ฉบับที่ 114 เมษายน ปี2555

วิธีเลือกกิจกรรมให้ลูกรับปิดเทอม

ข้อคิดรอบตัว

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 




วิธีเลือกกิจกรรมให้ลูก

รับปิดเทอม

 

การพาเด็กไปอยู่กับปู่ย่าตายายในช่วงปิดเทอมเหมือนในอดีตมีข้อดีอย่างไรบ้าง

          การไปอยู่กับปู่ย่าตายายหรือญาติผู้ใหญ่มีข้อดี ๒ ประการ คือ ๑.ได้ความคุ้นเคยกับญาติผู้ใหญ่ ส่วนญาติผู้ใหญ่ก็รู้สึกอบอุ่น ๒.ได้ธรรมะและข้อคิด ในการดำเนินชีวิตจากผู้ใหญ่ แต่ตรงนี้ต้องดูด้วยว่า ผู้ใหญ่บางท่านก็คุ้นกับการมีลูกหลานมาอยู่ด้วย แต่ บางท่านไม่คุ้น ถ้ามีลูกหลานมาอยู่ด้วยหลาย ๆ เดือน แล้วท่านไม่รู้จะทำอะไรกับลูกหลานดี อาจจะกลาย เป็นว่าเด็กไปอยู่กับท่านแค่ตัว แล้วก็ไปนั่งเล่นเกมอยู่ หน้าจอคอมพิวเตอร์

          เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องตอบตัวเองให้ ชัดก่อนว่า อยากให้ลูกได้อะไรในช่วงซัมเมอร์ เอาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับลูกเป็นตัวตั้งก่อน แล้วค่อย หารูปแบบกิจกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมมา รองรับ โดยคำนึงถึงเงื่อนไขอื่น ๆ ประกอบด้วย ถ้าอย่างนี้มีข้อดีร้อยละ ๘๐ สมมุติไปอยู่กับคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย มีข้อดีในแง่ศักยภาพที่จะเพิ่ม ขึ้นมาร้อยละ ๘๐ คุณปู่คุณย่าก็รู้สึกดี ให้บวกตรงนี้ เข้าไปด้วย เป็นคะแนนจากจุดสตาร์ท แต่ถ้าไปเข้าแคมป์ ในแง่ศักยภาพอาจจะได้ขึ้นมาร้อยละ ๘๕ แต่จะไม่ได้เรื่องความสัมพันธ์กับญาติผู้ใหญ่ บวกลบ คูณหารแล้วอะไรคุ้มกว่า ก็ตัดสินใจเลือก แต่ต้องมีทิศทางเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน โดยมีหลักดังต่อไปนี้

          ถ้าเราสังเกตให้ดีจะพบว่า ชีวิตคนเราหมดเวลา ไปกับเรื่องจุกจิกมากมาย เช่น ตื่นขึ้นมาก็ล้างหน้า แปรงฟัน ขึ้นรถไปโรงเรียน คุยกับเพื่อน คุยโทรศัพท์ เล่นเกมคอมพิวเตอร์ แวะดูหนังสือพิมพ์บ้าง ทำนั่น ทำนี่บ้าง วันหนึ่ง ๒๔ ชั่วโมง หมดไปกับเรื่องจุกจิก อาจจะสองในสาม เหลือเวลาที่จะใช้ในการทำงานจริง ๆ ไม่มากและในเวลาทำงาน ๗-๘ ชั่วโมง ก็หมดไปกับงานจุกจิกอีกเยอะ เหลือเวลาทำงานเป็น ชิ้นเป็นอันอาจจะแค่ ๒-๓ ชั่วโมง เท่านั้น นั่นคือชีวิต จริงของคนเรา แม้แต่การเรียนหนังสือก็เหมือนกัน วันหนึ่งอาจจะหมดเวลาไปกับเรื่องจุกจิก คือเนื้อหา ที่เรียนแล้วก็ลืม กลายเป็นว่าสิ่งที่ได้ใช้จริง ๆ เหลือ อยู่แค่นิดหน่อย ที่เหลืออยู่กับตัวเราจริง ๆ คือ การพัฒนาทักษะที่เรียกว่าสามัญสำนึก วิจารณญาณใน การตัดสินใจเรื่องราว ความสามารถในการวิเคราะห์ เหตุผล ความสามารถในการจับประเด็น ตรงนี้เป็น ทักษะที่ติดตัวและใช้ได้ยาวนานจริง ๆ

