ฉบับที่ ๑๓๘ เดือนเมษายน ๒๕๕๗

สมาธิกับชีวิตประจำวัน : ป้าใส

สมาธิกับชีวิตประจำวัน : ป้าใส
สถานีของสมาธิ

เหตุการณ์โลกทุกวันนี้
สอนให้รู้ว่า "เวลาไม่คอยท่า"
และ "ไม่มีสิ่งใดมีค่าเท่ากับความสงบ
ที่มีพลังของใจ"ซึ่งความหมาย คือ สมาธิ ที่ทั้งโลกเรียกร้องหาอยู่ในปัจจุบัน สมาธิที่รู้กันดีว่าเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา และของประเทศที่รู้เรื่องเหล่านี้...

  สมาธิเจริญรุ่งเรืองดีในประเทศไทย เราพุทธศาสนิกชนคนไทยถ้าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปเห็นทีจะได้อายต่อคนชาติอื่น เพราะเขาเหล่านั้นขณะนี้กำลังเผชิญทุกข์สาหัส ทั้งความกลัว ความหวาดระแวง ความขาดที่พึ่งที่พึ่งได้จริงๆ และพึ่งได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งเหตุการณ์ โลกยังช่วยบ่งบอกชัดแจ้งว่า
ไม่มีสิ่งใดรับประกันความปลอดภัยในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์กองใหญ่ท่วมหัว ตึกรามมั่นคงพร้อมระบบความปลอดภัยแน่นหนา เทคโนโลยีสูงสุด รวมทั้งความรู้ ความสามารถจากการทำมาค้าขายหรือใบปริญญา ผู้คนเหล่านั้นจึงหวาดผวาและวิ่งเข้าหาปรัชญาที่ทำให้เกิดสุขได้จริง ปรัชญานั้นคือ "ความเป็นจริงแห่งสังสารวัฏ"และ "ความเป็นจริงแห่งธรรมชาติของใจ"การปฏิบัติธรรมที่จะนำไปสู่ความสุข ความมีชัยในชีวิต และความสงบอย่างแท้จริง 
ฉบับนี้เป็นฉบับแรกของการเขียนบทความนี้ จึงจำเป็นต้องมีอารัมภบทบ้าง แม้ใจจริงของผู้เขียนนั้นอยากจะพุ่งไปที่การปฏิบัติเลยทันทีก็ตาม เพราะ "สมาธิ"ลงมือทำเร็วเท่าใดผลเกิดได้เร็วเช่นนั้น แม้การปฏิบัติจะยังอยู่ในระดับงูๆ ปลาๆ ก็ตาม ทั้งนี้เพราะ
๑. เมื่อใดใจปรารภความสงบ ปรารภการปฏิบัติ ธรรม เมื่อนั้นพระนิพพานเริ่มลงดูแลรักษา
๒. เมื่อใดเริ่มนึกถึงศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด เมื่อนั้นกระแสบุญเริ่มไหลในทุกๆ จังหวะที่ใจตรึกระลึกถึงศูนย์กลางกายอันเป็นสถานีหลักสถานีเดียวของการปฏิบัติธรรม
๓. เมื่อใดใจเริ่มพักสบายภายในได้ พร้อมนึกถึงศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดได้เป็นระยะๆ เมื่อนั้นใจเริ่มถ่าย ทอดความสบายจากภายในสู่ภายนอก เปลี่ยนเป็นความสงบนุ่มๆ พร้อมกระแสบุญที่เริ่มไหลเข้ามา และเจิ่งนองอยู่ในขณะที่ใจยังพักสบายๆ อยู่ภายใน และนึกถึงศูนย์- กลางกาย ได้เป็นช่วงๆ
๔. เมื่อใดที่ใจเริ่ม "หยุด"พักนิ่งจริงจังที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดได้ เมื่อนั้นใจเริ่มเข้าสู่ความสงบที่มีอานุภาพ สภาวะแห่งอานุภาพขึ้นอยู่กับระดับความหยุดของใจที่ผสานกับความสบาย อานุภาพนี้คือ ความนวลกระจ่าง ความสว่างสดใส เห็นหนทางภายในที่เป็นทางเดินของใจ เดินเข้าไปสู่ความสงบที่แท้จริง สู่ความสดใส สู่สภาวะแห่งภูมิปัญญา เดินเข้าไปหาความเป็นจริงของตน
๕. เมื่อใดที่ใจ "หยุด"ได้นุ่มนิ่งจริงจัง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด เมื่อนั้นอานุภาพของใจจะยิ่งเด่นชัด เช่น เห็นตัวตนที่แท้จริงของใจตนเอง เห็นกายแห่งภูมิปัญญาที่ซ้อนอยู่ภายใน เป็นต้น ซึ่งในภาวะเช่นนั้น ความสงบจะเป็นของเรา ความสบายจะหล่อเลี้ยงเรา ความรักบริสุทธิ์มากมายจะผุดพรูขึ้นมาให้เราได้ใช้ช่วยคน และเมื่อนั้นความสุข ความสำเร็จที่ปรารถนาก็จะพร้อมใจกันไปมาหาสู่เราอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดสาย
ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ในหลักทฤษฎีนั้นเห็นได้จากในรูป แต่ในการปฏิบัติจริงการปล่อยให้ใจล่องเข้าหาศูนย์กลางกายเลยนั้นเป็นไปได้ แต่ก่อนอื่นสิ่งที่จำเป็นที่สุด คือ ต้องเรียนรู้ให้ทราบเสียก่อนว่า "ฐาน"ต่างๆ นั้นอยู่ตรงไหน แล้วลองทำความรู้สึกตามดู ทำให้เพียง พอรู้เท่านั้น เพราะ "ฐาน"เหล่านี้ ในการปฏิบัติสมาธิหลายที่ได้นำไปใช้ ไปอ้างถึง ซึ่งเป็นฐานที่ใจเข้าไปอยู่และหยุดอยู่ตรงนั้นได้จริง แต่ยังไม่ใช่และยังไม่ถึงที่สุดของการ "หยุด"จริง ไม่ใช่ที่สุดของความสำเร็จ ไม่ใช่ที่สุดของความสบาย และไม่ใช่ที่สุดของภูมิปัญญา ใจจะหยุดถึงที่สุดได้ ต้องที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดเท่านั้น อันเป็นจุดที่พระพุทธเจ้าท่านถือว่าเป็นต้นทางของหนทางสายกลาง ทางเดียวสู่จุดสูงสุดของความสุข สว่างสดใส ความปลอดภัยและภูมิปัญญา เมื่อลองอ่านดู ลองนึกดูตามภาพที่แสดงไว้แล้ว ให้ปล่อยใจให้รุดเร็วไปอยู่ที่ฐานสุดท้ายได้เลย เพราะฐานนี้เท่านั้นที่จะเป็นที่ตั้งมั่นจริงๆ ของใจ ซึ่งจากนั้นเป็นต้นไปใจจะไม่ไปไหนอีกเลย 
เมื่อได้ทราบแล้วว่าฐานต่างๆ อยู่ที่ไหน จากนั้นก็พุ่งความสนใจไปที่ฐานที่เจ็ดเพียงแห่งเดียว ซึ่งทำได้ง่ายมาก ทำตอนไหนก็ได้ วิธีง่ายๆ ก็คือ หายใจเข้าลึกๆ ตรงปลายสุดของลมหายใจเข้าต่อเนื่องกับลมหายใจออกที่เรียกว่า The Turning Point หรือ จุดวกกลับของลมหายใจ นั่นแหละ "ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด"แต่ไม่ใช่เป็นการทำสมาธิด้วยลมหายใจ เพียงแค่อาศัยลมหายใจช่วยกำหนดศูนย์กลางกายให้ในตอนเริ่มต้นเท่านั้น จากนั้นไม่ต้องสนใจสิ่งใดนอกจากตำแหน่งของศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ไม่ต้องห่วงลมหายใจด้วย 
แต่ในความเป็นจริง ฐานที่เจ็ดนั้นเมื่อรู้จักแล้วย่อมรู้จักเลย จากนั้นไปสิ่งที่พึงกระทำเพียงแค่ระลึกถึงจุดนั้นให้ได้บ่อยๆ เท่านั้น เป็นอันถือว่าปรารภการปฏิบัติธรรม ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดแล้ว แต่ที่แนะให้ใช้ลมหายใจช่วยตอนเริ่มแรกนั้นสำหรับผู้ที่มีความไม่แน่ใจเท่านั้น ความจริงศูนย์กลางกายนั้นทำความรู้จักเพียงครั้งเดียวก็พอ จากนั้นสามารถนำใจไปไว้ตรงนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องอาศัยการอารัมภบทเพราะในความเป็นจริงของชีวิต ในบทแสดงจริงของชีวิต เรามักไม่มีเวลามานั่งกำหนด หากต้องการสามารถจรดใจลงไปได้เลยโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนใดๆ 
ทั้งนี้ต้องอาศัย "ความชำนาญและความเคยชิน"จากการทำอยู่บ่อยๆ สม่ำเสมอจนเป็นนิสัย คือ หมั่นนึก ถึงตำแหน่งของศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ดบ่อยๆ แทนที่จะไปนึกถึงเรื่องร้อนใจ เรื่องหนังเรื่องละคร เรื่องของคนอื่นคนไกล เรื่องคำสรรเสริญหรือการนินทาว่าร้าย เพียงเท่านี้ ใจจะเคยชินกับศูนย์กลางกาย แล้วเรื่องที่ว่า "ยาก"และ "ไม่มีเวลา"ที่จะทำสมาธิก็จะค่อยๆ เลือนหายไปเอง เพราะตราบใดที่ยังหายใจ ตราบนั้นยังมีเวลา การทำสมาธิ มิได้ใช้เวลาพิเศษแต่อย่างใด เพียงแต่ทำให้ควบคู่ไปกับกิจกรรมประจำวันเท่านั้นเอง กล่าวคือ นึกได้เมื่อใดจรดใจลงไปเมื่อนั้น 
และหากเรียนให้ทราบว่า "สมาธิ"คือ การนึกถึงศูนย์กลางกาย ท่านจะเชื่อหรือไม่ เพราะศูนย์กลางกายคือสถานีใหญ่ของสมาธิ การนึกถึงศูนย์กลางกายจึงเป็นการทำสมาธิที่ง่ายที่สุด ฉะนั้น สมาธิจึงทำได้ทุกที่ ทุกกิจกรรม ทุกเวลา ขอความกรุณาลองทำดูแล้วจะได้คำตอบว่าสมาธิทำได้ง่ายจัง และไม่มีเวลาไม่มีในโลก

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล