เผยความจริง เรื่องการแก้กรรม

วันที่ 20 กค. พ.ศ.2558

 

 

เผยความจริง เรื่องการแก้กรรม


    ปัจจุบันชาวพุทธต่างสงสัยกันมากว่า “ กรรม ” แก้ไขได้จริงไหม จริงๆแล้วเราเปลี่ยนกรรมที่ทำไปแล้วในอดีตไม่ได้ เพราะได้ทำเสร็จไปแล้ว แต่ถ้าถามต่อไปว่า เราสามารถแก้ไขได้ไหม ก็ตอบว่า “ แก้ไขได้ ”
    ยกตัวอย่างการทำบาปเหมือนเติมเกลือ ทำบุญเหมือนเติมน้ำ ถ้าน้ำน้อยเกลือมาก มันก็เค็มจัด วิบากกรรมก็ส่งผลแรง แต่ถ้าเราเติมบุญคือ เติมน้ำลงไปทำให้เกลือมันเจือจาง ความเค็มก็ลดน้อยลง ทุกอย่างก็จะทุเลาเบาบาง ที่หนักก็จะผ่อนเป็นเบา ที่เบาก็หายไปเลย เป็นต้น เพราะฉะนั้นการแก้ไขวิบากกรรมในอดีต ทำได้ด้วยการสร้างบุญนั่นเอง


วิธีปฏิบัติในการแก้กรรม
    หากจะกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติในการแก้กรรมที่บอกไว้ว่า ถ้าชีวิตหม่นหมองให้ถวายเทียนเพื่อที่ชีวิตจะได้สว่างไสว อย่างนี้คือ การดึงคำมาให้คล้องจองกัน แต่ความเป็นจริงความหม่นหมองนั้น อาจจะหม่นหมองจากหลายๆเรื่อง เช่น หม่นหมองจากความมีเงินน้อยเป็นต้น
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ที่ให้ข้าวชื่อว่าให้กำลัง ผู้ที่ให้ผ้าคือให้วรรณะคือทำให้ผิวพรรณดี ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ ก็จะมีดวงตาดี ดวงตาสวย ผู้ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ผู้ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข เป็นต้น ไม่ว่าอย่างไรก็ขอให้สร้างบุญเถิด หากเราเห็นว่าวัดขาดอะไรอยู่ หรือมีอะไรที่ควรจะถวายก็จงทำเถิด จะเกิดเป็นบุญมาอุปถัมป์ค้ำชูเราทั้งนั้น


    ส่วนการถวายหนังสือธรรมะนั้นจะทำให้เรามีชีวิตที่รุ่งเรือง มีปัญญาดี ซึ่งถ้าเราถวายหนังสือธรรมะ เป็นผลให้คนทั่วไปได้ศึกษาธรรมะหรือเราให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ยากจน ให้เขาได้มีโอกาสในการศึกษาก็จะส่งผลให้เราฉลาด รวมทั้งผู้ที่ตั้งใจสวดมนต์ ทำภาวนา ฝึกเจริญสมาธิมากเข้าๆ ก็จะส่งผลให้ฉลาดเช่นกัน
    สำหรับผู้ที่ผิดศีลข้อ 1 “ ปาณาติบาต ” หมายถึง การฆ่าสัตว์ ผลคือทำให้สุขภาพไม่ดี เจ็บป่วยบ่อย เกิดอุบัติเหตุ บั่นทอนชีวิตให้มีอายุสั้น ส่วนผู้ที่ผิดศีลข้อที่ 2 “ อทินนาทาน ” เช่น ขโมยของผู้อื่น ผลคือ ทำให้ถูกขโมยขึ้นบ้านบ่อย โดนโกงสารพัด เนื่องจากชาติก่อนไปเอาของเขาไว้ แต่ก็ใช่ว่าเจ้ากรรมนายเวรคนเดิมเขามาเอาคืนเสมอไป อาจจะเป็นคนอื่นที่เกี่ยวข้อง ผูกพันกันก็เป็นได้

 

