ความใจเย็นกับการเห็นภาพภายใน

วันที่ 10 มิย. พ.ศ.2558

ความใจเย็นกับการเห็นภาพภายใน

      ในการเห็นภาพภายใน ผู้ปฏิบัติจะค่อยๆ เห็นมาตามลำดับ ดังนั้น ในการปฏิบัติให้ได้ผลดี ผู้ปฏิบัติต้องมีความใจเย็น คือ มีความรู้สึกเกิดขึ้นมาในใจว่า เรามีหน้าที่ที่จะภาวนาเราไปเรื่อยๆ จะนึกออกหรือไม่ออก จะเห็นหรือไม่เห็นก็ไม่เป็นไร และเมื่อนึกถึงนิมิตดวงใสได้ ก็ไม่มีความกังวลว่าดวงใสจะเกิดขึ้นชัดเจนเหมือนลืมตาเห็นเมื่อไหร่ จะอีกกี่ร้อยปีหรือพันปีก็ไม่กังวล ไม่เป็นทุกข์ ไม่วิตกกังวล ไม่รำคาญใจ ไม่หงุดหงิด งุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ ไม่ช้าพอใจสบาย ใจเป็นกลางๆ ก็จะหยุดนิ่งอยู่ภายในเอง

      ใจเย็น ใจหยุด ใจบริสุทธิ์ ทำใจให้หยุดนิ่ง เฉยๆ สบายๆ และให้มีเสียงภาวนาออกมาจากในท้องว่า สัมมา อะระหังๆ นิมิตไม่ต้องสนใจ ให้หยุดนิ่งเป็นพอแล้วอย่าไปกังวลว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ไม่เป็นไร ไม่ต้องคิด ให้เอาใจหยุดนิ่งดูเฉยๆ ส่วนดวงแก้วไม่ใสก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องคิดอะไรอีกเช่นกัน ดูเฉยๆ ไม่ต้องคิดอะไร อย่าฝืน ให้ปล่อยไปเรื่อยๆ ใจหยุดนิ่งอย่างเดียวนิมิตหายก็ช่าง ดวงแก้วมีเป็นล้านๆ ดวง ให้วางใจ เฉยๆ หยุดกับนิ่งเฉยๆ แม้ว่าทางจะอยู่ข้างหน้าก็ตาม สังเกตอารมณ์สบาย อารมณ์เย็นๆ ไปบังคับไม่ถูกวิธี ให้ปล่อยใจเรื่อยๆ ภาวนาเรื่อยๆ ว่า สัมมา อะระหัง ใจสบายๆ ใจเย็นๆ ถ้านึกแล้วไม่สบายก็ให้วางเฉยๆ นึกเฉยๆ เดี๋ยวแสงสว่างก็มาเอง ดวงแก้วก็มาเอง

      อย่าละทิ้งคำว่า อย่างสบายๆ ใจเย็นๆ ใจต้องเย็น ถึงจะเห็นภาพ ถ้าใจไม่เย็นไม่เห็นภาพ ถ้าใจร้อนๆ อยากจะได้เร็วๆ เห็นเร็วๆ เป็นเร็วๆ แต่ทำผิดวิธี ไปบีบไปคั้นทั้งร่างกายทั้งจิตใจจะให้เห็นภาพ อย่างนี้ไม่เห็น แต่จะเกิดความเครียด ไม่เกิดประโยชน์อะไร ต้องค่อยๆ ประคองไป ทำไปช้าๆ


จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.055929517745972 Mins