อปรปริยายเวทนียกรรม

วันที่ 31 สค. พ.ศ.2558

 

อปรปริยายเวทนียกรรม

ความหมายของอปรปริยายเวทนียกรรม

            อปรปริยายเวทนียกรรม มาจากคำ 3 คำ คือ อประ หมายถึง ภพอื่น ชาติอื่น ปริยายะ หมายถึง วาระ กำหนดระยะเวลา และเวทนียะ หมายถึง กรรมที่จะเสวยผล เมื่อรวมความแล้วก็จะหมายถึง กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป คือตั้งแต่ชาติที่ 3 เป็นต้นไป

 

 ลักษณะของอปรปริยายเวทนียกรรม

            อปรปริยายเวทนียกรรม เป็นกรรมที่ให้ผลในชาติที่ 3 นับจากปัจจุบันชาตินี้เป็นต้นไป เมื่อบุคคลทำอกุศลกรรมหรือกุศลกรรมประเภทนี้แล้ว กรรมนั้นจะยังไม่ให้ผลในชาติปัจจุบัน และชาติหน้าซึ่งถัดจากชาติปัจจุบัน แต่จะให้ผลในชาติที่ 3 เป็นต้นไป โดยไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ ด้วยอำนาจของเจตนากรรมในชวนจิตดวงที่ 2 ถึงดวงที่ 6 โดยจะติดตามบุคคลที่กระทำกรรมไปในทุกหนทุกแห่ง และเมื่อได้โอกาสก็จะให้ผลทันที เปรียบเหมือนนายพรานสุนัข เมื่อเห็นเนื้อแล้วก็ปล่อยสุนัขให้ไล่เนื้อ เมื่อสุนัขไล่ตามไปทันในที่ใด ก็จะกัดเนื้อล้มลงในที่นั้น อปรปริยายเวทนียกรรมก็เช่นกัน เป็นกรรมที่ผู้ใดกระทำแล้วก็จะเป็นกรรมของผู้นั้นตลอดไป จะไม่มีการสูญสิ้นอันตรธานไปไหน เว้นไว้แต่บุคคลที่กระทำกรรมจะบรรลุเป็นพระอรหันต์หมดกิเลสดับขันธ์เข้าพระนิพพาน กรรมนี้จึงจะหมดโอกาสให้ผล ซึ่งเมื่ออปรปริยายเวทนียกรรมนี้ได้ช่องได้โอกาสตามทันบุคคลที่กระทำกรรมในชาติใดแล้ว ก็จะทำหน้าที่ให้ผลทันที ไม่ว่าบุคคลที่กระทำกรรมนั้นจะอยู่ในฐานะอย่างไรก็ตาม อปรปริยายเวทนียกรรมแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือ

 

1) อปรปริยายเวทนียกรรมฝ่ายอกุศลกรรม คือ กรรมชั่ว หรือกรรมฝ่ายบาป ที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมให้ได้รับทุกข์โทษความเดือดร้อนตั้งแต่ชาติที่ 3 เป็นต้นไปทันที ดังเช่นกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎก เรื่องตายเพราะกรรมเก่าตามทัน14)

            ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุกลุ่มหนึ่งมีความปรารถนาที่จะเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงพากันโดยสารเรือเดินสมุทรลำใหญ่เพื่อไปยังเมืองสาวัตถี วันหนึ่งในขณะที่แล่นอยู่กลางทะเล เรือได้หยุดนิ่งโดยไร้สาเหตุและไม่สามารถแล่นต่อไปได้ นายเรือจึงสั่งลูกเรือให้ตรวจตราเรือเพื่อหาจุดชำรุด แต่แม้จะตรวจดูจนทั่วเรืออยู่หลายรอบก็ไม่ปรากฏว่าเรือมีอาการชำรุดแต่อย่างใด เมื่อไม่เห็นวิธีการที่จะสามารถทำให้เรือแล่นต่อไปได้ นายเรือจึงเรียกผู้โดยสารทั้งหมดมารวมตัวกันเพื่อแจ้งให้พวกเขารับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และเพื่อให้ทุกคนช่วยกันระดมความคิดในการหาทางแก้ไข ซึ่งในที่สุดได้มีผู้หนึ่งกล่าวขึ้นว่าในเรือน่าจะมีคนที่เป็นกาลกิณีอยู่จึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เมื่อทุกคนเห็นพ้องตรงกัน จึงทำสลากขึ้นมาให้ทุกคนจับ ปรากฏว่า ภรรยาสาวของนายเรือจับได้ถึง 3 ครั้ง นายเรือไม่อาจปล่อยให้ลูกเรือคนอื่นได้รับอันตราย โดยเห็นแก่ภรรยาของตนเพียงคนเดียว จึงตัดสินใจให้คนเอาถังที่บรรจุทรายจนเต็มผูกคอนางเอาไว้ แล้วจับโยนลงในมหาสมุทรจมหายไป เรือจึงแล่นไปได้ตามปรกติ เหล่าพระภิกษุซึ่งโดยสารเรือลำนั้นมา เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงบังเกิดความสังเวชสงสารนาง และพากันสงสัยถึงเหตุที่ทำให้เรือไม่แล่นทั้งที่ไม่ได้ชำรุด กับเหตุที่นางต้องตายในวัยสาวด้วยเหตุที่ไม่สมควร เมื่อเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้กราบทูลเล่าเรื่องราวที่พวกตนได้พบเห็นให้พระพุทธองค์ทรงทราบ แล้วทูลถามเหตุที่ทำให้ภรรยานายเรือถูกโยนลงทะเลจนถึงแก่ความตาย

            พระพุทธองค์ได้ตรัสเล่าถึงบุพกรรมของนางให้แก่ภิกษุเหล่านั้นฟังว่า ในอดีตชาติ นางเกิดเป็นภรรยาของหนุ่มชาวนาคนหนึ่ง ได้ทำหน้าที่ของแม่บ้านอย่างดี คราวหนึ่งนางได้สุนัขพเนจรมาตัวหนึ่ง จึงเลี้ยงดูด้วยความเมตตาจนสุนัขนั้นมีความรักใคร่ในตัวนาง เมื่อนางจะไปในที่ใด สุนัขนั้นก็จะติดตามไปทุกแห่ง และไม่ว่านางจะทำการงานสิ่งใด สุนัขนั้นก็จะนอนเฝ้าดูนางอยู่เสมอ พวกเด็กหนุ่มเห็นเช่นนั้น จึงพากันพูดล้อเลียนนาง ทำให้นางรู้สึกอับอายมาก จึงคว้าไม้ไล่ตีสุนัขเพื่อไม่ให้ตามมาอีก แต่เนื่องจากสุนัขตัวนี้เคยเป็นสามีของนางในอดีตชาติ เพราะฉะนั้นมันจึงไม่โกรธหรือหลบหนี แต่กลับยังคอยติดตามนางเช่นเดิม นางโกรธสุนัขมากที่ชอบติดตามไปทุกที่ ในวันหนึ่งเมื่อนางนำอาหารไปส่งสามีที่ทุ่งนาจึงแสร้งทำเป็นเรียก เมื่อสุนัขเห็นเข้าก็มาหาและตามไปโดยไม่ลังเล นางจึงเอาเชือกผูกคอสุนัขกับถังที่บรรจุทรายจนเต็ม แล้วผลักสุนัขตกลงไปในน้ำ เพราะกรรมนั้น ทำให้นางต้องไปเกิดในอบายภูมิเป็นเวลายาวนาน เมื่อวิบากกรรมลดลงก็มาเกิดเป็นมนุษย์และได้มาเป็นภรรยาของนายเรือในชาติปัจจุบัน กรรมที่นางทำกับสุนัขนั้นได้กลายเป็นอปรปริยายเวทนียกรรม ทำให้นางถูกจับโยนลงทะเลโดยมีเชือกผูกคอเข้ากับหม้อบรรจุทรายจนถึงแก่ความตายเหมือนกัน

 

2) อปรปริยายเวทนียกรรมฝ่ายกุศลกรรม คือ กรรมฝ่ายดีหรือกรรมฝ่ายบุญที่จะให้ผลแก่บุคคลที่กระทำกรรมให้ได้รับความสุขความเจริญตั้งแต่ชาติที่ 3 เป็นต้นไปทันที ดังเช่นกรณีศึกษาจากพระไตรปิฎกเรื่องพระนางมัลลิการาชเทวี15)

            พระนางมัลลิกาเทวีเป็นผู้ที่จัดแจงการถวายอสทิสทานแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งถือเป็นกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่ เพราะการถวายทานเช่นนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นในสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ นอกจากนั้นพระนางยังได้ประกอบคุณงามความดีสร้างบุญกุศลเอาไว้มากมาย แต่ได้หลอกลวงพระเจ้าปเสนทิโกศลในเรื่องที่พระนางยินดีในสัมผัสของสุนัข แม้ว่าพระเจ้าปเสนทิโกศลจะไม่ติดใจ แต่กรรมลามกนั้นได้ติดอยู่ในใจพระนางไปจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต ทำให้ต้องไปเกิดในอเวจีมหานรกถึง 7 วันมนุษย์ แล้วจึงไปเสวยผลบุญบนสวรรค์ชั้นดุสิต การไปสู่สวรรค์ชั้นนี้ถือว่าเป็นอปรปริยายเวทนียกรรมของพระนาง ซึ่งให้ผลในชาติที่ 3 เป็นต้นไป

 

-------------------------------------------------------------------

14) เรื่องชน 3 คน, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 54.
15) เรื่องพระนางมัลลิกาเทวี, อรรถกถาขุททกนิกาย คาถาธรรมบท, มก. เล่ม 42 หน้า 166.

GL 203 กฎแห่งกรรม
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013431469599406 Mins