ทศบารมี

วันที่ 18 สค. พ.ศ.2558

 

ทศบารมี


พร้อมเบญจพิธจัก-        ษุ จรัสวิมลใส
เห็นเหตุที่ใกล้ไกล        ก็เจนจบประจักษ์จริง


                น้ำใจพระบรมโพธิสัตว์ขนาดนั้น พร้อมสละแม้กระทั่งชีวิตเพื่อการสร้างบารมี แล้วในการสร้างบารมี ท่านต้องสร้างบารมี ๑๐ ทัศ
    ข้อแรก ทานบารมี คือ มีน้ำใจกว้างขวางพร้อมสละแบ่งปันให้ผู้อื่น ทั้งทรัพย์สินเงินทอง อวัยวะ และชีวิต เพราะในการสร้างบารมียาวนาน ต้องมีเสบียง ถ้าเราเดินทางไกล เช่น จะเดินทางไปเชียงใหม่ถ้าไม่มีเสบียงลำบากหรือไม่ ลำบากนะไม่รู้จะเอาอะไรกินเดี๋ยวก็หมดแรง สร้างบารมีในวัฏสงสารที่ยาวนานก็ต้องมีเสบียงเหมือนกัน แล้วเสบียงจะมาอย่างไร มาจากการสร้างทานบารมี เมื่อเราได้สร้างทานบารมีไว้ บุญกุศลที่สร้างขึ้นจะดึงดูดสมบัติทั้งหลาย เป็นเสบียงในการสร้างบารมี ทานบารมีเป็นข้อแรก เพราะมีความจำเป็นอย่างนี้


    ข้อที่สอง ศีลบารมี คือ นิสัยที่ละเว้นจากความชั่ว ละบาปทั้งหลายเพราะเดินทางไกล เราจะไปเจออะไรก็ไม่รู้ คนภัยคนพาล สารพัดที่จะมาแกล้งมาทำร้ายเรา เกราะแก้วคุ้มครองภัยก็คือศีล เรามีศีลมั่นคงเมื่อไหร่ ภัยอันตรายต่างๆ ก็จะลดลงไป ด้วยอานุภาพแห่งศีลที่รักษาไว้ดีแล้วข้ามภพข้ามชาติ เราไม่ได้ไปทำปาณาติบาต ไปรังแกสัตว์ ไปฆ่าสัตว์อื่น ก็จะไม่มีวิบากกรรมให้ใครมารังแกเรา ศีลนี้เองเป็นเกราะแก้วคุ้มครองภัยเรารอบๆทุกด้าน


    ข้อที่สาม เนกขัมมบารมี คือ การออกบวชไม่พัวพันในกาม กามมีอานุภาพที่ร้ายแรงมาก พอกามกำเริบขึ้นมาอย่างอื่นมันคิดไม่ออก ใจมันจะมุ่งไปอย่างนั้นอย่างเดียว อย่างคำกล่าวที่ว่า “ จะหักอื่นขืนจักก็หักได้ หักอาลัยนี้ไม่หลุดสุดจะหัก สารพัดตัดขาดประหลาดนัก แต่ตัดรักนี้ไม่ขาดประหลาดใจ ” ยิ่งหนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่มยิ่งหัวใจผูกพัน มันจะคอยดึงรั้งไปดูอย่างช้างยอมจับก้อนเหล็กแดง มนต์แรงขนาดนั้น แต่พอกามกำเริบมนต์ยังเอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นถ้าจะเอาให้อยู่ได้ เราจะต้องตั้งใจสร้างเนกขัมมบารมีให้มาก


    ข้อที่สี่ ปัญญาบารมี คือ หมั่นศึกษาหาความรู้ บ่มเพาะปัญญาเพราะการเดินทางไกลต้องไปให้ถูกทิศ ตั้งใจเดินแต่ถ้าเดินผิดทิศจะเป็นอย่างไร ตั้งใจว่าจะไปเชียงใหม่ กลับไปถึงเบตง ไปถึงน่านอย่างนี้ไม่รอดแน่ ดังนั้น ตั้งเป้าหมายจะไปที่ไหนต้องไปให้ถูก คือ ต้องมีปัญญาเป็นเครื่องส่องนำทางให้เราประพฤติปฏิบัติได้ถูกต้อง


    ข้อที่ห้า วิริยะบารมี คือ มีความเพียรไม่ย่อท้อ เมื่อต้องสร้างบารมียาวนานขนาดนั้น ถ้าหากไม่มีวิริยะบารมีไปไม่รอด พักเดียวก็เลิกแล้ว เราดูคำศัพท์ให้ดีๆ “ วิริยะ ” คำนี้เป็นรากศัพท์เดียวกับคำว่า “ วีระ ” คำเดียวกับที่นำมาใช้ว่า “ วีรบุรุษ วีรสตรี ” วีระแปลว่ากล้าหาญ วีรบุรุษ คือ บุรุษที่กล้าหาญ ทำไมความเพียร จึงใช้ศัพท์ว่า วีระ หรือความกล้า เพราะความเพียรคือความกล้าที่จะชนะตัวเองนั่นเอง คนที่ขาดความเพียรจะทำอะไรสักอย่าง ก็บอกร้อน นอนดีกว่า อากาศมันร้อนไปต้องนอนไม่เหมาะที่จะทำงาน ไม่เหมาะที่จะปฏิบัติธรรม พออากาศเย็นบอกหนาว ช่วงนี้นอนกำลังสบาย นอนดีกว่า ไม่ทำความเพียร พอช่วงที่หิวบอกหิวเกินไป ไม่เหมาะจะทำความเพียร แต่พอทานอิ่มก็บอกว่าควรจะต้องพักผ่อนก่อนให้ร่างกายได้ย่อยอาหาร คือจะบ่นว่า หนาวนัก ร้อนนัก อิ่มนัก หิวนัก กระหายนัก แล้วไม่ทำความเพียร นั่นคือคนเกียจคร้าน แต่คนที่มีความเพียรจะมีความกล้าที่จะปฏิเสธข้ออ้างเหล่านี้ เดินหน้าทำความดีเต็มที่เลย ไม่มีความกลัวต่อความยากลำบาก ต่อข้ออ้างที่จะเป็นเหตุแห่งการไม่ปฏิบัติกิจที่ควรทำ


    ข้อที่หก ขันติบารมี คือ ความอดทนอดกลั้นต่อเรื่องราวที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดินฟ้าอากาศ ไม่ว่าจะเป็นทุกขเวทนา คือการเจ็บไข้ได้ป่วยต้องทนให้ได้ ทนต่อการกระทบกระทั่งได้ทนต่อสิ่งที่เย้ายวนใจได้ จึงสร้างบารมีอย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะในโลกเรานี้คนเรามันต่างๆ นานา คนจะติได้ทุกเรื่อง หาเรื่องว่าไปเรื่อย เราต้องไม่ถือสาหาความอะไรมาก ถ้าถือสาหาความจะหงุดหงิดแล้วไม่เป็นอันสร้างบารมี


    มีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งในอดีต ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งเป็นนักติ วันๆ จะคอยวิจารณ์เรื่องนั้นเรื่องนี้คนนั้นคนนี้ไปเรื่อย อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี มองไปไม่มีอะไรดีเลย ต้นไม้นั้นก็ไม่สวย บ้านนั้นก็ไม่เข้าท่า คนนั้นก็ไม่ดีคนนี้ก็ไม่ดี บรรยายเรื่องไม่ดีเป็นฉากๆ เลย ชาวบ้านก็เบื่อเอือมระอา แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเขา มีอยู่วันหนึ่ง ชาวบ้านได้พระพุทธรูปมาองค์หนึ่ง สวยมากเรียกว่างามอย่างไม่มีที่ติ ก็เลยอยากจะทดลองพระงามอย่างนี้ยังไม่เคยเจอมาก่อนจึงประดิษฐานท่านไว้อย่างดี แล้วให้คนไปตามพ่อยอดนักติมาดูว่า จะมีปัญญาติพระพุทธรูปที่งามอย่างนี้หรือไม่ปรากฏว่าพ่อยอดนักติเดินมาดูข้างหน้า สวยอย่างนี้ไม่เคยเจอ หาที่ติไม่ออกอ้อมไปทางซ้ายสวยอีก ข้างหลังก็สวย ข้างขวาก็สวย อุตส่าต่อเก้าอี้ไปดูบนเศียรก็สวยอีก ดูตรงไหนสวยไปหมด เหงื่อตกเลยหาที่ติไม่ออก แต่ยังไม่ยอมแพ้วนอีกสองสามรอบ สุดท้ายยิ้มแล้วบอกว่า “ พระพุทธรูปองค์นี้อะไรๆ ก็ดีอยู่หรอก เสียแต่ว่า... ”  มีคำว่า “ สัยแต่ว่า ” ชาวบ้านก็คิดสวยขนาดนี้ยังมีที่ติอีกหรือ ก็ฟังว่าเขาจะว่าอย่างไร พ่อยอดนักติก็บอก “ เสียแต่ว่า...พูดไม่ได้ ” ชาวบ้านก็เลยส่ายหัว คนอย่างนี้ก็มีในโลก จริงๆคนอย่างนี้มีอยู่ทั่วไป คือมองอะไรก็มองแต่ทางลบ วิจารณ์หาวิบากกรรมใส่ตัว ดังนั้น ถ้าหากคิดจะสร้างบารมีแล้วต้องมีขันติบารมีอดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อการล่วงเกินของบุคคลที่ไม่รู้