วิบากกรรมของความตระหนี่ ถี่เหนียว
ในครั้งพุทธกาล มีเศรษฐีคนหนึ่งเป็นคนขี้เหนียวมาก วิบากกรรมนี้ทำให้ตายแล้วไปเกิดเป็นลูกขอทานอยู่ในครอบครัวยากจนตั้งแต่เกิด มิหนำซ้ำพอลูกคนนี้มาเกิดอยู่ในท้องแม่ ยังไม่ทันคลอด เมื่อแม่ออกไปขอทานก็มักจะไม่ได้อะไรกลับมา ลำบากกว่าเดิมมากมาย
    พอลูกเกิดมาพ่อแม่ก็ยิ่งลำบากมากขึ้น จนสุดท้ายแม่ทนไม่ไหวบอกลูกว่า “ ลูกเอ๋ย...แม่รักเจ้า แต่ไม่ว่าแม่จะพาลูกไปที่ใดก็เกิดโชคร้ายตลอด ตอนนี้ลูกก็พอเดินได้ช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว แม่จะเอากระเบื้องให้อันหนึ่ง แล้วลูกก็ออกไปขอทานช่วยเหลือตัวเองนะ ”


    ครั้นเมื่อเด็กคนนี้ออกไปเร่ขอทาน ไม่ว่าจะไปถึงที่ใดก็เกิดความขาดแคลนตลอด ทั้งหมดนี้เกิดจากวิบากกรรมของความตระหนี่ถี่เหนียว บาทเดียวก็ไม่ให้ใคร และมักเบียดเบียนเอาจากผู้อื่นเสมอ ผลคือถึงคราวจะไปขออะไรใครก็ขอไม่ได้ โบราณเรียกว่าเป็น “ คนกาลกิณี ” คือ รอบตัวเกิดความเสื่อมโทรมไปหมด ดังนั้นเราเองอย่าตระหนี่ถี่เหนียว ให้เอื้อเฟื้อเจือจุน หมั่นทำทานถึงมีน้อยเราก็แบ่งปันกันและกัน


วิธีตัดกรรมตามหลักพระพุทธศาสนา
    เมื่อเรารู้หลักกรรมที่เกิดขึ้นว่า วิบากกรรมก่อเกิดจากสิ่งที่เราเคยทำไว้ในอดีต แล้วเกิดเป็นผลบาปอกุศลกรรมที่ส่งเป็นผลวิบากทำให้ชีวิตพบอุปสรรค จะแก้ไขก็ต้องเอาบุญแก้ เพราะฉะนั้นถึงคราวเราถ้าต้องการตัดกรรมหนัก ก็ให้ถือหลักการได้สร้างบุญโดยการให้ทานรักษาศีล เจริญภาวนา แล้วขอให้เราอยู่ในบุญรักษากาย วาจา และใจของเราให้เกาะเกี่ยวอยู่ในบุญกุศลเท่านั้นเอง


    ประการสำคัญที่มักจะละเลยกันไป คือ อย่ามัวมุ่งคิดแต่ว่าเราจะไปแก้ไขวิบากกรรมในอดีตชาติได้อย่างไร แต่ที่สำคัญคือ เราต้องระวังอย่าไปเผลอสร้างกรรมใหม่ ในปัจจุบันด้วย


อกุศลกรรม 10 อย่าง ที่ควรหลีกเลี่ยง

 ข้อที่ 1 ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทรมานสัตว์                                                                                                                               ข้อที่ 2 ไม่ลักขโมย ไม่เบียดบังทรัพย์ของใคร
ข้อที่ 3 ไม่เจ้าชู้ ผิดลูกเมียเขา
ข้อที่ 4 ไม่พูดปด
ข้อที่ 5 ไม่พูดจาส่อเสียด ยุยงทำให้คนแตกแยกกัน
ข้อที่ 6 ไม่พูดคำหยาบ พูดโจมตีผู้อื่น


เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น คนเราจึงมีโอกาสที่จะพูดคำหยาบโดยไม่ถูกโจมตีกลับซึ่งๆ หน้า เช่น การให้ความเห็นบนว็บบอร์ดต่างๆ เช่น ความเห็นท้ายข่าวในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
    เมื่อพูดไปแล้วคนอื่นไม่รู้ว่าผู้พูดเป็นใคร เราจะพบว่าการแสดงความคิดเห็นต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตนั้น มักใช้สำนวน คำพูดที่ค่อนข้างแรงกว่าในโลกของความเป็นจริง เพราะเมื่อพิมพ์อะไรลงไปแล้วผู้พิมพ์เหมือนไม่ต้องรับผิดชอบ อยากจะด่าว่าใครก็ว่าได้เลย แม้กระนั้น “ กฎแห่งกรรมก็ยังส่งผลได้เสมอ ” เราอาจจะนึกว่าไม่มีใครรู้ หรือนึกว่าเราไม่ต้องรับผลแห่งการกระทำของเรา แต่จริงๆแล้วไม่มีอะไรพ้นกฎแห่งกรรมไปได้ กฎแห่งกรรมนั้นศักดิ์สิทธิ์ และน่ากลัว ยิ่งกว่ากฎหมายบ้านเมืองเสียอีก
    โดยเฉพาะถ้าผู้ฟังเกิดเข้าใจผิด รับข่าวสารมาแล้วไม่ไตร่ตรองให้ดี นึกว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี แล้วไปผสมโรงว่ากล่าวเขา ทั้งๆที่จริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิดสักนิด แต่เผอิญเราไปหลงเชื่อตามข่าวสารที่ได้มา แล้วไปมุ่งโจมตีเขาทั้งๆที่ เรื่องราวนั้นไม่เป็นความจริง วิบากกรรมจะเกิดขึ้นหนักต่อเราเองด้วย ยิ่งถ้าประเด็นยเกี่ยวข้องกับศาสนาด้วยแล้ว เราเกิดไปตำหนิโจมตี วิจารณ์ผู้ทรงศีลเข้า สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ วิบากกรรมที่หนักด้วย
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ประทุษร้ายบุคคลผู้ที่ไม่ประทุษร้ายผลแห่งวิบากย่อมกลับมาสู่ผู้กระทำเอง เหมือนคนเอาธุลีซัดทวนลมไป เมื่อลมกำลังพัดมาเราเอาธุลีปาสวนลมไป ธุลีนั้นก็จะลอยปะทะหน้าเราเอง ผลวิบากกรรมนั้นน่ากลัวมาก คือ ตกมหานรกขุมที่ 4 มีหนอนปากเหล็กมาไชในปากเรา หนีบจนเนื้อขาดหมด แล้วยังมีเหล็กไฟร้อนแรงตกลงมาใส่ ถ้ามาเกิดเป็นคนก็จะมีฟันโยก ฟันหลุด ฟันหัก มีกลิ่นปาก มีโรคในช่องปาก อีกทั้งยังมีวิบากกรรมที่น่ากลัวอีกมากมายรอเราอยู่


ข้อที่ 7 ไม่พูดเพ้อเจ้า คือ พูดไปเรื่อยเปื่อย ฟุ้งซ่าน ไร้สาระ
ข้อที่ 8 ไม่โลภมากอยากได้ของผู้อื่น พอใจเฉพาะของตนเอง
ข้อที่ 9 ไม่อาฆาตพยาบาท คิดร้าย คิดเบียดเบียนหรือคิดแค้นจองเวรผู้อื่น
ข้อที่ 10 ไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม


แก้กรรมและการสะเดาะเคราะห์
    บทสรุป คือ เราไม่สามารถเปลี่ยนเรื่องราวในอดีตได้ แต่ว่าสามารถแก้ไขกรรมเก่าได้โดยการสร้างบุญ ส่วนในปัจจุบันนั้น เราต้องไม่นึกตอกย้ำ อดีตที่ผิดพลาดลืมไปให้หมด นึกถึงแต่เรื่องดีๆ แล้วตั้งใจทำความดีอย่างเต็มที่ อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ทำอีกอย่างเด็ดขาด ถ้าทำได้อย่างนี้แล้วละก็ ชีวิตเราเองก็จะมีความสุข มีความสว่างไสวเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เรียกได้ว่า “ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ” นั่นเอง กรรมที่ทำไปแล้ว แม้เราจะไม่สามารถเปลี่ยนกรรมนั้นได้ แต่ว่าเราก็สามารถแก้ไขได้ ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ด้วยการทำความดี เพื่อเจือจางบาปอกุศลให้เบาบางลง แล้วไม่ไปทำอะไรที่ผิดพลาดซ้ำอีก จะเรียกว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ ทำให้เคราะห์เบาลงก็ได้ การสะเดาะเคราะห์ในความหมายนี้ถือว่าถูกต้อง
    แต่ถ้าจู่ๆ ไปสะเดาะเคราะห์ด้วยการเข้าพิธีตัดนั่นตัดนี่ต่างๆ นานา ก็ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะตามหลักพระพุทธศาสนา การแก้กรรมคือ “ งดการทำบาป ตั้งใจสร้างบุญสร้างกุศล ละชั่วทำความดี ทำใจให้ผ่องใส ” เหล่านี้จึงจะถือเป็นการแก้ไขวิบากกรรมในอดีตที่ดีที่สุด


อยู่กับปัจจุบันและเชื่อในอดีต
    พุทธศาสนิกชนหลายท่านเชื่อเพียงว่าควร “ ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ” ส่วนอีกหลายท่านเชื่อเรื่องผลกรรมจากอดีต ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกันนี้ ก็ถือว่าใช้ได้ด้วยกันทั้งคู่ แต่เราต้องรับรู้ว่า สิ่งที่เราเจอในปัจจุบันล้วนมีที่มาที่ไปทั้งนั้น หากเจออะไรร้ายๆ ก็ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราโชคร้าย แล้วมัวนั่งเศร้าหดหู่ใจ แต่ให้รู้ว่าเกิดจากเหตุในอดีตที่เราเคยทำไว้ไม่ดีนั่นเอง เมื่อรู้แล้วก็ไม่ควรเพิกเฉย แก้ไขด้วยการตั้งใจทำความดีในปัจจุบันให้ดีที่สุด แล้วในขณะเดียวกันอะไรที่ไม่ดีๆ ก็ไม่ทำอีกอย่างเด็ดขาด นั่นคือ การเข้าใจอดีต แล้วก็ทำปัจจุบันให้ดีที่สุดด้วย อย่างนี้คือการเห็นถูกตลอดทั้งสาย แล้วดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องสมกับที่เป็นพุทธศาสนิกชน
    เรื่องของ “ กรรม ” เรียกได้ว่า อินเทรนด์ หลังจากที่มีหนังสือ มีรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการแก้กรรม ออกมามากมาย ก็ทำให้คนเราได้ฉุกคิดแล้วว่า ถ้าทำไม่ดีเราก็ต้องได้รับผลไม่ดีด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เราควรที่จะทำความดี เรื่องดีๆที่เราทำแล้วสบายใจก็ให้ทำไป โดยมีหลักสำคัญคือไม่ทำความชั่วเพิ่มเติมอีกในชาตินี้แล้วหมั่นสั่งสมบุญ สั่งสมบารมีเพื่อเพิ่มพูนความดียิ่งๆขึ้นไปอีก

--------------------------------------------------------------------------------------

ไขปัญหาความเชื่อ


รวบรวมหลักธรรมคำบรรยายของ "พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฆ" ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ อดีตชาติ การแก้กรรม ชีวิตหลังความตาย และข้อคิดจาดความตาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนทางสู่ความสุข ความสงบภายในจิตใจ ถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาอ่านง่าย ให้ข้อคิดอันหลากหลาย ซึ่งคุณสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี

 

http://tltpress.com/book004.html#

ซีเอ็ดบุ๊ค เซนเตอร์

ร้านนายอินทร์

ศูนย์หนังสือจุฬา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001565166314443 Mins