วิธีการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน

วันที่ 03 สค. พ.ศ.2558

 

วิธีการเจริญอสุภกัมมัฏฐาน

            ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้แนะนำถึงวิธีการในการเจริญอสุภกัมมัฏฐานหลายขั้นตอน คือ ในเบื้องต้น นักปฏิบัติจะต้องเข้าไปหาอาจารย์เรียนเอาวิธีการกำหนดอสุภะ แล้วจึงเข้าไปยังสุสาน หรือสถานที่ที่มีศพอยู่ โดยในการไปอยู่ในที่นั้น มีข้อที่ควรปฏิบัติดังนี้

             วิธีการไปดูอสุภะ

1.บอกแก่พระเถระ เมื่อจะไปดูอสุภะ ควรบอกแก่พระเถระหรือพระภิกษุผู้มีชื่อเสียงรูปใดรูปหนึ่งก่อนแล้วจึงไป เพราะว่าถ้านักปฏิบัติธรรมได้พบเห็นหรือได้ยินเสียงของอมนุษย์ หรือสัตว์ร้ายอื่นๆรบกวนเอา ก็จะทำให้เกิดอาการหวาดกลัว หรือเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้นได้ พระเถระนั้น เมื่อทราบข่าว ก็จะได้คอยช่วยเหลือ ส่งคนมาดูแลรักษา อีกประการหนึ่งในที่ป่าช้าอาจมีพวกโจรที่ไปทำการโจรกรรมแล้วหนีมาแอบซ่อนตัวอยู่ หรือรีบหนีไปแล้วทิ้งทรัพย์ที่ขโมยมาทิ้งไว้ หากเจ้าของทรัพย์ หรือทางราชการติดตามมาในที่นั้น ก็จะทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่า นักปฏิบัติธรรม นั้นเป็นโจร แล้วก็จะทำการจับกุมหรือทำร้ายเอาได้ ดังนั้นการแจ้งเรื่องไว้แก่พระเถระหรือ พระภิกษุที่มีชื่อเสียง จะทำให้สามารถรอดพ้นจากข้อกล่าวหานั้นได้

 

2.สังเกตดูสภาพแวดล้อมโดยรวม เมื่อเข้าไปถึงยังสุสานแล้ว ควรพิจารณากำหนดทางที่มา ที่ไป สังเกตดูทิศต่างๆ และสังเกตดูสภาพแวดล้อมโดยรวม ว่าในที่แห่งนั้นมีอะไรบ้าง ต้นไม้อยู่ตรงนี้ มีลักษณะสูง ต่ำ เล็ก ใหญ่ สีเป็นอย่างไร เป็นต้นไม้อะไร ก้อนหินอยู่ตรงนี้ เล็ก ใหญ่ จอมปลวกอยู่ตรงนี้ เป็นจอมปลวก สูง หรือต่ำ เล็กหรือใหญ่ พุ่มไม้อยู่ตรงนี้ เป็นพุ่มเล็ก พุ่มใหญ่ สูง ต่ำ เป็นต้น การที่พิจารณาสภาพแวดล้อมโดยรอบ ท่านกล่าวว่ามีประโยชน์ เพราะหากนักปฏิบัติมายังที่พิจารณาอสุภะแล้ว ไม่กำหนดสภาพแวดล้อมโดยรอบ อาจทำให้ตระหนกตกใจในกรณีที่เห็นเงาคุ่มๆ เคลื่อนไหว คิดว่าเป็นอมนุษย์ หรือบางคนในขณะที่กำลังหลับตาดูอสุภนิมิตนั้น ร่างศพจะปรากฏขึ้นเหมือนลุกขึ้นยืน และไล่ติดตามนักปฏิบัติ เมื่อได้เห็นเช่นนั้นแล้ว อาจทำให้ สะดุ้งหวาดกลัว จิตฟุ้งซ่านเหมือนจะเป็นบ้า ดังนั้นจึงควรตั้งสติไว้ให้ดี บรรเทาความกลัว และสอนตนว่า ร่างกายของคนเราที่ตายแล้วจะลุกขึ้นติดตามไม่ได้ จริงอยู่ ถ้าก้อนหินหรือต้นไม้ที่อยู่ใกล้อสุภนิมิตนั้น จะลุกเดินมาได้ แม้ร่างศพก็จะเดินมาได้ แต่แท้จริงแล้ว ก้อนหิน หรือต้นไม้เหล่านั้นเดินมาไม่ได้ แม้ร่างศพก็เช่นเดียวกัน เดินมาไม่ได้ อาการที่ปรากฏนี้เกิดขึ้นจากสัญญา อย่ากลัวไปเลยŽ เมื่อเป็นเช่นนี้ นักปฏิบัตินั้นก็จะยังจิตให้ร่าเริง บำเพ็ญอสุภกัมมัฏฐานได้ถึงที่สุด