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง มีอยู่คราวหนึ่งเสด็จไปเมืองโกสัมพี ซึ่งมเหสีของเจ้าเมืองเคยผูกใจเจ็บพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เพราะเป็นคนสวยมาก ชื่อนางมาคันทิยา สวยขนาดเทียบในยุคปัจจุบันนี้ขึ้นประกวดมิสยูนิเวอร์สคงประกวดรอบเดียวเสร็จ เพราะกรรมการตะลึง เห็นแล้วตะลึงจนให้คะแนนไม่ถูก คนอื่นไม่ต้องมาโชว์ตัวแล้วเห็นคนนี้ชนะแน่นอน มีทั้งเศรษฐีใหญ่ พระราชา เจ้าชายหลายองค์มาขอ พ่อแม่ภูมิใจในความสวยของลูกตัวเอง จึงปฏิเสธทุกคนว่าไม่คู่ควรกับลูก ทั้งพ่อแม่เป็นคนที่ติดในรูปมาก ใครจะมาขอไม่ได้ดูทรัพย์อย่างเดียว ดูรูปร่างหน้าตาด้วยว่าเป็นอย่างไร บอกไม่คู่ควรกับลูกเราไม่ยกให้ คนเข้าคิวแห่มาขอทุกวันก็ไม่เอาไม่ให้ 


    มีอยู่วันหนึ่งพราหมณ์พ่อไปธุระข้างนอก ไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากำลังประทับเดิน พอเห็นเท่านั้นตะลึงในลักษณะมหาบุรุษของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกเลยว่าผู้คู่ควรกับลูกสาวเราคือพระองค์นี้แหละ รีบไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกขอท่านหยุดอยู่ที่นี่สักครู่หนึ่ง ข้าพเจ้าจะไปพาลูกสาวจากบ้านมายกให้ท่าน พระองค์นิ่งๆไม่ตอบอะไร เพราะรู้ว่าตอบไปตอนนี้พราหมณ์ยังไม่รู้เรื่องหรอก พราหมณ์ก็เลยวิ่งกลับบ้านไปบอกภรรยาว่า ให้พานางมาคันทิยามาเลยเพราะเจอบุคคลที่คู่ควรกับลูกแล้ว ทั้งแม่ทั้งนางมาคันทิยาก็แปลกใจ พ่อที่เคยหยิ่งไม่ยอมยกลูกสาวให้ใคร ทำไมให้รีบแต่งตัว แต่งตัวเสร็จรีบตามพ่อไป ไปถึงปรากฏว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่อยู่แล้ว เหลียวซ้ายแลขวา พอมองไปที่พื้นเห็นรอยพระบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ประทับอยู่แล้วรอยพระพุทธบาทที่พระองค์ตั้งใจประทับจะคงอยู่อย่างนั้นไม่หายไป ไม่ว่าลมพัดน้ำสาดอย่างไรก็จะคงอยู่อย่างนั้น ฝ่ายแม่ดูรอยพระบาทพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็บอกพ่อว่าเธออย่าเพ้อไปเลย 


    ปกติคนเจ้าโทสะส้นเท้าจะลงหนักรอยที่ส้นเท้าจะหนักเป็นหลุมถ้าคนราคะจริตปลายเท้าจะจิกลง แต่รอยเท้าบุคคลผู้นี้เรียบเสมอสมบูรณ์เต็มอิ่ม นี้เป็นลักษณะรอยเท้าผู้ที่หมดกิเลสแล้ว เขาไม่สนใจลูกสาวเราหรอก แต่พ่อว่า อย่าพูดมากช่วยกันหาเถอะว่าเขาไปไหน อย่าทำรู้ดี เหลียวไปเหลียวมาเจอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ห่างออกไป แล้วรีบไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า นี่อย่างไรลูกสาวข้าพเจ้าสวยหรือไม่ ขอยกถวายพระองค์


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ตอบทันที แต่พระองค์เล่าให้ฟังว่าเมื่อตอนพระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ลูกสาวธิดาพญามาร ทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี เห็นพ่อนั่งร้องไห้อยู่เพราะว่าหลอกพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สำเร็จ เลยอาสาพ่อว่าจะไปยั่วยวนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จ เพราะธรรมชาติของชายย่อมชอบหญิงที่มีลักษณะต่างๆ กัน ทั้งสามคนเนรมิตร่างที่เป็นทิพย์ เป็นทั้งคนสูง คนต่ำ คนอ้วน คนผอม หน้าตารูปร่างหลากหลายรูปแบบแต่สวยทุกรูปแบบเลย กะว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชอบแบบไหน จะต้องมีสักรูปเนรมิตตั้ง ๓๐๐ แบบ สุดยอดทั้งนั้นเป็นทิพย์หมด ยั่วยวนพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่สำเร็จต้องพ่ายแพ้กลับไป พระองค์เล่าให้ฟังแล้วสรุปว่า ขนาดกายอันเป็นทิพย์ของนางตัณหา นางราคาและนางอรดี ตถาคตยังไม่สนใจเลย ไฉนเล่าจะสนใจตัวนางมาคันทิยาที่ทั้งเนื้อทั้งตัวเต็มไปด้วยมูตรและคูถ แปลว่า มีแต่ปัสสาวะ อุจจาระ น้ำเลือด น้ำหนอง แค่มีหนังบางๆหุ้มอยู่ชั้นเดียว


    ลองดูสิ เอานางงามจักรวาลมาถลกหนังออกหนึ่งชั้น ให้หมอช่วยถลกหน้า เอาหนังหน้าออก หนังตัวหนังแขนออกหนึ่งชั้น ลอกหนังชั้นที่หนึ่งเหลือความสวยหรือไม่ จะน่าเกลียดน่ากลัวที่สุดเลย มีน้ำเลือดน้ำหนองเต็มไปหมดเลย พระองค์เทศจบพราหมณ์และพราหมณีบรรลุธรรมเป็นพระอนาคามี ขอออกบวชแต่นางมาคันทิยาฟังเทศน์ไม่รู้เรื่อง หูอื้อตาลาย เพราะเคยภูมิใจในความสวยของตัวเอง ได้ฟังพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาว่าตัวเราเต็มไปด้วยปัสสาวะ อุจจาระ แค้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก โกรธ เมื่อพราหมณ์และพราหมณีจะออกบวชก็ฝากฝังลูกสาวให้อยู่กับอา นางมาคันทิยาก็วางแผนจะล้างแค้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงให้อานำตัวไปถวายพระเจ้าอุเทน กษัตริย์เมืองโกสัมพี เพราะเป็นมเหสีของกษัตริย์จะได้มีอำนาจ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าเขตเมืองเราเมื่อไรจะแก้แค้นให้สาแก่ใจ พระเจ้าอุเทนเห็นนางมาคันทิยาสวยมากก็รับเป็นมเหสี วันหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปที่เมืองนี้ พระนางมาคันทิยาพอรู้ข่าวก็ดีใจ ได้จ้างคนพาลทั้งหลาย ๕๐ คน ๑๐๐ คน พระพุทธเจ้าเสด็จไปบิณฑบาตที่ไหนให้รุมด่า ๒ ข้างทาง เอาให้พระองค์อยู่เมืองนี้ไม่ได้รุมด่าตลอดทาง จนพระอานนท์ทนไม่ไหว กราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ พระพุทธเจ้าข้า คนเมืองนี้ใจบาปหยาบช้าเหลือเกิน ไม่เห็นคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อาราธนาพระองค์เสด็จไปเมืองอื่นดีกว่า  ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ้ม แล้วตรัสถามว่า “ อานนท์ ถ้าไปเมืองอื่น แล้วเขามารุมด่าเราอีก จะทำอย่างไร ” พระอานนท์ทูลว่า “ ก็เสด็จไปเมืองอื่นอีก พะยะค่ะ ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถามอีกว่าถ้ามีคนด่าอีกล่ะ พระอานนท์ทูลว่า “ ก็เสด็จไปเมืองอื่นอีก ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ อย่าเลย อานนท์ เหตุเกิดที่ใดให้ดับที่นั่น ตถาคตเป็นประดุจช้างศึกตัวก้าวลงสู่สงคราม ก็ธรรมดาช้างศึกที่จะก้าวลงสู่สงคราม ย่อมมีความอดทนต่อลูกศร หอกซัด แหลนหลาวที่พุ่งมาจากทิศทั้ง๔ เป็นภาระฉันใด ตถาคตก็มีความอดทนต่อถ้อยคำล่วงเกิน ของบุคคลผู้ไม่มีศีลเป็นภาระฉันนั้น ” พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่หวั่นไหว พระองค์เฉยๆ เขาจะว่าก็ว่าไปเราไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่ ทำความดีต่อเรื่อยไป สุดท้ายความจริงก็ปรากฏ มีเรื่องราวเกิดมากมาย ต่อมาพระนางมาคันทิยาก็ถูกประหารชีวิต เพราะก่อคดีฆาตกรรมเผาอัครมเหสีและนางบริวารอีก ๕๐๐ คน เสียชีวิตคากองเพลิง พระราชาวางแผนจนจับได้ แล้วก็นำนางมาคันทิยาและนางมันทุระที่วางแผนทั้งหลายไปสังหารหมด กรรมใดใครก่อก็รับกรรมกันไป เพราะฉะนั้น ขนาดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระชาติสุดท้ายยังเจอเลย ยังต้องอดทน ดังนั้น ระหว่างการสร้างบารมี ไม่ต้องพูดถึง ต้องฝึกขันติบารมีเต็มที่ถ้าขันติบารมีไม่พอ ก็เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ มันจะท้อเลิกเสียกลางคัน


