เมื่อไรที่เรารู้สึกอารมณ์ไม่สบาย ให้นึกธรรมะของหลวงพ่อ หรือนำธรรมะของหลวงพ่อบทนี้เล่าให้เพื่อน ๆ นักสร้างบารมีฟังนะจ๊ะ พวกเราจะได้รักษาอารมณ์สบายได้ต่อเนื่อง ธรรมะจะได้ก้าวหน้าละเอียดอ่อนลุ่มลึกขึ้นไปเรื่อย ๆ
"สบาย" มี ๒ กรณี
๑. สบายเอง
๒. ทำให้สบาย
นึกถึงเรื่องทำให้สบายใจ, บุญ, ความดี, ธรรมชาติ ถ้าอารมณ์หยาบนึกไม่ทันให้เฉย ๆ พอใจละเอียดอารมณ์สบายจะได้มาเอง
ลัดที่สุดคือ ปรับกาย..ปรับใจ ปรับลมหายใจเข้า-ออก ลมหายใจจะเบา/ยาว สม่ำเสมอ รักษาอารมณ์ให้ต่อเนื่อง จะรู้สึกมีอารมณ์สบายมากขึ้น จนรู้สึกสบายผลที่ตามมาคือ การนั่งสมาธิที่เป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่ต้องฝืนนั่ง ความพอใจจะเกิดมีที่ใบหน้า..หน้ายิ้ม หน้าสบาย ความรู้สึกยิ้มขยายไปสู่ระบบต่าง ๆ ในหน้า ถ้าได้อารมณ์นี้ ความคิดอื่นจะไม่เข้ามา เราเป็นผู้ไม่มีเวลา ยกเว้นตอนฉัน
แม้ว่าอารมณ์สบายในวันนี้ จะไม่มีผลให้เข้าถึงธรรมกายก็ตาม แต่เป็นของขวัญ ทำให้การนั่งคึกคักขึ้น มีอารมณ์ มีใจที่อยากอยู่ศูนย์กลางกายมากกว่าไปคิดเรื่องอื่น
อารมณ์สบาย การนึกจะต่อเนื่องเป็นไปตามธรรมชาติ แม้เปลี่ยนอิริยาบถก็เป็น แม้เวลานอน ลมหายใจเรากับลมหายใจจักรวาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หายใจออกทีเดียวก็ถึงดวงดาว, ดวงอาทิตย์ หายใจก็ดูดดวงอาทิตย์มาไว้ในตัวนี่คือ สบายเบื้องต้นก่อนเข้าถึง ธรรมกาย เมื่อจะเข้าถึงธรรมกาย กายจะโปร่งขึ้น เบาขึ้น ละเอียดขึ้น เหมือนไม่มีตัว ไร้น้ำหนัก ไร้ความรู้สึกในตัว จนกระทั่งเข้าถึงความรู้สึกของธรรมกาย
ขณะนี้ติดแต่ปรับใจให้พอดี ซึ่งมีแต่ตึงกับหย่อน ควรเพียรให้ต่อเนื่องทุกอิริยาบถ โดยเป็นธรรมชาติ ตอนไหนลมหายใจหยาบ ก็สร้างความรู้สึกนึกคิดที่ดี ลมหายใจทีเดียวก็กลาง ถ้ามีกี่กายก็เท่านั้นกาย อาบน้ำก็ให้ถึงองค์พระ ทำอะไรก็ให้ถึงองค์พระ ดีนะจะบอกให้ อยากได้จริง ต้องทำตัวเหมือนท่อน้ำ ให้เป็นทางผ่านของน้ำ
รักษาอารมณ์สบาย ต้องฝึกทำทั้งวัน ตั้งแต่ตื่น คิดถึงเรื่องสบาย พูดเรื่องสบาย ทำเรื่องสบาย ทำเรื่องให้สบาย ฝึกนิสัย...ตัดใจ-หักใจ ให้เป็นในเรื่องหยาบ เช่น ต้องหัดตัดอารมณ์ และรักษาความสบายใจ ต้องฝึกตลอดเวลาในทุกอิริยาบถ
รักษาอารมณ์ให้สบาย ให้เกิดความรู้สึกอยากนั่ง พอใจในการนั่งเป็นเบื้องต้น การเห็นหรือไม่เห็นเป็นเบื้องหลัง แล้วรักษาอารมณ์ให้สม่ำเสมอ วางใจสบาย แต่กลับกังวลว่า สบายหรือยัง? สบายเป็นไงนะ? สงสัยจะสบายแล้ว เลยกลายเป็นไม่สบายไป
สบาย คือ การนั่งเหมือนนั่งเล่น แต่รู้ตัวตลอดเหมือนเด็ก ๆ ที่ไม่ได้คิดอะไรเลย ร่างกายบอกได้ว่าปฏิบัติผิดวิธี เพราะเมื่อใดที่ปวดตึง แสดงว่า ใจตึง ไม่สบาย ถ้านั่งเป็น แล้ว การปรับใจก็ยังต้องทำตลอด ต้องค่อย ๆ ฝึกไป แก้ให้ตก เรื่องตั้งใจให้เป็นใจตั้ง นั่งไม่มีเวลา “ ประดุจผู้มีราตรีเดียวใครทำเฉยๆ ได้ หยุดได้” "กำอภิญญาไว้ในมือ" เข้ากลางดีจัง ง่าย ๆ สบาย ๆ
คุณครูไม่ใหญ่