมากันใหญ่เลยคราวนี้ เขาก็ลืมตาปฏิเสธ ไม่เอาๆๆ แต่ว่าเสียดายความสุข ก็หลับตาลงไปใหม่ ตอนแรก เกิดองค์พระขึ้นมาทีละองค์ หนักเข้า คราวนี้มาเป็นแถว มีความสุขมาก ก็เลยไปนั่งร้องไห้ แล้วก็พูดออกมาคำหนึ่งว่า สิ่งที่เห็นนี้ คือสิ่งที่มีอยู่จริงในตัว และก็มีความสุข เห็นไหม ท่านไม่ได้ท่องสัมมาอะระหังด้วยซ้ำไป ท่านท่องอัลเลาะห์ ด้วยความเลื่อมใสในศาสนาของท่าน แล้วท่านก็หยุดนิ่ง
ทั้ง 2 ตัวอย่างนี้นี่ก็เป็นตัวอย่างของผู้ปฏิบัติสมาธิ แม้ว่าจะต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา แต่ก็สามารถเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวได้เช่นเดียวกัน เพราะว่าธรรมะภายในเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว รอการพิสูจน์จากทุกๆ คน ให้ได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง
จากที่ได้ยกมาให้ดูทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างประสบการณ์การเข้าถึงธรรมของนักปฏิบัติธรรมหลายๆ ท่านเพื่อให้นักศึกษาสมาธิได้เห็นแนวทางว่าบุคคลที่เข้าถึงฝั่งแห่งใจหยุดนิ่ง มีวิธีการอย่างไร จะได้นำมาเป็นแนวทางในการฝึกตนเอง และเป็นกำลังใจในการปฏิบัติธรรมต่อไป
--------------------------------------------------------------------------
3)พระเทพญาณมหามุณี, พระธรรมเทศนา, 2 กุมภาพันธ์ 2540.
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย