คุณสมบัติของอายตนะ

วันที่ 15 สค. พ.ศ.2558

 

คุณสมบัติของอายตนะ

ในบทอธิบายเรื่องอายตนะ 12 พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรได้กล่าวไว้หลายนัย4) ว่า

            1.อายตนะ 12 ชื่อว่า อายตนะเพราะสืบต่อ สืบต่อแห่งการมา หรือเพราะนำไปซึ่งการสืบต่อ ในเรื่องนี้พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า จริงอยู่ ธรรม คือจิตและเจตสิก ในบรรดาจักขุและรูป เป็นต้น เป็นทวารและอารมณ์นั้นๆ ย่อมมา ย่อมตั้งขึ้น ย่อมสืบต่อ คือย่อมพยายามโดยกิจของตนๆ มีการเสวยอารมณ์เป็นต้น ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้น ย่อมแผ่ไปสู่ธรรมเหล่านั้น ในธรรมอันเป็นทางมา และสังสารทุกข์สืบต่อกันไปอย่างมากมาย เป็นไป ในสงสารอันยืดยาวนานหาที่สุดมิได้นี้ยังไม่หมุนกลับตราบใด ธรรมคือจิตและเจตสิกเหล่านั้นก็ย่อมนำไป คือย่อมให้เป็นไปอยู่ตราบนั้น

            เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า เป็นที่สืบต่อ คือเป็นที่ต่อแห่งขันธ์ที่ก่อกำเนิด ยังธรรมเหล่านั้นให้กว้างออกไปเหมือนสังสารวัฏที่ยังเป็นไปอยู่ฉันใด อายตนะก็ยังนำธรรมเหล่านั้นให้เป็นอยู่ฉันนั้น และเป็นที่นำอารมณ์มากระทบ จิตและเจตสิก มีทวารนั้นๆ เป็นอารมณ์ อายตนะคือตาและรูปเป็นต้น ย่อมก่อตั้งขึ้นพยายามทำกิจของตนๆ มีการกินเป็นต้น ในทวารนั้นๆ อายตนะเป็นที่เกิดแห่งวิถีจิตอยู่เสมอ จะเกิดในชาติใดภพใดก็ตามวิถีจิตไม่เกิดที่อื่น ต้องเกิดตามอายตนะเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 

            2.อายตนะ 12 ชื่อว่า อายตนะ เพราะว่าเป็นที่อยู่ จริงอย่างนั้น ในทางโลก ที่เป็นที่อยู่ ท่านเรียกว่า อายตนะได้ ในคำเป็นต้นว่า อิสฺสรายตน ที่อยู่ของพระอิศวร วาสุเทวายตน แปลว่า ที่อยู่ของวาสุเทพ จิต เจตสิกเป็นไปติดต่อกัน ดวงตาเป็นต้น จึงเป็นที่พักของอารมณ์ มีรูปเป็นต้น เหล่านั้น อายตนะเป็นที่อยู่ของวิถีจิต เหมือนพิณเมื่อมีผู้ดีดก็จะมีเสียงดังขึ้น คล้ายกับว่าเสียงอยู่ในสายพิณ วิถีจิตก็เช่นเดียวกัน เมื่ออายตนะกระทบกันขึ้น วิถีจิตจึงเกิด

 

            3.อายตนะ 12 ชื่อว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นบ่อเกิด บ่อเกิดท่านเรียกว่า อายตนะได้ ในคำเป็นต้นว่า สุวรรณายตนะ บ่อทอง รชตายตนะ บ่อเงิน รัตนายตนะ บ่อแก้ว ธรรมเหล่านั้น ปรากฏเกลื่อนกล่นอยู่ในดวงตาเป็นต้น จึงชื่อว่าเป็นบ่อเกิด

 

            4.อายตนะ 12 ชื่อว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นที่ประชุมลง เช่นคำว่า มโนรเม อายตเน เสวนฺติ นํ วิหงฺคมา-เหล่าวิหค ย่อมอาศัยต้นไม้นั้น ประชุมกันในที่เป็นที่รื่นรมย์ใจ

 

            5.อายตนะ 12 ชื่อว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็นถิ่นที่เกิด ถิ่นเป็นที่เกิด ท่านเรียกว่า อายตนะได้ ในคำเป็นต้นว่า ทกฺขิณาปโถ คุนฺนํ อายตนํ แปลว่า ทักษิณาบถ ถิ่นเป็นที่เกิดแห่งโคทั้งหลาย เป็นที่ประชุม เช่น เป็นที่รวมกันของพวกนก เป็นที่สโมสร เป็นถิ่นเกิด เช่นคำว่า ทักขิณาปถะเป็นอายตนะหรือถิ่นเกิดของโคทั้งหลาย อารมณ์ต้องแอบอิงอายตนะจึงจะเกิดขึ้นได้ อายตนะภายในเหล่านี้ เกิดขึ้นอยู่ในสัตว์ทั่วไป ไม่เลือกชั้นสูง ต่ำ สัตว์เล็ก ใหญ่ คือไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องมี ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยกันทั้งสิ้น อายตนะเหล่านั้น เป็นที่ประชุมของอารมณ์ทั้งหลาย อายตนะเป็นที่ประชุมของวิถีจิตทั้งหลาย คือวิถีจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการรับอารมณ์เสมอ การรับอารมณ์คล้ายกับว่าเข้าไปประชุมอยู่ในอายตนะภายนอกเหล่านั้น

 

            6.อายตนะ 12 ชื่อว่า อายตนะ เพราะอรรถว่าเป็น การณะ การณะ ท่านเรียกว่า อายตนะได้ ในคำเป็นต้นว่า ตตฺรตเตรฺว สกฺขิภพฺพตํ ปาปุณาติสติ อายตเน เมื่ออายตนะ คือเหตุเป็นเครื่องระลึกมีอยู่ เธอก็จะบรรลุผลในธรรม คืออภิญญานั้นๆ แน่นอน เป็นเหตุ เช่น ถึงความเป็น ผู้ควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่ออายตนะ หรือเหตุมีอยู่ เมื่ออายตนะมีอารมณ์ จึงมีอายตนะไม่มีอารมณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

 

โดยสรุปอายตนะมีคุณสมบัติสำคัญแบ่งออกเป็น 5 อย่าง คือ

             1.อายตนะภายใน เป็นที่เกิดแห่งวิถีจิตอยู่เสมอ จะเกิดในชาติใดภพใดก็ตาม วิถีจิต ไม่เกิดที่อื่น ต้องเกิดตามอายตนะเหล่านี้ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

            2.อายตนะภายในเหล่านี้ มีลักษณะเหมือนเป็นที่อยู่ของวิถีจิต เหมือนพิณ เมื่อมีผู้ดีดก็จะมีเสียงดังขึ้น คล้ายกับว่าเสียงอยู่ในสายพิณ วิถีจิตก็เช่นเดียวกันเมื่ออายตนะกระทบกันขึ้น วิถีจิตจึงเกิด

             3.อายตนะภายในเหล่านี้ เกิดขึ้นอยู่ในสัตว์ทั่วไป ไม่เลือกชั้นสูง ต่ำ สัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ คือไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา สัตว์เดรัจฉาน ก็ต้องมี ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยกันทั้งสิ้น

            4.อายตนะภายนอก เป็นที่ประชุมของวิถีจิตทั้งหลาย คือวิถีจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้น ต้องมีการรับอารมณ์เสมอ การรับอารมณ์คล้ายกับว่าเข้าไปประชุมอยู่ในอายตนะภายนอกเหล่านั้น

            5.อายตนะทั้งภายในและภายนอกจำนวนอย่างละ 6 นี้ เป็นเหตุให้วิถีจิตเกิด ถ้าไม่มีอายตนะเหล่านี้เสียแล้ว วิถีจิตย่อมเกิดไม่ได้

 

------------------------------------------------------------

4) ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค, มก. เล่มที่ 68 หน้า 229-231.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน


 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0011056661605835 Mins