ฉบับที่ 64 กุมภาพันธ์ ปี 2551

ทันโลก ทันธรรม : ประโยชน์ของการอบรมธรรมทายาท

ทันโลก ทันธรรม
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ(M.D. Ph.D.) จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 

         อีกไม่นานก็จะถึงช่วงอบรมธรรมทายาทภาคฤดูร้อน กันแล้ว มีหลายท่านถามมาว่า การอบรมธรรมทายาทมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างไร

      พระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโวท่านได้ให้โอวาทไว้ว่า ธรรมะทุกข้อที่เราได้ศึกษาจะมีอานุภาพและเป็นประโยชน์จริงก็ต่อเมื่อเราได้นำหลักธรรมนั้นมาปฏิบัติในวิถีชีวิตของเราจนกระทั่งกลายเป็นนิสัยติดตัว

         ถามว่านิสัยคืออะไร นิสัย คือ สิ่งที่ตัวเราทำซ้ำๆ จนกระทั่งเคยชิน ถ้าได้ทำแล้วจะรู้สึกสบายใจ ถ้าไม่ได้ทำ จะรู้สึกหงุดหงิด ยกตัวอย่างเช่นใครเคยดื่มเหล้าเป็นประจำตกเย็นเป็นต้องตั้งวงชวนพรรคพวกมาล้อมวงดื่มคนละกรึ๊บสองกรึ๊บพร้อมกับแกล้มคุยกันไปเฮๆ ฮาๆ ทำจนชิน พอวันไหนแดดร่มลมตกแล้วไม่ได้ดื่มมันจะหงุดหงิด กระวนกระวายรู้สึกเหมือนขาดอะไรไปอย่าง พอได้ทำก็รู้สึก พอใจ หรือคนไหนเคยสูบบุหรี่ พอไม่ได้สูบก็รู้สึกหงุดหงิด คนไหนเคยเล่นการพนันพอไม่ได้เล่นก็รู้สึกหงุดหงิด

          ในด้านตรงข้าม บางคนมีนิสัยในทางดี เช่น สวดมนต์ นั่งสมาธิก่อนนอนจนเคยชินเป็นนิสัย วันไหนไม่ได้สวดมนต์จะให้นอนก็นอนไม่หลับ ต้องได้สวดมนต์ก่อนถึงจะสบายใจ คนไหนฝึกนิสัยรักความสะอาดจนชิน ไม่ได้อาบน้ำ ก็นอนไม่หลับ แต่ถ้าคนไหนไม่อาบน้ำจนเคยชิน อย่างคนที่พเนจรไม่มีบ้านอยู่ เดือนหนึ่งจะอาบน้ำสักครั้ง พอวันไหน ได้อาบน้ำมันจะรู้สึกแปลกๆ นอนไม่ค่อยหลับ มันอยู่ที่ความคุ้นเคย คนไหนชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฝึกความเป็นระเบียบจนชินข้าวของทุกอย่างวางเข้าที่ เข้าทางเข้ามุมอย่างดี โต๊ะหนังสือสะอาดสะอ้านบ้านช่องห้องหอเรียบร้อยถ้าเห็นอะไรไม่เรียบร้อยก็ต้องรีบไปจัดให้มันเรียบร้อยจึงจะสบายใจ

           พอเข้าใจนิยามคำว่านิสัยแล้ว เราพบว่านิสัยจะทำหน้าที่เป็นเหมือนกลจักรในการผลิตบุญผลิตบาปให้กับเรา ใครที่ได้ฝึกนิสัยดีๆ เอาไว้ เขาจะสามารถ ทำความดีซ้ำได้อย่างง่ายๆ โดยไม่รู้สึกต้องฝืน เช่น เคยสวดมนต์ก่อนนอน นั่งสมาธิก่อนนอนจนเคย ถึงเวลาสวดก็ไม่รู้สึกต้องฝืนทำ เพราะมันเป็น ธรรมชาติความเคยชินไปแล้ว บุญกุศลก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ใครฝึกนิสัยรักความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฝึกนิสัยพูดสุภาพ มีน้ำใจไมตรีกับทุกคนบุญกุศลความสุขความเจริญก็เกิดขึ้นกับตัวผู้ประพฤติตลอดเวลา ในทางกลับกันใครไปสร้างนิสัยไม่ดีเอาไว้ ไม่ว่านิสัยชอบดื่ม ชอบสูบบุหรี่ พูดจากระโชกโฮกฮากหรือนิสัยชอบแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง เป็นต้น ทำอย่างนี้ซ้ำๆ บาปก็เกิดบ่อยๆ อกุศลก็เกิดบ่อยๆ และก็พาไปสู่อบาย

         นิสัยจึงสำคัญมาก ฝึกนิสัยดีบุญก็จะเกิดต่อเนื่องเลยทีเดียว ในทางกลับกันนิสัยไม่ดีที่อยู่ติดตัวเราก็จะเป็นกลจักรในการสร้างบาปตลอด ต่อเนื่องเหมือนกัน

         เราจึงต้องหาทางแก้นิสัยไม่ดีให้ลดน้อยถอยไปจากตัวเราให้ได้ ถามว่าจะฝึกอย่างไร วิธีการที่ดี คือ ฝึกที่กิจวัตรประจำวัน สิ่งที่ตัวเราทำซ้ำๆ ในแต่ละวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเข้านอน ถ้ากิจวัตรของเราลงตัว และระหว่างนั้นได้ฝึกการบริหารปัจจัย ๔ ทั้งที่อยู่อาศัยให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งเรื่องเครื่องนุ่งห่ม ข้าวปลาอาหาร การดูแลรักษาสุขภาพ ปัจจัยทั้ง ๔ อย่างเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ใครปฏิบัติต่อปัจจัย ๔ ได้อย่างถูกต้องและมีกิจวัตรที่ลงตัว จะเป็นแหล่งบ่มเพาะนิสัยได้อย่างดีเยี่ยมเลยทีเดียว

 

 

  

 การอบรมธรรมทายาทจะเป็นประโยชน์อย่างมากในแง่มุมนี้ เพราะผู้เข้ารับการอบรมจะได้ใช้เวลาตลอด ๑ เดือน เดือนครึ่ง หรือ ๒ เดือนแล้วแต่หลักสูตรทั้งชายทั้งหญิงมาปฏิรูปนิสัยของเราใหม่ เพราะในช่วงอบรม ตัวเราปลอดจากภารกิจอื่นสามารถจัดกิจวัตรกิจกรรมได้อย่างลงตัว ตั้งแต่เช้าตี ๔ ครึ่ง ก็ล้างหน้าล้างตา เข้าห้องน้ำ เสร็จเรียบร้อย สวดมนต์ทำวัตรเช้านั่งสมาธิ แล้วก็ช่วยกันรับบุญแบ่งหน้าที่กัน พอ ๗ โมงรับประทานอาหารเช้า ช่วงสายปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ๑๑ โมง ก็ทานข้าวเพลเสร็จแล้วแบ่งบุญกัน ใครรับเรื่องล้างจาน ใครเช็ดถูปูเสื่อ แบ่งหน้าที่กัน บ่ายฟังเทศน์ ฟังธรรม ทำกิจกรรมกลุ่มตกเย็นช่วยกันรับบุญอีกครั้งแล้วอาบน้ำซักผ้า รอบค่ำก็สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม ๔ ทุ่มก็เข้านอน กิจวัตรแต่ละวันลงตัว ฝึกความเป็นผู้มีวินัยเรื่องเวลาได้อย่างดีเยี่ยม

   คนเรานี้แปลก ถ้าให้อยู่คนเดียวแล้วฝึกวินัยตนเองมันยากเหมือนกัน เคยตั้งใจไว้ว่า ๙ โมง จะนั่งสมาธิ ถึงเวลาจริงๆ ก็บอกว่าเมื่อย ง่วง นอนเสียก่อนดีกว่า อ่านหนังสือพิมพ์ก่อน เวลาก็จะเลื่อน ไปเรื่อยๆ แต่พอทำเป็นกลุ่มเป็นหมู่คณะใหญ่เป็นร้อยคน พลังของหมู่จะช่วยเสริมพลังเดี่ยว ถึงเวลาตี ๔ ครึ่ง เพื่อนๆ เขาตื่นกันหมด เราจะหลับอยู่คนเดียวได้อย่างไรก็ต้องตื่นด้วย เมื่อเขาสวดมนต์กันหมดเราก็ต้องสวดมนต์พร้อมเขา แบ่งบุญกันทำหน้าที่อะไร ล้างถ้วยล้างจานรับหน้าที่อะไรมาเราก็ต้องทำ พลังของหมู่คณะจะเสริมพลังเดี่ยวเราได้อย่างดี ได้ฝึกวินัยเรื่องเวลา ฝึกกิจวัตรประจำวันฝึกนิสัยที่ดีในการบริหารปัจจัย ๔ เช่น ซักเสื้อผ้า ซักอย่างไรถึงจะสะอาด ตากอย่างไรให้เป็นระเบียบเรียบร้อยที่นอนหมอนมุ้งดูแลอย่างไร มารยาทในการรับประทานอาหาร ตักข้าวอย่างไร เคี้ยวอย่างไร กลืนอย่างไร ทุกอย่างได้รับการฝึก

          นอกจากนี้ช่วงอบรมเป็นช่วงที่เราปลอดจากภารกิจอย่างอื่นมารบกวนจิตใจ ทั้งวันอยู่กับ การปฏิบัติธรรม จึงเป็นช่วงที่เรามีจิตใจผ่องใส บุญหล่อเลี้ยงใจเต็มที่ เมื่อใจผ่องใส ศัพท์ทางพระจะใช้คำว่า ใจจะนุ่มนวลควรแก่การงาน ใจมัน นุ่มนวล ดัด ปั้นง่ายเหมือนดินเหนียวพอมันนุ่มมันอ่อนอยู่เราก็ปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น เป็น ถ้วยโถโอชามได้แต่ถ้ามันแข็งมันปั้นไม่ลง ฝืนดัดมันก็จะหัก ใจคนเหมือนกัน ถ้ายังกระด้างอยู่จะให้ฝืนนิสัยมันทำได้ยาก เพราะนิสัยมันติดตัวมาไม่ใช่แต่เฉพาะในชาตินี้ แต่ติดมาข้ามภพข้ามชาติเลยทีเดียวแต่พอมาปฏิบัติธรรมใจมันจะนุ่มนวลควรแก่การงาน สามารถปั้นรูปทรงใหม่ให้กับนิสัยตัวเองได้ง่าย

        เมื่ออบรมเสร็จกลายเป็นคนที่ปฏิรูปตัวเองได้สมบูรณ์ขึ้น และพร้อมที่จะกลับไปเรียนหนังสือปฏิบัติการงานต่อไปในอนาคตได้อย่างดี เป็นผู้ที่มีหลักธรรมประจำใจ คำว่าหลักธรรมประจำใจ คือหลักธรรมที่อยู่ในใจ เพราะปฏิบัติจนคุ้นเป็นนิสัยแล้วและนิสัยที่ดีมันก็จะติดข้ามภพข้ามชาติเป็นกลจักรสร้างบุญให้เราทั้งภพนี้ ภพหน้า ตลอดไปจนถึงที่สุดแห่งธรรม

       เพราะฉะนั้น พวกเราเยาวชนทั้งหลายถ้าปลีกเวลาได้ ภาคฤดูร้อนนี้มาอบรมธรรมทายาทกัน ใครมีลูกมีหลาน เพื่อนพ้องน้องพี่ ชวนกันมาเถิด ช่วงเวลาหนึ่งถึงสองเดือนนี้ จะเป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่ามหาศาล แล้วเราจะได้เป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสุขความสำเร็จในชีวิตทั้งภพนี้และภพหน้าตลอดไป

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล