ฉบับที่ ๑๕๒ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๘

บวชเถิดชายไทย อย่ามัวหลับใหลลุ่มหลง

สร้างคนให้เป็นคนดี
เรื่อง : พ.สนิทวงศ์


บวชเถิดชายไทย
อย่ามัวหลับใหลลุ่มหลง

 


    “ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์        ที่เขาขัดดีแล้วโดยง่ายนั้นไม่ได้ ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือนเถิด”


(ม.ม. ๑๓/๖๖๙/๗๓๘)

 

 

    นี้คือ คำปรารภของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากได้ทรงเห็นเทวทูตทั้ง ๔ ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ ทำให้กระตุกความคิดของเจ้าชายให้ตื่นจากการหลับใหลด้วยอวิชชา ที่เคยคิดว่า ชีวิตมีความสุขและเป็นนิรันดร์ ก่อนตัดสินใจออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม เป็นหนทาง          แห่งการหลุดพ้นจากการเวียนเกิดเวียนตายในสังสารวัฏ 

 

 

ส่วนหนึ่งของ
พระรัตนตรัย
    

    การบรรพชาอุปสมบท หรือเรียกสั้น ๆ ว่า     การบวช คือ การยกฐานะจากผู้นับถือพระรัตนตรัยขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นหนทางสู่    พระนิพพาน เป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก กว่าจะมีการบวชต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบหลายประการ ผู้บวชจะต้องเป็นสัมมาทิฐิ ต้องเป็นมนุษย์ที่ไม่พิการและเป็นชายเท่านั้น การบวชนั้นมีอานิสงส์มาก บุคคลใดได้บวชในบวรพระพุทธศาสนาด้วยศรัทธาเลื่อมใส   จะได้อานิสงส์ ๖๔ กัป บิดามารดาได้อานิสงส์ ๓๒ กัป บุคคลใดได้บวชบุตรของตนก็ดี บุตรของผู้อื่นก็ดี     ก็จะไม่ไปสู่อบายภูมิ

 

 

บวชแล้วเป็นคนสุกและสุข
    
    โบราณเรียกคนที่บวชแล้วว่า ทิด (มาจาก    คำว่า บัณฑิต แปลว่า ผู้ศึกษาแล้ว) หมายถึง คนสุก คือ กิเลสในตัวมันสุก ยังไม่ถึงกับหมดไป แต่อาศัยการบำเพ็ญตบะในเพศสมณะย่างกิเลสทั้งโลภ โกรธ หลง จนมันสุก คือมันไม่ดิบแล้ว ฤทธิ์มันอ่อนลงไปมากแล้ว ในสมัยโบราณถ้าใครยังไม่บวชแล้วไปขอลูกสาวใครเขา เขาจะไม่ยกให้ เพราะเขายังไม่ไว้ใจว่าจะพาลูกสาวเขาไปดีได้หรือไม่ ต้องเคยบวชเรียนมาก่อนจนเป็นทิดเขาถึงจะยกให้ ฉะนั้นการบวชเรียนอย่างนี้ถูกต้องที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุด เป็นธรรมเนียมไทยแต่โบราณมา ให้ช่วยกันรักษาต่อไป เพื่อตัวของเราเป็นสุข เพื่อสังคมประเทศชาติ และเพื่อการจรรโลงพระพุทธศาสนาด้วย

 

 

เป็นพระไม่ใช่ง่าย

 

    เป็นพระไม่มีอะไรง่าย ฉันอาหาร ๒ มื้อ นั่งสมาธิ สวดมนต์ ทำกิจวัตร กิจกรรม แต่ก็สบายใจ เป็นความสุขที่ไม่ได้อิงวัตถุ แต่เกิดจากความสงบใจ ซึ่งเป็นสุขที่ประณีตกว่า  ความสุขที่อิงวัตถุ บวชแล้วทำให้ใจไม่ยึดเกาะ ไม่ติดวัตถุมากเกินไป เพราะเคยสัมผัสแล้วว่าความสุขจริง ๆ นั้นเหนือกว่าสุขจากวัตถุมาก แล้วเราจะแยกออกด้วยว่า ระหว่างคำว่า “ความจำเป็น” กับ “ความต้องการ” ต่างกันอย่างไร แต่กว่าจะถึงขั้นนั้นได้ ต้องใช้เวลา  ฝึกตนอย่างน้อย ๓ เดือน จึงจะลึกซึ้ง

 

 

บวช ๑๕ วัน กับบวช 
๓ เดือน แตกต่างกัน

 

    บางคนบอกว่าไม่มีเวลา ขอบวชระยะสั้น ๆ ได้ไหม แค่ ๗ วัน ๑๕ วัน ต้องคิดใหม่อย่างนี้ว่า เวลาเราไปเรียนหนังสือ ๑๕ วัน กับเรียน ๓ เดือน ย่อมมีความแตกต่างกัน ถ้าได้บวช   ๓ เดือน ก็จะได้ผลแห่งการบวชเต็มที่มากกว่า ถ้าจะให้ดีควรจะบวช ๔ เดือนด้วย คือ ไปอยู่เตรียมตัวก่อนเข้าพรรษาสัก ๑๕-๒๐ วัน แล้วบวชเข้าพรรษา ๓ เดือน ออกพรรษาแล้ว       อยู่รับกฐินก่อน และถ้าได้เดินธุดงค์ก่อนยิ่งดี    รวมแล้วทั้งหมดเป็น ๔ เดือน ครบหลักสูตรอย่างนี้ดีที่สุด ได้ผลมากที่สุด


     ถ้าทางบริษัทให้ลาได้แค่ ๑๕ วัน ก็ลองคุยกับหัวหน้าว่า ขอเอาวันพักร้อน วันลาอะไรต่าง ๆ บวกเข้าไปด้วย อย่างน้อยขอให้ได้สักเดือนหนึ่งก็ยังดี เพราะ ๑๕ วันสั้นเกินไป ยังไม่ทันได้อะไร แค่เพิ่งซ้อมบวช พอบวชได้ไม่กี่วัน    ก็ต้องสึกแล้ว เวลาเรียนธรรมะสั้นเกินไป ถ้าระยะสั้นจริง ๆ ต้องอย่างน้อย ๑ เดือนขึ้นไป และระหว่างบวชให้ตั้งใจฝึกอย่างเต็มที่ ให้      รู้ว่าเรามีเวลาน้อย จึงต้องฝึกอย่างเข้มข้นจริง ๆ แล้วขอให้เลือกบวชที่วัดที่มีการอบรมกันเป็น  กลุ่มเป็นก้อน มีการอบรมอย่างเป็นระบบด้วย อย่างนี้เวลาของเราในแต่ละวันจะได้รับการฝึกฝนเรียนรู้พระพุทธศาสนาทั้งปริยัติ ปฏิบัติอย่างเต็มที่

 


๖๔ กัป 
บุญใหญ่แห่งการบวช

    
    การบวชนั้น ผู้บวชได้อานิสงส์ ๖๔ กัป ท่านเปรียบว่า มีภูเขาหินลูกบาศก์แท่งทึบ กว้าง ๑๖ กิโลเมตร ยาว ๑๖ กิโลเมตร สูง ๑๖ กิโลเมตร ทุก ๆ ๑๐๐ ปี เทวดาเอาผ้าทิพย์บางเบาเหมือนควันไฟมาลูบ ๑ ครั้ง ภูเขาก็สึกไปนิดหนึ่ง ทุก ๆ ๑๐๐ ปี มาลูบครั้งหนึ่ง ลูบจนภูเขาค่อย ๆ สึกลงจนกระทั่งราบเสมอพื้นดิน แบบนี้ถือว่านานมาก แต่กัปหนึ่งนานกว่านั้น บวชครั้งเดียวได้บุญตั้ง ๖๔ กัป คือหมายถึงตลอดทั้ง ๖๔ กัป บุญจากการบวชจะคุ้มครองตัวเรา จะทำอะไรก็เหมือนมีพลังอะไรบางอย่างมาคอยหนุนให้สำเร็จ หรือถ้าจะไปเผลอทำอะไรไม่ดีเข้าเพราะกิเลสเรายังไม่หมด บุญ    จะมาเตือนให้สำนึกว่าไม่ดี ให้เลิกเสีย หรือเตือนให้เรารู้สึกไม่อยากทำ เราคงเคยเห็นบางคนที่เกเร แต่สักพักเดียวก็เลิก เพราะสำนึกว่า     ไม่เอาดีกว่า นี้คือบุญบวชเก่ามาเตือน กระตุ้นจิตสำนึกให้กู่กลับ แต่บางคนไปแล้วกู่ไม่กลับก็มี เพราะขาดบุญจากการบวชนั่นเอง 


    ฉะนั้น ถ้าเราบวชแล้วบุญรักษาคุ้มครองตัวเราไปได้ถึง ๖๔ กัปนั้นก็สุดคุ้ม เป็นบุญที่บุญอย่างอื่นเปรียบไม่ได้เลย ไปทำบุญตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้พ่อแม่ก็สู้บวชไม่ได้ แต่ก็ต้องทำบุญอื่นไปด้วย และการบวชก็ไม่ควรเว้น เกิดเป็นชายมีโอกาสอย่างนี้แล้วให้รีบบวชฝึกตัวเอง เอาบุญให้พ่อแม่หมู่ญาติทั้งหลาย

 


บวชแล้วได้อะไรบ้าง?

