ฉบับที่ ๒๐๑ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๖๒

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๐)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI

หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธโบราณ (ตอนที่ ๕๐)

การบวชบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ : หนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์แห่งหลักฐานธรรมกายที่มีชีวิต

               ในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๒ ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนี้ นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่เราทุกคนผู้เป็นลูกศิษย์หลานศิษย์ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ต่างมีความปลื้มปีติใจ และอิ่มในบุญใหญ่ที่ผ่านมาทุก ๆ บุญไปพร้อมกัน ตั้งแต่บุญใหญ่ในการร่วมแสดงมุทิตาจิตถวายแด่พระภิกษุ-สามเณรนาคหลวงและพระภิกษุ-สามเณรเปรียญธรรมทั่วประเทศ บุญใหญ่จากการร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรม ๓๒๓ วัด ใน ๔ จังหวัดภาคใต้ เป็นปีที่ ๑๕ บุญใหญ่จากการร่วมประดิษฐานเสาสีมาบรมจักรพรรดิรัตนอนันต์ ประจำทิศทั้ง ๔ ในวันธรรมชัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญจากการอุปสมบทรุ่นบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ เพราะเป็นการแสดงถึงความรักและความตั้งใจในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาและวิชชาธรรมกายให้คงอยู่ต่อไปให้ยาวนาน อีกทั้งยังเป็นการบูชาธรรมคุณครูไม่ใหญ่ เพราะตรงกับวันอุปสมบทของท่านเมื่อนับตามจันทรคติ คือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ เท่ากับว่าพวกเราทุกคนยังระลึกถึง มีท่านอยู่ในใจที่ศูนย์กลางกายของพวกเราอยู่ตลอดเวลานั่นเอง


         เมื่อกล่าวถึง “วันธรรมชัย” อันเป็นวันคล้ายวันบรรพชาอุปสมบทของคุณครูไม่ใหญ่ หรือองค์ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) นั้น เราผู้เป็นศิษยานุศิษย์ของท่านต่างก็ได้ทราบกันอยู่แล้วว่าเป็นวันที่คุณครูไม่ใหญ่ท่านมีมโนปณิธานอันสำคัญอย่างยิ่งที่จะ “บรรพชาอุปสมบท” เป็นพระภิกษุที่สมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายใน คือ ท่านมุ่งหวังที่จะเป็น พระแท้ ที่เข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระธรรมกายภายในมาตั้งแต่วันแรกจนถึงบัดนี้ นับเป็นเวลาถึง ๕๐ ปีมาแล้ว และแม้ในปัจจุบันนี้พวกเราศิษยานุศิษย์ทั้งหลายต่างก็ยังจดจำได้ดีถึงมโนปณิธานดังกล่าวของท่าน และตั้งใจที่จะสืบสานมโนปณิธานนี้ให้ยืนยงต่อไป ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันสร้างพระที่เป็นพระแท้ สามเณรเป็นสามเณรแท้ต่อไป

              อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นต้นธารของมโนปณิธานเรื่องพระแท้นี้ มิได้มาจากที่อื่นไกลใด ๆ เลย แต่เป็นสิ่งที่เราควรบันทึกตอกย้ำไว้อีกครั้งหนึ่งว่า แม้พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านก็ได้เคยแสดงพระธรรมเทศนาเพื่อยืนยันเรื่องราวของการเป็น “พระแท้” (คือ การบวชเป็นพระทั้งภายนอกและภายใน) ไว้ในหลาย ๆ โอกาสด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรจะได้ศึกษาให้ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ทั้งนี้สำหรับผู้เขียนเอง เมื่อได้ศึกษาและพิจารณาถึงมโนปณิธานในการเป็นพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร มากเข้าแล้ว ก็กลับยิ่งรู้สึกว่าเป็นมโนปณิธานที่ “มองเห็นเป็นรูปธรรม” และจับต้องได้อย่างชัดเจนยิ่งกว่าคำว่า “การบวชคือการตอบแทนคุณของบุพการี” หรือการบวชคือการตั้งใจ “ทำพระนิพพานให้แจ้ง” หลายเท่าตัว และทำให้เข้าใจว่าเพราะเหตุใดมโนปณิธานนี้จึงได้ถูกส่งต่อถ่ายทอดมาถึงยังพวกเราในยุคปัจจุบันนี้ได้ในที่สุด


