ธุรกิจสุรากับตลาดหลักทรัพย์ เหตุผลที่ไม่ควรนำบริษัทสุรา เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตอนที่ ๑)

วันที่ 28 กค. พ.ศ.2548

 

 

 

 
....1. สุรา ไม่ใช่สินค้าธรรมดา
 
สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดาเหมือนสินค้าอื่น ๆ ทั่วไป เนื่องจากสุราเป็นสินค้าที่มีโทษมาก ตั้งแต่ความเป็นสารพิษทำลายอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมากมาย ความสามารถก่อให้เกิดอาการเมา ซึ่งทำให้เกิดการทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุตามมาอีกมากมาย ตลอดจนความสามารถก่อให้เกิดการเสพติดทำให้ต้องดื่มต่อเนื่องเลิกได้ยาก ยิ่งทำให้ปัญหาต่าง ๆ เรื้อรังยากจะเยียวยา
 
a. โทษของแอลกอฮอล์มีมากมาย ได้แก่
 
i) ความเป็นพิษ (Toxicity)
 
1. กรณีของการดื่มแบบเมาหัวราน้ำ ( ดื่มมากในเวลาสั้น ) สามารถทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบ หัวใจเต้นผิดปกติ บางครั้งทำให้เกิดความตาย
 
2. ในกรณีที่ผู้ที่ดื่มหนักอยู่แล้ว มาดื่มแบบหัวราน้ำ อาจทำให้ตับที่เสียบางส่วนกลายเป็นตับวายได้
 
3. กรณีดื่มหนักต่อเนื่อง สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เช่นมะเร็งเต้านม มะเร็งปาก มะเร็งช่องคอ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร และโรคตับแข็ง
 
4. ความเป็นพิษอื่น ๆ ได้แก่ อาจทำให้เกิดความผิดปกติหลาย ๆ ชนิด เช่น ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ , หัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ , ตับอักเสบเฉียบพลัน , ความดันโลหิตสูง ซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาเลือดไปเลี้ยงสมอง , กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง , เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ , สมองถูกทำลายแบบเฉียบพลัน เป็นต้น ; ความเป็นพิษต่อกรณีแม่ที่ดื่ม เกิดผลกลุ่มอาการผลกระทบจากแอลกอฮอล์ในเด็กทารก (Fetal Alcohol Syndrome) ซึ่งมีอาการหลายอย่าง เช่น พิการทางหู เติบโตช้า โรคหัวใจ และมีความผิดปกติของใบหน้า
 
ii) ผลกระทบจากการเมา (Intoxication)
 
ผลกระทบจากการเมาเพิ่งถูกตระหนักว่า สำคัญหลังจากมีหลักฐานมากมายซึ่งอยู่ในช่วงทศวรรษที่ 1970s หลังจากที่แต่ก่อนตระหนักเพียงว่า ปัญหาของสุราเกิดกับผู้ที่ติดสุราเท่านั้น
 
ผลกระทบจากการเมามีหลายประการ ได้แก่
 
1. ความผิดปกติของการทำงานของจิตกับกาย (Psychomotor impairment) เช่น การทรงตัว การเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้
 
2. เวลาของปฏิกิริยาการตอบสนองยาวขึ้น เป็นตัวอย่างของการเกิดอุบัติเหตุที่ชัดเจนมาก
 
3. การตัดสินใจไม่ดี ทำให้กล้าตัดสินใจ ขับรถแบบผาดโผน เสี่ยงอันตราย
 
4. ทำให้อารมณ์เปลี่ยน และลดความรับผิดชอบต่อสังคม ทำให้เกิดโอกาสของการทะเลาะวิวาทได้มากขึ้น
 
iii) ภาวะติดสุรา (Dependence)
 
ภาวะติดสุราทำให้เกิดวงจร “ ดื่มมากทำให้ติด ติดแล้วทำให้ดื่มมาก เป็นวงจรไม่สิ้นสุด ซึ่งยิ่งดื่มมากผลกระทบก็จะมาก ทั้งจากโรคต่าง ๆ ทั้งกายและจิต และผลจากการเมา
 
b) โทษของแอลกอฮอล์เหล่านี้ส่งผลกระทบหลายประการ ได้แก่ การทะเลาะวิวาท , ความรุนแรงในครอบครัว , ความรุนแรงนอกครอบครัว , อาชญากรรม , ปัญหาสุขภาพ ทั้งกายและจิตประสาท , อุบัติเหตุ ( ดังข้อมูลสถานการณ์ข้างต้น )
 
 
2. รายได้ไม่คุ้มรายจ่ายสำหรับภาครัฐ
 
a) ความเสียหายมีมากมาย เฉพาะที่คำนวณเป็นตัวเงินทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าประมาณ 33,652.5 ล้านบาท การคำนวณครั้งนี้ครอบคลุม : ค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาโรค , ต้นทุนเวลาในการบำบัดโรค , ต้นทุนเวลาในการขาดงาน , มูลค่าการสูญเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย , มูลค่าการสูญเสียชีวิต และการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ , มูลค่าการรักษาอุบัติเหตุ , มูลค่าการสูญเสียรายได้จากการรักษาอุบัติเหตุ
 
b) ที่ยังไม่ได้คำนวณเป็นตัวเงินมีอีกมากมาย ได้แก่ ความเสียหายที่เกิดกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่เกิดปัญหากับหัวหน้าครอบครัว , ความรุนแรงทางสังคม ( อาชญากรรม ) , ความสูญเสียอนาคต ( รายได้ ) จากการพิการ , ความเสียหายทรัพย์สินต่าง ๆ , และอื่น ๆ อีกมากมาย
 
c) สิ่งที่หลงเหลือกับครอบครัว สังคม และประเทศชาติ คือ การเจ็บป่วยและ / หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ , การทะเลาะวิวาท , โรคต่าง ๆ , การสูญเสียการผลิต และภาระการดูแลผู้เจ็บป่วยของครอบครัว ภาวะความเศร้าโศกเสียใจ ความเคียดแค้น , อาชญากรรม ความรุนแรง ความไม่ปลอดภัยในสังคม , ภาวการณ์เลี้ยงดูเด็กแบบไม่เหมาะสม เนื่องจากปัญหาครอบครัว ซึ่งเปรียบเสมือนการสร้างระเบิดเวลาให้สังคม
 
d) แม้รัฐได้รายได้จากภาษีสรรพสามิต เช่นในปี 2546 รัฐจัดเก็บได้จากธุรกิจสุราและเบียร์ ( ทุกยี่ห้อ ) เป็นเงิน 62,633 ล้านบาท แต่รายได้นี้ก็มาจากรายจ่าย ประชาชนไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท

e) สรุป คือ บริษัทในอุตสาหกรรมสุราได้กำไรมาก , รัฐได้กำไรร้อย , ประชาชน สังคม และประเทศชาติขาดทุนย่อยยับและเต็มไปด้วยบาดแผลของสังคม
 
ข้อมูล “ธุรกิจสุรากับตลาดหลักทรัพย์”
เรียบเรียงข้อมูล: ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.)
นำเสนอเวทีวิชาการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ 17 มีนาคม 2548)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.11202916701635 Mins