          พอเราเห็นอย่างนี้ เราจะพบว่าช่วงซัมเมอร์เป็น เวลาทองเลย ถ้าเราอยากให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต มีความสุขในชีวิต เราต้องคิดว่าควรจะใช้ เวลาทอง ๒-๓ เดือนนี้ เพิ่มพูนทักษะอะไรของลูกบ้าง ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิตจริง ๆ เพราะ เวลาในช่วงนี้ไม่ได้ผูกพันด้วยหลักสูตรใด ๆ ของโรงเรียน เราบริหารจัดการได้เต็มที่ด้วยตัวของเรากับลูก เมื่อมองอย่างนี้แล้วจะพบว่า ซัมเมอร์เป็นเวลาที่สำคัญมาก ๆ ถ้าใช้ดี ๆ แล้ว จะเป็นเสมือน กำลังภายใน หนุนให้เด็กพุ่งไปข้างหน้าได้เลย

          อาตมาเองก็เคยมีประสบการณ์ที่อาศัยซัมเมอร์ ช่วง ม.ปลาย มาเพิ่มกำลังภายในให้ตัวเอง โดยการ อบรมธรรมทายาท ได้ไปฝึกสมาธิ ได้ศึกษาธรรมะ ถือเป็นเวลาทองของชีวิตเลย ซุ่มฝึกแค่ซัมเมอร์เดียว พอกลับไปเรียน คะแนนพุ่งพรวดเดียวจากกลาง ๆ ไปยืนอยู่หน้าแถวเลย เพราะเรามีสมาธิดีขึ้น ใจเรา นิ่งขึ้น จะเรียนหนังสือหรือจะคิดอ่านอะไรก็ดีขึ้น จะตัดสินเรื่องอะไรก็มีหลักในการคิด ในการวิเคราะห์ ไม่สับสน มองทิศทางวิเคราะห์ปัญหาได้ชัดเจนและ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ต่าง ๆ ได้ นั่นคือ ซัมเมอร์ที่งดงามมากในชีวิตมัธยมปลาย และเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาและการดำรงชีวิตในช่วงปี ต่อ ๆ มา ใช้ได้ตลอดชีวิตเลย

          คุณพ่อคุณแม่อย่ามองข้ามตรงนี้ อย่าคิดแต่เพียงว่า ซัมเมอร์แล้วเอาลูกไปเรียนดนตรีดีกว่า เอาลูกไปเข้าแคมป์ ไปฝึกกีฬา ไปเล่นเปียโน ไป ฝึกว่ายน้ำ ไปเข้าเรียนภาษาต่างประเทศดีกว่า ฯลฯ

ผู้ปกครองควรจะมีแนวทางในการวางเป้าหมายให้กับลูก ๆ ในช่วงซัมเมอร์อย่างไร

หลัก ๒ อย่าง ที่น่านำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจเลือกกิจกรรมซัมเมอร์ให้ลูก คือ

          ๑. ควรเป็นเรื่องที่เสริมคุณธรรมของลูก ถ้า หากเด็กมีหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจ โตขึ้นมาเขาเป็น คนดีแน่ ไม่เกเร ไม่ยุ่งอบายมุข ไม่ติดยาเสพติด และมั่นใจได้ว่าลูกจะมีความรับผิดชอบ เป็นคนรู้คุณ พ่อแม่ เคารพผู้ใหญ่ รับผิดชอบการงาน รับผิดชอบ ครอบครัวในอนาคตได้ แค่นี้ก็เยี่ยมแล้ว ดังนั้นต้องเสริมคุณธรรม เพราะคุณธรรมเป็นเหมือนรากฐานของชีวิต ไปฝึกให้เก่งเท่าไรก็ตาม หากขาดคุณธรรม ไปติดยาเสพติด ถามว่ามีประโยชน์อะไร ถ้าลูกเป็นคนเกเรเหลวไหล โตขึ้นแล้วไม่รู้จักบุญคุณพ่อแม่ จะมีประโยชน์อะไร เราจะมีความสุขไหม ลูกจะมีความสุขไหม

         ๒.ควรเป็นทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคต  ซึ่งลูกควรจะฝึกอะไรนั้น ขึ้น อยู่กับเรามองว่าอนาคตของเขาควรจะเป็นอย่างไร และควรเกิดจากการพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่กับลูกและเกิดจากการสังเกตว่า  ลูกเรามีความถนัด มีใจรักทางด้านไหน บางอย่างเป็นความชอบชั่วคราว เช่น กำลังเห่อฟุตบอลก็อยากจะเป็นดาราฟุตบอล ต้องดู ว่าระยะยาวจริง ๆ หน้าที่การงาน อาชีพ ที่เหมาะกับลูกคืออะไร ที่ลูกมีใจรัก ดูแล้วเป็นไปได้ และมี ความมั่นคงด้วย และหากจะมีอาชีพอย่างนั้นได้ควร จะมีทักษะอะไรบ้าง เสริมไปเลย ไปหาค่ายฝึกวิชา เพิ่มเติมตามความเหมาะสม บางทียังไม่ถึงเวลาที่ลูก จะตัดสินใจว่าจะเป็นอะไรแน่ พ่อแม่ก็ยังเห็นไม่ชัด เด็กเองก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ ถ้าอย่างนี้เราก็อาจจะฝึกทักษะที่ใช้ได้กลาง ๆ เช่น ทักษะเรื่องภาษาก็เป็น สิ่งที่สามารถใช้ได้ระยะยาวเหมือนกัน แต่ขอให้ถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเป็นหลัก อย่าไปเอากระแสแฟชั่นเป็นหลัก เช่น เขาคุยกันว่าลูกฉันซัมเมอร์ที่แล้วไปอังกฤษ ไปออสเตรเลีย ไปอเมริกา เลยรู้สึกว่าถ้าลูกเราไม่ได้ไปบ้างก็สู้หน้าเขาไม่ได้ ถ้าอย่างนี้จะกลายเป็นการไปแข่งกัน ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควรจะเป็น ขอให้มุ่งไปที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ไปร่วมมากกว่า

ในช่วงเปิดเทอมเด็กไม่มีเวลาอยู่กับพ่อแม่ พอปิดเทอมก็ต้องไปค่ายอีกแล้ว บางครั้งเด็กอาจจะอยากอยู่กับพ่อแม่บ้าง พ่อกับแม่ควรจะบอกกับลูกอย่างไรดี

          เรื่องนี้คิดว่าน่าจะคุยกันได้ เพราะไม่ได้จำเป็น ว่าถึงซัมเมอร์แล้วลูกจะต้องไปนั่นไปนี่ตลอด ถ้าเด็ก อยากอยู่บ้านบ้างก็เป็นสิ่งที่ดี พ่อแม่จะได้ให้ลูกช่วย ดูแลงานบ้านบ้างตามวัยของเขา อย่างนี้เป็นการเข้า แคมป์ซัมเมอร์ในบ้านเลย ถือเป็นข้อดีอีกอย่างหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้ว คำว่ากิจกรรมซัมเมอร์ไม่ได้หมายความว่า ต้องไปเข้าแคมป์เป็นเรื่องเป็นราวแบบ เป็นหลักสูตรที่เขาจัดขึ้นมาอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็น การใช้เวลาช่วงปิดเทอมทำสิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า

          อย่างตอนต้นที่กล่าวไว้ว่า การที่คนเราเรียนหนังสือมา อยู่ ๆ ไป ก็ลืมเนื้อหาไปเกือบหมด แต่ที่ได้คือทักษะในการอยู่ร่วมกัน ทักษะการคิด ทักษะ ในการพัฒนาเรื่องอารมณ์ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า เด็ก บางคนตอนจบมาเกรดไม่มากเท่าไร แต่ทำงานแล้ว ประสบความสำเร็จมากกว่าเพื่อนที่จบมาเกรดสูง ๆ เพราะเขาอาจจะใช้ชีวิตการเรียนอย่างสนุกสนาน มี เพื่อนฝูงเยอะ ทำกิจกรรมด้วย ถึงคราวเขาก็ประยุกต์ สิ่งที่เขาเรียนรู้จากกิจกรรมเหล่านี้มาใช้ในการทำงาน และการดำเนินชีวิต ทำให้เป็นคนที่ปกครองคนได้ มีทักษะเรื่องคน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้สอนอยู่ในโรงเรียน แต่กลับเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ อย่างนี้เป็นต้น

          อาตมาเองสมัยยังเด็ก ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้มีแคมป์เยอะอย่างนี้ ถึงคราวซัมเมอร์ ก็ทำแคมป์ของตัวเอง ชวนเพื่อนฝูงที่สนิท ๆ กัน ๖-๗ คน ไปปีนเขา บางทีชวนไปเล่นวอลเล่ย์บอล เล่นบาสเกตบอล เฮฮาสนุกสนานกันไป ผลคือเรามี วุฒิภาวะทางด้านอารมณ์ สุขภาพร่างกายแข็งแรง ถึงคราวทำกิจกรรมก็ชวนกันมาทำกิจกรรม มา รับผิดชอบงานโรงเรียน ตัวอาตมาสมัครเป็นสมาชิก สภานักเรียน ก็ได้เพื่อนกลุ่มนี้มาช่วยเขียนโปสเตอร์ หาเสียง พอได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานักเรียน ก็มาช่วยกันทำงาน และช่วยกันเรื่องการศึกษาเล่าเรียน แข่งกันเรื่องการเรียน การแข่งกีฬาก็แข่งกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน พัฒนาไปด้วยกัน สิ่งเหล่านี้เสริมสร้างตัวเองให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ขึ้น

          เราอย่าไปมองว่าต้องเข้าหลักสูตรอย่างเดียว ให้เด็กใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ให้มีความรับผิดชอบ ให้ช่วยงานบ้าน ให้มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว เพราะถ้าพ่อแม่เอาใจมาก ๆ เด็กจะมีความรู้สึกว่าทุกคนจะต้องมาเอาใจเขา อาตมาเคยเจอเด็กในครอบครัวฐานะดีคนหนึ่ง เขาคิดว่าพ่อแม่ต้องเอาใจ เขา แต่เผอิญเกิดปัญหาเศรษฐกิจ พอเด็กรู้ว่าพ่อแม่ กำลังลำบาก และมาขอให้เขาช่วยรับผิดชอบอะไร บางอย่าง เด็กโตขึ้นมาทันทีเลย กลายเป็นคนที่ รับผิดชอบ จากเดิมคอยแต่จะรับการเอาอกเอาใจ ตอนนี้ถึงคราวต้องเป็นผู้ให้บ้าง ถ้าเด็กคิดอย่างนี้เมื่อไร โตขึ้นจะเป็นคนที่ใช้ได้ เพราะฉะนั้นการฝึกให้ลูกรับผิดชอบมีแต่ดี ไม่มีเสียเลย รักลูกอย่าโอ๋ลูก ความลำบากไม่เคยทำลายใคร แต่ความสบายจะทำลายคน

          เพราะฉะนั้นกิจกรรมซัมเมอร์ทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ถ้าจะให้เกิดประโยชน์ ต้องกลับมาสู่เป้าหมายว่าต้องสามารถเสริมสร้างเด็ก ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบขึ้น มีวุฒิภาวะ ทางอารมณ์ มีความหนักแน่นทางจิตใจ มีคุณธรรม มีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ แล้วทักษะอื่น ๆ เราก็เสริมเข้าไป แต่ตัวหลักจริง ๆ คือคุณธรรม อารมณ์ที่หนักแน่น วุฒิภาวะที่พร้อมจะรับผิดชอบ ตรงนี้ต่างหากที่เป็นตัวกำหนดว่า เมื่อโตขึ้นแล้วจะประสบ ความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตหรือไม่

พ่อแม่ควรเลือกกิจกรรมให้ลูก หรือให้ลูกเลือกกิจกรรมเอง

          ให้ปรึกษากัน เด็กเขาก็คิดว่านี่คือตัวของเขา เขาควรจะมีสิทธิ์ในการตัดสินใจบ้าง ผู้ใหญ่ก็บอกว่า พ่อแม่อาบน้ำร้อนมาก่อน จงเชื่อพ่อแม่เสียดี ๆ ถ้า เป็นอย่างนี้ให้คุยกันด้วยเหตุด้วยผล

อายุเท่าไรถึงจะเหมาะต่อการไปเข้าค่ายค้างคืน

          สิ่งที่สำคัญกว่าเรื่องวัยอยู่ที่ผู้บริหารค่ายนั้นเป็นใคร ทีมงานทั้งหมดไว้วางใจได้ไหม มือถึงไหม ถ้าหากมือถึง มีประสบการณ์ในการทำงาน และมีความรับผิดชอบทุกอย่างดี ก็โอเค หนึ่งคือดูที่ ผู้บริหารค่าย ทีมงานทั้งหมด ดูประสบการณ์ ดูที่ผ่าน ๆ มาว่าเขารับผิดชอบแค่ไหน ใส่ใจกับผู้ที่ไปเข้าค่ายขนาดไหน สอง เพื่อน ๆ ที่ไปเข้าค่ายด้วยกันเป็นคนอย่างไร ต้องดู ๒ อย่างนี้เป็นหลัก ถ้าทีมงานผู้บริหารค่ายใช้ได้ คนที่ไปค่ายโดยภาพรวม แล้วเป็นคนที่ใช้ได้ ก็อนุญาตให้ลูกไปได้

ช่วงปิดเทอมวัดพระธรรมกายมีกิจกรรมดี ๆ อะไรบ้าง

          ถ้าผู้ปกครองท่านใดคิดว่าซัมเมอร์นี้อยากจะปลูกฝังเสาหลักของชีวิตคือเรื่องคุณธรรมให้กับลูก ๆ แล้วละก็ ทางวัดยินดีต้อนรับ เรามีกิจกรรมสำหรับเด็กเกือบทุกช่วงวัยอายุ ตั้งแต่ ๘ ขวบขึ้นไป รูปแบบ กิจกรรมมีหลายอย่างตามวัยของเด็ก มีการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เด็ก เรียนรู้เรื่องความมีน้ำใจ เรื่องคุณธรรม เด็กจะมีเพื่อน ทำกิจกรรม แล้วเขาจะรู้สึกสนุกสนานและได้ข้อคิด ต่าง ๆ ไปในตัว ถ้าหากอายุ ๑๒ ปีขึ้นไปสำหรับฝ่ายชาย ก็มาบวชได้เลย ถ้าหากจบประถมปลายแล้ว อยู่ในช่วงกำลังจะเข้า ม.ต้น หรือเรียน ม.ต้นอยู่ ก็มาบวชยุวธรรมทายาทได้ หลักสูตรประมาณเดือนหนึ่ง ถ้าจบ ม.ต้นแล้ว จนกระทั่งถึง ม.ปลาย ก็เป็นมัชฌิมธรรมทายาท ถ้าเป็นนิสิตนักศึกษาก็มีหลักสูตรธรรมทายาทอุดมศึกษา ใครอายุครบ ๒๐ ปี ก็บวชพระ ยังไม่ครบก็บวชเป็นสามเณร ถ้าเรียนจบ แล้วหรือเพิ่งจบจะมาเข้ารุ่นอุดมศึกษาก็ได้ หรือว่าจะมาเข้าหลักสูตรพิเศษประมาณเดือนครึ่งก็ได้ ถ้าหากว่าโตขึ้นมาอีก ก็มีการอบรมประมาณ ๒ เดือน

          สรุปสำหรับฝ่ายชายก็คือบวชเณรหรือบวชพระ ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหลักสูตรอบรมธรรมทายาทหญิง แต่มี ๒ รุ่น กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนชั้น ม.ปลาย เรียกว่ามัชฌิมธรรมทายาทหญิง หลักสูตรประมาณ ๑ เดือน รักษาศีล ๘ และฝึกปฏิบัติธรรม มีพระอาจารย์มาเทศน์สอน มาอบรม ส่วนระดับอุดมศึกษา ก็จะเป็นธรรมทายาทหญิงรุ่นอุดมศึกษา หลักสูตรประมาณ ๒ เดือน สำหรับชั้นมัธยมต้นฝ่ายหญิงก็มาเข้ายุวกัลยาณมิตร นั่นคือกิจกรรมช่วงซัมเมอร์ที่วัดพระธรรมกาย

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล