ชีวประวัติ
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร 2
เผยแผ่ธรรมกาย
การปฏิบัติธรรมด้านพระกัมมัฏฐาน ถือว่าเป็นงานใหญ่ในชีวิตของท่าน ด้านคันถธุระมอบให้ศิษย์ที่เป็นเปรียญดำเนินงานไป นักปริยัตินักปฏิบัติเพิ่มจำนวนยิ่งขึ้น เพราะท่านมีความปรารถนาไว้ตั้งแต่มาครองวัดปากน้ำ และได้ปฏิญาณในพระอุโบสถว่า "บรรพชิตที่ยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข" ฉะนั้น ใครจะบ่ายหน้ามาพึ่งท่าน จึงไม่ได้รับคำปฏิเสธกลับไป ใครพูดถึงจำนวนภิกษุสามเณรว่ามากเกินไป ท่านดีใจกลับหัวเราะพูดว่า "เห็นคุณพระพุทธศาสนาไหมล่ะ" ถ้าพูดถึงเรื่องนี้เป็นถูกอารมณ์มากทีเดียว ท่านไม่พูดว่าเลี้ยงไม่ไหว มีแต่พูดว่า "ไหวซิน่า" แล้วก็หัวเราะ คิดว่าท่านคงปลื้มใจที่ความคิดความฝันของท่านเป็นผลสำเร็จ
หลวงพ่อวัดปากน้ำใช้คำว่า "ธรรมกาย" เป็นสัญญลักษณ์ของสำนักกัมมัฏฐานวัดปากน้ำทีเดียว เอาคำว่าธรรมกายขึ้นเชิดชู ศิษยานุศิษย์รับเอาไปเผยแพร่ทั่วทิศ และอิทธิพลของคำว่า "ธรรมกาย" นั้นไปแสดงความอัศจรรย์ถึงทวีปยุโรป ชาวต่างประเทศได้เดินทางมาศึกษาการปฏิบัติธรรมกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ และเมื่อได้รับผลการปฏิบัติธรรมเป็นที่น่าพอใจ จึงเดินทางกลับไปเผยแผ่วิธีการปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าถึงพระธรรมกาย ณ ถิ่นกำเนิดของตน
กิจวัตรของหลวงพ่อวัดปากน้ำ
กิจวัตรประจำวันของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษยานุศิษย์ และผู้เคารพนับถือโดยทั่วไป ขอนำมาแสดงให้เห็นเป็นทิฏฐานุคติ ดังนี้
๑. ในตอนเช้าก่อนเวลา ๐๖.๐๐ น. หลวงพ่อจะนำภิกษุสามเณรลงฉันจังหันเช้า (ข้าวต้ม) ณ ศาลาการเปรียญซึ่งใช้เป็นโรงฉันด้วย เมื่อหลังจากเสร็จภัตกิจแล้วจะได้นำภิกษุสามเณรลงทำวัตรสวดมนต์ไหว้พระในพระอุโบสถ หลังจากนั้น จะเทศนาอบรมสั่งสอนและให้โอวาทแก่พระภิกษุสามเณร ทั้งนี้ เป็นประจำทุกๆ วันไม่มีขาด นอกจากจะมีเหตุสุดวิสัยจริงๆ หรือติดกิจนิมนต์นอกสำนักในบางวันเท่านั้น ดังนั้น พระภิกษุสามเณรในความปกครองของหลวงพ่อจะต้องถือเป็นวัตรปฏิบัติประจำวันโดยเคร่งครัด จะขาดทำวัตรเช้าเพื่อฟังโอวาทของท่านไม่ได้เด็ดขาด เว้นแต่จะมีการเจ็บไข้หรือมีกิจจำเป็นจริงๆ ซึ่งก็จำจะต้องขออนุญาตเป็นกิจลักษณะแล้วเท่านั้น
๒. การค้นคว้าหลักวิชา “ธรรมกาย” ชั้นสูงเพิ่มเติม ตลอดจนการอบรมพระภิกษุสามเณรและอุบาสิกาซึ่งได้ “ธรรมกาย” ที่เข้าชั้นเชี่ยวชาญพอสมควรแล้วให้มีความรู้สูงยิ่งๆ ขึ้น หลวงต้องใช้เวลามากในวันหนึ่งๆ ซึ่งเกือบจะไม่มีเวลาว่าง แต่ในฐานะที่มีศิษย์หาและผู้ที่เคารพนับถือมาเยี่ยมนมัสการและมาขอบารมีธรรมจากหลวงพ่อให้ช่วยเหลือแก้อาการโรคมีจำนวนวันละไม่น้อยนั้น หลวงพ่อจึงจำต้องแบ่งเวลาอันมีค่าสูงของท่านมาเพื่อการรับรองสาธุชนเหล่านั้น ไว้เป็นประจำวัน ดังนี้
เวลาเช้า ตั้งแต่ ๐๗.๐๐ น. ถึง ๐๘.๐๐ น.
เวลากลางวัน ตั้งแต่ ๑๑.๐๐ น. ถึง ๑๓.๐๐ น.
เวลาเย็น ตั้งแต่ ๑๗.๓๐ น. ถึง ๑๘.๓๐ น.
ในระหว่างเวลาการรับรองแขกนี้เอง ถือเป็นเวลาแจกพระพุทธรูปของขวัญแก่ผู้ที่มีจิตศรัทธาบริจาคทุนทรัพย์สร้างโรงเรียนปริยัติธรรมด้วยในตัว นอกจากเวลารับรองแขกดังระบุไว้แล้วนั้นหลวงพ่อจะไม่รับรองแขก ยกเว้นในกรณีพิเศษจริงๆ เฉพาะบางครั้ง หลวงพ่อจึงจะกำหนดให้เข้าพบได้
สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๖๔ เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูสมณธรรมสมาทาน"
พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระภาวนาโกศลเถร"
พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ "พระมงคลราชมุนี"
พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระมงคลเทพมุนี"
ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่จะมรณภาพประมาณ 5 ปี
ท่านได้เรียกประชุมศิษย์ทั้งใน และนอกวัดเป็นกรณีพิเศษที่ศาลาการเปรียญ เพื่อแจ้งให้ทุกคนทราบว่าท่านจะถึงกาลมรณภาพในอีก 5 ปีข้างหน้า กิจการใดที่ท่านได้ดำเนินไว้แล้ว ขอให้ช่วยกันทำกิจการนั้น ๆ อย่าทอดทิ้ง ท่านได้ชี้แจงโครงการพัฒนาวัดปากน้ำให้คณะศิษย์ช่วยกันดำเนินต่อไปให้สำเร็จ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย ท่านเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ท่านบอกว่า ต่อไปวัดปากน้ำจะเจริญรุ่งเรืองใหญ่โต มีลูกศิษย์หลายคนได้อาราธนาขอไม่ให้ท่านมรณภาพ ท่านตอบว่าไม่ได้ อีก 5 ปี ท่านจะไม่อยู่แน่ ๆ แล้ว
นับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำเป็นต้นมา ท่านต้องรับภาระหนักโดยตลอด ทั้งด้านการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม การสอนและเผยแผ่วิชชาธรรมกาย การจัดตั้งโรงครัว การบูรณปฏิสังขรณ์ เสนาสนะต่างๆ รวมทั้งช่วยเหลือผู้คนที่มาขอพึ่งบารมีของท่าน เพื่อบรรเทาทุกข์ยาก ท่านได้ทุ่มเทชีวิตเพื่องานพระพุทธศาสนา จนมีเวลาพักผ่อนน้อยมาก ทำให้สุขภาพทางกายทรุดโทรม แต่ทางด้านจิตใจยังคงแข็งแกร่งเช่นเดิม ท่านไม่ยอมทอดทิ้งธุระที่เคยปฏิบัติเป็นกิจวัตร ยังคงออกเทศน์สอนนั่งภาวนาแจกพระของขวัญตามปกติ ท่านไม่ชอบทำตนให้เป็นภาระของผู้อื่น แม้เวลาอาพาธก็ไม่ยอมให้ใครพยุงลุกนั่ง เรื่องภัตตาหารก็ไม่จู้จี้ ไม่เรียกร้องในเรื่องการขบฉัน ใครทำมาถวายอย่างไรก็ฉันอย่างนั้น
เมื่อท่านอาพาธหนักได้เรียกศิษย์ให้ดำเนินการสอนเผยแผ่วิชชาธรรมกายต่อไป และสั่งว่า เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ให้เก็บสรีระของท่านไว้ไม่ให้เผา
พระเดชพระคุณหลวงปู่ ท่านถึงแก่ มรณภาพอย่างสงบสมดังเช่นจอมทัพธรรม ที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 เวลา 15.50 น.
Cr:http://www.watpaknam.org/history/LPSod.html