 

    ๑.    ได้บุญ การบวชเป็นพระแท้เป็นทางมาแห่งบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ถึงแม้จะมีผู้วิเศษเก็บดอกไม้จนหมดป่าหิมพานต์ แล้วนำมาบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึง ๑,๐๐๐ พระองค์ กระทำดังนี้ทุกวัน ผลบุญจากการบูชานั้นก็ไม่เท่าผลบุญจากการบวช          เป็นพุทธบูชาในพระพุทธศาสนา”*  บุญบวชเป็นพระแท้จึงเป็นสุดยอดแห่งบุญที่มีอานุภาพมหาศาล สามารถตัดรอนวิบากกรรมและดึงดูดความสุขความเจริญเข้ามาได้เป็นอัศจรรย์ บุญนี้จะช่วยปิดอบาย เปิดสวรรค์ ช่วยให้ผู้บวชมีความเห็นถูกต้อง และได้เกิดในบวรพระพุทธศาสนาเป็นเวลานานถึง ๖๔ กัป


    ๒.    ได้ฝึกสมาธิอย่างถูกวิธี การฝึกสมาธิเป็นการพัฒนาจิตให้สงบ ก่อให้เกิดพลังแห่ง      ความบริสุทธิ์ ซึ่งจะมีอานุภาพดึงดูดสิ่งที่ดีงามเข้ามาในชีวิต ทั้งคนดี ๆ ของดี ๆ และโอกาสดี ๆ


     ๓.    ได้ความสุข ความอิ่มเอิบเบิกบานผ่องใส เหมือนได้ผลัดชีวิตใหม่ ความสุขชนิดนี้       เป็นความสุขจากความปลอดกังวลที่เกิดจากจิตที่ผ่องใส เพราะได้นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมทุกวัน และเป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ แต่ได้ฟรี ๆ จากการบวช


    ๔.     ได้ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำไปเป็นหลักในการดำเนินชีวิต และ  ได้รู้ว่า "เราเกิดมาทำไม?" "อะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต?" ทำให้การมาเกิดของเรา            ในชาตินี้ไม่สูญเปล่า


    ๕.    ได้โอกาสทองในการแก้ไขนิสัยและได้สร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย รวมทั้ง      ได้หักดิบเลิกอบายมุขต่าง ๆ


    ๖.    ได้เพื่อนกัลยาณมิตรใหม่ ๆ ที่จะคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันต่อไปในอนาคต


    ๗.    ได้ความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นหนึ่งในบุคคลประวัติศาสตร์แห่งการฟื้นฟูศีลธรรม          ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งจะมีผลต่อความสงบร่มเย็นของประเทศชาติและโลกของเรา


    *การบวชในพระพุทธศาสนา พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

 

 

โครงการบวชแสน : ศาสนา สังคม 
และประเทศชาติ ได้ประโยชน์อะไร?
 

    การบวชพระนับแสนรูปย่อมสร้างกระแสความตื่นตัวในการฟื้นฟูประเพณีการบวช     กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง และจะทำให้ปัญหาวัดร้างลดลงจนกระทั่งหมดสิ้นไป กลับกลายมาเป็นวัดรุ่งทั้งแผ่นดิน ซึ่งจะมีผลให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง มั่นคงเป็นปึกแผ่น และสามารถแผ่ขยายไปดับทุกข์ในใจของผู้คนได้มากขึ้น


      นอกจากนี้ การบวชครั้งละมาก ๆ จะช่วยสร้างครูสอนศีลธรรมขึ้นมาได้อีกเป็นจำนวนมาก เพื่อมาฟื้นฟูศีลธรรมในใจของผู้คนที่กำลังเสื่อมลงทุกขณะให้หวนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง           ซึ่งจะมีผลให้ปัญหาสังคมที่เกิดจากความเสื่อมโทรมของศีลธรรมลดน้อยลง นอกจากนี้         มหากุศลจากการอุปสมบทหมู่จะช่วยนำพาประเทศไทยให้ผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น  ในปัจจุบันได้ในที่สุด ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจะเกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างเป็นอัศจรรย์

 


ตื่นเถิด แล้วมาบวชกัน

 

    การบวชมีคุณประโยชน์ทั้งต่อตนเอง พ่อแม่ ครอบครัว พระพุทธศาสนา สังคม และประเทศชาติ ดังนั้นตื่นเถิดท่านชายทั้งหลาย ทั้งชายไทยและชายชาวต่างชาติ สละเวลา    อันมีค่าจัดสรรเวลาแห่งชีวิต มาหาคุณค่าของชีวิตด้วยการบวชเข้าพรรษากัน 

 

    โครงการอุปสมบทหมู่ ๑๐๐,๐๐๐ รูป ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ครั้งที่ ๑๒ (รุ่นเข้าพรรษา) จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ กรกฎาคม - ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘          (รวม ๑๒๐ วัน) ณ ศูนย์อบรมประจำอำเภอทั่วประเทศ โดยมีพิธีบรรพชา (บวชเณร) ในวันเสาร์ที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ณ วัดพระธรรมกาย และพิธีอุปสมบท      (บวชพระ) ณ วัดที่อบรมทั่วประเทศ สนใจสอบถามได้ที่ โทร. ๐๒-๘๓๑-๑๒๓๔      บวชฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล