การสื่อสารไร้สายในสมัยพุทธกาล

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

การสื่อสารไร้สายในสมัยพุทธกาล


            เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า เหตุใดการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาลจึงสามารถขยายไปได้อย่างกว้างขวาง คิดเป็นพื้นที่กว้างใหญ่กว่าพื้นที่ประเทศไทยในปัจจุบันเสียอีก คณะสงฆ์ก็มีจำนวนมากมายกระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ทั้งที่ในยุคนั้นไม่มีเครื่องมือสื่อสารอะไรเลยไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต แฟ็กซ์ก็ไม่มีทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ในยามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมคำสอนในที่ต่างๆ คณะสงฆ์ที่อยู่กันคนละแห่งจะรู้ได้อย่างไร เพราะในยุคนั้นยังไม่มีหนังสือพระไตรปิฎกเลย พระไตรปิฎกมาเกิดขึ้นหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระอรหันตสาวก 500 รูป จึงทำการสังคายนา ประมวลคำสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียบเรียงเป็นพระไตรปิฎก 


            ในครั้งพุทธกาล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเทศนาสั่งสอนเรื่องต่างๆ แก่พระภิกษุสงฆ์อยู่เสมอ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น พระองค์ก็จะทรงบัญญัติพระวินัยห้ามพระภิกษุกระทำเรื่องนั้นๆ โดยกำหนดขึ้นมาทีละข้อ จนรวมเป็น 227 ข้อ อันเป็นศีลของพระภิกษุมาจนถึงปัจจุบัน ในครั้งนั้นพระภิกษุที่อยู่ตามที่ต่างๆ จะทราบได้อย่างไรว่า พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยข้อใหม่ขึ้นแล้ว เช่นในเบื้องต้นอาจจะมีอยู่ 10 ข้อ พอถัดมาอีก 6 เดือน อาจจะมีเพิ่มมาอีก 5 ข้อ กลายเป็น 15 ข้อ เป็นต้น ถ้าพระภิกษุในแต่ละท้องที่ รับทราบข้อมูลไม่เท่ากัน ก็จะทำให้สงฆ์แต่ละที่รักษาพระวินัยไม่เท่ากัน ถ้ามีพระวินัยไม่เท่ากันแล้วเอกภาพของสงฆ์จะมีได้อย่างไร และเมื่อถึงคราวลงพระปาติโมกข์ หากท่องปาติโมกข์ไม่เท่ากันแล้วผลจะเป็นอย่างไร การคณะสงฆ์คงจะสับสนวุ่นวายอย่างมาก แต่ทำไมในความเป็นจริงคณะสงฆ์ในครั้งพุทธกาลมีความเป็นเอกภาพอย่างน่าอัศจรรย์ ทั้งยังสามารถรักษาความเป็นเอกภาพได้อย่างต่อเนื่องยาวนานนับเป็นร้อยๆปี ยากที่จะมีองค์กรใดทำได้อย่างนี้ พระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงใช้วิธีการอย่างไรจึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง


            แท้จริงแล้วนี่คือการสื่อสารแบบ Wireless ไม่ต้องใช้สายเลย แต่มีประสิทธิภาพสูงมาก กระจายคำสอนไปทั่วทั้งแผ่นดินได้ ถามว่าพระองค์ทรงทำอย่างไร จากหลักฐานในพระไตรปิฎกพบว่า ในพรรษาที่ 1 หลังจากตรัสรู้ธรรม พระพุทธองค์ทรงจำพรรษาอยู่ที่เดียวกับชฎิล 3 พี่น้อง คืออุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะและคยากัสสปะ ทรงโปรดชฎิล 3 พี่น้อง จนกระทั่งสำเร็จ ยอมมาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศานา พร้อมทั้งบริวาล 1,003 รูป


            พรรษาต่อมาก็ทรงจาริกไปโปรดสรพพสัตว์ทั้งหลายในที่ต่างๆ มากมาย แต่ใน 25 พรรษาท้ายพระองค์จำพรรษาอยู่ที่เมืองๆเดียว คือเมืองสาวัตถีโดยพักอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร 19 พรรษาและที่บุพพารามที่นางวิสาขาสร้างถวายอีก 6 พรรษา ทั้ง 2 วัดนี้ อยู่ในเมืองๆเดียวกันจึงนับได้ว่าพระพุทธองค์ทรงจำพรรษาที่เมืองสาวัตถีติดต่อกัน 25 พรรษาจากนั้นในพรรษาสุดท้ายคือพรรษาที่ 45 นั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จจาริกจำพรรษาที่ชานเมืองเวสาลี ก่อนจะเสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา


            ในช่วงเวลา 19 พรรษา ที่พระพุทธองค์ทรงพักอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ซึ่งเป็นวัดที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีสร้างถวาย โดยใช้ทรัพย์ไปถึง 54 โกฏิกหาปณะ หรือ 540 ล้านกหาปณะนั่นเอง ในยุคนั้น 1 กหาปณะมีค่ามากกว่าเงินดอลลาร์ในปัจจุบันเสียอีก จึงนับว่าท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ใช้ทรัพย์ไปเป็นจำนวนมหาศาล การสร้างเชตวันมหาวิหาร เพียงแค่การซื้อที่ดินเพื่อสร้างวัด ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้สำรวจดูทั้งเมืองพบว่าสวนของเจ้าเชตซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์นั้นมีความเหมาะสมที่สุด เพราะสถานที่สงบร่มรื่น ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป ท่านเศรษฐีจึงไปขอซื้อจากเจ้าเชต เจ้าเชตไม่อยากขายจึงบอกว่า ถ้าอยากจะซื้อก็เอาเงินมาปูให้เต็มแผ่นดินนั่นคือราคาที่ดิน อนาถบิณฑิกเศรษฐีไม่ต่อรองราคาสักคำกลับให้คนไปขนเงินมาเรียงให้เต็มแผ่นดิน จนในที่สุดเจ้าเชตเห็นถึงความศรัทธาตั้งใจจริง จึงขอร่วมบุญด้วย ซึ่งในขณะนั้นที่ดินทั้งผืนมีเงินปูเรียงจนเกือบเต็มแล้ว เหลือตรงซุ้มประตูอยู่หน่อยเดียวเท่านั้นเอง เจ้าเชตทั้งขอร่วมบุญในส่วนนั้นทั้งตั้งเงื่อนไขว่า เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วให้ใช้ชื่อของตนเป็นชื่อวัด ท่านเศรษฐีก็ยอมเพราะท่านเป็นคนทำบุญโดยไม่หวังเอาหน้า การที่เจ้าเชตมาขอร่วมบุญด้วยก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะจะได้มีส่วนในบุญร่วมกัน นอกจากนี้เจ้าเชตเองเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมีอำนาจถ้ามีชื่อในการสร้างวัดครั้งนี้ การเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งนี้ก็คงเป็นไปได้สะดวกขึ้น วัดนั้นจึงได้ชื่อว่า “ เชตวัน ” ซึ่งแปลว่า ป่าของเจ้าเชต นั่นเอง


           เชตวันมหาวิหาร ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี ได้ทุ่มเทสร้างนี้ ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในครั้งพุทธกาล เมื่อศึกษาดูในพระไตรปิฎก พบว่าเชตวันมหาวิหารนี้ได้รับการออกแบบก่อสร้างให้สามารถรองรับพระภิกษุได้เป็นเรือนหมื่น พระอาคันตุกะมาพักได้นับพันรูป สาธุชน ญาติโยม ทั้งหลาย มาฟังธรรมเป็นหมื่นเป็นแสนก็รองรับได้


            ในพระไตรปิฎกยังบันทึกว่า ในพระเชตวันมหาวิหารนี้ มีการจัดเขตให้พระภิกษุได้พักเป็นกลุ่มๆ ตามความถนัด เช่น ถ้าเป็นศิษย์สายพระอุบาลี ชำนาญพระวินัยพักอยู่ร่วมกัน ถ้าเป็นศิษย์สายพระอานนท์ ชำนาญพระสูตร พักอยู่ด้วยกันอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นกลุ่มที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการแสดงธรรม พระธรรมกถึกก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่งในที่ๆสงบสงัดเป็นพิเศษ ถ้าเป็นผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเรื่องการดูแลร่างกายให้แข็งแรง การออกกำลังกาย ก็อยู่อีกกลุ่มหนึ่ง แบ่งตามความถนัดความชอบ โดยผู้ที่ทำหน้าที่จัดเขตที่พักของพระภิกษุก็คือ พระทัพพมัลลบุตรท่านเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ หมดกิเลสแล้วเสร็จกิจแล้วจึงอาสาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับบุญเป็นคนจัดที่พักให้พระ ท่านเป็นผู้มีฤทธิ์เพียงยกนิ้วขึ้นเท่านั้น ก็เกิดแสงสว่างโพลง สามารถพาพระภิกษุไปยังที่พักได้ โดยไม่ต้องอาศัยแสงจากคบเพลิงใดๆเลย


            ในพระไตรปิฎกยังมีบันทึกไว้ว่า เป็นธรรมเนียมสงฆ์ในครั้งพุทธกาลว่าพอออกพรรษาแล้ว พระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆ ก็จะส่งตัวแทนไปเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครที่มีความพร้อมสุขภาพแข็งแรงก็เป็นตัวแทนเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า จะเห็นได้ว่าธรรมเนียมถวายผ้าทอดกฐิน ก็เกิดจากการที่พระภิกษุเมืองปาไฐยรัฐ 30 รูป ออกพรรษาแล้วรอนแรมตากแดดตากฝนมาเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนจีวรเปื่อยขาดไป พระองค์จึงอนุญาตให้รับผ้ากฐินได้ ก็มีที่มาจากเหตุนี้


            สงฆ์ตัวแทนเหล่านี้ มากราบพระพุทธเจ้าแล้วก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระพุทธองค์ก็จะทรงทักทายปราศรัยด้วย พอเสร็จเรียบร้อย พระภิกษุเหล่านั้นก็ลาพระพุทธเจ้าไปพัก พระทัพพมัลลบุตร ก็จะถามพระภิกษุแต่ละรูปว่าสนใจในเรื่องใด ก็จัดที่พักแยกกันไปตามความสนใจของท่าน พอเข้าที่พักแล้วพระภิกษุที่สนใจพระวินัยก็จะสอบถามพระภิกษุผู้เชี่ยวชาญ พระวินัยสายอุบาลีว่าพรรษาที่ผ่านมาพระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยเพิ่มเติมอะไรบ้าง เมื่อทราบข้อมูลแล้วก็จะรีบท่อง


            เพราะต้องจำด้วยมุขปาฐะ เนื่องจากสมัยนั้นไม่นิยมการเขียนตัวอักษร ต้องใช้การท่องจำ ผู้ที่สนใจพระสูตรก็ไปสอบถามกับพระภิกษุสายพระอานนท์ว่า พระพุทธเจ้าเทศน์สอนอะไรบ้าง จากนั้นก็ท่องจำไว้ พอจำได้คล่องแคล่วแม่นยำดีแล้วก็มากราบทูลลาพระพุทธเจ้า ระหว่างทางที่กลับไปถื่นของตน ก็ไปพักตามวัดต่างๆ พักที่ใดก็แจ้งต่อที่ประชุมสงฆ์ว่า ข้าพเจ้าพึ่งมาจากเชตวันมหาวิหาร บัดนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระธรรมวินัยเพิ่มเติมดังนี้ พระภิกษุสงฆ์ที่พำนักในที่นั้นก็จะมาประชุมกัน เพื่อรับทราบข้อมูล และเพื่อจะนำไปถ่ายทอดต่อ เกิดการศึกษา ถ่ายทอดต่อกันไปเรื่อยๆ กระจายกันไปอย่างนี้ ทำให้สงฆ์ทั้งแผ่นดินรู้พระธรรมคำสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ จึงกล่าวได้ว่าพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติขึ้นนั้น มีเชตวันเป็นศูนย์กลาง เป็นขุมคลังความรู้ ทรงจำโดยพระภิกษุสงฆ์ที่แบ่งออกเป็นกลุ่มมีความชำนาญเฉพาะด้าน จากนั้นพระสงฆ์จากทุกสารทิศก็มาเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาศึกษาจดจำคำสอนแล้วนำกลับไปบอกต่อกระจายไปอย่างกว้างไกล


            นี่คือการสื่อสารไร้สาย ไม่ต้องใช้สายโทรศัพท์หรือเทคโนโลยีอะไรเลย พระภิกษุสงฆ์คือแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด สามารถกระจายความรู้ได้อย่างกว้างขวาง ต้องการทราบเรื่องอะไรสอบถามได้เลย ทำให้เกิดเอกภาพของพระธรรมวินัย เอกภาพของคำสอน และเอกภาพของคณะสงฆ์ จะเห็นได้ว่าเทคนิคการบริหารการปกครองคณะสงฆ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นเยี่ยม เหตุที่เชตวันมหาวิหาร ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐี สร้างขึ้นได้รับความชื่นชมยกย่องมาก ไม่ใช่เป็นแต่เพียงว่าเกิดจากความศรัทธาที่มากล้นของผู้สร้างเพียงอย่างเดียว แต่หัวใจสำคัญก็คือ การที่เชตวันมหาวิหาร และบุพพารามได้กลายเป็นศูนย์กลาง ของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งดังกล่าว เมื่อศึกษาประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ เราก็จะพบว่า ทุกพระองค์จะมีผู้ใจบุญที่คล้ายคลึงกับท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีนี้ มาเคารพศรัทธา และสร้างวัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในยุคนั้นๆ ในบางยุคการซื้อแผ่นดินเพื่อสร้างวัด ถึงกับต้องใช้ทองคำปูให้ทั่วพื้นที่ ตามที่เจ้าของที่ในยุคนั้นตั้งเงื่อนไข แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมหาเศรษฐีผู้ใจบุญในยุคนั้นก็สามารถขนทองคำมาปูเรียงเต็มแผ่นดินเพื่อซื้อหาที่ดินสร้างวัดจนได้สำเร็จ


            จะเห็นได้ว่านี่คือเทคนิคที่เป็นสากลในการสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ แม้การสร้างวัดใหญ่เช่นนี้จะเป็นเรื่องยากยิ่ง ต้องอาศัยใจที่ศรัทธาทุ่มเทจริงๆ แต่เมื่อสร้างสำเร็จแล้วจะมีประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่มหาศาลในการสร้างความมั่นคงให้เกิดกับพระพุทธศาสนา นี่คือบทบาทของเชตวันมหาวิหารในครั้งพุทธกาล


            วัดในพุทธกาลจึงแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ 1. วัดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 2. วัดต่างๆ ที่กระจายอยู่ทั่วแผ่นดิน ถ้าเป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางของหัวเมืองก็จะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ถ้าเป็นวัดประจำหมู่บ้าน ประจำตำบลก็มีขนาดลดหลั่นกันลงมา วัดที่รองรับประชาชนในหมู่บ้าน ก็ต้องสร้างขึ้นมาเป็นรูปแบบหนึ่ง ถ้าเป็นวัดประจำตำบลก็แบบหนึ่ง ประจำอำเภอก็แบบหนึ่ง ถ้าเป็นวัดประจำเมืองก็ต้องสร้างให้มีขนาดใหญ่เพราะมีพระเป็นจำนวนมากขึ้นอีกทั้งพระภิกษุจากเชตวันก็สามารถมาพำนักเพื่อถ่ายทอดคำสอนให้กับพระที่วัดประจำเมืองนี้ได้ จากนั้นจึงถ่ายทอดคำสอนไปยังวัดประจำอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ทำให้คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากระจายไปอย่างทั่วถึง โดยมีจุดเริ่มต้นที่เชตวันมหาวิหาร อันเป็นศูนย์กลางของการเผยแผ่พระพุทธศาสนา


            ฉะนั้นการที่ท่านเศรษฐีอนาถบิณฑิกเศรษฐี เอาเงินปูแผ่นดิน เพื่อนสร้างวัดจึงเป็นสิ่งที่แสนคุ้มค่า หันมาดูยุคของเราในปัจจุบัน เราจะทำอย่างไร จึงจะนำความรุ่งเรืองมาสู่ศาสนา ได้อีกครั้ง การที่พวกเราสวมหัวใจนักสร้างบารมี สวมหัวใจพระโพธิสัตว์ ทุ่มเทกันสุดชีวิตสร้างวัดพระธรรมกาย สร้างอุโบสถ สร้างสภาธรรมกายสากล สร้างทั้งมหาธรรมกายเจดีย์ สร้างทั้งลานพระธรรม สร้างทั้งมหารัตนวิหารคด สร้างอาคารปฏิบัติธรรม 60 ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์ สร้างมหาวิหารหลวงปู่ ฯลฯ จนใกล้จะเสร็จแล้วถ้าเสร็จเมื่อใดก็สามารถชุมนุมสงฆ์และประชาชนได้ครั้งหนึ่งนับล้าน ซึ่งจะเป็นจุดพลิกผันสำคัญในการนำความรุ่งเรืองมาสู่พระพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่ง ถึงเวลานั้นคนทั้งโลกจะต้องประหลาดใจว่า เหตุใดพระภิกษุสงฆ์ และชาวพุทธนับล้านจึงมาปฏิบัติธรรมร่วมกันเช่นนี้ ภาพนี้จะทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจและมาศึกษาค้นคว้า เพื่อแสวงหาคำตอบ แล้วในที่สุดเขาก็จะพบคำตอบได้จากการศึกษาปฏิบัติธรรม เพราะในยามนี้ชาวโลกกำลังตื่นตัวเรื่องพระพุทธศาสนา ดังที่มีการสำรวจว่า เว็ปไซต์ในอินเตอร์เน็ต เว็ปหมวดหมู่ใดที่คนสนใจเข้าไปดูมากที่สุด โดยเรียงจาก 1 ถึง 10 ตามความนิยม ถ้าดูตามกระแสโลกเว็บยอดนิยมก็น่าจะเป็นหมวดหมู่เกี่ยวกับเรื่องกีฬา เรื่องเกมคอมพิวเตอร์ เรื่องของข่าวสารบ้านเมือง หรือเว็บบันเทิงภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งผลที่ออกมาก็เป็นไปตามนั้น แต่หมวดที่คาดไม่ถึงว่าจะติดอันดับด้วยก็คือ หมวดพระพุทธศาสนาที่มีผลสำรวจว่าติด 1 ใน 10 เว็ปไซต์ที่คนยุโรป อเมริกาชอบไปค้นคว้ามากที่สุด จะเห็นได้ว่าในบ้านเมืองที่ไม่ใช่เมืองพุทธ คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอื่นแท้ๆ เขายังสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างมาก พยายามไปหาความรู้ด้วยตัวเองว่า พระพุทธศาสนาสอนอะไร 


               นี่คือแนวโน้มของชาวโลก ที่เริ่มค้นหาว่า ความรู้ใดที่จะเป็นที่พึ่งที่ระลึก เป็นสรณะให้กับชีวิตได้ เมื่อรู้ว่าคำตอบมีอยู่ในพระพุทธศาสนา ชาวโลกจึงกำลังแสวงหาว่าจะไปศึกษาธรรมได้จากที่ไหน ถ้าเราสร้างศูนย์กลางธรรมกายของโลกเสร็จสมบูรณ์ ก็จะสามารถรองรับชาวโลกได้นับล้านคน ใครก็ตามที่แสวงหาความหมายของชีวิต เมื่อมาที่นี่จะได้พบคำตอบอย่างครบถ้วนกระจ่างใจ จะเกิดการรวมพลังชาวพุทธจากทั่วโลกครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้น
ขอให้ภูมิใจเถิด ในสิ่งที่เราได้ทุ่มเทสร้างขึ้นมา เพราะนี่คือศาสนสถาน ที่จะนำความรุ่งเรืองมาสู่พระพุทธศาสนา ทั้งในยุคนี้และต่อๆไป เมื่อนึกถึงศาสนสถาน ที่ชาวพุทธเคยสร้างมาในอดีต เช่น บรมพุทโธในอินโดนีเซีย ก็เป็นหลักฐานสร้างความรุ่งเรือง ให้กับพระพุทธศาสนา ในอินโดนีเซียได้ดีในยุคหนึ่ง แต่น่าเสียดายที่ศาสนสถานที่สำคัญส่วนใหญ่ จะมีเพียงองค์เจดีย์เท่านั้น แต่ในครั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเราจึงต้องสร้างทั้งองค์เจดีย์ ลานธรรม มหารัตนวิหารคด สภาธรรมกายสากล ซึ่งรองรับคนได้นับแสน อาคารปฏิบัติธรรม 60 ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์มหาวิหารพระมงคลเทพมุนี รวมทั้งมีที่จอดรถ ที่รองรับคนได้นับล้านคน ทุกๆระบบต้องพร้อมมูล เพราะเราไม่ได้สร้างเอาไว้เพียงเพื่อเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ให้ผู้คนมากราบไหว้บูชาเท่านั้น แต่สร้างไว้เพื่อให้ได้ใช้ประโยชน์ จึงสร้างอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ รองรับได้ทั้งการศึกษาปริยัติธรรมและปฏิบัติธรรม เพื่อให้มหาธรรมกายเจดีย์เป็นศูนย์รวมจิตใจ รวมพระภิกษุสงฆ์ รวมประชาชนที่มาปฏิบัติธรรมร่วมกันได้ และมีระบบรองรับทุกอย่างพร้อมดังที่เห็นอยู่


            เมื่อทำได้ครบวงจรอย่างนี้ ศาสนสถานที่สร้างขึ้นจึงจะเป็นศูนย์กลางสร้างความมั่นคงให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนา ในยุคปัจจุบันได้อย่างแท้จริง อีกไม่นานเราจะปลื้มใจทุกๆครั้ง เมื่อเห็นผู้คนใส่ชุดขาวหลั่งไหลมาปฏิบัติธรรมนับแสนนับล้านคน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปีและตลอดไป ทุกครั้งที่มีคนมาปฏิบัติธรรมที่ลานธรรม ได้อาศัยศาสนสถานที่เรามีส่วนสร้าง หรือมีผู้มากราบไหว้องค์เจดีย์ ที่มีองค์พระประจำตัวของเราประดิษฐานอยู่ จิตเราจะปลื้มปิติตลอด แล้วความปลื้มปีตินี้ จะน้อมนำใจของเราให้นุ่มนวล สามารถเข้าถึงธรรมได้อย่างสะดวกสบาย เราจะได้ทั้งบุญหยาบ บุญละเอียด ละโลกไปแล้วก็ไปพักดุสิตบุรี วงบุญพิเศษสักพัก แล้วค่อยมาสร้างบารมีกันต่อไป ทุกคนจะมีโอกาสได้เป็นอย่างนี้เพราะอานิสงส์แห่งบุญที่ทำไว้

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 2  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0060255527496338 Mins