กตัตตากรรม

วันที่ 29 สค. พ.ศ.2558

 

กตัตตากรรม

ความหมายของกตัตตากรรม

             กตัตตากรรม หรือกฏัตตาวาปนกรรม คือ อกุศลกรรมและกุศลกรรมที่แต่ละคนได้กระทำมาแล้วทั้งในอดีตชาติและในปัจจุบันชาติ ซึ่งยังไม่ถึงขั้นเป็นครุกรรม อาสันนกรรม และอาจิณณกรรม เป็นเพียงกรรมที่ผู้กระทำไม่มีเจตนา หรือไม่ได้มีความตั้งใจที่จะกระทำ

 

ลักษณะของกตัตตากรรม

             กตัตตากรรมเป็นกรรมที่ให้ผลเป็นอันดับที่ 4 เป็นกรรมที่ผู้กระทำไม่ได้มีเจตนา หรือไม่ได้มีความตั้งใจทำ เช่น การกระทำของเด็กทารกไร้เดียงสา มีบิดามารดาที่ชอบทำบุญให้ทานเป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อว่าบาปบุญมีจริง จึงปรารถนาจะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามเช่นนี้ให้กับลูก เวลาที่จะทำบุญตักบาตร ก็จับมือเด็กทารกที่ยังไม่รู้อะไรเลย ให้ถวายทานแก่พระสงฆ์ หรือเวลาที่พระผ่านมา ก็สอนให้พนมมือไหว้ด้วยความเคารพ ทั้งๆ ที่ใจของลูกนั้นยังไม่รู้อะไรเลย แต่ว่ากุศลกรรมที่ได้ทำลงไปนั้น ย่อมให้ผล แม้จะทำแบบไม่รู้เรื่องก็ตาม แต่กุศลกรรมที่สักแต่ว่าทำก็เป็นกรรมที่มีกำลังอ่อน เพราะหลักของกรรมนั้นมีอยู่ว่า “    เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ฉะนั้นถ้าไม่มีเจตนา ก็ไม่เรียกว่าเป็นกรรม หรือถ้าเป็นกรรม ก็ไม่ส่งผลรุนแรงเท่ากับการกระทำที่มีเจตนาแรงกล้า

            กตัตตากรรมนี้จึงไม่มีกำหนดเวลาที่จะให้ผลแน่นอน เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังอ่อนที่ช่วยเสริมกรรมอื่น ซึ่งเปรียบกตัตตากรรมเหมือนลูกศรที่คนตาบอดยิงออกจากแล่งธนู ปกติแล้วลูกศรที่คนตาบอดยิงออกไป ไม่สามารถที่จะยิงไปให้ตรงจุดหมายได้ เพราะว่าเขาไม่ทราบถึงเป้าหมายว่าอยู่ตรงไหน เพียงแต่รู้ว่า ลูกศรนี้จะต้องตกลงมาบนพื้นดิน กตัตตากรรมก็เช่นกันที่จะกำหนดเวลาที่จะให้ผลในชาตินั้นชาตินี้ไม่ได้ กำหนดได้เพียงว่าจะต้องให้ผลแน่นอนไม่ภพชาติใดก็ภพชาติหนึ่ง ทั้งนี้เป็นเพราะกตัตตากรรมเป็นกรรมที่มีกำลังอ่อนจนแม้แต่ตัวผู้กระทำเองก็ไม่รู้ว่าเป็นบุญเป็นบาปหรือไม่ กระทำด้วยความไม่รู้ ด้วยเหตุนี้กตัตตากรรมนี้จึงให้ผลโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่นอน

            กตัตตากรรมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ กตัตตากรรมฝ่ายอกุศลกรรมและกตัตตากรรมฝ่ายกุศลกรรม

 

กตัตตากรรมฝ่ายอกุศลกรรม

            กตัตตากรรมฝ่ายอกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายบาป หรือกรรมฝ่ายชั่ว ที่จะชักนำผู้ที่กระทำกตัตตา-กรรมนี้ให้ไปเกิดในทุคติภูมิ ให้ไปรับทุกข์โทษหลังจากที่ตายไปแล้ว

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกฝ่ายอกุศลกรรม

บุพกรรมของเปรต18)

            ชาวนาผู้หนึ่งที่เกิดในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า วันหนึ่งมีประชาชนพากันไปทำบุญและทำสักการบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คนเหล่านั้นได้มาชักชวนให้เขาทำบุญด้วยกัน เขาไม่เห็นประโยชน์คิดแต่เพียงว่า เสียเวลาทำมาหากิน เขาจึงพูดว่าไม่ไป เพราะเสียเวลาไถนา แม้คนเหล่านั้นจะบอกว่า การไปทำบุญกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีกว่าการไถนา

เขาจึงถามเพื่อตัดความรำคาญว่า

“    พระกัสสปพุทธเจ้าวิเศษอย่างไร สมเด็จพระกัสสปพุทธเจ้าท่านสามารถที่จะไถนาอย่างเรานี้ได้หรือไม่”

คนเหล่านั้นแสดงท่าทางตกใจ แล้วก็พูดสดุดีคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและตักเตือนไม่ให้เขาพูดดูหมิ่นเช่นนั้น ทั้งยังพรรณนาโทษแห่งการดูหมิ่นพระพุทธองค์อย่างมาก จนเขาหมั่นไส้เลยพูดตัดบทออกไปโดยไม่มีเจตนาว่า

“    พวกท่านอย่ามาสาธยายให้หนวกหูเรา เลย เอาละ เป็นอันว่าพระกัสสปะวิเศษจริง แต่เราก็ได้ตั้งใจไว้แล้วว่า ถ้าพระพุทธองค์ไม่สามารถไถนาให้เราได้ เราจะไม่ไปทำบุญ ไม่ทำการสักการบูชาพระพุทธองค์ แต่ถ้าพระพุทธองค์สามารถมาจับหางไถแล้วไถนาอย่างเราเมื่อไร เราจึงจะไปทำบุญและสักการบูชา”

ด้วยวจีกรรมเพียงเล็กน้อยนี้ที่ชาวนานั้นหวังจะประชดประชันคนเหล่านั้นเท่านั้น ทำให้เมื่อเขาเสียชีวิตก็มาดลบันดาลให้เกิดเป็นเปรต ต้องอดอยากและไถนาอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้พักผ่อนเลย

 

กตัตตากรรมฝ่ายกุศลกรรม

            กตัตตากรรมฝ่ายกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายบุญหรือฝ่ายดีที่จะชักนำให้ผู้ที่กระทำกตัตตากรรมนี้ไปบังเกิดในสุคติภูมิ

กรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก

เทพบุตรกบ19)

           ในสมัยพุทธกาล ใกล้รุ่งวันหนึ่ง ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วิหารริมฝั่งสระ-โบกขรณีใกล้เมืองจัมปา พระพุทธองค์ทรงตรวจพิจารณาสัตวโลกแล้ว ทรงเห็นว่าในเย็นวันนั้น ขณะที่กำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดชนทั้งหลาย จะมีกบตัวหนึ่งถือเอานิมิตในพระสุรเสียงของพระองค์ ตายแล้วไปบังเกิดในสวรรค์ เมื่อทรงทราบดังนั้นก็ทรงดำเนินพุทธกิจตามปกติ เช่น นำพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลาย ออกบิณฑบาต แสดงข้อวัตรปฏิบัติแก่เหล่าภิกษุทั้งปวง เป็นต้น

            ในเวลาเย็น เมื่อบริษัท 4 คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันเพื่อจะฟังพระธรรมเทศนาตามปกติ พระองค์จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี เข้าสู่มณฑปซึ่งตั้งอยู่ริมสระโบกขรณี ประทับเหนือพุทธอาสน์ เมื่อทรงทราบว่าบริษัททั้งหลายพร้อมที่จะฟังพระธรรมเทศนาแล้ว จึงเปล่งพระสุรเสียงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นปาฏิหาริย์ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม

          ในขณะนั้น มีกบตัวหนึ่งกำลังแหวกว่ายขึ้นจากสระโบกขรณี ได้ยินพระสุรเสียงที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรม ทั้งที่ไม่ได้มีความเข้าใจเนื้อความที่พระพุทธองค์ทรงแสดงเลย แต่รู้สึกซาบซึ้งยินดีในพระสุรเสียงที่ได้ยิน จึงกระโดดไปนอนฟังอยู่ด้านท้ายๆ หลับตาฟังพระสุรเสียงแสดงธรรมของพระพุทธองค์ด้วยความเบิกบาน แต่ขณะที่กำลังฟังพระสุรเสียงอย่างเพลิดเพลินอยู่นั้น มีคนเลี้ยงโคคนหนึ่ง เดินผ่านมาในบริเวณนั้น เห็นพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางเหล่าพุทธบริษัท ด้วยพระอาการอันน่าเลื่อมใสยิ่ง ก็บังเกิดความยินดีใคร่จะฟังธรรม จึงไปยืนใกล้กับที่กบนอนอยู่ โดยที่ไม่เห็นกบ ขณะยืนฟังอยู่ได้เอาไม้สำหรับต้อนโคปักลงไปที่พื้นดิน ไม่ได้ปักถูกบนหัวของกบเข้าพอดี จนทำให้กบนั้นตาย

          เมื่อกบนั้นตายแล้ว ได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรมีรูปร่างงดงาม ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทั้งนี้เป็นเพราะถือเอานิมิตในพระสุรเสียงแสดงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ว่าจะไม่รู้เนื้อความที่พระพุทธองค์ทรงแสดง แต่เพราะเหตุแห่งการถือเอานิมิตในพระสุรเสียงนั้นจึงเป็นกตัตตากรรมชักนำให้ไปบังเกิดในสุคติภูมิ

           สรุปความว่า ปากทานปริยายจตุกกะ คือ กรรมที่ให้ผลตามลำดับความหนักเบามีทั้งหมด 4 ประเภท ซึ่งถ้าบุคคลใดกระทำกรรมทั้ง 4 ประเภทแล้ว ครุกรรมย่อมให้ผลแก่บุคคลผู้กระทำก่อนเป็นลำดับแรก เพราะเป็นกรรมที่หนักที่สุดจึงมีกำลังมากในการให้ผล ถ้าเป็นครุกรรมฝ่ายอกุศลกรรมก็จะชักนำบุคคลที่กระทำไปเกิดในอเวจีมหานรก โดยเฉพาะสังฆเภทที่จะให้ผลก่อนและทำให้บุคคลที่กระทำต้องได้รับโทษตลอดกัปเป็นเวลานาน แต่ถ้าเป็นครุกรรมฝ่ายกุศลกรรมก็จะชักนำบุคคลที่กระทำไปบังเกิดยังพรหมโลกตามอำนาจของฌานที่ตนกระทำไว้เมื่อครั้งเป็นมนุษย์

            ถ้าบุคคลไม่ได้กระทำครุกรรม แต่ได้ทำกรรมทั้ง 3 ที่เหลือ อาสันนกรรมซึ่งเป็นกรรมที่มีกำลังแรงรองลงมาก็จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำไว้ก่อนกรรมอื่น ถ้าบุคคลใดทำอาสันนกรรมฝ่ายอกุศลกรรมก็จะชักนำบุคคลที่กระทำไปเกิดในทุคติภูมิ แต่ถ้าเป็นอาสันนกรรมฝ่ายกุศลกรรมก็จะชักนำบุคคลที่กระทำไว้ไปสู่สุคติภูมิ

            ถ้าบุคคลใดไม่ได้กระทำครุกรรมและอาสันนกรรม แต่ได้กระทำกรรมทั้ง 2 ที่เหลือ คือ อาจิณณกรรมและกตัตตากรรม อาจิณณกรรมก็จะมีกำลังในการให้ผล เพราะเป็นกรรมที่มีกำลังแรงรองลงมาจากอาสันนกรรมก็ย่อมจะให้ผลแก่บุคคลผู้ที่กระทำก่อน ซึ่งถ้าบุคคลใดทำอาจิณณกรรมฝ่ายอกุศลกรรมเป็นประจำก็จะมีผลทำให้บุคคลนั้นไปเกิดในทุคติภูมิ แต่ถ้าบุคคลใดกระทำอาจิณณกรรมฝ่ายกุศลกรรมเป็นประจำจนคุ้นเคยก็จะชักนำพาบุคคลผู้กระทำกุศลกรรมไปสู่สุคติภูมิ

            ถ้าบุคคลใดไม่ได้ทำครุกรรม ไม่ได้ทำอาสันนกรรมและไม่ได้ทำอาจิณณกรรม ซึ่งหมายความว่า บุคคลที่ไม่ได้ทำทั้งอกุศลกรรมและกุศลกรรมที่มีกำลังมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ กตัตตากรรมซึ่งเป็นกรรมที่มีกำลังน้อยที่สุดย่อมให้ผลแก่บุคคลนั้น ซึ่งถ้าเป็นกตัตตากรรมฝ่ายอกุศลกรรมก็จะชักนำบุคคลนั้นไปสู่ทุคติภูมิ แต่ถ้ากตัตตากรรมฝ่ายกุศลกรรมก็จะชักนำบุคคลนั้นไปสู่สุคติภูมิ

             จะเห็นได้ว่า ปากทานปริยายจตุกกะแต่ละประเภทนั้นจะให้ผลที่แตกต่างกันตามลำดับของกรรมที่มีความหนักเบา โดยเฉพาะกตัตตากรรมซึ่งเป็นกรรมที่เกิดจากการไม่มีเจตนา แม้จะเป็นการกระทำแค่ชั่ววูบและไม่รู้ไม่ทราบอะไรเลย กระทำด้วยความไม่ตั้งใจ ยังมีผลเป็นความทุกข์ทรมานแสนสาหัส เพราะฉะนั้นอย่าได้ประมาท ต้องมีสติยับยั้งให้ดี ไม่ควรล่วงเกินใครด้วยกาย วาจา ใจ และหมั่นสั่งสมทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ชื่อว่ากรรมที่เราทำไว้แม้เพียงเล็กน้อยย่อมให้ผล บุคคลใดเมื่อทำอย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต สมกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่เกิดมายากแสนยาก ดังเช่นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสไว้ว่า

“    ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ สอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียว”20)

            ดังนั้น เมื่อการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้นยากอย่างนี้ จึงควรใช้ชีวิตในแต่ละวันให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุดสมกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ การหมั่นสั่งสมบุญทุกบุญเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ สิ่งใดที่เคยทำผิดพลาดมาก็ลืมไปให้หมด หมั่นสร้างแต่กรรมดีอยู่ทุกวัน และต้องทำใจของเราให้ใสตลอดเวลา เพื่อไม่ให้บาปได้ช่องแต่กลับให้บุญกุศลได้โอกาสในการให้ผล เมื่อทำอย่างนี้แล้ว ชีวิตก็จะปลอดภัยจากภัยในทุคติภูมิ แต่จะมีบุญกุศลกรรมที่คอยสนับสนุนให้ความความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปและเข้าใกล้สุคติภูมิ เหมือนมีแก้วโชติรสที่คอยบันดาลความสุขความสำเร็จให้บังเกิดขึ้นในชีวิต

-------------------------------------------------------------------

18) เปรตไถนา, อรรถกถาขุททกนิกาย เปตวัตถุ, มก. เล่ม 49.
19) มัณฑูกเทวปุตตวิมาน, อรรถกถาขุททกนิกาย วิมานวัตถุ, มก. เล่ม48 หน้า 419.
20) ปฐมฉิคคฬสูตร, สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค, มก. เล่ม 31 หน้า 475.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013027310371399 Mins