การอ่าน...ใช่ว่าจะธรรมดา
การอ่านหนังสือมีข้อดีอย่างไรกับตัวเรา ?
หากเราไปดูหนังแล้วมีเพื่อนขอให้เราเล่าเรื่องราวของหนังให้ฟัง เราสามารถเล่าให้ฟังได้โดยไม่ต้องเตรียมตัว แต่ถ้าเพื่อนบอกให้เราใช่เขียนเล่าเนื้อเรื่องของหนัง บางทีเราอาจต้องใช้เวลาหลายๆชั่วโมง ไม่ใช่เป็นเพราะว่าต้องใช้เวลาเขียนมาก แต่เป็นเพราะว่าเวลาเราจะพูด เราคิดอะไรได้ เราก็พูดไป จะวกวนบ้างก็ไม่เป็นไร
แต่การเขียน ต้องคิดก่อนว่าต้องเขียนอย่างไร ไม่ให้ซ้ำซ้อน เนื้อความสำคัญครบ นั่นหมายถึงเวลาที่เราเขียน เราจะต้องกลั่นกรองความคิดของตนเองมากกว่าการพูด ดังนั้น ข้อดีที่เราจะได้จากการอ่านหนังสือ คือ
หนึ่ง เราจะได้รับสารที่ประณีตมากกว่าสารที่มาจากคำพูด เพราะคนที่เขียนจะต้องกลั่นกรองข้อมูลเลือกสรรลำดับถ้อยคำที่ใช้ เพื่อที่จะให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย
สอง การอ่านหนังสือ ทำให้ผู้อ่านมีเวลาคิดไตร่ตรองได้มากกว่าสื่ออื่นๆ เช่น ถ้าเราดูวิธี รายการกำลังนำเสนอสารคดี แต่เรายังไม่เข้าใจคิดตามไม่ทัน จะบอกให้เขาหยุดก่อนขอเราคิดก่อนก็ไม่ได้ เพราะเราเป็นฝ่ายรับ จะเร็วจะช้านั้นขึ้นอยู่กับผู้ส่งสาร หรือแม้กระทั่งเวลาที่เราคุยกันสองคน ถ้าไม่สนิทกันจริงๆ เราก็ไม่กล้าบอกให้เขาพูดช้าลง ยิ่งถ้าเรานั่งอยู่ในห้องบรรยาย ผู้บรรยายจะพูดช้าหรือเร็ว จะขยายละเอียดหรือย่ออย่างไรก็ได้ เราเป็นเพียงผู้รับสาร แต่การอ่านหนังสือ จะเร็วจะช้าขึ้นอยู่กับตัวเรา ถึงตอนไหนสำคัญเราอาจหยุดคิดไตร่ตรองสักครู่ จนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วค่อยอ่านต่อก็ได้ เราสามารถไตร่ตรองข้อมูลที่รับ และนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลเก่าที่เคยรู้มา แล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้
สาม เราจะได้ดูดซับความรู้ของนักเขียน ถือว่าเป็นการโตทางลัดเพราะเวลาเขียนหนังสือ ผู้เขียนจะต้องกลั่นกรองเอาความรู้ความสามารถของเขาออกมาอย่างเต็มที่ ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่เขียนโดยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถสูง เมื่อเราอ่านหนังสือเล่มนั้น เราก็สามารถดูดซับเอาแก่นความรู้ที่มันสมองระดับโลกได้กลั่นออกมาจากความรู้และประสบการณ์ของเขาทั้งชีวิตเขียนออกมาเป็นหนังสือ อาจจะใช้เวลา 5-10ปี กว่าจะตกผลึกความรู้เขียนหนังสือได้เล่มหนึ่ง ต้องเก็บข้อมูลแล้วเรียบเรียงออกมาอย่างดีที่สุด พอเราอ่านและซึมซับความรู้นั้นย่อมหมายถึงว่า ความรู้ความสามารถของคนระดับโลกถูกซึมซับมาเป็นของเรา โดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาไปนั่งคิดลองผิดลองถูกเองเป็น 10 ปี
ยิ่งถ้าเราดูดซับเอาความรู้ ของคนระดับโลกเป็นร้อยเป็นพันคนด้วยการอ่านหนังสือดีเป็นร้อยเป็นพันเล่มจะเกิดอะไรขึ้น เราจะกลายเป็นที่รวมของภูมิปัญญาระดับโลกเป็นร้อยเป็นพันคน ถือเป็นการโตทางลัด ไม่ต้องมานั่งคิดเองทุกเรื่อง นี่แหละคือประโยชน์และอานุภาพของการอ่านอ่านแล้วจะสร้างปัญญาถือว่าคุ้มค่าอย่างมหาศาล
การวัดว่า ประเทศใดเจริญมากน้อยแค่ไหน จะวัดกันที่อัตราการรู้หนังสือของคนในประเทศนั้น เพราะการที่คนๆหนึ่งรู้หนังสือกับไม่รู้หนังสือ มันก่อให้เกิดการได้เปรียบและเสียเปรียบต่างกันอย่างมหาศาล ถ้าไม่รู้หนังสือ คือ ไม่รู้แหล่งแห่งขุมปัญญาของคนอื่น การฟังอย่างเดียวจะทำให้เราเสียเปรียบ
ดังนั้น ภูมิปัญญาของสังคมหนึ่งจึงสามารถวัดได้ด้วยอัตราการรู้หนังสือ แต่ก็ยังเป็นการวัดในทางอ้อม เพราะถึงจะอ่านหนังสือออกแต่ถ้าไม่อ่าน ก็ถือว่าเราเสียเปรียบคนที่อ่านหนังสือ
ควรเลือกอ่านหนังสือแบบไหนจึงจะมีประโยชน์?
หนังสือทุกเล่มย่อมมีคุณค่าในตัวเอง แม้แต่นิยายที่เป็นเรื่องแต่งถ้าผู้แต่งเป็นคนที่มีความคิดความอ่านดี ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก เราได้อ่านแล้วถูกกระตุ้นให้หยุดคิด สามารถจับประเด็นบางแง่มุมมาใช้ได้ก็ถือว่าเราได้ประโยชน์จากการอ่านแล้ว
เช่น เรื่องผู้ชนะสิบทิศของยาขอบ เนื้อเรื่องในประวัติศาสตร์นั้นมีแค่ไม่กี่บรรทัด แต่ยาขอบขยายความออกมาได้มากมายมหาศาล ขยายทั้งอารมณ์ความรู้สึกของคน สื่อจากประสบการณ์ชีวิตของผู้เขียน เมื่อคนมาอ่านแล้ว ได้คิดในประเด็นที่ไม่เคยหยุดคิดก็ได้ประโยชน์ ยิ่งถ้าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าสูง ผู้เขียนมีภูมิปัญญามาก ประโยชน์ย่อมเกิดกับเรามากไปตามส่วน ดังนั้นอย่ามองข้ามไม่ว่าจะหนังสืออะไรก็ตาม อ่านได้ทุกประเภท แต่ต้องระวังอย่าให้เด็กอ่านหนังสือประโลมโลก เช่น เรื่องความรุนแรง หรือ เรื่องทางเพศ เพราะมันจะก่อให้เกิดผลเสียได้
ทำอย่างไรให้เป็นคนรักการอ่าน ?
สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ขอให้เริ่มอ่าน เมื่ออ่านจนติดเป็นนิสัยแล้วขอบเขตของการอ่านจะกว้างขึ้นเรื่อยๆ ง่ายที่สุด คือ ให้เริ่มอ่านสิ่งที่ชอบก่อน เช่น ถ้าเด็กๆ เขาอยากอ่านอะไร แม้จะเป็นนิยาย ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรห้ามพออ่านไปแล้วเขาจะค่อยๆพัฒนาอ่านหนังสือที่มีสาระมากขึ้นเป็นขั้นเป็นตอนไปเอง
อาตมาโชคดีที่ครอบครัวเป็นคนรักการอ่าน โยมพ่อโยมแม่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ทำให้พี่ๆทุกคนมีอัธยาศัยชอบอ่านหนังสือด้วย ตอนเด็กๆ ยังไม่เข้าโรงเรียน ยังอ่านหนังสือไม่ออก ก็จะนั่งฟังโยมแม่เล่านิทาน โยมแม่เล่านิทานเก่ง ไม่เฉพาะลูกๆ ในบ้านที่ชอบฟัง แม้แต่เด็กข้างบ้านประมาณสักทุ่มสองทุ่มก็จะมาที่บ้าน ล้อมวงนั่งฟังโยมแม่เล่านิทานจีนที่มีข้อคิดคติธรรมต่างๆ ซึ่งท่านจะมีเทคนิคคือ พอถึงตอนสำคัญๆก็จะบอกว่า วันนี้พอแค่นี้ก่อน พรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อ พอรุ่งขึ้นก็ต้องมาติดตามตอนต่อไป
ตอนนั้นจึงเกิดความรู้สึกขึ้นในใจว่า เมื่อไรที่เราจะได้เข้าโรงเรียนจะอ่านหนังสือพวกนี้เองให้หมดเลย เด็กคนอื่นไปโรงเรียนวันแรกจะร้องไห้ อาตมาไม่ร้อง อยากรู้ว่าอาจารย์จะสอนอะไร เพราะว่าอยากจะอ่านหนังสือออกเร็วๆ พออ่านหนังสือออกก็เริ่มอ่านนิทานก่อนเลย มีภาพมีการ์ตูนก็อ่านหมด ต่อมาชอบอ่านหนังสือประเภทกำลังภายใน บู๊ลิ้ม ในห้องสมุดมีกดี่เล่มอ่านหมด พอเริ่มโตจะค่อยๆพัฒนา ประมาณสัก ป.4 เริ่มอ่านขุนช้างขุนแผน แล้วก็เปาบุ้นจิ้น สามก๊ก ซ้องกั๋ง เลียดก๊ก รามเกียรติ์ มีหนังสืออะไรมาถึงมือก็อ่านไปเรื่อย พอจบ ป.4 อาตมาย้ายไปอยู่จังหวัดสกลนคร ไปเข้า ป.5 ที่นั่น คำถามแรกที่ถามเพื่อนคือ ห้องสมุดประชาชน ของจังหวัดสกลนครอยู่ที่ไหน เพื่อนไม่รู้ เด็กป.5 ไม่มีใครเขาสนใจห้องสมุดประชาชน แม้แต่ห้องสมุดโรงเรียนยังไม่ค่อยเข้ากันเลย อาตมาลองไปห้องสมุดโรงเรียนดู เห็นมีหนังสือนิดเดียว จึงพยายามหาห้องสมุดประชาชน
อาตมาก็เลยปั่นจักรยานหาเอง สังเกตหารอบเมืองอยู่ 2 วัน ในที่สุดก็พบ ห้องสมุดประชาชนเป็นห้องๆ หนึ่งซุกอยู่ในอาคารของอาสากาชาด ดีใจมาก วันเสาร์อาทิตย์ไปรอห้องสมุดเปิด พอเปิดก็เข้าไปอ่านหนังสือ ตอนเที่ยงห้องสมุดปิด เพราะบรรณารักษ์มีคนเดียว ก็ยืมหนังสือมาอ่านรอหน้าห้องสมุด นอนใต้ต้นไม้อ่าน ห่อข้าวไปทานด้วย บ่ายโมงห้องสมุดเปิดก็เข้าไปอ่านต่อ พอ 4 โมง เย็นห้องสมุดปิดก็ยืมหนังสือกลับมาอ่านที่บ้าน เป็นอย่างนี้ บางทีอ่านจนเมื่อยตา เอาน้ำแข็งมาอังตา โยมพ่อก็จะดุว่า อ่านหนังสือได้แต่ถ้าเมื่อยตาแล้วต้องพักบ้าง ห้ามเอาน้ำแข็งอังตาเดี๋ยวตาจะเสีย เราก็ครับๆ พอเผลอก็ลุยอ่านต่อ จนกระทั่งสนิทกับเจ้าหน้าที่บรรณารักษ์ วันไหนเขามาสาย เราปั่นจักรยานไปตามที่บ้านเลยบอก “ คุณลุง ได้เวลาแล้ว ” เขาก็จะหัวเราะ แล้วก็มาเปิดห้องสมุดพร้อมกัน พอมีหนังสือใหม่มาถึง เขาก็จะเก็บให้อาตมาก่อน เลยได้อ่านเป็นคนแรก ถ้าได้อ่านเป็นประจำ จะค่อยๆ ขยับจากนิทานจากการ์ตูน เป็นนิยายกำลังภายใน นิยายไทย พงศาวดารไปจนถึงหนังสืออื่นๆ หัดวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ บ่มตั้งแต่เล็ก จนกลายเป็นฐานข้อมูล เป็นประโยชน์ในการทำงาน ต่อไป โดยสรุป คือ จะฝึกให้รักการอ่าน ให้อ่านในสิ่งที่อยากอ่านก่อน แล้วจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่หนังสือประเภทอื่นๆ
ตอนที่อาตมาไปเรียนที่ญี่ปุ่น สมัยนั้นยังไม่มีอินเทอร์เน็ต หนังสือไทยไม่ค่อยมีให้อ่าน ห้องสมุดใหญ่ที่รับหนังสือพิมพ์ไทยจะสัปดาห์ละครั้ง และต้องเดินทางไปเกือบชั่วโมง อาตมาจะอ่านทุกคอลัมน์ แม้แต่โฆษณาด้วยความรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะอ่าน อ่านจบหมดแล้วก็ยังไม่จุใจ ก็ต้องหาหนังสืออื่นอ่าน ช่วงแรกยังอ่านหนังสือญี่ปุ่นไม่คล่อง ที่หอพักนักศึกษานานาชาติ เขารับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษก็พยายามเอามาอ่าน อ่านไป อ่านมาจึงเริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษคล่องขึ้น นี่คือผลจากการถูกฝึกให้อ่านหนังสือ
ดังนั้น ขอให้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเราอย่างมหาศาล เราจะดึงข้อมูลเข้ามาสะสมในตัวของเรา แล้วจะค่อยๆวิเคราะห์ข้อมูลได้เอง เมื่ออ่านมากเข้าเราจะมีรากฐานข้อมูลมากพอ เมื่อเรารับข้อมูลใหม่มาเราสามารถนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลเก่าที่เราสะสมไว้ วิเคราะห์ว่าเข้ากันได้หรือไม่ ถ้าเข้ากันไม่ได้แสดงว่าตรงนี้ผิด ซึ่งถ้าฐานข้อมูลเราไม่มากพอ รับข้อมูลเข้ามาแล้วก็จะเชื่อเขาอย่างเดียว เรามีสิทธิ์ถูกหลอก แต่ถ้าเรามีฐานข้อมูลเพียงพอ คิดวิเคราะห์เป็น จะสามารถรับข้อมูลที่ถูกต้องมาคิดวิเคราะห์ต่อไปให้ดียิ่งขึ้น
ถ้าอยากจะเป็นคนที่จับประเด็นได้เร็วเราต้องพัฒนาตัวเองอย่างไร?
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการฝึกฝน เมื่อเราอ่านมากๆ จะเกิดความชำนาญ เหมือนนักวิ่ง ถ้าฝึกวิ่งมากก็จะวิ่งเร็วขึ้น เราอ่านมากๆ ก็จะอ่านได้เร็วขึ้น จับประเด็นได้แม่นขึ้น เพราะฉะนั้นให้อ่านมาก จากนั้นให้หมั่นหยิบเอามาใช้ สรุปสิ่งที่ได้จากการอ่านว่าได้อะไร เป็นการฝึกจับประเด็นจากนั้นก็ถ่ายทอดให้คนอื่นต่อ จะเขียนหรือเล่าต่อก็ได้ ที่สำคัญให้ทำบ่อยๆ จะทำให้เป็นคนที่จับประเด็นได้เร็วขึ้น
การอ่านหนังสือช่วยให้รวยได้ไหม?
คำตอบคือ ได้ เพราะเรามีความรู้ ถ้าแบ่งโลกออกเป็น 3 ยุค ยุคที่ 1 ยุคเกษตรกรรม อาวุธในยุคนี้ คือ กำลัง ยุคที่ 2 ยุคอุตสาหกรรมอาวุธในยุคนี้ คือเงินทุน มีเงินทุนสร้างโรงงานได้ จ้างงานได้ ซื้อวัตถุดิบได้ ยุคที่ 3 ยุคข้อมูลข่าวสาร อาวุธ คือ ความรู้ เพราะคนมีความรู้สามารถนำไปสู่ความร่ำรวยแล้วนำไปสู่การมีอำนาจ ยกตัวอย่าง บิล เกตส์ ชีวิตของเขาไม่ได้ร่ำรวยมาตั้งแต่ต้น แต่เขามีความรู้จึงกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกได้ในเวลาไม่ถึง 20 ปี ซึ่งการจะได้ความรู้มานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่เราคิดได้ด้วยตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งมาจากการต่อยอดความรู้ของผู้อื่นด้วยการอ่าน
แม้นักวิชาการที่เก่งที่สุดในโลกก็ไม่ได้คิดเองทั้งหมด เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ก็ต้องไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์ วิชาฟิสิกส์ที่คนอื่นเขาคิดค้นสอนเอาไว้ เรียนรู้ด้วยกระบวนการอ่าน แล้วดูดซับข้อมูลเหล่านั้นมาขบคิดวิเคราะห์จนกระทั่งกลายเป็นความรู้ของตนเอง แล้วต่อยอดความรู้นั้นขึ้นไป สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ ดังนั้นคนที่รักการอ่านจึงมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูงกว่าผู้อื่น
ในเวลาที่จิตใจท้อแท้ เช่น วัยรุ่นมักมีปัญหาเรื่องความรัก ควรจะอ่านหนังสืออะไร?
ปัญหาของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ถ้าเวลาที่เกิดปัญหาแล้วเขาอ่านหนังสือ ก็อาจทำให้ได้รับข้อคิดสะกิดใจ พอได้คิดก็คิดได้ แล้วพอคิดได้ปมในใจก็จะคลาย ทุกข์ที่มีอยู่ก็จะหายไป อย่างประเด็นเรื่องความรัก สุนทรภู่เคยกล่าวไว้ว่า
จะหักอื่น ขืนหัก ก็จักได้
หักอาลัย นี้ไม่หลุด สุดจะหัก
สารพัด ตัดขาด ประหลาดนัก
แต่ตัดรัก นี้ไม่ขาด ประหลาดใจ
ธรรมชาติของหนุ่มสาวเมื่อผิดหวังเรื่องความรัก จะรู้สึกทุกข์ใจจนแทบจะไม่อยากอยู่ในโลกนี้ต่อไป มีตัวอย่างดาราดังระดับประเทศคนหนึ่ง มีปัญหาในเรื่องความรัก รู้สึกทุกข์เหลือเกิน จนตั้งใจว่าวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายของชีวิต กำลังตั้งใจจะลาโลกนี้ไป บังเอิญเหลือบไปที่หัวเตียงเห็นหนังสือมงคลชีวิตฉบับทางก้าวหน้าที่เพื่อนให้มา ยังไม่เคยหยิบอ่านเลย ไหนๆก็จะจากโลกนี้ไปแล้ว ได้อ่านหนังสือธรรมะพอเป็นบุญกุศลหน่อยท่าจะดี เปิดมงคลที่ 1 ไม่คบคนพาล อ่านผ่านไป 3 หน้า ความคิดที่จะจากโลกหายไปจากใจแล้ว น้ำตาแห้ง มองไปข้างหน้ากลายเป็นเห็นเส้นทางชีวิตที่สดใสสว่างไสวรออยู่ รู้แล้วว่าที่เรากลุ้มอยู่อย่างนี้เพราะไปคบคนพาล พออ่านเห็นลักษณะคนพาลแล้ว เพื่อนหนุ่มที่เคยพึงพอใจ แต่ก่อเรื่องก่อราวให้มากมาย มีลักษณะของคนพาลครบหมดทุกข้อ เลยเข้าใจทำไมเราต้องมากลุ้มอย่างนี้ ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอน ความรู้สึกที่ทั้งกลุ้มทั้งทุกข์อยู่ได้หลุดไปจากใจ ปมในใจคลายออก จากนั้นก็มาค่อยๆ ปรับตัวออกห่างจากอบายมุข
เมื่อเห็นว่ามงคลที่ 1 ดีขนาดนี้ มงคลอื่นจะเป็นอย่างไรก็ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ปฏิบัติ ค่อยๆ เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ ชีวิตก็ค่อยๆดีขึ้น ถึงกับประกาศในที่สาธารณะว่า ถ้ามีใครสนใจหนังสือเล่มนี้เขายินดีส่งให้ฟรี เพราะมั่นใจว่าจะมีประโยชน์ต่อทุกคน ที่กล่าวมานั้นไม่ใช่ทุกคนที่อ่านมงคลที่ 1 แล้วจะคลายความทุกข์ได้ เพราะคนแต่ละคนก็มีปมปัญหาไม่เหมือนกัน นี้เป็นเพียงตัวอย่างว่า ถ้าอ่านหนังสือแล้วเจอประเด็นที่ตรงกับปมทุกข์ในใจเมื่อไร สามารถแก้ปมในใจได้ปัญหาก็จะหายไป
ปัญหาเศรษฐกิจเป็นสาเหตุให้คนอ่านหนังสือน้อยลงใช่ไหม?
ถ้าดูดีๆ ปัญหาเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องรอง เพราะว่าถ้าเทียบกับเมื่อ 20-30 ปีที่แล้วนั้น เศรษฐกิจไทยตอนนี้ดีขึ้น คนไทยมีความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ดูจากรายได้ประชาชาติโดยรวมของประเทศเราสูงขึ้น แสดงว่าคนไทยมีความสามารถในการซื้อเพิ่มมากขึ้น
ถึงแม้หนังสือจะมีราคาแพงขึ้น แต่ถ้าสนใจที่จะอ่านหนังสือก็สามารถหาหนังสืออ่านได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อ เช่น เข้าห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน หรือเข้าอินเทอร์เน็ตก็มีข้อมูลหนังสือให้อ่านมากมาย ปัญหาเศรษฐกิจจึงถือเป็นปัญหารอง
ปัญหาหลักจริงๆ อยู่ที่ว่าเขาอยากจะอ่านหรือไม่ เพราะในยุคนี้มีสิ่งดึงดูดความสนใจอื่นๆ อีกมาก เช่น เกมออนไลน์ ฟังเพลง ดูหนัง และใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ เป็นต้น จึงต้องแบ่งเวลาของชีวิตไปให้เรื่องอื่นๆ ทำให้เหลือเวลาในการอ่านน้อยลง
----------------------------------------------------------------
หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/
วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