1) เวลานั่งให้นั่งอย่างมีศิลปะ ศิลปะก็คือการรู้จักทำ รู้จักใช้ เหมือนอย่างแม่ครัว ผู้มีศิลปะในการปรุงอาหารที่รู้จักปรุงอาหารให้น่าเคี้ยวน่ากิน ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ควรปรับปรุงให้ศูนย์กลางกายยอมรับ โดยให้ใจป้วนเปี้ยนอยู่ใกล้ศูนย์กลางกาย ศูนย์กลางกายก็จะคุ้นเคยและยอมรับใจของเราได้ อย่ากังวลว่าเราจะต้องเห็นความสว่าง ดวงแก้ว หรือองค์พระ แม้ว่าเราต้องการเห็นก็ตาม
2) เมื่อเห็นทางเดินให้ส่งใจไปก่อน “ เมื่อจะเข้ากลางต้องเข้าสบายๆ ถ้าเร่งจะเหนื่อย เพราะเป็นการบีบลมหายใจ การตกวูบของใจต้องให้มีสติประกอบ มิฉะนั้นใจจะหลุดจากนิมิตได้ ควรเชื่อมั่นในสิ่งที่ดี ความเชื่อมั่นจะสร้างพลังความคิด ทำพลังงานให้มีตัวตน เช่นเราเห็นดวง เห็นนิมิตเป็นแสงๆ ถ้าคิดว่าไม่ใช่สิ่งนั้นจะเลือน แต่ถ้าคิดว่าถึงอย่างไรก็เป็นของเราและทำให้เรามีความสุข ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมะทำให้เกิดสุข ถ้าเราสั่งสมความเชื่อมั่นไปเรื่อยๆ เพียงนึกอย่างเดียวก็มีตัวตน ชีวิตจิตใจถูกต้อง สัมผัสได้ ความเชื่อมั่นเป็นผลดีอย่างยิ่ง
3) เวลาเห็นองค์พระภายใน อย่าไปขัดใจท่านนะ ตามใจท่าน ดูอย่างสบายๆ อีกหน่อยท่านจะตามใจเรา ดูอย่างนี้ไปก่อน หลวงพ่อทำมาแล้ว ก็ดูไปมันก็ขัดใจเหมือนกัน เพราะเราอยากเห็นพระสวยๆ ได้ลักษณะมหาบุรุษใสเป็นเพชร ไม่มีให้ดูหรอก บางทีก็ไม่เต็มองค์ เศียรมามั่ง ขามั่ง มือมั่ง ก็อย่าไปขัดใจท่าน ใหม่ๆ เราไปเจ้ากี้เจ้าการขัดใจท่านก็ไม่ได้ผล6)
4) เพราะฉะนั้นทุกประสบการณ์ ใจต้องนิ่ง ไม่กระเพื่อมเลย ต้องนิ่งเหมือนเราเอาน้ำใส่แก้วเต็มเปี่ยมเลย จะเดินบนซุปเปอร์ไฮเวย์ ก็ไม่กระฉอก ตกหลุม ตกห้วย ตกเหว ขึ้นเขาไม่กระฉอกเลยอย่างนั้นแหละ ให้ทำอย่างนี้แหละ ประเดี๋ยวจะชัดใสแจ่ม สว่างทีเดียวอยู่ในกลางตัว7)
5) เมื่อขยับเปลี่ยนอิริยาบถ กลับมาแม้จิตหยาบกว่าเดิม ก็อย่าไปกังวลกับมัน ก็ช่างมัน ให้เริ่มต้นใหม่อย่างง่ายๆ และอย่าไปเสียดายประสบการณ์ที่ดีกว่า เปลี่ยนอิริยาบถไม่ต้องเสียดายมัน เดี๋ยวพอเราทำถูกวิธี เดี๋ยวมันก็จะไปถึงจุดตรงนั้นอีกในภายหลัง8)
-------------------------------------------------------------------------
6) , 7) , 8) พระเทพญาณมหามุณี, พระธรรมเทศนา, 9 กรกฎาคม 2540.
จากหนังสือ DOU MD 204 สมาธิ 4
เทคนิคการทำสมาธิเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย