ฉบับที่ ๑๙๑ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑

กฐินทาน... ผลานิสงส์ใหญ่ที่ใครก็ไม่ควรพลาด

เรื่องจากปก
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.

กฐินทาน...
ผลานิสงส์ใหญ่ที่ใครก็ไม่ควรพลาด

        “ผ้ากฐินทานกับทั้งผ้าอานิสงส์บริวารทั้งปวงนี้ เป็นของท่านเจ้าภาพพร้อมด้วยศรัทธาสาธุชน ผู้ประกอบด้วยศรัทธาอุตสาหะพร้อมเพรียงกันนํามาถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้อยู่จําพรรษาครบถ้วนไตรมาสในอาวาสนี้...”


         เสียงผู้แทนคณะสงฆ์ดังขึ้นท่ามกลางมหาสมาคมใหญ่ในพิธีอปโลกน์กฐิน ณ ศาลาการเปรียญภายในวัดแห่งหนึ่ง สาธุชนนั่งประนมมือสงบนิ่งร่วมพิธีกรรมอย่างใจจดใจจ่อ เพราะได้รอคอยมาตลอด ๑ ปีเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า ขึ้นชื่อว่า “ผ้ากฐิน” นี้เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลยาวนานกว่า ๒,๕๐๐ ปีนอกจากนี้โดยนัยแห่งอรรถกถาชาดกมี “อติเทวราชชาดก” เป็นต้นนั้น ยังได้กล่าวถึงการมีอยู่ของ “ผ้ากฐิน” ในสมัยของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ก่อน ๆ อีกด้วย ในทางพระพุทธศาสนาเราใช้คําว่า “กฐิน” นี้ ใน ๓ นัย คือ เป็นชื่อผ้าที่เกิดขึ้นจากการประกอบขึ้นของพระภิกษุสงฆ์ ๑ เป็นชื่อของพิธีกรรมสงฆ์ ๑ และเป็นชื่อการทําบุญโดยมีผ้าเป็นสื่อกลาง ๑


           พิธีทอดกฐินนี้มีความสําคัญและสืบทอดยาวนานมาถึงในปัจจุบันอย่างไร เรามาดูไปพร้อม ๆ กัน

          ประการแรก “ผ้ากฐิน” นี้เป็นพระบรมพุทธานุญาตโดยแท้เพราะการถวายผ้าประเภทอื่น ๆ อาทิ“ผ้าอาบน้ำฝน” นั้น เกิดขึ้นเพราะมีมหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นผู้กราบทูลเพื่อขอพระบรมพุทธานุญาต โดยมีมูลเหตุตามนัยแห่งพระวินัยปิฎก มหาวรรค กฐินขันธกะ (หมวดว่าด้วยกฐิน)ที่ว่าพระภิกษุชาวเมืองปาฐากลุ่มหนึ่งมีความประสงค์จะเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแต่ก่อนที่จะเดินทางไปถึงนั้น ได้เข้าสู่ฤดูกาลจําพรรษาเสียก่อน ครั้นออกพรรษาแล้ว จึงได้เดินทางไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และเมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบถึงความมุ่งมั่น กอปรกับความเป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยที่ทรงบัญญัติไว้จึงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สามารถทําหรือรับผ้ากฐินนี้ได้โดยมีข้อปฏิบัติของพระภิกษุผู้คู่ควรต่อผ้ากฐินนี้ได้แก่ เป็นผู้ที่อยู่จําพรรษาครบถ้วนไตรมาส ณ อาวาสแห่งใดแห่งหนึ่ง อีกทั้งเป็นผู้มีสติปัญญาสามารถกระทํากิจที่เนื่องด้วยกฐินนี้ได้เพียงด้วยมูลเหตุนี้ก็นับเป็นบุญลาภที่หาได้ยากยิ่งของผู้มีส่วนแห่งการกระทํานี้

         ในประการต่อมา “ผ้ากฐิน” นี้มีอานิสงส์โดยตรงทั้งแก่ผู้รับและผู้ให้กล่าวคือในฝ่ายของผู้รับ คือพระภิกษุสงฆ์ได้รับอานิสงส์อย่างน้อย๕ประการ ภายหลังจากการประกอบพิธีกรานกฐิน

         ได้แก่ เที่ยวจรไปโดยไม่ต้องกล่าวลา ๑ เที่ยวจรไปโดยไม่ต้องมีไตรจีวรครบสํารับ ๑ ฉันคณโภชน์ได้ ๑ เก็บอดิเรกจีวรได้ตามต้องการ ๑ มีสิทธิ์ในจีวรบริวารที่เกิดจากการกรานกฐิน ๑ กล่าวคือทําให้หมู่สงฆ์ได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนพระวินัยบางประการ ซึ่งทําให้เราได้เห็นถึงพระปรีชาญาณของพระพุทธองค์ในการบริหารคณะสงฆ์หมู่ใหญ่ นอกจากนี้ในฝ่ายของผู้ให้คือ คณะศรัทธาสาธุชน ย่อมได้อานิสงส์ทั้งมนุษย์สมบัติและทิพย์สมบัติคือ ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติทรัพย์สมบัติคุณสมบัติทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ ดังที่ปรากฏในเรื่องราวของนายติณบาลและท้าวสักกเทวราชผู้เคยถวายผ้ากฐินทานแด่หมู่สงฆ์ และได้สมบัติอันไพบูลย์ทั้งที่เป็นของมนุษย์และของทิพย์ รวมถึงนิพพานสมบัติในเรื่องราวของพระเจ้าอติเทวราชผู้อธิษฐานปรารถนาความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นอานิสงส์โดยสังเขปของผู้รับและผู้ให้ผ้ากฐินทานนี้

       ประการสุดท้ายที่จะขอกล่าวในที่นี้คือ การดํารงไว้ซึ่งประเพณีการทอดผ้ากฐิน เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญของการคงอยู่ซึ่งพระพุทธศาสนา ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้างต้นว่า “ผ้ากฐิน” นี้เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลยาวนานกว่า ๒,๕๐๐ ปีแต่หากขาดเสียซึ่งการสนับสนุนร่วมกันทั้งศรัทธาสาธุชนและคณะภิกษุสงฆ์อานิสงส์ทั้งปวงข้างต้นนี้ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้และเมื่อใดที่สาธุชนและหมู่สงฆ์ขาดการสนับสนุนซึ่งกันและกันแล้วพระพุทธศาสนาก็ยากที่จะดํารงคงอยู่ได้แต่เมื่อใดที่การสนับสนุนร่วมกันของทั้ง ๒ ฝ่ายยังคงมีอยู่ แม้พระพุทธศาสนาจะต้องประสบกับภัยภายนอกบ้าง ก็จะสามารถกลับมาเป็นปึกแผ่นได้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวว่า การทอดกฐินเป็นปัจจัยที่สําคัญต่อการสืบต่อพระพุทธศาสนา


         เนื่องด้วยความสําคัญอย่างน้อย ๓ ประการ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ คือ ผ้ากฐินนี้เป็นพระบรมพุทธานุญาตโดยตรง มีอานิสงส์ทั้งแก่ผู้ให้และผู้รับ รวมถึงเป็นปัจจัยสําคัญของการสืบต่อและดํารงคงอยู่ซึ่งพระพุทธศาสนา 

         จึงนับเป็นบุญลาภอันประเสริฐของผู้ที่ได้มีโอกาสร่วมบุญเป็นอย่างยิ่งที่สําคัญ ๑ ปีมีเพียง ๑ ครั้งเท่านั้น และกระทําได้ไม่เกิน ๑ เดือน ภายหลังจากออกพรรษาอีกด้วย

        จึงควรที่พุทธศาสนิกชนผู้รักในพระพุทธศาสนาจะพึงเห็นความสําคัญและร่วมกันทอดกฐินสามัคคี ณ วัดใกล้บ้านหรือวัดที่เราคุ้นเคย ทั้งกระทําด้วยตนเองและชักชวนบุคคลอันเป็นที่รักให้มาร่วมกันด้วย


กาเล ททนฺติ สปฺปญฺญา วทญฺญู วีตมจฺฉรา กาเลน ทินฺนํ อริเยสุ
อุชุภูเตสุ ตาทิสุ วิปฺปสนฺนมนา ตสฺส วิปุลา โหติ ทกฺขิณา...

ทายกทั้งหลายเหล่าใด เป็นผู้มีปัญญา มีความเอื้อเฟื้อ ปราศจากความตระหนี่ ให้ทานในกาลสมัย
มีจิตเลื่อมใสในพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้คงที่ บริจาคทาน ให้ทานตามกาลนิยม
ทักษิณาทานของทายกทั้งหลายเหล่านั้นมีผลไพบูลย์...

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล