อุปปัชชเวทนียกรรม

วันที่ 31 สค. พ.ศ.2558

 

อุปปัชชเวทนียกรรม

ความหมายของอุปปัชชเวทนียกรรม

            อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในชาติหน้า เป็นกรรมที่บุคคลกระทำแล้วย่อมได้รับผลแห่งกรรมที่ตนทำไว้ในชาติหน้าต่อจากชาตินี้อย่างแน่นอน

 

ลักษณะของอุปปัชชเวทนียกรรม

            อุปปัชชเวทนียกรรมเป็นกรรมที่ให้ผลในชาติที่ 2 นับจากชาติปัจจุบันนี้ ด้วยอำนาจเจตนาที่อยู่ในชวนจิตดวงที่ 7 หมายความว่า เมื่อบุคคลได้ทำอกุศลกรรม หรือกุศลกรรมในปัจจุบันชาตินี้ และเจตนาที่อยู่ในชวนจิตดวงที่ 1 คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมไม่มีโอกาสที่จะให้ผลในชาตินี้ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจตนากรรมที่อยู่ในชวนจิตดวงที่ 7 คืออุปปัชชเวทนียกรรมที่จะให้ผลในชาติที่ 2 คือชาติที่เกิดต่อจากชาตินี้ ตามสมควรแก่กรรมที่ได้กระทำไว้ อุปปัชชเวทนียกรรมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายเหมือนกับกรรมประเภทอื่น คือ

1)อุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรม ได้แก่ บาปชนิดหนัก คือ อนันตริยกรรม 5 และนิตยมิจฉาทิฏฐิกรรม ดังกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องปรโลกของนันทิยอุบาสกและนางเรวดี11)

ในอดีตกาลที่กรุงพาราณสี มีตระกูลมั่งคั่งใหญ่โตตระกูลหนึ่ง เป็นตระกูลสัมมาทิฏฐิ มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อบุตรชายของตระกูลเศรษฐีนี้ที่ชื่อ นันทิยะ เจริญวัยขึ้น บิดามารดาจึงสู่ขอนางเรวดีมาเป็นสะใภ้ของตน แต่นางเป็นคนไม่มีศรัทธา มีความตระหนี่ นันทิยะจึงไม่ปรารถนาที่จะแต่งงานด้วย บิดามารดาของเขาจึงออกอุบายให้นางเรวดีอยู่ในบ้านและให้นางแกล้งทำเป็นคนมีศรัทธา หมั่นอุปัฏฐากบำรุงพระภิกษุสงฆ์ นางจึงฝืนใจทำ ทั้งๆ ที่ใจจริงไม่ได้มีความเคารพเลื่อมใส นันทิยะเมื่อเห็นนางมีจิตเลื่อมใสแล้ว จึงยอมแต่งงานกับนาง

เมื่อบิดามารดาของนายนันทิยะเสียชีวิตลง ความเป็นใหญ่ทุกอย่างในเรือนจึงตกอยู่กับนาง ส่วนนายนันทิยะได้บำเพ็ญทานอย่างเต็มที่เป็นประจำ ยิ่งทำก็ยิ่งมีศรัทธาเพิ่มขึ้น คราวหนึ่งเขาได้สร้างศาลาจตุรมุขหลังใหญ่ 4 หลัง ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมด้วยตั่งเตียง ที่นั่ง ที่นอน และอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วนบริบูรณ์ ในวันฉลองศาลาได้อาราธนาพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อจะถวายศาลาจึงหลั่งน้ำทักษิโณทกลงบนพระหัตถ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะนั้นเอง ทิพยวิมานของนันทิยอุบาสก ซึ่งประดับด้วยรัตนะ 7 มีความยาวและความกว้างด้านละ 12 โยชน์ มีความสูง 100 โยชน์ พร้อมด้วยเหล่าเทพอัปสรหนึ่งพัน ได้บังเกิดขึ้นเพื่อเขา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทันที

ครั้งหนึ่ง เขาต้องไปค้าขายต่างเมืองนานหลายวัน จึงบอกนางเรวดีให้ดูแลเรื่องการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์และให้ทานแก่คนยากไร้แทนตน ซึ่งนางก็รับคำแต่ก็ให้ทานอยู่สองสามวัน แล้วก็ไม่ให้อาหารสำหรับคนยากไร้อีกต่อไป นอกจากนั้นนางยังไม่มีความเคารพในทาน นางจึงถวายข้าวสุกและอาหารที่เหลือจากการบริโภคใส่บาตรพระ พระภิกษุเห็นว่าเป็นของเดน ไม่ควรแก่การฉัน เมื่อกลับถึงวัดท่านจึงเทอาหารเหล่านั้นทิ้ง นางเรวดีเมื่อทราบความที่พระภิกษุเทอาหารทิ้ง นางจึงได้โอกาสด่าบริภาษพระภิกษุเหล่านั้น แล้วเลิกการให้ทานอีกต่อไป

เมื่อนายนันทิยะกลับมา ได้ทราบความเป็นจริงทั้งปวง จึงไล่นางออกไปจากเรือน แล้วถวายทานแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข และให้ทานแก่คนยากไร้เช่นเดิม เมื่อนายนันทิยะเสียชีวิตลง ได้ไปบังเกิดในวิมานของตนบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ นางเรวดีก็กลับมารับมรดกครอบครองสมบัติทั้งหมด และได้เลิกให้ทานทุกอย่าง เที่ยวด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ วันหนึ่งขณะที่นางกำลังนอนอยู่ ได้ยินเสียงดังมาจากด้านบนว่า “    จากนี้ไปอีก 7 วัน นางเรวดีจะต้องตาย แล้วไปตกนรก” เมื่อมหาชนได้ยินต่างก็สลดใจ และพากันหวาดสะดุ้งกลัว

นางเรวดีเมื่อได้ยินเสียงนั้น จึงขึ้นปราสาทปิดประตู เมื่อถึงวันที่ 7 ท้าวเวสสุวรรณบัญชาให้ยักษ์ 2 ตน ไปนำตัวนางเรวดีมาให้มหาชนดูทั่วพระนคร แล้วเหาะพาไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แสดงวิมานและสมบัติของนายนันทิยะให้นางเห็น แล้วส่งนางไปที่อุสสทนรก ซึ่งบุรุษของพญายมได้โยนนางลงอุสสทนรก ถูกนายนิรยบาลตัดมือ เท้า หู จมูก และถูกฝูงกาจิกกิน นางเรวดีผู้ไม่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไม่ได้ให้ทานและเที่ยวด่าบริภาษพระภิกษุ การกระทำของนางในครั้งนี้เป็นอกุศลกรรมที่หนักมากจนเป็นอุปปัชชเวทนียกรรมที่ทำให้นางต้องตกนรกไปรับโทษอย่างแสนสาหัส

 

2)อุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม ได้แก่ บุญชนิดหนัก คือ มหัคคตกุศล 8 ที่บุคคลใดได้บำเพ็ญเพียรจนได้สำเร็จฌานแล้ว บุคคลนั้นเมื่อละจากโลกนี้แล้ว เขาย่อมไปบังเกิดบนพรหมโลกด้วยอำนาจของฌานสมาบัติขั้นสูงสุดที่ตนทำได้ ส่วนฌานกุศลที่มีกำลังต่ำลงมาก็กลายเป็นอโหสิกรรมดังกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่อง ราชธิดาทำลายตบะของดาบส12)

ในอดีตกาล พระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพราหมณ์มหาศาลชื่อ อุทิจจะ เมื่อศึกษาสำเร็จศิลปศาสตร์แล้ว จึงออกบวชเป็นดาบสอาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมจนได้ฌานและอภิญญา ในป่านั้นมีแม่เนื้อตัวหนึ่งมาเคี้ยวกินหญ้าที่เจือน้ำเชื้อของดาบสในสถานที่ถ่ายปัสสาวะของดาบสแล้วดื่มน้ำ นางเนื้อนั้นมีจิตรักใคร่ผูกพันในดาบส จึงตั้งครรถ์ เมื่อนางเนื้อคลอดบุตรเป็นมนุษย์ผู้ชาย ดาบสจึงตั้งชื่อบุตรนั้นว่า อิสิสิงคกุมาร และเลี้ยงดูจนเจริญวัยจึงให้บวชเป็นดาบส และสั่งสอนในกสิณบริกรรม ในไม่ช้าฌานและอภิญญาก็เกิดขึ้น อิสิสิงคดาบสได้ฝึกเข้าฌาน ประลองฌานจนเกิดความชำนาญ เป็นเหตุให้อาสนะท้าวสักกะแสดงอาการร้อน เมื่อท้าวสักกะทรงทราบเหตุ ก็เกรงว่าตนเองจักหมดอำนาจ เพราะบารมีและศีลของดาบส จึงคิดจะทำลายศีลของดาบสโดยการ ห้ามฝนไม่ให้ตกในกาสิกรัฐตลอด 3 ปี ทำให้ชาวเมืองเดือดร้อน จึงไปกราบทูลพระราชา จากนั้นท้าวสักกเทวราชก็มาบอกแก่พระราชาว่า “    อิสิสิงคดาบส มีตบะกล้าแข็ง เพ่งดูอากาศ ฝนจึงไม่ตก จึงต้องทำลายตบะของพระดาบสเสีย” พระราชาจึงให้พระธิดาพระนามว่า นฬินิกา ไปทำลายตบะดาบส

วันหนึ่ง ดาบสพระโพธิสัตว์ให้อิสิสิงคดาบสผู้เป็นบุตรเฝ้าอยู่ที่อาศรม ตนเองเข้าไปสู่ป่าเพื่อหาผลไม้น้อยใหญ่ พระราชธิดานฬินิกาที่ปลอมตัวเป็นฤๅษีจึงได้โอกาสเข้าไปในอาศรมของดาบส และทำลายตบะของดาบสได้สำเร็จ เมื่อหลอกทำลายศีลของดาบสให้วิบัติได้แล้วจึงรีบกลับพระนคร พระโพธิสัตว์กลับมาเห็นอิสิสิงคะนอนบ่นเพ้อรำพันอยู่ ก็ทราบว่า ศีลของดาบสนี้ เห็นทีจักถูกผู้หญิงคนหนึ่งทำลายให้ขาดเสียแล้วเป็นแน่ ดังนี้เมื่อจะกล่าวสอนดาบสนั้น จึงกล่าวว่า

“    ดูก่อนลูกรัก ก็ภูตคือพวกยักษ์นั้นย่อมเที่ยวไปในมนุษยโลก โดยรูปแปลกไว้ ก็เพื่อเคี้ยวกิน พวกคนที่ตกไปสู่อำนาจของตน นรชนผู้มีปัญญา ไม่พึงคบหาพวกภูตคือยักษ์เหล่านั้น การประพฤติพรหมจรรย์ ย่อมฉิบหายไป เพราะถึงความเกาะเกี่ยวกันเช่นนั้น ดังนั้นผู้ประพฤติพรหมจรรย์ไม่ควรลุ่มหลงพวกฤๅษีที่ปลอมตัวมาหลอก เพราะหากลุ่มหลงก็จะทำให้ละทิ้งตบะและเดชแห่งสมณะ เจ้าถูกนางยักษิณีนั้นพบเห็นแล้ว แต่ยังไม่ถูกเคี้ยวกิน”

อิสิสิงคดาบสได้ฟังดังนั้นเกิดความกลัวกลับได้สติ จึงตั้งใจเจริญพรหมวิหาร คือ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา แล้วกลับได้ฌานและอภิญญาอีกครั้งหนึ่ง เจริญพรหมวิหารอยู่จนตลอดชีวิต เมื่อถึงคราวละโลก ฌานสมาบัติซึ่งเป็นอุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายกุศล ก็ทำให้ได้ไปบังเกิดบนพรหมโลก

สำหรับการให้ผลของอุปปัชชเวทนียกรรมนั้น อุปปัชชเวทนียกรรมทั้ง 2 ฝ่าย จะให้ผลตามลำดับหนักเบา คือ เมื่อบุคคลกระทำกรรมอันเป็นอุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรมไว้หลายประการ ครั้นเมื่อเขาตายแล้ว อุปปัชชเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรมชนิดที่หนักที่สุดย่อมให้ผล คือชักนำให้บุคคลนั้นไปเกิดในนรกทันที ต่อเมื่ออกุศลกรรมชนิดหนักที่สุดให้ผลแล้ว อกุศลกรรมชนิดเบารองลงมาก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม ยกตัวอย่างเช่น ผู้ที่ประกอบอนันตริยกรรมทั้ง 5 ประการ เมื่อเขาตายไปแล้ว สังฆเภทซึ่งเป็นกรรมที่มีโทษหนักที่สุด ย่อมให้ผลชักนำให้บุคคลผู้นั้นไปเกิดในนรกทันที13) ส่วนอนันตริยกรรมที่เหลือก็จะกลายเป็นอโหสิกรรม จะไม่มีโอกาสให้ผลแก่เขาเลย

-------------------------------------------------------------------

11) เรื่องนายนันทิยะ, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 419.
12) นฬินิกาชาดก, ขุททกนิกาย ชาดก, มก. เล่ม 62 หน้า 1.
13) คำอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ได้กล่าวไว้กล่าวไว้แล้วในบทที่ 4 .

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.020823383331299 Mins