หน่วยเวลา
เรื่องของหน่วยเวลาที่นับจำนวนเป็นอสงไขยและเป็นจำนวนมหากัป มีปรากฏเฉพาะใน พระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีปรากฏในที่อื่น เพราะหน่วยเวลานี้ เป็นหน่วยเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงนำมาตรัสแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายให้ทราบ และเป็นหน่วยเวลาที่พระพุทธองค์ทรงดำเนินชีวิตในการสร้างบารมีมาอย่างยาวนานมากจนไม่มีหน่วยเวลาใดที่จะสามารถนับได้ นอกเสียจากหน่วยเวลาที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ เพราะหน่วยเวลานี้พระพุทธองค์ทรงรับรู้มาด้วยพระองค์เองจากการสร้างบารมี ฉะนั้นหน่วยเวลาในพระพุทธศาสนา จึงมีความยาวนานมาก ทำให้ยากที่จะเข้าใจหรือเห็นภาพได้อย่างง่ายดาย เว้นเสียแต่ได้ลงมือปฏิบัติธรรมแล้วบรรลุถึงธรรมะภายในอย่างที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้เมื่อใด ก็จะสามารถเข้าใจและเห็นภาพของหน่วยเวลาในพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องแน่นอน
ดังนั้น กาลเวลาที่นับอสงไขยและมหากัปนั้น เป็นเวลายาวนานมาก ก็จะได้อธิบายขยายความ ดังต่อไปนี้
1. กาลเวลาที่เรียกว่า อสงไขย คือ การกำหนดเวลาที่จะนับจะประมาณไม่ได้ ซึ่งมีอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า
“ ฝนตกใหญ่มโหฬารทั้งวันทั้งคืนเป็นเวลานาน 3 ปี ไม่ได้ขาดสายเลย จนนํ้าฝนท่วมเต็มขอบจักรวาลมีระดับความสูง 84,000 โยชน์ ถ้าสามารถนับเม็ดฝนที่ตกลงมาตลอดทั้ง 3 ปี ที่ท่วมเต็มขอบจักรวาลมีระดับความสูง 84,000 โยชน์ อย่างต่อเนื่อง 1 อสงไขย ได้จำนวนเท่าใด จำนวนเม็ดฝนที่นับได้เป็น 1 อสงไขย”
2. กาลเวลาที่เรียกว่า อสงไขยปี คือ หน่วยนับจำนวนอายุที่ยืนยาวที่สุดของมนุษย์ โดยได้กำหนดค่าของอสงไขยปีไว้ว่า ” 1 อสงไขยปีเท่ากับ 10 ยกกำลัง 140”
3. กาลเวลาที่เรียกว่า อายุกัป คือ อายุขัยของสัตว์ที่เกิดในภูมินั้นๆ เช่น โลกมนุษย์เรานี้เมื่อสมัยพุทธกาล มนุษย์ส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 100 ปี เป็นอายุกัป ปัจจุบันอายุมนุษย์เฉลี่ย 75 ปี ก็นับเอา 75 ปีเป็นอายุกัป ส่วนในเทวภูมิ เช่น สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกามีอายุขัย 500 ปีทิพย์ ก็นับเอาจำนวนดังกล่าวเป็นอายุกัป แม้ในภูมิอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน
4. กาลเวลาที่เรียกว่า มหากัป คือ หน่วยนับระยะเวลาที่โลกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป ระยะเวลาในมหากัปหนึ่งๆ นั้นยาวนานมาก ไม่สามารถกำหนดนับได้ ซึ่งมีอุปมาเปรียบเทียบไว้ว่า
“ มีภูเขาหินลูกใหญ่กว้าง ยาว สูง อย่างละ 1 โยชน์ ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ บุรุษพึงเอาผ้าจากแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น 100 ปีต่อครั้ง เมื่อใด ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป สิ้นไป ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงการหมดไป สิ้นไป กัปนาน อย่างนี้แล”
ยังมีอีกอุปมาหนึ่งใน สาสปสูตร22) ว่า
“ นครที่ทำด้วยเหล็กยาวหนึ่งโยชน์ กว้างหนึ่งโยชน์ สูงหนึ่งโยชน์ เต็มด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด มีเมล็ดพันธุ์ผักกาดรวมกันเป็นกลุ่มก้อน บุรุษพึงหยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง ออกจากนครนั้น โดยล่วงไปหนึ่งร้อยปีต่อเมล็ด เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น พึงถึงความสิ้นไปหมดไป เพราะความพยายามนี้ ยังเร็วกว่าแล ส่วนกัปหนึ่งยังไม่ถึงความสิ้นไปหมดไป กัปนานอย่างนี้แล”23)
มหากัปนั้นมีทั้งหมด 4 ช่วง แต่ละช่วงมี 64 อันตรกัป ดังนั้นช่วงความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงรวมเวลาเป็น 256 อันตรกัป คือ
ช่วงที่ 1 เป็นช่วงที่ถูกไฟไหม้ มีชื่อเรียกว่า สังวัฏฏอสงไขยกัป หมายถึง ช่วงที่โลกถูกทำลาย หรือกัปกำลังพินาศ อาจจะเกิดไฟไหม้ เกิดน้ำท่วมหรือเกิดลมพายุอย่างใดอย่างหนึ่ง ใช้เวลาถึง 64 อันตรกัป
ช่วงที่ 2 เป็นช่วงที่ไฟมอด มีชื่อเรียกว่า สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป หมายถึงช่วงที่โลกถูกทำลายเรียบร้อยแล้ว จนเหลือแต่อวกาศว่างเปล่า ใช้เวลาถึง 64 อันตรกัป
ช่วงที่ 3 เป็นช่วงที่แผ่นดินเริ่มก่อตัวขึ้นใหม่ มีชื่อเรียกว่า วิวัฏฏอสงไขยกัป หมายถึง ช่วงที่โลกกำลังเริ่มพัฒนาเข้าสู่ภาวะปกติหรือกัปที่เจริญขึ้น ใช้เวลาถึง 64 อันตรกัป
ช่วงที่ 4 เป็นช่วงที่โลกเจริญขึ้น มีสิ่งมีชีวิตปรากฏขึ้น มีชื่อเรียกว่า วิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป เป็นช่วงที่โลกพัฒนาขึ้นเรียบร้อยเป็นปกติตามเดิม หรือกัปที่เจริญขึ้นพร้อมแล้วทุกอย่าง ตั้งอยู่ตามปกติ คือ มีสิ่งมีชีวิตปรากฎเกิดขึ้น มีต้นไม้ ภูเขา คน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งเป็นช่วงที่เรากำลังอยู่นี้ โดยเริ่มจาก อาภัสราพรหมลงมากินง้วนดิน ใช้เวลาถึง 64 อันตรกัป
5. กาลเวลาที่เรียกว่า อันตรกัป คือ ระยะเวลา 1 รอบอสงไขยปี หมายความว่าระยะเวลา ที่กำหนดนับจากอายุมนุษย์ที่ยืนที่สุด คือ 1 อสงไขยปี แล้วอายุค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือ 10 ปี จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปอีกครั้งจนถึง 1 อสงไขยปีอีกครั้ง เวลา 1 รอบของการเพิ่มและลดของอายุ มนุษย์นี้เรียกว่า อันตรกัป
หากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็อาจจะสมมุติมหากัปเหมือนเค็ก 1 ก้อน ในหนึ่งก้อนแบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน คือ ระยะเวลา 4 อสงไขยกัป และในแต่ละชิ้นก็มีระยะเวลาเท่ากับ 64 อันตรกัป คือ สังวัฏฏอสงไขยกัป สังวัฏฏฐายีอสงไขยกัป วิวัฏฏอสงไขยกัปและวิวัฏฏฐายีอสงไขยกัป และใน 1 มหากัปนั้น เมื่อรวมทั้ง 4 ช่วงระยะเวลา จึงมีทั้งหมด 256 อันตรกัป
ทั้งหมดที่อธิบายมานี้ เป็นหน่วยเวลาที่มีปรากฏในพระพุทธศาสนา ที่จะทำให้นักศึกษาสามารถเห็นภาพในการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก โดยอย่างน้อยที่สุด คือ 20 อสงไขยกับแสนมหากัป ที่จะต้องใช้ความอดทน ความมุ่งมั่นตั้งใจ ตลอดจนกำลังใจที่หนักแน่นมั่นคงอย่างมากถึงจะมาอุบัติขึ้นเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ดังนั้นคำสอนของพระพุทธองค์จึงมีคุณค่าอย่างมาก เพราะพระองค์ทรงสั่งสมความรู้ที่เต็มเปี่ยมบริสุทธิ์บริบูรณ์มาอย่างมากตลอดหนทาง ในการสร้างบารมี ฉะนั้นจึงควรที่จะศึกษาคำสอนของพระพุทธองค์อย่างจริงจัง แล้วนำมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นเหมือนกับที่เป็นประโยชน์กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วนับพระองค์ไม่ถ้วน และยังเป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอีกด้วย
-------------------------------------------------------------------
22) สาสปสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 หน้า 515-516.
23) ปัพพตสูตร, สังยุตตนิกาย นิทานวรรค, มก. เล่ม 26 หน้า 514.
GL 204 ศาสตร์แห่งการเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
กลุ่มวิชาเป้าหมายชีวิต