    ข้อที่เจ็ด สัจจะบารมี คือ พูดจริง ทำจริง เมื่อตั้งใจอะไรแล้วเด็ดเดี่ยวมั่นคง พูดอะไรออกไปให้เด็ดเดี่ยวมั่นคงต่อสิ่งนั้นไม่เหลาะแหละ ไม่โลเล ท่านเปรียบเหมือนเส้นทางของดาวฤกษ์ที่โคจรไปตามวิถี ไม่เปลี่ยนเลย อย่างโลกเราหมุนรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์โคจรไปทิศทางต่างๆ คงอยู่อย่างสม่ำเสมอ มีบ้างไหมวันนี้โลกขยันหมุนเร็วปรากฏว่า ๒๐ ชั่วโมงครบรอบแล้ว พรุ่งนี้โลกขี้เกียจหมุนช้าเลยกลายเป็น ๒๘ ชั่วโมง ถึงจะครบรอบ ไม่มีใช่หรือไม่ทุกวันโลกก็หมุนหนึ่งรอบ ๒๔ ชั่วโมงเหมือนกันสม่ำเสมอเที่ยงแท้แน่นอน โคจรรอบดวงอาทิตย์ ๓๖๕ วันก็เป็นอย่างนั้น


    ข้อที่แปด อธิษฐานบารมี คือ การตั้งจิตปรารถนา เป็นการวางแผนระยะยาวทำความดีอะไรแล้วก็อธิษฐาน ด้วยบุญนี้ให้ข้าพเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะสร้างกี่บุญก็อธิษฐานย้ำกำกับลงไปมุ่งไปทางเดียว บางคนสร้างบุญแต่อธิษฐานผิด ด้วยบุญนี้ขอให้ข้าพเจ้าเกิดมารวย เกิดมาสวย เกิดมาหล่อ ใครเห็นใครหลง อย่างนี้อธิษฐานผิดเกิดมารวยจริง หล่อจริง สาวเห็นสาวหลง ก็เลยไปผิดศีลกาเม มีกิ๊กเต็มไปหมดและด้วยวิบากกรรมนี้ต้องตกนรกเสียย่ำแย่ เพราะสร้างบุญแล้วอธิษฐานไม่เป็น แต่พระบรมโพธิสัตว์สร้างบุญแล้วจะอธิษฐานกำกับเสมอว่าด้วยบุญนี้ขอให้ข้าพเจ้าเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อไปในอนาคต อธิษฐานในทางบวช พวกเราก็เหมือนกันมาฝึกตัวเองสร้างบุญสร้างกุศลแล้วต้องอธิษฐานให้เป็นด้วย จะอธิษฐานอะไรก็ตามให้สรุปท้ายว่า ด้วยบุญนี้ให้ข้าพเจ้าได้บรรลุธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วมุ่งตรงต่อพระนิพพานอย่างเดียว ถ้าทำอย่างนี้จะไม่พลาด อย่าอธิษฐานแค่หล่อแค่สวย แค่รวยนั้นมันแค่ผิวเผิน มันเป็นแค่เป้าระยะสั้น แต่เป้าจริงๆ จะมุ่งพระนิพพานหรือมุ่งไปสู่ที่สุดแห่งธรรม


    ข้อที่เก้า เมตตาบารมี คือ ความเมตตาปรารถนาให้สรรพสัตว์เป็นสุขถ้วนหน้า ถ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ต้องการเป็นแค่พระอรหันต์ ไม่ต้องสร้างบารมีที่ยาวนานขนาดนี้แค่ไม่กี่ชาติพระองค์ก็หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์พ้นทุกข์ไปแล้ว ที่ต้องสร้างบารมีนานขนาดนี้ เพราะเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระองค์คิดว่าจะมีประโยชน์อันใดเล่าที่เรารู้แล้วจะรู้เพียงคนเดียว เราพ้นแล้วจะพ้นเพียงคนเดียว เรารู้แล้วจะให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย เราพ้นแล้วจะสอนให้ผู้อื่นพ้นตามด้วย นี่คือหัวใจของพระบรมโพธิสัตว์ พระองค์จึงสร้างเมตตาบารมีสั่งสมมาอย่างยาวนาน แล้วความเมตตาของพระองค์ต่อคนที่ดีกับพระองค์และคนที่ไม่ดีต่อพระองค์เสมอกัน อย่างพระอานนท์เป็นพุทธอุปัฏฐาก ดูแลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตลอดมาเป็นสิบๆปี ความเมตตาที่พระองค์มีต่อพระอานนท์ กับที่มีต่อพระเทวทัตนั้นเสมอกัน คนหนึ่งคืออุปัฏฐากที่คอยดูแล อีกคนคือคนที่คอยก่อเรื่อง จะปล่อยช้างมาฆ่า กลิ้งก้อนหินมาทับ ทำสังฆเภท สารพัดเรื่อง ก่อเรื่องตลอด แต่พระองค์ยังคงมีความเมตตา ต่อทั้งสองคนเสมอกันนี่คือเมตตาบารมีของพระพุทธองค์


    บารมีข้อสุดท้าย อุเบกขาบารมี คือความวางเฉย ใจนิ่ง พิจารณาด้วยปัญญา ต้องวางอุเบกขาเป็น ไม่ใช่มีแต่เมตตาอย่างเดียว ถึงตอนที่ต้องวางอุเบกขาก็ต้องวางอุเบกขา เราช่วยเต็มที่แล้วถ้าไม่ได้ไม่ใช่ว่านั่งเสียอกเสียใจน้ำตาตกใน ใจนิ่งๆ มีอุเบกขา เพราะเรื่องราวในโลกจะให้ได้อย่างใจเรามันไม่ได้หรอก มันก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง เผลอๆ ผิดหวังมากกว่าสมหวัง ถ้าผิดหวังแล้วมัวแต่มานั่งกลุ้มนั่งร้องไห้เศร้าโศกเสียอกเสียใจ ไม่ต้องสร้างบารมีกันพอดี ดังนั้น ต้องมีอุเบกขาบารมีเพียงพอ สามารถวางใจนิ่งให้ใจหยุดได้ ไม่กระเพื่อมไปกับแรกกระทบจากสิ่งภายนอก


------------------- ทั้งหมดนี้คือบารมี ๑๐ ทัศ โดยย่อของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ------------------

 

-----------------------------------------------------------------------------------

เส้นทางพระบรมโพธิสัตว์

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ M.D.,Ph.D

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015158653259277 Mins