มิตจินติชาดก ว่าด้วย ปลาช่วยปลาให้พ้นข่าย
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี มีปลา ๓ ตัวอยู่ในพระนครพาราณสี ปลาทั้ง ๓ นั้น มีชื่อดังนี้ คือ พหุจินตี อัปปจินตีและมิตจินตี. ปลาทั้ง ๓ พากันออกจากป่ามาสู่ถิ่นมนุษย์.
ในปลาทั้ง ๓ นั้น มิตจินตีบอกกับปลาทั้งสองอย่างนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าถิ่นมนุษย์นี้ เต็มไปด้วยความรังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า พวกชาวประมงพากันวางข่ายและไซเป็นต้นมีประการต่างๆ แล้วจับเอาปลา พวกเราพากันเข้าป่าตามเดิมเถอะ
ปลาทั้งสองนอกนี้ ต่างพูดผลัดว่า พวกเราจะไปกันวันนี้ หรือพรุ่งนี้ค่อยไปเถิด เพราะความเป็นผู้เกียจคร้าน และเพราะความติดใจในเหยื่อ จนเวลาล่วงไปถึง ๓ เดือน
ครั้งนั้น พวกชาวประมงพากันวางข่ายในแม่น้ำ ปลาพหุจินตีและปลาอัปปจินตี เมื่อออกหาอาหาร พากันว่ายไปข้างหน้า ไม่กำหนดกลิ่นข่าย เพราะความเป็นสัตว์โง่ ตกเข้าไปในท้องข่ายทันที
ปลามิตจินตีตามมาข้างหลัง กำหนดกลิ่นข่ายได้ และรู้ว่าปลาทั้งคู่นั้นเข้าไปในท้องข่ายเสียแล้ว คิดว่า เราจักให้ทานชีวิตแก่ปลาอันธพาล ผู้เกียจคร้านคู่นี้ไว้ แล้วก็ว่ายไปสู่ที่ท้องข่ายข้างนอก ทำให้น้ำป่วนปั่น ทำเป็นทีว่าท้องข่ายขาดแล้วโดดออกไปได้ แล้วก็โดดไปข้างหน้าข่าย ว่ายเข้าไปสู่ท้องข่ายอีก ทำให้น้ำป่วนปั่นเป็นทีว่าทำให้ข่ายส่วนหลังขาด โดดออกไปได้แล้วก็โดดออกไปทางเบื้องหลังข่าย
พวกประมงสำคัญว่า ปลาพากันชำแรกข่ายไปได้ ก็ช่วยกันจับปลายข่ายยกขึ้น ปลาทั้งสองนั้นก็รอดจากข่ายตกลงไปในน้ำ เป็นอันว่า ปลาทั้งสองนั้นอาศัยปลามิตจินตี จึงได้มีชีวิต.
พระศาสดา ครั้นทรงนำเอาเรื่องในอดีตนี้มาสาธกแล้ว ได้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว จึงได้ตรัสพระคาถานี้ ความว่า
"ปลาสองตัว คือปลาพหุจินตี และปลาอัปปจินตี ติดอยู่ในข่าย ปลาชื่อมิตจินตีได้ช่วยให้พ้นจากข่าย ปลาทั้งสองตัวจึงได้มาพร้อมกันกับปลามิตจินตี ในแม่น้ำนั้น" ดังนี้.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาด้วยประการฉะนี้ แล้วทรงประชุมชาดก ในเวลาจบสัจจะ ภิกษุเถระผู้เฒ่าเกียจคร้าน โอ้เอ้ ผลัดวันประกันพรุ่ง (ทั้งสองรูป) ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว.
ปลาพหุจินตี และปลาอัปปจินตี ในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุคู่นี้
ส่วนปลามิตจินตี ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.