ความเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน

วันที่ 20 สค. พ.ศ.2558

 

ความเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน

            ในที่นี้จะขอกล่าวถึงวงจรของสายเกิดอันเป็นปัจจัยแห่งการเกิดสังสารวัฏ การเวียนว่าย ตายเกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด โดยปฏิจจสมุปบาทแต่ละองค์มีความเกี่ยวข้องกันดังต่อไปนี้

1.อวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หมายความว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้ทำบุญทำบาป คือ

อวิชชา → สังขาร → กรรม (ดี-ชั่ว) → วิบาก (ดี-ชั่ว)

ดังที่ทราบแล้วว่า กรรมทางกาย วาจา ใจ ของมนุษย์เริ่มต้นจากเจตนา เจตนานี้มีทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ซึ่งส่งผลให้เกิดการคิดดี พูดดี ทำดี หรือคิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว ซึ่งเป็นส่วนของสังขาร เจตนานี้เองก็มีอวิชชาเป็นมูลฐาน ทำให้ประกอบสิ่งที่เป็นกุศล หรืออกุศล ซึ่งอธิบายในรายละเอียดดังนี้

 

(1)อวิชชาเป็นปัจจัยให้ทำดี โดยความดีนี้มี 3 ระดับ คือ

ระดับกามาวจร คือ ความดีที่ส่งผลให้ได้มนุษยสมบัติและสวรรค์สมบัติ ความดีระดับนี้แบ่งออกเป็นความดีทางกาย วาจาและใจ ความดีทางกายและวาจาเริ่มต้นมาจากความดี ทางใจเป็นพื้นฐาน เมื่อมีความดีทางใจ ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความดีทางกายและทางวาจาติดตามมา จัดว่ามีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะทำโดยปรารถนาให้ได้มนุษยสมบัติ คือ เกิดเป็นมนุษย์ถึงพร้อมด้วยลาภยศเป็นเครื่องตอบแทน ยังปรารถนาการเวียนว่ายตายเกิดเพราะไม่รู้แจ้งนามรูปตามที่เป็นจริง

ระดับรูปาวจร คือ ความดีที่ส่งผลให้เกิดเป็นพรหมมีรูปร่าง ได้แก่ การได้รูปฌาน 4 จัดว่ามีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะผู้ทำทำพร้อมทั้งปรารถนาการได้เกิดเป็นรูปพรหม นับว่ายังข้องอยู่ในนามรูป

ระดับอรูปาวจร คือ ความดีที่ส่งผลให้เกิดเป็นอรูปพรหม ได้แก่ การได้อรูปฌาน 4 จัดว่ามีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะปรารถนาการได้เป็นอรูปพรหม คือ พรหมไม่มีรูป ยังข้องอยู่ในนาม16)

 

(2)อวิชชาเป็นปัจจัยให้ทำชั่ว ความชั่วนี้มีทั้งความชั่วทางกาย วาจา และใจ โดยเริ่มต้นมาจากความชั่วทางใจเป็นพื้นฐาน โดยมีอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะไม่รู้จึงทำชั่ว ทั้งทางกาย วาจา และใจ

อวิชชาเป็นปัจจัยแก่การทำชั่วหรือบาปอันส่งผลให้เกิดความทุกข์ และยังผลให้สัตว์ไปเกิดในอบายภูมิเป็นสิ่งที่เข้าใจได้โดยธรรมดา ส่วนอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดการทำดีหรือบุญซึ่งเป็นวัฏคามี คือ เพื่อจะได้ท่องเที่ยวเสวยสุขในวัฏสงสาร เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะฝืนความรู้สึก คล้ายกับว่าอวิชชาเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่พึงปรารถนา ส่วนบุญกุศล การเกิดในสวรรค์ ในพรหมโลก ถือว่าเป็นสิ่งพึงปรารถนา ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่า สิ่งที่ดีจะเกิดจากสิ่งที่ไม่ดีได้อย่างไร หรือสิ่งที่พึงปรารถนาจะเกิดจากสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาได้อย่างไร คำตอบนั้นมีปรากฏให้เราเห็นอยู่ในสังคมทั่วไป เช่น ถ้าสมมติว่ากฎหมายเป็นสิ่งดีทำให้สังคมดำรงอยู่อย่างสงบสุข ก่อนจะมีกฎหมายก็จะต้องมีคนไม่ดีก่อกวนสังคมมาก่อนกฎหมายจึงเกิดขึ้น เจตนาในการสร้างกฎหมายก็เพื่อป้องกันมิให้สิ่งไม่ดีเกิดขึ้น ตำรวจเกิดมีขึ้นก็เพราะมีโจรผู้ร้าย ศาลยุติธรรมเกิดมีขึ้นเพราะมีการทุจริต ในกรณีนี้สิ่งไม่ดีจึงเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งที่ดี17)

บุญ สวรรค์ หรือพรหมโลก เป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดเพื่ออยู่ในภพภูมิที่ดีได้เสวยสุข แต่ในแง่ของการตัดวงจรสังสารวัฏ ในฐานะของพระอรหันต์ผู้หมดกิเลส การมีบุญ สวรรค์ หรือพรหมโลก ก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะพระอรหันต์คือผู้ละบุญและบาปได้แล้ว ดังที่พุทธพจน์ที่ว่า

“    ผู้ใดมีกิเลสสงบแล้ว ละบุญและบาปได้แล้ว ปราศจากกิเลสธุลี รู้โลกนี้และโลกหน้าแล้ว ล่วงชาติและมรณะได้ ผู้คงที่เห็นปานนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นสมณะ”18)

สรุปแล้ว อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร หมายถึง ความไม่รู้ทำให้คนทำดีทำชั่ว การทำดีทำชั่วนั้นย่อมต้องมีวิบาก เพราะฉะนั้น สังขาร คือ เจตนา จึงเป็นทั้งกรรมและวิบาก แล้วสังขารฝ่ายวิบาก(เจตนาฝ่ายวิบาก) นี้เองที่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณต่อไป

 

2.สังขารเป็นปัจจัยจึงมีวิญญาณ

            เมื่อมีสังขารหรือเจตนาทางกาย ทางวาจา ทางใจ (ความคิด) เกิดขึ้นตามที่ได้เคยสั่งสมไว้ ในกระบวนการทางจิตจักมีวิญญาณมารับรู้สังขารหรือเจตนานั้น วิญญาณจึงทําหน้าที่คล้ายๆ ระบบประสาทเป็นตัวเชื่อมต่อเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกาย จิต และสิ่งแวดล้อม พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “    สังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ” หมายความว่า สังขาร คือ บุญหรือบาปที่เราได้ทำไว้ จะเป็นชนกผู้ให้กำเนิดปฏิสนธิวิญญาณ พระพุทธองค์ยังได้กล่าวว่า เมื่อเวลาใกล้จะตาย สังขาร คือ บุญหรือบาปที่เป็นชนกนั้นก็จะมาปรากฏเป็นอารมณ์ โดยเป็นกรรมนิมิตหรือคตินิมิต ปรากฏในมโนทวาร จุติจิต คือ จิตที่ทำหน้าที่เคลื่อนจากภพก็จะเกิดขึ้น พอจุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตจะถูกกรรมผลักดันให้เกิดขึ้นในภพใหม่ทันที

            ที่กล่าวมานั้นเป็นสังขารทำให้เกิดปฏิสนธิวิญญาณ สำหรับสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดปวัตติวิญญาณ คือ สังขารฝ่ายวิบากที่ดีเป็นปัจจัยให้เกิดการรับรู้ที่ดี คือ เจตนาฝ่ายวิบากที่ดีทำให้เกิดการรับรู้ผ่านทวารต่างๆ เป็นการรับรู้ที่ดี สังขารฝ่ายวิบากที่ชั่วเป็นปัจจัยให้เกิดการรับรู้ที่ไม่ดี คือ เจตนาฝ่ายวิบากที่ชั่ว ทำให้เกิดการรับผ่านทวารต่างๆ ที่ไม่ดี

 

3.วิญญาณเป็นปัจจัยจึงมีนามรูป คือ ปฏิสนธิวิญญาณ เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์ในภพใหม่ นั่นคือส่วนของรูป ซึ่งจะค่อยๆ มีการพัฒนาไปตามลำดับ จนกระทั่งเติบโตดังที่ พระพุทธองค์ตรัสว่า

“    รูปนี้เป็นกลละก่อน จากกลละเป็นอัพพุทะ จากอัพพุทะเกิดเป็นเปสิ จากเปสิเกิดเป็นฆนะ จากฆนะเกิดเป็น 5 ปุ่ม(ปัญจสาขา) ต่อจากนั้น มีผมขนและเล็บ(เป็นต้น) เกิดขึ้น มารดาของสัตว์ในครรภ์ บริโภคข้าวน้ำโภชนาหารอย่างใด สัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดานั้น ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารอย่างนั้นในครรภ์นั้น”19)

กลละนี้ คือ ส่วนที่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่ ในอรรถกถากล่าวว่า กลละมีประมาณเท่าหยาดน้ำมันงาซึ่งตั้งอยู่ที่ปลายเส้นด้ายที่ทำด้วยเส้นขนสัตว์ 3 เส้น มีสีใสไม่ขุ่นมัว เหมือนหยาดน้ำมันงาหรือเนยใส20)

เมื่อมนุษย์เจริญเติบโตขึ้นตามลำดับวัย ปวัตติวิญญาณสามารถทำหน้าที่ทางทวาร 6 ได้อย่างเต็มที่ ช่วงนี้ทำให้เรามองเห็นความสัมพันธ์ของกรณีที่ว่า สังขารเป็นปัจจัยแก่วิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยแก่นามรูป ได้อย่างชัดเจน สังขาร คือ เจตนาทางกาย วาจา ใจ วิญญาณ ได้แก่วิญญาณ 6 นามได้แก่ เจตสิก รูป ได้แก่ร่างกายส่วนที่เป็นรูปพร้อมทั้งคุณลักษณะอาการของรูปทั้งหมด เมื่อมนุษย์ทำสิ่งใดลงไป วิญญาณทางทวาร 6 ทางใดทางหนึ่งก็เกิดขึ้น พร้อมกับองค์ประกอบของตน เช่นนี้ วิญญาณจึงเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป

 

4.นามรูปเป็นปัจจัยจึงมีสฬายตนะ เมื่อมีนามรูปครบองค์ของชีวิต คือ ทําหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ย่อมทําให้สฬายตนะ คือ อวัยวะส่วนต่างๆ ของนามรูป ที่ใช้สื่อกับสิ่งต่างๆ ซึ่งมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้ง 6 หรือเรียกว่า อายตนะภายใน อันเกิดร่วมมาด้วยโดยธรรมชาติ มีการเริ่มทําหน้าที่ของตน พระพุทธองค์จึงตรัสว่า นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดหรือมีสฬายตนะ หรือก็คืออายตนะ 6 นี้มีอยู่แล้ว แต่เริ่มทํางานตามหน้าที่คือ กระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ร่วมกับวิญญาณ ทำให้เกิดการรับรู้

 

5.สฬายตนะเป็นปัจจัยจึงมีผัสสะ เมื่อมีสฬายตนะแล้ว ย่อมต้องมีการผัสสะ คือ การประจวบกระทบกันกับสิ่งที่ถูกรู้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ทั้ง 6 หรือเรียกว่า อายตนะภายนอก และมีการรับรู้ (วิญญาณ) เกิดขึ้น เช่น

ตา + รูป + จักขุวิญญาณ กระทบกัน »> ผัสสะ

สังเกตให้ดีว่า เป็นขบวนการธรรมชาติ เป็นธรรมดาที่เมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรสสัมผัส กายกระทบสัมผัส ย่อมเกิดวิญญาณการรู้แจ้งในสิ่งที่สัมผัสหรือกระทบนั้นเป็นอาการธรรมดา แต่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดทุกข์ขึ้น

 

6.ผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา เมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น คือมีการกระทบกันของอายตนะภายในและภายนอก และมีการรับรู้ คือ วิญญาณ ก็จะบังเกิดเป็นเวทนา คือการเสวยอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (โผฏฐัพพะ) ธรรมารมณ์ ที่มากระทบ โดยมีความจํา (สัญญา) มาจําแนกการรับรู้นั้นว่าเป็นถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือเฉยๆ จึงแยกเป็น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุข หรือเฉยๆ ตามมาเป็นธรรมชาติ ผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา

 

7.เวทนาเป็นปัจจัยจึงมีตัณหา เมื่อเกิดเวทนาขึ้นมาแล้ว จิตย่อมบังเกิดความรู้สึกภายในที่เป็นตัณหา คือ ความทะยานอยาก อันจําแนกให้เห็นได้ชัดๆ ง่ายๆ เป็นความอยากได้ในอารมณ์ ความอยากมี (ภวตัณหา) หรือไม่อยาก (วิภวตัณหา) หรือเฉยๆ ในเวทนานั้น เกิดขึ้นในขณะจิตนั้นเอง ต้องมีโยนิโสมนสิการถึงจักมองเห็นด้วยตาปัญญาหรือญาณ คือ เข้าใจ ถ้าเวทนานั้นเป็นเวทนาที่เป็นสุขก็อยากจะได้ อยากให้เกิด อยากให้เป็นไปตามสุขเวทนานั้นนานๆหรือตลอดไป พยายามยึดไว้ ถ้าเวทนานั้นเป็นเวทนาที่รู้สึกเป็นทุกข์ ก็ไม่อยากให้เกิด ไม่อยากให้เป็น ไม่อยากให้มี จะเกิดอาการผลักไสขึ้นในจิตทันที พระพุทธองค์จึงตรัสว่า เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา อันเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์

 

8.ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน หมายความว่า ความยึดมั่นถือมั่นนั้นมีความอยากเป็นมูลฐาน เมื่ออยากจึงยึดมั่นถือมั่น ถ้าไม่อยากก็ไม่ยึด ทำนองเดียวกันเพราะหิวจึงกิน ถ้าไม่หิวก็ไม่กิน ตัณหากับอุปาทานนั้น แม้จะเป็นพวกโลภะด้วยกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันอยู่บ้าง โดยที่ตัณหาเป็นเหตุ อุปาทานเป็นผลของตัณหา คือ ตัณหานั้นเป็นความอยาก ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่ได้ ยังมาไม่ถึง อุปาทานเป็นความยึดอารมณ์ที่ได้แล้ว ที่มาถึงแล้ว เช่น อยากเป็น นายพล เป็นตัณหา ครั้นได้รับยศเป็นนายพลแล้ว ก็ถือยศนายพลว่า ข้าคือนายพล นี่เป็นอุปาทาน พระพุทธองค์ทรงเปรียบไว้ว่า ตัณหาเหมือนอาการที่ขโมยเหยียดมือออกไปควานหาในที่มืด อุปาทานเปรียบเหมือนอาการที่ขโมยเอามือจับของนั้นไว้ ไม่ย่อมปล่อย อีกอย่างหนึ่ง ตัณหาอย่างอ่อนจัดเป็นตัณหาความอยาก ตัณหาอย่างแรงจัดเป็นกามุปาทาน ตัณหาตรงข้ามกับความปรารถนาน้อย อุปาทานตรงข้ามกับความสันโดษ อุปาทานนี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดภพ

 

9.อุปาทานเป็นปัจจัยจึงมีภพ เมื่อมีอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในความพึงพอใจของตน ดังได้กล่าวแล้วว่าอุปาทาน มี 4 อย่าง คือ

(1)กามุปาทาน คือ การยึดมั่น พึงพอใจติดพันในกาม ในสิ่งที่อยากได้ในกามหรือทางโลกๆ เช่น ใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

(2)ทิฏฐุปาทาน คือ การยึดมั่นถือมั่น ความพึงพอใจในทฤษฎีและความเชื่อหรือทิฏฐิอยากให้เป็น หรือไม่อยากให้เป็นตามที่ตนเชื่อ ตามที่ตนยึดถือ ยึดมั่น

(3)สีลัพพตุปาทาน คือ การยึดมั่นยินดียินร้ายในศีลและพรต(ข้อปฏิบัติ) ด้วยกิเลส อย่างงมงายผิดๆ เช่น การทรมานกายเพื่อให้บรรลุธรรม การถือศีลอย่างเดียวเชื่อว่าบรรลุธรรม เชื่อว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์

(4)อัตตวาทุปาทาน คือ ความยึดมั่นในวาทะ (ถ้อยคํา) ว่าตัวตน เป็นความหลงผิด พื้นฐานที่เกิดในชีวิตประจําวันอยู่แล้ว และช่วยเสริมด้วยถ้อยคําภาษาสมมุติที่ใช้สื่อสารกัน ทําให้เกิดมองเห็นสิ่งต่างๆ แยกออกจากกัน เห็นเป็นของตนชัดเจนขึ้นในจิตเป็นประจํา เช่น ของผม ของคุณ บ้านของผม รถของฉัน ลูกของฉัน จนไปยึดถือ ยินดียินร้าย หรือพึงพอใจโดยไม่รู้ตัวตลอดเวลาในทุกขณะจิตในชีวิตประจําวัน

เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่น ก็ย่อมจะมีกรรมภพ คือ การทำบุญทำบาปได้ เช่น เมื่อมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตน เป็นของตน หรือเป็นของเนื่องด้วยตน โดยความรัก ความหวงแหน ความเห็นผิด จึงมีการกระทำเพื่อสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นนั้น ถ้าไม่มีการยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มีการกระทำที่เป็นบุญและบาป ด้วยเหตุนี้ อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดกรรมภพ จึงกล่าวโดยรวบยอดว่า อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ และกรรมภพนี้เองเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ

 

10.กรรมภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ หมายความว่า กรรมทำให้เกิดชาติ คือ ให้ขันธ์ปรากฏขึ้นอย่างเดียวกับไร่นาที่ทำให้พืชงอกงามเป็นลำต้นขึ้นได้ ฉะนั้น ถ้าไร่ดี นาดี พืชก็งาม ถ้าไร่นาไม่ดี พืชก็ไม่งาม กรรมภพเปรียบเหมือนไร่นา ปฏิสนธิวิญญาณที่ยึดกรรมเป็นอารมณ์เปรียบเหมือนพืชที่หว่านลงในไร่นา ตัณหาเปรียบเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงพืช เมื่อวิญญาณยึดกรรมเป็นอารมณ์ กรรมที่ทำให้วิญญาณปฏิสนธิ คือ ให้เกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไป ถ้ากรรมดีก็ทำให้ไปเกิดในสุคติ กรรมชั่วก็ทำให้ชั่วให้ไปเกิดในทุคติ พึงเห็นได้จากความแตกต่างกันของสรรพสัตว์ เช่น คนเราเกิดมา แม้จะมีบิดามารดาเดียวกัน อยู่ในสถานที่เดียวกัน มีความเป็นอยู่เสมอกัน แต่มีความแตกต่าง บางคนใจดี บางคนใจร้าย บางคนสวย บางคนไม่สวย เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนเราทำกรรมมาต่างกัน จึงมีรูปร่าง หน้าตา อัธยาศัยและฐานะแตกต่างกัน อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตของสรรรพสัตว์นั้นเป็นไปตามกรรมลิขิตหรือกรรมนิมิต ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “    กรรมย่อมจำแนกสรรพสัตว์ให้เลวและประณีตต่างๆ ได้”21) สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรมด้วยเหตุนั้น จึงว่ากรรมภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ

 

11.ชาติเป็นปัจจัยให้มีชรามรณะ หมายความว่า เมื่อมีเกิดจึงมีแก่และมีตาย ถ้าไม่เกิดก็ไม่มีความแก่และไม่ตาย ฉะนั้น ชรามรณะจึงนับเป็นองค์อันหนึ่งในปฏิจจสมุปบาท ส่วนความโศกเศร้า ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ แม้จะเป็นผลของชาติ สืบเนื่องมาจากอวิชชา เพราะมีอาสวะเป็นเหตุให้เกิด แต่ก็มิได้นับเป็นองค์ในปฏิจจสมุปบาท เพราะไม่อาจมีได้เสมอไป เช่น พระพรหม เป็นต้น แม้จะมีอาสวะ แต่มิได้มีธรรมเหล่านี้เสมอไป

 

12.ชรามรณะและอาสวกิเลส เป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา วงจรย้อนกลับมาสู่ที่เดิม เพราะความทุกข์และอาสวะกิเลสที่นอนเนื่องหมักหมม ซึมซาบ ย้อมอยู่ในจิต ซึ่งทําให้จิตขุ่นมัว และเศร้าหมอง และจะไปกระตุ้นเร่งเร้าให้เกิดอวิชชาขึ้นใหม่ ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “    เพราะอาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด เพราะอาสวะดับ อวิชชาจึงดับ”22) และอวิชชาก็จะไปทำให้เกิดเป็นวงจรของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งก็คือ ไปสร้างวัฏฏะทุกข์ขึ้นใหม่ไม่รู้จักจบสิ้น

            ผลของอาสวะกิเลสและอวิชชา ที่เห็นชัดแจ้งในยุคเทคโนโลยี ได้แก่ อาการที่แสดง หรือ เป็นปัจจัยให้เกิดการป่วยทางจิตและทางกาย(ที่มีสาเหตุมาจากจิตมากมายจนนึกไม่ถึง) เหล่านี้ ล้วนมีผลมาจากอาสวะกิเลสที่ทําให้ขุ่นข้องคับแค้นใจ(อุปายาส) เศร้าใจ(โทมนัส) ใจหดหู่ (โสกะ)…ฯลฯ สะสมพอกพูนจนไม่สามารถทนรับได้อีก จึงแสดงผลทางกายออกมา เช่น ป่วยเป็นโรคต่างๆ โดยไม่ทราบหรือไม่มีสาเหตุ (เป็นทางกายสังขาร) หรือ ขุ่นมัวกราดเกรี้ยว ด่าว่าไปทั่ว โดยไม่มีเหตุอันควร (เป็นทางวจีสังขาร) หรือแสดงผลทางจิต เช่น อาการฟุ้งซ่าน หดหู่ใจ ใจเหี่ยวแห้งอยู่ลึกๆ โดยไม่ทราบเหตุชัดเจนหรือแน่ชัดเป็นเวลานานๆ หรือเป็นโรคจิต (โรคทางมโนสังขาร) ก็เพราะอาสวะและอวิชชานี้เอง เพราะทั้งจิตและกายต่างอาศัยพึ่งพาซึ่งกันและกัน ซึ่งกายอาศัยจิต และจิตก็อาศัยกาย ดังนั้นบางครั้งจักเห็นอาการกายบังคับจิตและบางครั้งก็เห็นจิตบังคับกาย

------------------------------------------------------------

16) บรรจบ บรรณรุจิ, กระบวนธรรมเพื่อความเข้าใจชีวิต ปฏิจจสมุปบาท, กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2535, หน้า 96.
17) เพิ่ม รัฐไชย, การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องหลักปฏิจจสมุปบาท, วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต, แผนกวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2522.
18) ขุททกนิกาย สุตตนิบาต, มก. เล่มที่ 47 ข้อ 367 หน้า 476.
19) สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่มที่ 25 ข้อ 803 หน้า 384.
20) สังยุตตนิกาย สคาถวรรค, มก. เล่มที่ 25 ข้อ 803 หน้า 386.
21) มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 23 ข้อ 581 หน้า 251.
22) มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์, มก. เล่มที่ 17 ข้อ 128 หน้า 538.

MD 408 สมาธิ 8: วิปัสสนากัมมัฏฐาน

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017291824022929 Mins