ความสำคัญของฐานทั้ง 7

วันที่ 11 สค. พ.ศ.2558

 

ความสำคัญของฐานทั้ง 7

            ฐานทั้ง 7 ฐานนี้มีความสำคัญ พระมงคลเทพมุนีกล่าวว่า นอกจากเป็นทางไปเกิด มาเกิด ตื่นหลับ ไปสู่อายตนนิพพาน แล้วยังสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องกาย ใจ จิต วิญญาณ ฐานทั้ง 7 ฐานนี้ เป็นที่คุมวิญญาณ คำว่าวิญญาณในที่นี้ไม่ใช่กายละเอียด แต่หมายถึง ความรู้แจ้ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือกล่าวได้ว่าฐานทั้ง 7 เป็นที่ตั้งของอายตนะใน การรับรู้ กล่าวคือ

ฐานที่ 1 เป็นทางเข้าออกของกายสังขาร คือ ลมหายใจ

ฐานที่ 2 เป็นศูนย์รวมของการได้กลิ่น

ฐานที่ 3 เป็นศูนย์รวมของการเห็น

ฐานที่ 4 เป็นศูนย์รวมของการได้ยิน

ฐานที่ 5 เป็นฐานศูนย์รวมของการรับรส

ฐานที่ 6 เป็นฐานศูนย์รวมของการรับสัมผัสทั้งหมด

ฐานที่ 7 เป็นศูนย์รวมของใจ

          อารมณ์ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะมารวมกันที่สถานีต้น คือ ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ส่งผ่านไปยังเนื้อหัวใจ ที่คอยเชื่อมโยงระหว่างหยาบกับละเอียด แล้วจึงไปสู่ฐานต่างๆ แล้วทั้งหมดจะกลับมารวมที่ศูนย์กลางกาย เมื่อปฏิบัติจนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกาย จะเห็นว่าทั้ง 7 ฐานนี้ จะมีลักษณะเหมือนท่อใสๆ เวลาเราสูดลมหายใจเข้าไปตรงปากช่องจมูก ไปตามฐานต่างๆ จะเป็นท่อแก้วใสๆ ฐานที่ 1 ทางเดินของลมหายใจเข้าออก มีความสำคัญมาก นอกจากจะทำให้เราดำรงชีพอยู่ได้แล้ว ยังเป็นสื่อที่จะดึงดูดอารมณ์อะไรต่างๆ เข้ามาภายใน เวลาเรารักก็ดี ชังก็ดี ยินดีก็ดี ยินร้ายก็ดี คือ ใครทำถูกใจเรา เราก็ยินดี หรือไม่ถูกใจ เราก็ยินร้าย ซึ่งจะทำให้ลมหายใจหยาบ

 

            พอหยาบเข้าไปแล้ว เข้าไปตามลม ไปสุดลมหายใจที่ฐานที่ 7 มันก็จะไปขยายส่วนในเห็น จำ คิด รู้ ไปดึงดูดเอากิเลสภายใน ความโลภ ความโกรธ ความหลง คลุกเคล้ากัน แล้วก็ขยายไปสู่ระบบประสาทกล้ามเนื้อ จากจิตใจสู่ระบบกล้ามเนื้อ สู่ระบบความคิด คำพูด และการกระทำ ลมหายใจกับใจสัมพันธ์กันอย่างนี้

 

            ถ้าความโลภ อย่างเช่น อภิชฌา คิดอยากจะได้ของผู้อื่นโดยไม่ชอบธรรม พอความโลภ เข้าเกิดขึ้น ใจมันจะพร่อง ความโกรธ ความพยาบาท เข้ามาตามลมแล้วก็มาอยู่ที่ฐานที่ 7 ประสานกับกิเลสในตระกูลโทสะหรือพยาบาท ก็จะทำให้ใจพล่าน ถ้าเป็นกิเลสตระกูลโมหะ ใจก็จะพร่ามัว จำง่ายๆ ดังนี้คือ ใจพร่องเพราะโลภ ใจพล่านเพราะโกรธ ใจพร่ามัวเพราะหลง เพราะฉะนั้นเวลาอารมณ์ยินดียินร้ายเข้ามา จึงมีเทคนิคว่าให้สั่งลมออก คล้ายกับสั่งน้ำมูก แต่ไม่ถึงขั้นต้องสั่งอย่างรุนแรง ให้ลมออกนิดหนึ่ง พอลมหยาบไม่อาจเข้ามาได้ ก็จะไม่มีตัวเชื่อมประสาน เพราะฉะนั้นมันก็จะดับไป อารมณ์นั้นก็จะดับไป ใจเราก็จะใส

------------------------------------------------------------------------

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001155698299408 Mins