กำพร้าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

วันที่ 23 กย. พ.ศ.2558

 

กำพร้าไม่ใช่เรื่องบังเอิญ


           เด็กกำพร้า คือ ลูกที่ไม่มีแม่เลี้ยงดู ต้องไปพึ่งพาสถานสงเคราะห์ต่างๆ รัฐบาลต้องโอบอุ้มดูแล แต่ถ้าแม่มีลูกแท้ๆ แต่ลูกกลับไม่ดูแล เราเรียกว่า “ แม่กำพร้า ” ได้หรือไม่


            โดยศัพท์คำว่า “ กำพร้า ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ไร้บิดาหรือมารดาเลี้ยงดูแต่เด็ก และร้างลูกร้างเมีย เราจึงใช้คำว่ากำพร้า กับลูกที่ไร้พ่อแม่ หรือพ่อแม่ที่ร้างลูก ตลอดจนร้างสามีภรรยา ก็ได้เช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่ที่ลูกทิ้งไปหรือภรรยาที่สามีทิ้งไป เรียกว่า กำพร้า ได้เช่น กำพร้าลูก กำพร้าภรรยา กำพร้าสามี เป็นต้น


เรื่องกฏแห่งกรรม
            บางคนเกิดมาชาตินี้เป็นลูกกำพร้าแม่ บ้างก็เป็นแม่ที่ถูกลูกทอดทิ้งไม่เลี้ยงดู เนื่องด้วยบุพกรรมทั้งในอดีตและกรรมปัจจุบัน ที่ส่งผลให้เป็นกำพร้าในชาตินี้ คือ “ กรรมในอดีต ” ได้แก่ การที่เราเคยไปพรากลูกออกจากอกแม่ เช่น ไปพรากลูกนกจากแม่นก พรากลูกไก่จากแม่ของมัน เป็นต้น ในอดีตใครที่เคยไปพรากแม่ลูกออกจากกัน ถึงคราววิบากกรรมตามทัน ตนเองจึงเป็นกำพร้าอย่างนั้นบ้าง


            ส่วนกรรมปัจจุบัน คือแม่ดูแลเลี้ยงดูลูกได้ไม่ดี พอลูกโตมาเขาจึงไม่สนใจใยดีตนเองถึงคราวลูกทอดทิ้งไป ก็เป็นผลวิบากกรรมในปัจจุบันที่บวกเข้ามาด้วย เพราะฉะนั้นวิบากกรรมในอดีตเราแก้ไม่ได้ก็ปล่อยมันไป ที่สำคัญเราต้องไม่สร้างวิบากกรรมใหม่คือ ไม่ไปพรากแม่พรากลูกเขา ในขณะเดียวกันเราต้องตั้งใจปฏิบัติตนให้ดี ถ้าเป็นลูกก็ควรปรนนิบัติดูแลแม่ของตนเองให้ดีเช่นกัน


            ถ้าเราปฏิบัติตนได้อย่างนี้แล้วก็จะเป็นอานิสงส์ติดตัวไปภายภาคหน้า พอเราเป็นเด็กก็จะมีพ่อแม่ที่ดีคอยดูแลอบรมสั่งสอนเราอย่างดีให้เราได้ตั้งมั่นอยู่ในความดี พอเราโตขึ้นมีลูก เราก็จะได้ลูกที่เป็นคนดี และมีบุญมาเกิดกับเรา เยาวชนในสังคมปัจจุบันมีปัญหามากมายพอสมควร โดยเฉพาะเด็กชายหญิงที่ชิงสุกก่อนห่าม ยังไม่ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และทำตามระเบียบประเพณีที่ถูกต้อง บางครั้งบางคนมีลูกก่อนวัยอันควรจนเกิดเป็นปัญหาสังคมตามมา หรือบางรายไปทำแท้ง สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าผลกรรมจะตามมาอย่างไรบ้าง


            โบราณกล่าวไว้ว่า อย่าชิงสุกก่อนห่าม ฝากถึงน้องๆวัยรุ่นว่า วัยเรียนเราก็ควรตั้งใจเรียน จนเราโตพอ ถ้าเราเผลอไผลไปตามอำนาจฮอร์โมนในตัว อำนาจกิเลสก็จะครอบงำ วัยรุ่นที่อารมณ์กำลังเตลิดอยู่นั้นยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ ถ้าเผลอปล่อยให้เตลิดไปอย่างนั้นแล้ว เราจะลำบากไปตลอดชีวิต เราได้สนุกเพลิดเพลินแค่ชั่วคราว แต่ต้องมานั่งน้ำตาตกในทั้งชีวิต เสียใจเสียอนาคตนั้นไม่คุ้มค่าเลย ถ้าเราอดทนอดกลั้นไว้ได้ คุณค่าในตัวเราจะสูงขึ้น ไม่ว่าหญิงหรือชายให้ตั้งใจเล่าเรียนเขียนอ่านให้ดี แล้วความสุขที่เราจะได้รับตอบแทนในวันข้างหน้านั้นคุ้มค่ากว่ากันมาก


ผลของการทำแท้ง
            บางคนตั้งท้องก่อนวัยอันควรแล้วตัดสินใจไปทำแท้ง ท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นคนที่พาไปทำแท้ง ชายที่ทำให้หญิงท้อง หรือหญิงที่ตั้งครรภ์เองก็ตาม ต่างพากันติดวิบากกรรมนั้นด้วยกันหมด มีบางคนอ้างว่า มีวิธีการแก้กรรมหรือหลุดพ้นจากบาปนั้นได้ ให้ทำตามเขาบอกแล้วทำบุญมากๆ อย่างนี้จะช่วยแก้กรรมได้จริงหรือไม่ 


            จริงๆแล้วที่เขาอ้างว่าตัดกรรมต่างๆนั้นไม่มี แต่เป็นลักษณะที่ว่า บาปกรรมที่เราทำไปแล้วนั้นเกิดขึ้นแล้วไม่ได้หายไปไหน แต่ถ้าเราไม่ทำผิดซ้ำอีก แล้วตั้งใจทำบุญกุศลให้มากๆ บุญกุศลเหล่านั้นจะไปเจือจางให้บาปที่มีอยู่อ่อนกำลังลง อย่างที่เคยเปรียบไว้ว่า ทำบาปเหมือนเติมเกลือ ทำบุญเหมือนเติมน้ำ บาปเกิดเกลือมันก็อยู่อย่างนั้น แต่ถ้าเราไม่เติมเกลืออีกคือ ไม่ทำชั่วเพิ่มอีก ในขณะเดียวกันก็หมั่นทำความดี สร้างบุญกุศลมากๆ บุญเป็นเหมือนน้ำที่จะไปเจือจางให้ความเค็มของเกลือลดลง ให้แรงบาปนั้นอ่อนกำลังลงนั่นเอง


            อะไรที่เกิดขึ้นแล้วเราอย่าไปนึกถึงมันอีก มันผ่านไปแล้วก็ควรปล่อยให้มันผ่านไป เพราะถ้าเราเผลอไปนึกถึงเรื่องราวในอดีตก็เหมือนกับเราทบทวนตอกย้ำเรื่องราวนั้นๆ เพราะฉะนั้นเมื่อทำผิดพลาดไปแล้วเราต้องไม่นึกถึง แต่จากนี้ต่อไปให้เราตั้งใจให้ดี ไม่ทำผิดซ้ำอีกเด็ดขาด แล้วตั้งใจทำบุญกุศลเพิ่มขึ้นมากๆ สุดท้ายเราก็จะผ่านสิ่งเหล่านี้ไปได้ 
ไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด ทุกคนต่างเคยทำผิดพลาดในรูปแบบต่างๆ กันมาแล้วทั้งนั้น อะไรที่เราทำผิดพลาดไปแล้วก็ช่างมัน แต่เราจะไม่ทำผิดซ้ำอีก แล้วทำความดีต่อไปให้มากๆ เท่านั้นเอง

----------------------------------------------------------------------------------

หนังสือของสำนักพิมพ์ ทันโลกทันธรรม โดยพระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ
http://www.tltpress.com/

วางแผงจำหน่ายแล้วที่ร้านหนังสือ
ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ , นายอินทร์ , ศูนย์หนังสือจุฬา , คิโนะคุนิยะ , บุ๊คสไมล์ ฯลฯ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00093305110931396 Mins