 

3.การพิจารณาซากศพ

 หลังจากที่ดูสภาพแวดล้อมแล้ว จึงทำการพิจารณาซากศพหรือเจริญอสุภกัมมัฏฐาน โดยมีข้อปฏิบัติในการพิจารณาคือ

3.1ผู้ปฏิบัติต้องยืนอยู่เหนือลม อย่ายืนใต้ลม เพราะกลิ่นเน่าเหม็นของศพจะรบกวน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้ผ้าปิดปาก ปิดจมูก

3.2อย่ายืนใกล้หรือไกลเกินไป เพราะถ้ายืนใกล้เกินไป จะทำให้เกิดความกลัว ยืนไกลเกินไป จะเห็นนิมิตได้ไม่ชัด ต้องยืนในระยะให้เห็นซากศพชัดเจนทั้งร่าง และควรยืนกลางลำตัวศพ อย่ายืนด้านศีรษะหรือปลายเท้าของศพ อันจะทำให้อสุภะไม่ปรากฏอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งหมด

3.3ศพที่ใช้พิจารณาควรเป็นเพศเดียวกับผู้พิจารณา คือ ถ้าผู้พิจารณาหรือเจริญอสุภกัมมัฏฐานเป็นผู้หญิงก็ควรใช้ศพเพศหญิง ถ้าเป็นชายก็ควรใช้ศพเพศชาย เพื่อ ป้องกันกามราคะที่จะเกิดขึ้นได้ นอกจากจะพิจารณาศพตามหลักไตรลักษณ์จึงจะใช้ศพเพศใดก็ได้ เช่น ในกรณีของพระกุลละเถระที่หลงรูปโฉมนางสิริมาหญิงงามเมือง ครั้นนางสิริมาสิ้นชีวิตลง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงใช้ให้พระกุลละเถระผู้มีราคจริต พิจารณาศพของนางสิริมาที่ พระภิกษุหนุ่มหลงรักจนกินไม่ได้นอนไม่หลับ จนมองเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ่ายถอนความลุ่มหลงรักใคร่ได้ในที่สุด1)

     วิธีการพิจารณาอสุภะ ด้วยอาการ 11

            ในการพิจารณาอสุภะโดยนัยของสมถะ ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้ให้หลักการในการพิจารณาไว้โดยอาการ 11 อย่าง เพื่อให้สามารถกำหนดจำภาพ ถือเอาอสุภะนั้นเป็นนิมิตได้ โดยการพิจารณานี้ท่านแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ การพิจารณาอสุภะโดยอาการ 6 และ อาการ 5

 

1.พิจารณาโดยอาการ 6 ได้แก่

1.พิจารณา สี โดยกำหนดดูว่า ศพนี้เป็นคนผิวสีอะไร เช่น ดำ ขาว หรือ เหลือง เป็นต้น

2.พิจารณา วัย โดยกำหนดดูว่า ศพนี้อยู่ในวัยใด เป็นเด็ก วัยกลางคน หรือเป็นคนชรา โดยไม่ต้องสนใจว่าเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย

3.พิจารณา สัณฐาน โดยกำหนดดูว่า สัณฐานตรงนี้ ตรงนั้น คือ ศีรษะ คอ แขน มือ ท้อง อก เอว แข้ง ขา เท้า เป็นต้น

4.พิจารณา ทิศ โดยกำหนดว่า ในร่างนี้มี 2 ทิศ คือ ตั้งแต่สะดือขึ้นไปจนถึงศีรษะเป็นส่วนบน ใต้สะดือลงมาเป็นส่วนล่าง หรืออีกนัยหนึ่ง กำหนดให้รู้ว่าเรายืนอยู่ทางทิศนี้ ซากศพอยู่ทางทิศนี้

