เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

วันที่ 07 สค. พ.ศ.2558

 

 เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน

            อากิญจัญญายตนฌานลาภีบุคคล ผู้ที่ได้ฝึกฝนตนเองจนชำนิชำนาญในวสีภาวะทั้ง 5 แห่งอากิญจัญญายตนฌานโดยสมบูรณ์เป็นอย่างดีแล้ว จึงจะสามารถเจริญสมถภาวนา ให้ถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้ต้องเริ่มเจริญโดยการพยายามพรากใจออกมาจาก หรือให้ก้าวล่วงจากนัตถิภาวบัญญัติ แต่ให้หน่วงเอาอากิญจัญญายตนฌานมาเป็นอารมณ์ในการบริกรรมแทน โดยบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ฌานนี้สงบหนอ ฌานนี้ประณีตหนอ หรือ สนฺตํ สนฺตํ ปณีตํ ปณีตํ สงบหนอๆ ประณีตหนอๆ เท่านี้ก็ได้

 

            ที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ เพราะอากิญจัญญายตนฌานจิตที่หน่วงเอาความไม่มีมาเป็นอารมณ์นั้น เป็นจิตมีสัญญาที่ละเอียดมากประณีตมากและสงบมากด้วย สัญญานั้น สงบและประณีตมากจนแทบจะไม่รู้สึกว่ามี เมื่อบริกรรมดังกล่าวด้วยความพยายามเรื่อยไปไม่ทอดทิ้ง จนจิตใจปราศจากความยินดี หมดความติดใจในนัตถิภาวบัญญัติ ครั้นเจริญภาวนาต่อไปจนนัตถิภาวบัญญัติ ที่เป็นนิมิต- กัมมัฏฐานแก่อากิญจัญญายตนฌานนั้นปราศไปจากจิตใจแล้ว ก้าวล่วงนัตถิภาวบัญญัติอารมณ์ซึ่งแนบแน่นในจิตใจเสียได้ในเวลาใดแล้ว เวลานั้นแหละ อากิญจัญญายตนฌาน ก็จะปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นมาแทนนัตถิภาวบัญญัติ จิตที่มีอากิญจัญญายตนฌานเป็นอารมณ์นี้เองที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน บุคคลที่ได้เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นี่แหละที่มีชื่อว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานลาภีบุคคล

ที่เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน นั้นมีความหมายว่า เป็นฌานที่ไม่มี สัญญาหยาบ มีแต่สัญญาที่ละเอียดที่ประณีต สมกับที่บริกรรมว่า สงบหนอ ประณีตหนอ อีกนัยหนึ่งมีความหมายว่า เป็นฌานที่จะว่า ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ จะว่ามีสัญญาก็ไม่ใช่ โดยมีอุปมาดังนี้คือ สามเณรทาบาตรด้วยน้ำมันแล้ว ตั้งเก็บไว้ถึงเวลาดื่มข้าวต้ม พระเถระเรียกให้นำบาตรมา สามเณรเรียนว่า

“ ในบาตรมีน้ำมัน ครับ”

พระอุปัชฌาย์            “  นำมาเถิดสามเณร ฉันจักเติมน้ำมันไว้”

สามเณรตอบว่า          “ ไม่มีครับ น้ำมัน”

 

             คำว่า น้ำมันมี ก็ใช่ เพราะมุ่งถึงความที่น้ำมันไม่ควรปนกับข้าวต้ม เพราะมันติดอยู่ในบาตร ส่วนคำว่า ไม่มี ก็ใช่ เพราะมุ่งถึงการจะใช้งานต่างๆ เช่นเติมลงในกระบอกน้ำมัน เป็นต้น คำว่า เป็นสัญญาก็มิใช่ เพราะไม่สามารถทำหน้าที่ได้ชัดแจ้ง ไม่เป็นสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะเป็นสภาพมีอยู่โดยเป็นสังขารที่ละเอียด อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนกับสามเณรเดินไปข้างหน้าพระเถระองค์หนึ่ง เมื่อเห็นน้ำ เล็กน้อยในทาง ก็เรียนว่า

 

“  น้ำครับ โปรดถอดรองเท้า”

พระเถระกล่าวว่า        “สามเณร ถ้าน้ำมี จงนำผ้าอาบมา เราจักอาบน้ำ”

สามเณรตอบว่า          “น้ำ ไม่มีครับŽ”

            คำว่า น้ำมี ก็ใช่ เพราะมุ่งถึงน้ำมีพอเปียกรองเท้า คำว่า น้ำไม่มี ก็ใช่ เพราะมุ่งถึง น้ำไม่พอจะอาบได้ แม้สัญญาก็เช่นกัน จัดว่าเป็นสัญญาก็มิใช่ เพราะไม่สามารถทำหน้าที่ให้ ชัดได้ จัดว่าไม่เป็นสัญญาก็มิใช่ เพราะเป็นสภาพมีอยู่เพียงเศษสังขาร (การปรุงแต่งความคิด) ที่ละเอียดเท่านั้น เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เรียกว่า จตุตถารุปปฌาน ก็ได้ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นอรูปฌานอันดับที่ 4 ขั้นที่ 4 อันเป็นอันดับที่สูงสุดแห่งอรูปฌาน และสูงสุดในบรรดา สมาบัติทั้ง 8

----------------------------------------------------------------------------

MD 407 สมาธิ 7: สมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00295356909434 Mins