         หากท่านผู้อ่านทุกท่านจะได้ลองกลับไปพินิจพิจารณารายละเอียดในชีวประวัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร อย่างละเอียดแล้วก็จะพบว่า ความเป็นพระแท้ของท่านนั้น ปรากฏให้เราเห็นในหลากหลายมิติอย่างชัดเจน เมื่อยังเป็นพระหนุ่มท่านก็เริ่มต้นด้วยการมีความตั้งใจอันยิ่งใหญ่ ท่านปรารถนาที่จะบวชอยู่ในพระศาสนาของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าไปจนตลอดชีวิตโดยไม่คิดลาสิกขา เมื่อเริ่มบวชวันแรก ท่านก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามปฏิบัติธรรม เจริญภาวนาทันทีไม่รอช้า และเมื่อตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรมก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่งที่จะหา “คำตอบ” โดยท่านมุ่งหวังจะค้นคว้าให้พบนั้นก็เริ่มมาจากคำถามที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะท่านต้องการจะทราบให้ได้ว่าอะไรคือความหมายของ “อวิชชาปัจจยา” ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่มีใครเคยถามกันมาก่อนเลย ไม่ว่าจะสืบค้นจากตำราหรือเอกสารใด ๆ นอกจากนี้ตลอดหลายสิบปีของการดำรงอยู่ในสมณเพศของท่าน ไม่มีใครคัดค้านถึงจริยาในความเป็นพระแท้ของท่านเลยไม่ว่าจะค้นลึกลงไปถึงช่วงเวลาใด มิติใด เราในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนรุ่นหลัง ต่างยอมรับกันโดยถ้วนหน้าว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร คือ พระแท้ที่สำคัญรูปหนึ่งของสังคมไทย

           แต่อย่างไรก็ตาม ในสายตาของท่านเองนั้น กลับเห็นว่าสิ่งที่สามารถใช้วัด “ความเป็นพระแท้” ได้อย่างสมบูรณ์นั้นมิได้มาจากจริยาหรือความประพฤติภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่พระแท้นั้นต้องหมายถึง การที่ผู้บวชจะต้องเข้าถึง “พระธรรมกาย” ที่ดำรงอยู่ภายในตนด้วย ดังที่พระเดชพระคุณท่านได้กล่าวพระธรรมเทศนาไว้ในโอกาสต่าง ๆ หลาย ๆ คราวด้วยกัน ดังนี้


              วันที่ ๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ท่านได้กล่าวแสดงพระธรรมเทศนาเรื่อง “รตนตฺตยคมนปณามคาถา” (ความนอบน้อมต่อพระรัตนตรัย) โดยได้กล่าวถึงคุณสมบัติอันสมบูรณ์ลึกซึ้งของพระรัตนตรัยว่า ความเป็นรัตนะของพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมเจ้าก็ดี พระสงฆเจ้าก็ดี เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องสัมพันธ์กัน การถึงซึ่งพระรัตนตรัยที่แท้นั้น “จะต้องเอากายวาจาใจของเราที่ละเอียด จรดเข้าไปให้ถึงแก่นของพระรัตนตรัยจริง ๆ รัตนตรัยซึ่งแปลว่า แก้ว ๓ ...แก้วคือพระพุทธ ๑ แก้วคือพระธรรม ๑ แก้วคือพระสงฆ์ ๑ ดังในบท (พระบาลีว่า) สกฺกตฺวา พุทฺธรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้ว คือ พุทธ... สกฺกตฺวา ธมฺมรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้ว คือ ธรรม... สกฺกตฺวา สงฺฆรตนํ กระทำตนให้เป็นแก้ว คือ สงฆ์... หมวด ๓ ของรัตนะนี้ คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ แม้ต่างกันโดยวัสดุ แต่เนื้อความอันเดียวกัน เป็นของเนื่องซึ่งกันและกัน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้พระธรรม พระสงฆ์ทรงไว้ พระสงฆ์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เนื่องเป็นอันเดียวกัน..”

