ยิ่งให้ยิ่งได้

วันที่ 11 กย. พ.ศ.2558

 

ยิ่งให้ยิ่งได้


การให้เป็นคุณธรรมที่สำคัญ มีรากฐานมาจากการสละ และความเมตตากรุณาการให้นำมาซึ่งประโยชน์สุขอันยิ่งใหญ่ ดังคำกล่าวที่ว่า “ ยิ่งให้ยิ่งได้ ” เพราะเมื่อคิดจะให้ใจจะเบิกบานขยายกว้างออกไป คิดให้กับทุกคนในครอบครัว ใจก็จะขยายคลุมทั้งครอบครัว คิดจะให้กับชุมชนใจก็จะขยายคลุมทั้งชุมชน และถ้าคิดจะให้กับคนทั้งโลกใจก็จะขยายคลุมไปทั้งโลก คนที่มีจิตใจกว้างขวางเมื่อคิดจะทำอะไรก็คิดเผื่อแผ่ทุกคนเสมอ ความคิดจึงกว้างไกลและสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ตรงข้ามกับคนที่เห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเองเป็นหลัก ใจก็คับแคบ ความคิดก็คับแคบเคร่งเครียด เพราะคิดที่จะเปรียบผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เมื่อใจถูกกิเลสคือความโลภเข้าบีบบังคับ ความคิดก็จะออกมาเชิงทำลายล้าง นำไปสู่การก่อกรรมทำชั่วต่างๆ นานา จึงกลายเป็นว่า ยิ่งอยากได้ก็ยิ่งสูญเสีย 


ดังนั้นเราจึงควรสั่งสมคุณธรรม คือการให้ เพราะไม่เพียงแต่ทำให้เรามีความสุข แต่ใจที่เป็นบุญเป็นกุศลนี้ จะดึงดูดสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตเราอีกด้วย เพราะใจคนเรามีอานุภาพในการดึงดูด สังเกตได้จากสังคมรอบตัวเราจะเห็นว่า คนดีจะดึงดูดคนดีเข้ามาส่วนคนไม่ดีก็จะดึงดูดคนไม่ดีเข้ามาเช่นกัน ดังคำกล่าวที่ว่า “ สัตว์โลกจะรวมกลุ่มกันตามอายตนะ ” เหมือนเรามีขวดโหลใบหนึ่ง จับผึ้งใส่ไปตัวหนึ่งจับแมลงวันใส่ไปตัวหนึ่งเมื่อปิดฝาขวดโหลไว้มันก็อยู่ด้วยกันแต่เมื่อเปิดฝาขวดโหลออกมา ผึ้งก็บินไปหาเกสรดอกไม้ ไปดูดน้ำหวาน ส่วนแมลงวันก็บินไปหากองขยะ มันพอใจของมันอย่างนั้นต่างแยกกันไปตามอายตนะ


เช่นเดียวกันผู้ที่มีใจรักในการให้ ก็ย่อมดึงดูดผู้ที่มีจิตใจเช่นเดียวกันเข้ามา เมื่อผู้ให้มารวมกลุ่มกัน พลังแห่งความคิดสร้างสรรค์และการบำเพ็ญประโยชน์ก็จะเกิดขึ้นมา ขณะเดียวกันคนที่คิดแต่จะเอา คิดแต่จะรับ คิดแต่จะได้ ก็จะดึงดูดคนเห็นแก่ตัวประเภทเดียวกัน เข้ามาและเมื่อมาอยู่ด้วยกัน ก็จะสร้างปัญหาตตามมาอย่างมากมาย ทั้งในหมู่ของพวกตน จนถึงสังคมส่วนรวม ดังนั้นหากองค์กรใดต้องการความเจริญก้าวหน้า จะต้องปลูกฝังแนวคิดของการเป็นผู้ให้ลงไปในวัฒนธรรมองค์กรความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้นได้


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แบ่งการให้เป็น 3 ประเภท คือ


1.    วัตถุทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของต่างๆ 
2.    วิทยาทาน คือ การให้ความรู้ ถ้าเป็นการให้ธรรมะเรียกว่าธรรมทาน
3.    อภัยทาน คือ การให้อภัยไม่ผูกใจเจ็บ ไม่ถือโทษโกรธเคือง


การให้ทั้ง 3 ประการนี้ไม่ว่าเราจะกระทำเมื่อใดหรือกับใคร คำว่า “ ยิ่งให้ยิ่งได้ ” ก็เป็นจริงเสมอ
วัตถุทาน เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถมอบให้แก่กันได้ ไม่ว่าคนผู้นั้นจะมีบทบาทอย่างไรในสังคม ยกตัวอย่างเช่น ในวงการธุรกิจถ้าบริษัทใดมีแนวคิดที่จะผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค โดยตั้งราคาขายอย่างสมเหตุสมผล พยายามให้คุณภาพของสินค้าคุ้มค่ากับราคาขาย เพื่อให้ผู้บริโภคได้สิ่งที่ดีที่สุด ถ้ามีแนวความคิดเช่นนี้ สินค้าก็ย่อมขายดีแน่นอน ในระยะยาวบริษัทก็จะเจริญรุ่งเรืองเพราะถ้าผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในสินค้า บริษัทก็ยิ่งมีกำไร และถ้าบริษัทมีการแบ่งผลกำไรให้ทั่วถึงทุกฝ่ายก็จะทำให้ทุกคนในองค์กรรวมพลังกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรก็จะมีประสิทธิภาพ เพราะมีความร่วมแรงร่วมใจกัน ตรงกันข้ามกับบริษัทที่คิดแต่จะเอากำไรโดยเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคหรือลูกจ้างพนักงาน ในระยะยาวบริษัทย่อมไปไม่รอด


ในระดับประเทศก็เช่นกัน การให้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างมาก เช่นประเทศญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือประเทศไทยในด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยมอบเครื่องจักรกลให้กับสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการของไทยเมื่อนักศึกษาหรือข้าราชการได้เคยเรียนเคยใช้เครื่องจักรกลดังกล่าวก็เกิดความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีของญี่ปุ่นต่อมาเมื่อบุคลากรเหล่านี้มีโอกาสในหน้าที่การงานที่จะต้องสั่งซื้อเครื่องจักรต่างๆ ก็มีแนวโน้มว่าจะซื้อญี่ห้อที่ตัวเองคุ้นเคย หรือมีความชำนาญในการใช้อยู่แล้ว นี่ก็เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดว่า “ ยิ่งให้ยิ่งได้ ” ในเชิงความร่วมมือระหว่างประเทศ ดังประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ให้ ได้รับทั้งภาพลักษณ์ของความมีสัมพันธไมตรีและได้รับทั้งผลประโยชน์ทางการตลาดอีกด้วย


ในเรื่องของการให้ความรู้ หรือวิทยาทาน ด็เป็นสิ่งที่ยิ่งให้ยิ่งได้ เช่นเดียวกัน และนี่คือคำตอบที่ว่า เหตุใดชาติตะวันตกจึงเป็นผู้นำด้านวิทยาการต่างๆ ในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา กระบวนการถ่ายทอดความรู้ของชาติตะวันออกกับชาติตะวันตกแตกต่างกันอย่างไรเหตุใดชาวตะวันออกซึ่งมีความรู้ในศาสตร์ต่างๆ อย่างลึกซึ้งจึงไม่สามารถต่อยอดเป็นมหาอำนาจของโลกได้
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกระบวนการถ่ายทอดความรู้ของชาติตะวันออกมีลักษณะจำกัดวงเฉพาะเครือญาติของตนเอง ศิษย์ของตนเอง สำนักของตนเอง ไม่เผยแพร่ทั่วไป ต้องมาอยู่เป็นศิษย์ในสำนักเท่านั้นจึงจะสอน และบางครั้งก็ยังเก็บวิชาขั้นสูงเอาไว้ป้องกันศิษย์ทรยศคิดล้างครู จึงเกิดภาวะที่วิชาสูญหายไปตามชีวิตของอาจารย์ ความรู้จึงไม่แตกยอด ส่วนชาติตะวันตกในยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการได้ใช้กระบวนการถ่ายทอดความรู้แบบเปิดกว้าง โดยก่อตั้งมหาวิทยาลัยแล้วเปิดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์จากหลากหลายสาขาวิชาใครเก่งวิชาไหนก็สอนวิชานั้น ใครสนใจเรียนด้านไหนก็มาสมัครเรียนได้ เปิดกว้างสำหรับทุกคน โดยที่นักศึกษาแต่ละคนมีโอกาสได้เรียนรู้จากอาจารย์หลากหลายท่าน วิชาการจึงมีการต่อยอดไปเรื่อยๆ ใครศึกษาพบอะไรใหม่จะไม่เก็บงำความรู้เอาไว้ แต่จะรีบเขียนเป็นบทความลงในวารสารวิชาการเพื่อเผยแพร่ให้เร็วที่สุด เพราะผู้ที่นำเสนอก่อนย่อมได้ชื่อว่าเป็นคนแรกที่ค้นพบซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการได้รับลิขสิทธิ์และชื่อเสียงเกียรติยศที่ตามมา 
การเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้เช่นนี้ ทำให้แต่ละคนไม่ต้องคิดค้นทุกอย่างด้วยตัวเอง แต่สามารถนำวิชาการต่างๆ ที่ผู้อื่นคิดค้นไว้มาต่อยอด ได้เลยถือเป็นการรวมพลังความรู้ความสามารถ ของผู้คนจำนวนมหาศาล วิทยาการตะวันตกจึงก้าวหน้าขึ้นมาอย่างรวดเร็ว 


ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำทางด้านวิทยาการ และเทคโนโลยีต่างๆของโลกมีข้อสังเกตว่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของอเมริกาจะให้ความสำคัญกับนักศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะนักศึกษาที่มีความสามารถโดดเด่น ทางมหาวิทยาลัยจะให้ทั้งทุนการศึกษา ทั้งอำนวยความสะดวกทางด้านที่พักและความเป็นอยู่ จนสามารถเรียนจบโดยไม่ต้องใช้ทุนส่วนตัว แถมยังมีเงินเหลือเก็บอีกด้วย เรียกได้ว่ามีการส่งเสริมการให้ความรู้หรือวิทยาทานอย่างยิ่ง เพราะรู้ว่ายิ่งให้ก็จะยิ่งได้ คือยิ่งดึงดูดคนเก่งเข้ามาสู่มหาวิทยาลัยได้อย่างมากมายขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยก็จะให้ความสำคัญในการจัดหาอาจารย์เก่งๆ เข้ามาสอน เมื่ออาจารย์เก่งกับนักศึกษาเก่งมาเจอกัน ก็จะเกิดเป็นแรงกระตุ้นขับเคลื่อนทางวิชาการ เกิดความตื่นตัวในการค้นคว้าวิจัย เกิดผลงานนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะนำชื่อเสียงเกียรติยศมาสู่มหาวิทยาลัยต่อไป
นอกจากนี้ผู้ที่เคยได้รับทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยเมื่อเรียนจบแล้วประสบความสำเร็จในอาชีพการงานก็มักจะกลับมาให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ เช่นบริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยเป็นการตอบแทนหรือประชาชนที่เห็นถึงคุณูปการของมหาวิทยาลัยก็มาร่วมบริจาคเงินสนับสนุนกันเป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยบางแห่งเช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด มีเงินกองทุนของมหาวิทยาลัยอยู่ถึงสองหมื่นกว่าล้านเหรียญคิดเป็นเงินไทยประมาณเจ็ดแสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่มหาวิทยาลัยสามารถนำไปบริหารจัดการหรือลงทุนต่างๆได้ ในแต่ละปีมหาวิทยาลัยจึงมีรายได้จากเงินกองทุนมหาวิทยาลัยประมาณแสนกว่าล้านบาทมาสนับสนุนการศึกษาและบุคลากรต่างๆ การมีอาจารย์ดี นักศึกษาดีมหาวิทยาลัยก็จะมีเกียรติภูมิยิ่งๆขึ้นไป ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีมหาวิทยาลัยชื่อดังอื่นๆ ที่อยู่ในลักษณะนี้อีกมากมาย เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นตัวพิสูจน์ว่ายิ่งให้ยิ่งได้จริง ให้ความรู้ก็ได้ความรู้เพิ่ม ให้ทรัพย์ก็ได้ทรัพย์เพิ่ม


สำหรับอภัยทาน เป็นเรื่องสำคัญมากในการดำเนินชีวิตเพราะตามธรรมดาคนเราอยู่ด้วยกันย่อมต้องมีการกระทบกระทั่งกันทั้งระหว่างบุคคลต่อบุคคล องค์กรต่อองค์กร ไปจนถึงประเทศต่อประเทศ เมื่อเกิดกรณีพิพาทกันขึ้นมา ถ้าต่างฝ่ายต่างถือตัวเองเป็นที่ตั้ง ปัญหาก็จะไม่มีวันจบ ทั้งยังอาจลุกลามไปสู่สงคราม ทำให้ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพราะสงครามอีกมหาศาลเศรษฐกิจก็ทรุดตัวตกต่ำ การทำสงครามจึงไม่มีผู้ชนะที่แท้ คงมีแต่ผู้สูญเสียเท่านั้น นี่คือสัจธรรมในททางตรงกันข้าม ถ้าแต่ละฝ่ายคิดจะให้อภัยกันพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เรียกร้องความสนใจจากฝ่ายตรงข้ามเท่านั้นผลสุดท้ายก็จะแก้ปัญหาได้ด้วยสันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างบุคคล ก็ต้องใช้หลักการนี้เช่นกัน
ครั้งหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งมาปรึกษาปัญหาเรื่องครอบครัวทั้งที่ดูภายนอกแล้วครอบครัวของเขาน่าจะมีความสุข ตัวเขาเองเป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จทั้งด้านการศึกษาและการงาน สามารถก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ทั้งที่อายุยังไม่มาก แต่เขากลุ้มใจที่บริหารครอบครัวไม่ได้ดั่งใจนึก ภรรยาของเขาซึ่งเป็นผู้หญิงเก่งและเคยรักใคร่กันมาก แต่หลลังจากแต่งงานกันมาจนมีลูก 3 คน เขากับภรรยากลับไม่ค่อยเข้าใจกันจนแทบจะไม่คุยกันเลย เขาอึดอัดใจมากจนบางครั้งต้องขนข้าวของไปอยู่ที่อื่น แต่พอคิดถึงลูกก็กลับมาอยู่บ้าน อึดอัดเมื่อไรก็ออกไปอีก เป็นอยู่อย่างนี้เขาบอกว่าพลังในการทำงานแทบจะหมดไปเลยเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากในบ้าน


เมื่อได้ฟังรายละเอียดต่างๆที่เขาเล่ามาก็พอจะเห็นภาพว่า เขาต้องการให้ภรรยาทำตัวให้น่ารัก ทำหน้าที่แม่บ้านที่ดีของสามีและลูก แต่คำพูดที่เรียกร้องกับภรรยานั้น มีทั้งการต่อว่าและตำหนิ ขณะที่เปรียบเทียบว่าตัวเขาเองทุ่มเทกับครอบครัวเพียงไร ด้วยคำพูดเช่นที่เขาเล่ามา เหมือนเขาต้องการให้ภรรยาเป็นเหมือนตุ๊กตา ทำตัวน่ารักๆให้เขาสบายใจ ความคิดและคำพูดที่ตอกย้ำเรื่อยๆเช่นนี้ เท่ากับเขากำลังลดคุณค่าของคู่ชีวิตให้เป็นแค่ตุ๊กตา ในขณะที่เขาภูมิใจในความสามารถของตนเองแต่กลับทำให้ภรรยารู้สึกว่าตัวเธอไม่มีค่าอะไรเลย เมื่อเธอเกิดความน้อยใจ คับแค้นใจ จึงประชดสามีด้วยการปล่อยปละละเลยครอบครัว แต่ที่กล้ำกลืนอยู่กันมา ก็คงไม่ใช่เพียงเพราะรักลูก แท้จริงเธอก็คงรักสามีด้วยแต่ด้วยเหตุที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมหันหน้าเข้าหากัน ปัญหาจึงลุกลามไปเรื่อยๆ อาตมภาพได้เตือนสติให้เขาทำใจนิ่งๆ แล้วพยายามหันมาดูตัวเอง ทำความเข้าใจกับความคิดคำพูดและการกระทำของตัวเองก่อน แทนที่จะเรียกร้องให้เขาเข้าใจเรา เมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว สุดท้ายเราก็จะเข้าใจว่า ทำไมเขาถึงเป็นอย่างนั้น ทั้งที่แต่เดิมเขาเป็นคนเอาใจใส่และรักเรามาก ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่เขา แต่อาจอยู่ที่ตัวเราเองก็ได้ การที่เราคิดว่าเราเป็นผู้ให้นั้น เราได้ให้ความรู้สึกดีๆ ให้กำลังใจเขาบ้างไหม เพราะการให้เงินทองหรือความเป็นอยู่ที่สะดวกสบาย ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่ครอบครัวต้องการ ความรักและความอบอุ่นของครอบครัวจะเกิดขึ้นได้ เมื่อทุกคนต่างให้ความรัก ความเข้าใจและให้อภัยต่อกัน


ยิ่งให้ยิ่งได้ เป็นสัจธรรมที่พิสูจน์ได้ ขอเพียงให้ทุกคนนำไปใช้ ไม่ว่าจะด้วยวัตถุทาน ธรรมทานหรืออภัยทาน เพื่อคลายความร้อน ความร้าวฉานและความเห็นแก่ตัว ให้สูญสลายไปจากโลกนี้

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือ " ทันโลกทันธรรม 4  "

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.014076018333435 Mins