ข้อคิดจากความตาย

วันที่ 20 กค. พ.ศ.2558

 

ข้อคิดจากความตาย


    ประเด็นสำคัญใกล้ตัวที่ทุกคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ นั่นก็คือ เรื่องของ “ ความตาย ” นั่นเอง เพราะความตายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญในโลกใบนี้ตายไป ก็จะเกิดกระแสแห่งความโศกเศร้าเสียใจขึ้น ซึ่งก็นับว่าน่าใจหาย
    เรื่องราวของความตายเป็นสิ่งที่ใครๆไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และเป็นเรื่องราวที่ผู้คนสงสัยและตั้งคำถามขึ้นมากมายว่า “ หลังความตายนั้น เราไปไหนกัน ” “ จะไปสวรรค์ ตกนรก ” หรือ “ ตายแล้วสูญ ” และที่น่าสงสัยอีกประเด็นหนึ่งก็คือ อะไรคือตัวตัดสินว่าเราตายจริงหรือไม่จริง
    คนตายแล้วฟื้นได้จริงหรือ แล้วการทำพิธีกงเต๊ก เผาบ้านกระดาษ รถกระดาษ กับการทำบุญกรวดน้ำให้ผู้ตาย พิธีกรรมรูปแบบใดได้บุญมากกว่ากัน ความจริงแล้วบุญจะส่งผลถึงผู้ตายได้อย่างไร...?


เรื่องของความตาย
    เรื่องของความตายซึ่งเป็นเรื่องของการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ หลายท่านรู้สึกกลัวเมื่อได้ยินได้ฟังคำว่า “ ความตาย ” เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น... คนเรามักจะกลัวในเรื่องที่ตนเองไม่รู้ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอนาคตของตัวเอง เช่นตายแล้วไปไหน สูญไปหมดหรือไม่ กลัวกันไปต่างๆนานาว่า การที่ตัวเองสู้อุตส่าห์ทำงานเก็บเงินเก็บทอง สะสมเกียรติยศชื่อเสียงมาตลอดชีวิต เมื่อเราตายแล้วมันจะหายวับไปหมดเลยหรือ
    แต่ถ้าตอบว่าคนเราตายแล้ว “ ไม่สูญ ” ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดแล้วเรา จะไปเกิดที่ไหนกันล่ะ ก็ไม่มั่นใจอีก เพราะคนเราที่ทำดีไว้ก็มาก ทำไม่ดีก็มีไม่น้อย มันชักรู้สึกหวาดเสียวว่าตกลงเราจะได้กำไรหรือขาดทุน จะไปดีหรือไม่ดีกันแน่ หลายท่านเคยได้ยินได้ฟังมาว่า ถ้าเกิดไปนรกก็น่ากลัวเหมือนกัน


    สรุปก็คือ คนเราไม่รู้ว่าชีวิตหลังความตายจะเป็นอย่างไร ก็เลยทำให้เกิดความกลัวแต่ถ้ารู้แล้วเราก็จะไม่กลัว ยกตัวอย่างผู้ที่ปฏิบัติธรรมจนได้ฌานสมาบัติ ได้ญาณทัสสนะ รู้ว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ ตายแล้วจะไปไหน ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร พอรู้ว่าตายแล้วไม่สูญเราก็ยังอยู่ ซึ่งจะไปเกิดตรงไหนขึ้นอยู่กับความดี บุญบาปที่เคยทำเอาไว้ แล้วก็มั่นใจในความดีที่ตนเองทำเอาไว้ว่าเพียงพอ ตายแล้วได้ไปดีแน่ๆ อย่างนี้จะไม่ค่อยกลัวความตายไปดูเถอะ พระอรหันต์ท่านไม่ได้กลัวเลย พระอริยบุคคลทั้งหลายไม่กลัวความตาย คนที่สร้างบุญสร้างกุศลทั้งหลายไม่มีกลัว เพราะรู้ว่าตนเองจะไปดี สรุปได้ว่าคนเรานั้นกลัว “ ความไม่รู้ ” นั่นเอง


ทัศนะในการตัดสินว่าแบบไหนเรียกว่า “ ตาย ”
    มีหลายทัศนะเกี่ยวกับเรื่องของการตัดสินว่าแบบไหนเรียกว่าตาย บางท่านก็ให้ตรวจดูคลื่นสมอง บางท่านก็บอกให้ดูที่หัวใจหยุดเต้น แล้วอย่างไรล่ะถึงจะเรียกว่าบุคคลนั้นตายแน่ๆ
“ การเกิดขึ้นของชีวิต ” ในทางการแพทย์ก็มีหลายเกณฑ์เช่นกัน หมอแต่ละประเทศมีมาตรฐานการวินิจฉัยไม่เหมือนกัน กฎหมายแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน บางประเทศถือว่าคนเราตายเมื่อหัวใจหยุดเต้น บางประเทศถือว่าตายเมื่อคลื่นสมองราบ สมองหยุดทำงานเพราะเขาไม่ได้รับรู้แล้ว อย่างเช่น เจ้าหญิงนิทรา เจ้าชายนิทรา ซึ่งหลับไม่รู้เรื่องก็ถือว่าตายแล้ว ดังนั้นแต่ละประเทศจึงมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน ซึ่งเหล่านี้คือเกณฑ์การตัดสินทางโลก


    หลักทางธรรมในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ความคิดหรือ ความเชื่อ แต่เป็นเรื่องความจริง หากถามว่า เมื่อใดถึงเรียกว่าตาย คำตอบก็คือ “ เมื่อลมหยุด ” อย่างคำว่า “ สิ้นลม ” ลมหายใจหยุดเมื่อใด ก็คือ ตายนั่นเอง
    บางท่านบอกว่าจมน้ำไป หยุดหายใจไปชั่วคราว เราผายปอดไปสักพักแล้วเขาก็หายใจได้ใหม่ อย่างนี้ถือว่าตายไปแล้วหรือไม่ จริงๆคือ ลมหายใจหยุดชั่วขญะเท่านั้นยังไม่ตาย เหมือนคนเรากลั้นลมหายใจจึงถือว่ายังไม่ได้เพราะลมหายใจยังไม่ขาดจริง


    ส่วนบางคนได้ข่าวว่า เขาตายไปแล้ว จัดงานพิธีนำศพใส่โลงเรียบร้อยแล้วจู่ๆ เขาฟื้นขึ้นมาเคาะโลงเฉยเลย ญาติพี่น้องวิ่งเผ่นไปคนละทางเพราะนึกว่าถูกผีหลอก แต่พอมาเปิดโลงพบว่าเขายังไม่ตายจริงกลับฟื้นขึ้นมา ลักษณะนี้ก็มีข่าวให้ได้ยินอยู่เป็นระยะๆ ในกรณีนี้ บางจังหวะอาจเป็นลักษณะว่าเหมือนกึ่งๆ หยุดหายใจ แต่จริงๆแล้วลมละเอียดยังเดินอยู่
    หากมาดูคำตอบในเชิงปฏิบัติว่าจริงๆ เมื่อไรที่เรียกว่าตาย ตอบในเชิงปฏิบัติก็คือ เมื่อกายละเอียดหลุดจากขั้วต่อที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ที่กลางท้องนี่เอง พอหลุดขึ้นมาปุ๊บ อาการที่เราเห็นก็คือ คนใกล้ตายมักจะมีอาการคล้ายๆ กับสะอึกลมขึ้นมา 3 เฮือก เหมือนกับหายใจเข้าไปลึกๆ 3 เฮือก แล้วก็หายใจออกพร้อมกับตัวราบแน่นิ่งไป อย่างนี้คือ ตายแล้วเนื่องจากตอนนั้นกายละเอียดถอดจากขั้วต่อที่ศูนย์กลางกาย คือสิ้นชีวิตแล้ว กายละเอียดทิ้งกายหยาบไป แล้วก็ไปเกิดใหม่ตามแรงบุญแรงบาป ของตัวเองต่อไป


เตรียมตัวรับมือกับความตาย
    หากเรารู้ว่าไม่ช้าไม่นานตัวเองต้องจากโลกนี้ไปแล้ว เราจะเตรียมตัวรับมือกับความตายอย่างไร ... มีหลักง่ายๆ คือ “ หมั่นทำความดีให้มากๆ ” มีคราวหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าถามพระอานนท์ว่า “ อานนท์ เธอเจริญมรณานุสติ นึกถึงความตายบ่อยไหม ” พระอานนท์ตอบว่า “ นึกบ่อย นึกทุกวันพระเจ้าข้า ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ ยังไม่พอ จะถือว่าเป็นผู้ไม่ประมาทจริงต้องนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก ”
    หายใจเข้าแล้วไม่ออกก็ตาย หายใจออกแล้วไม่เข้าก็ตายอีกเหมือนกัน บางท่านบอกว่า ถ้ามัวแต่นั่งนึกว่า “ ตายแน่ๆ ก็ไม่ต้องทำงานอื่นกัน จริงๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่มัวแต่นั่งคิดว่า ตาย ๆๆๆ ” แต่ให้ระลึกอยู่ในใจลึกๆว่า อย่างไรเราก็ต้องตายแต่ละวินาทีที่ผ่านไป แต่ละช่วงลมหายใจที่เข้าออก ชีวิตเราเหลือน้อยลงไปทุกทีแล้ว หากรู้อย่างนี้แล้วจะได้ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปเปล่า


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้พระภิกษุทบทวนอยู่เรื่อยๆว่า “ บรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆว่า วันคืนล่วงไปๆ บัดนี้เราทำอะไรอยู่ ” เวลาผ่านไปตลอดทุกเวลาทุกนาที เราทำอะไรอยู่ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ว่าเราต้องตายแน่แล้ว จะได้ไม่ประมาทรีบขวนขวายทำความดี คนที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่า ถ้านึกถึงความตายบ่อยๆ จะทำให้เกิดความเศร้า กลายเป็นคนอมทุกข์ไปเปล่าๆ คนศาสนาอื่นที่ไม่รู้มองพุทธศาสนิกชนว่า เป็นคนอมทุกข์ทั้งหมด แต่พอได้มาเห็นชาวพุทธจริงๆกลับบอกว่าทำไมหน้าตาเบิกบานสดใสกว่าชาวตะวันตกเสียอีก


    ประเทศไทยชื่อว่าเป็นสยามเมืองยิ้มด้วยซ้ำไป ครั้นเขาสงสัยว่าเรานึกถึงความตายบ่อยๆ ทำไมไม่ทุกข์ ทำไมหน้าตายังยิ้มแย้มแจ่มใสนั่นก็เพราะเรามีทางออกถ้ารู้สึกว่าตายแน่ๆ แต่ไม่รู้ทำอย่างไรมันก็เซ็ง แต่พอรู้ว่าตายแน่แล้วทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล อย่างนี้เรียกว่ามีทางออกให้ตัวเอง หัวใจก็เบิกบาน กลายเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต
ไม่ประมาทนอนรอความตาย


    สำหรับผู้ที่รู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะต้องตายแน่ๆ อาจเพราะกำลังป่วยขั้นร้ายแรง ก็พอมีเวลาทำใจ แต่สำหรับการตายแบบปัจจุบันทันด่วน ไม่รู้ตัวมาก่อนนั้น เราก็มีวิธีเตรียมใจคือถ้ามีใครมาชวนให้เราทำความดี ชวนเข้าวัด ฟังเทศน์ฟังธรรม ก็ให้เราเร่งปฏิบัติธรรม สร้างบุญสร้างกุศลให้มาก จนกระทั่งใจของเราเกาะเกี่ยวกับเรื่องบุญกุศลได้ตลอดเวลาจึงจะเป็นวิธีการเตรียมใจที่ดีที่สุด แล้วเราจะเป็นผู้ที่ไม่กลัวความตาย ใครที่มักบอกว่างานยุ่ง ไม่มีเวลา รอแก่เกษียณอายุก่อน แล้วค่อยเข้าวัด คิดอย่างนี้ถือว่ายังประมาท ถามว่าคนอายุน้อยกว่าเราแล้วตายก่อนเรามีไหม ... ก็มี ขึ้นเครื่องบินปุ๊บปั๊บ เครื่องบินตกก็ตาย นอนอยู่ในบ้านดีๆ จู่ๆ รถวิ่งเข้ามาชนในบ้านตายก็มี นอนอยู่ในบ้านน้ำเข้ามาท่วมบ้าน สึนามิมาตายไปเลยก็มี มีทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นเราต้องไม่ประมาท


    การทำความดีนั้น อย่าผลัดวันประกันพรุ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ การผลัดเพี้ยนต่อพญามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่ ย่อมไม่มีแก่เรา ” ถึงคราวพญามัจจุราชมาทวงเอาชีวิต เราจะขอผลัดไปก่อนว่า เรายังมีธุระอยู่ ยังทำบุญไม่พอ ขอมีชีวิตอยู่ต่ออีก 7 วัน หรือ 1 เดือน นั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากมีใครมาชวนทำความดี ให้เราทำเลยอย่างเต็มที่เต็มกำลัง เรามีกำลังเท่าไรให้ทำเท่านั้น ทั้งทำทาน รักษาศีล แล้วก็ตั้งใจสวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา อย่างนี้บุญกุศลเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา และจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต
    มัจจุมารจะมาทวงชีวิตเมื่อใด เราก็พร้อมเสมอ ไม่มีปัญหา ถ้าเราทำความดีจนถึงที่สุดแล้วเราก็จะเป็นผู้ที่มัจจุมานมองไม่เห็น นั่นหมายถึง บุญเราเต็มเปี่ยมจนสามารถขจัดกิเลสมาร ไปจากใจทั้งหมดได้ เราจึงจะก้าวพ้นการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารไปสู่ชีวิตที่อมตะ คือ “ พระนิพพาน ” นั่นเอง

 

--------------------------------------------------------------------------------------

ไขปัญหาความเชื่อ
รวบรวมหลักธรรมคำบรรยายของ "พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฆ" ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ อดีตชาติ การแก้กรรม ชีวิตหลังความตาย และข้อคิดจาดความตาย เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนทางสู่ความสุข ความสงบภายในจิตใจ ถ่ายทอดด้วยสำนวนภาษาอ่านง่าย ให้ข้อคิดอันหลากหลาย ซึ่งคุณสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี


http://tltpress.com/book004.html#

ซีเอ็ดบุ๊ค เซนเตอร์

ร้านนายอินทร์

ศูนย์หนังสือจุฬา

 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010843992233276 Mins