5.พิจารณา ที่ตั้ง โดยกำหนดที่ตั้งว่า มืออยู่ตรงนี้ เท้าอยู่ตรงนี้ ศีรษะอยู่ตรงนี้ เป็นต้น หรืออีกนัยหนึ่งให้รู้ว่า เรายืนอยู่ตรงนี้ ศพอยู่ตรงนั้น

6.พิจารณา ขอบเขต ให้รู้ว่าเบื้องต่ำสุดของซากศพ คือ พื้นเท้า เบื้องบนสุดเพียงปลายผม ทั้งตัวสุดแค่ผิวหนัง เต็มไปด้วยของเน่าเหม็น 32 อย่าง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น บุคคลที่มีบุญวาสนา ได้สั่งสมการเจริญอสุภกัมมัฏฐานไว้ในอดีต เมื่อพิจารณาด้วยอาการ 6 นี้แล้ว ปฏิภาคนิมิตย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าหากปฏิภาคนิมิตไม่เกิดขึ้น ควรพิจารณาอสุภะด้วยอาการ 5 ต่อไป

 

2. พิจารณาโดยอาการ 5 ได้แก่

1.ดู ส่วนต่อ หรือ ที่ต่อ ให้รู้ว่าในสรีระร่างกายของศพมีส่วนต่อใหญ่ๆ อยู่ 14 แห่ง คือ มือขวามีที่ต่อ 3 แห่ง มือซ้ายมีที่ต่อ 3 แห่ง เท้าขวามีที่ต่อ 3 แห่ง เท้าซ้ายมีที่ต่อ 3 แห่ง คอมีที่ต่อ 1 แห่ง และเอวมีที่ต่อ 1 แห่ง

2.ให้ดู ช่อง เช่น ช่องตา ช่องหู ช่องจมูก ช่องปาก ช่องท้อง ศพหลับตาหรือลืมตา อ้าปากหรือหุบปาก

3.ให้ดู หลุม หรือส่วนที่เว้าลงไป พิจารณาดูที่หลุมตา ภายในปาก หลุมคอ เป็นต้น

4.ให้ดู ที่ดอน หรือส่วนที่นูนขึ้น โดยให้กำหนดรู้ว่าส่วนที่นูนนี้ คือ หัวเข่า คือ หน้าผาก หน้าอก เป็นต้น

5.ให้ดู ทั่วไปรอบๆ ด้านของศพ ที่ตรงไหนปรากฏชัด ก็ตั้งจิตไว้ที่ตรงนั้น พิจารณาว่าเป็นลักษณะของศพประเภทใด เช่น ความพองอืดปรากฏชัด ก็ บริกรรมว่า อุทฺธุมาตกํ ปฏิกูลํ (ศพพองอืดนี้น่าเกลียด น่าขยะแขยง) หรือเห็นศพที่มีสีเขียวคล้ำปรากฏชัด ก็บริกรรมว่า วินีลกํ ปฏิกูลํ (ศพวินีลกะ หรือศพเขียวคล้ำนี้ น่าเกลียด น่าขยะแขยง) ศพลักษณะอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่บริกรรมก็ให้ตั้งจิตกำหนดลงที่ลักษณะตรงส่วนนั้นๆ ของศพ

 

            นักปฏิบัติพึงถือเอานิมิตจากร่างศพนั้นตามวิธีการที่กล่าวมาแล้ว ลืมตาดูจับเอาเป็นนิมิต หลับตานึกถึง ร้อยครั้ง พันครั้ง นึกบ่อยๆ จนกระทั่งอสุภนิมิตปรากฏชัด หากการพิจารณาในป่าช้า ไม่สามารถทำนิมิตให้ปรากฏได้ นักปฏิบัติก็ควรกำหนดนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ ตั้งจิตไว้ในอสุภะแม้เมื่อออกจากป่าช้า ในไม่ช้านิมิตก็จะปรากฏมั่นคงขึ้นได้

 

-----------------------------------------------------------------------------

1) ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 153.

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.011764665444692 Mins