           “....สงฺเฆ ปสาโท ยสฺสตฺถิ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์มีอยู่แก่บุคคลใด ข้อต้นเรากล่าวว่า พุทโธ ถึงพระพุทธเจ้า ข้อที่ ๒ นั้นเป็นศีลไป ข้อที่ ๓ นี้มาเป็นพระสงฆ์ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์ ความเลื่อมใสในพระสงฆ์นั้นเลื่อมใสอย่างไร พระสงฆ์นี้ท่านประพฤติน่าเลื่อมใส ท่านประพฤติดีเป็นภิกษุ... สามเณรประพฤติดีละก็อาจจะเป็นอายุพระศาสนาได้ดีเหมือนกัน ...ภิกษุสามเณรในบัดนี้ ถ้าประพฤติตัวดีถึงขนาดนั้น ก็ได้ชื่อว่าเป็นอายุพระศาสนา เป็นที่เลื่อมใสของประชุมชนทั้งหลาย ควรถือเอาเป็นตำรับตำรา ถือเอาไว้เป็นเนติแบบแผนทีเดียวอย่างนั้น นี่เป็นความเห็นที่มนุษย์ปุถุชนเห็นกันอย่างนี้ ว่าเลื่อมใสในพระภิกษุสามเณรอย่างนี้ ...เลื่อมใสซึ้งเข้าไปกว่านั้นต้องปฏิบัติเข้าไปถึงจิตใจ เข้าไปถึงธรรมกาย ตั้งแต่พระตถาคตเจ้าเป็นตัวธรรมกาย ศีลที่จะเข้าธรรมกายเพราะอาศัยเดินถูกทางศีล เข้าไปถึงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ...เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายแล้วจะเห็นชัด...” (อริยธนคาถา ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗)

            หรือในพระธรรมเทศนาเรื่อง “คารวาทิกถา” ที่ท่านแสดงไว้เมื่อ วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๗ ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงคุณสมบัติข้อหนึ่งของพระสงฆ์ที่แท้ ที่จะต้องให้ความเคารพในพระสัทธรรม เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองที่ยังต้องทรงเคารพในพระสัทธรรมเช่นเดียวกัน ซึ่งการที่จะนับว่าพระสงฆ์รูปใดจะมีความเคารพต่อพระสัทธรรมอย่างแท้จริงนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร  ท่านได้ยกเอาพระโอวาทของพระบรมศาสดามากล่าวไว้เลยทีเดียวว่า

              “...อุกาส โย ปน ภิกฺขุ ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน วิหรติ สามีจิปฏิปนฺโน อนุธมฺมจารี โส ตถาคตํ สกฺกโรติ ครุกโรติ มาเนติ ปูเชติ ปรมาย ปูชาย ปฏิปตฺติปูชาย” ซึ่งผู้เขียนขอยกเฉพาะเนื้อหาที่ท่านขยายความไว้ว่า... “เราขอโอกาส... ภิกษุผู้ศึกษาในพระธรรมวินัยรูปใดประพฤติตามธรรม ปฏิบัติตามธรรมนั้น ...ก็ได้แก่ใจที่หยุดอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์แล้วก็ให้เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด โสดา โสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด อรหัต อรหัตละเอียด ก็ปฏิบัติตามธรรมอย่างนี้ ประพฤติตามธรรมไม่ขาดสาย ...นี่เรียกว่าผู้ศึกษาในธรรมวินัยนั้น ...ได้ชื่อว่าสักการะ ได้ชื่อว่าเคารพ ได้ชื่อว่านับถือ ได้ชื่อว่าบูชาอย่างยิ่ง...”

            การเป็นสงฆ์ที่แท้หรือ “พระแท้” ในทัศนะของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) นั้น จึงสัมพันธ์กับการเข้าถึงหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างเหนียวแน่น ซึ่งท่านก็เห็นว่า การได้โอกาสในการเป็นสงฆ์นั้นมีความสำคัญอย่างมาก เพราะพระสงฆ์นั้นเท่ากับเป็น “ทายาทที่ทรงไว้ซึ่งมรดกทางธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” เป็นอายุและเป็นกำลังของพระพุทธศาสนา ความเป็นพระสงฆ์ที่สะอาดบริสุทธิ์ทั้งภายนอกและภายในนั้นมีค่าต่อพระพุทธศาสนามาก เพราะไม่เพียงแต่จะสามารถสืบต่ออายุและความยืนยาวให้แก่พระสัทธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปได้เท่านั้น หากแต่ยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชน (อคฺเค สงฺเฆ ปสนฺนานํ) และเป็นบุญเขตอันเยี่ยม (ปญฺญกฺเขตฺเต อนุตฺตเร) ของมหาชน ซึ่งหากผู้ใดได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ผู้เลิศ (ด้วยการเป็นสงฆ์ที่แท้ถึงภายในแล้ว) (อคฺคํ ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ) บุญอันเลิศย่อมจะเจริญขึ้นทุกประการทีเดียว

            อาจด้วยเพราะท่านมีมโนปณิธานที่จะดำรงตนให้เป็นพระแท้เช่นนี้มาจนตลอดชีวิตของท่านนั้นเอง จึงทำให้เมื่อจะทำการสิ่งใด ท่านก็จะเอาชีวิตเป็นเดิมพันทุกครั้ง นับตั้งแต่การตั้งมโนปณิธานในการบรรพชาอุปสมบท การเอาจริงเอาจังในการศึกษาค้นคว้าพระปริยัติธรรม การปฏิบัติธรรม การเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ที่ท่านค้นพบ ฯลฯ โดยเฉพาะในการเผยแผ่วิชชาธรรมกายนั้น พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านยืนยันอย่างหนักแน่นมาโดยตลอดว่า ธรรมกายเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง เป็นจริง และควรแก่การเข้ามาพิสูจน์ให้รู้ชัดด้วยตนเองเป็นประการสำคัญ


            ด้วยเหตุนี้ ปรากฏการณ์ของการบวชบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ รวมทั้งสิ้น ๕,๐๐๐ กว่ารูป ที่ผ่านมานี้ จึงมิใช่เป็นเพียงปรากฏการณ์ธรรมดา แต่เป็นสิ่งที่พ้องกันด้วยโอกาสอันดีหลายประการ กล่าวคือ ๑) เป็นการบวชบูชาธรรมในโอกาสครบอายุพรรษา ๕๐ ของคุณครูไม่ใหญ่ ผู้เป็นที่เคารพรักของศิษยานุศิษย์ทุกคน ๒) ได้ร่วมอุปสมบทในวันคล้ายวันอุปสมบทของคุณครูไม่ใหญ่ อันเป็นวันที่ตรงกันในทางจันทรคติด้วย ๓) เป็นการบวชที่ถือว่าได้ร่วมเป็น “ทนายแก้ต่าง” ให้แก่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ด้วยทางหนึ่ง ทั้งนี้เพราะในการบวชครั้งนี้ ผู้บวชจะได้โ อกาสใน การศึกษาและปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วมกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้เข้าถึงความหมายอันแท้จริงของการบวชร่วมกัน ๔) เป็นการบวชที่อุบาสก ผู้รักในพระพุทธศาสนาจำนวนถึงกว่า ๕,๐๐๐ คน ได้มาเข้าพิธีบรรพชาอุปสมบทพร้อม ๆ กัน ในพระอารามนับร้อยแห่ง ซึ่งย่อมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้โดยยากเช่นกัน เพราะต้องอาศัยความเมตตาของพุทธบริษัท ๔ อาศัยพรหมวิหารธรรมของพระอุปัชฌยาจารย์นับร้อยรูปจากพระอารามทั้งหลาย ซึ่งหากการบรรพชาอุปสมบทของผู้มีบุญทุกท่านเหล่านี้บรรลุผลตามเป้าหมาย คือ การเข้าถึงความเป็นพระแท้ เป็นพระสงฆ์ที่แท้ทั้งภายนอกและภายในแล้ว ก็ย่อมจะช่วยทำให้บรรยากาศของสังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน ทั้งยังเป็นการ “บันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของหลักฐานธรรมกายที่มีชีวิต” ให้เกิดขึ้นจริงในยุคของเราอีกด้วย ซึ่งเป็นกรณียกิจที่ควรสนับสนุนและน่าอนุโมทนาอย่างยิ่ง


              ทั้งนี้เพราะความสอดคล้องกันของปรากฏการณ์ดังที่กล่าวมานี้ ย่อมมิใช่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ หากแต่ต่อ ๆ ไป สิ่งนี้ย่อมจะกลายเป็นประจักษ์พยานที่เข้มแข็งจริงจังอีกทางหนึ่ง ที่ช่วยชี้ให้เห็นว่าคำสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เกี่ยวกับวิชชาธรรมกายนั้น มิใช่เป็นเรื่องที่เลื่อนลอยไร้หลักฐาน หากแต่เป็นของแท้ ของดั้งเดิม เป็นของเก่าแก่แต่โบราณที่ชาวพุทธต่างส่งทอดต่อ ๆ กันมาหลายยุคหลายสมัยแล้ว ดังในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่ท่านได้ไปบำเพ็ญภาวนาที่วัดโบสถ์บน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านตั้งสัตยาธิษฐานต่อหน้าองค์พระปฏิมากรในพระอุโบสถว่า “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุด ที่พระองค์ได้ทรงรู้แล้วแก่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว จักเป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานแก่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์ขอรับเป็นทนายศาสนา ในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต” ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ซึ่งปรากฏการณ์ของการอุปสมบท ๕,๐๐๐ กว่ารูปที่ผ่านมานั้นเป็นการบวชเพื่อให้ผู้บวชมีโอกาส ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่วมกันอย่างเข้มข้น ก็สมดั่งวาระพระบาลีที่ว่า “สนฺทิฏฺฐิโก (ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นผลด้วยตนเอง) อกาลิโก (ผู้ปฏิบัติไม่ว่าเวลาใดย่อมได้รับผลเสมอกันไม่จำกัดกาลเวลา) เอหิปสฺสิโก (เพราะว่าเป็นของดี ของจริง ผู้เห็นผลจากการปฏิบัติแล้วจึงชี้ชวนผู้อื่นมาดูให้เห็นจริง) โอปนยิโก (เมื่อพบว่าดีแล้ว จึงควรน้อมเข้าไว้ในตน) ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ (ธรรมของพระพุทธองค์นั้น เป็นของที่รู้ได้เฉพาะตน)


                ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขออาราธนาบารมีพระนิพพาน บารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกพระองค์ ตลอดจนบารมีของมหาปูชนียาจารย์วิชชาธรรมกายทุก ๆ ท่านได้โปรดปกป้องคุ้มครองลูกหลานนักสร้างบารมีทุก ๆ ท่าน ให้เป็นผู้มีความกตัญญูอย่างเต็มเปี่ยมในการสร้างบารมี มีดวงปัญญาที่สว่างไสวในการศึกษาและค้นพบความรู้ที่ถูกต้องจริงแท้ของพระพุทธศาสนา จะได้เป็นทนายแก้ต่างพระพุทธศาสนาภ วิชชาธรรมกายตลอดกาลนานเทอญฯ

ขอเจริญพรฯ

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล