ฉบับที่ 95 กันยายน ปี2553

"ครูคือใคร"

พระธรรมเทศนา


 

"ครูคือใคร"

เรียบเรียงจากโอวาทพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

ตอนที่ ๑

ปัญหาโลก

          ปัญหาในโลกนี้มี ๓ ประเภท
          ๑. ปัญหาทุกข์จากการดำรงชีพ
          ๒. ปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกัน
          ๓. ปัญหาทุกข์จากอำนาจกิเลส

          ทั้ง ๓ ปัญหานี้ ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากภายนอก แต่เป็นปัญหาที่ติดอยู่ในตัวมนุษย์ ติดมาตั้งแต่วันแรกเกิด พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพบว่า ตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ก็คือ กิเลส

          กิเลสทำให้ใจไม่บริสุทธิ์ เมื่อใจไม่บริสุทธิ์ก็ทำให้กายไม่บริสุทธิ์ตามมา เมื่อกายไม่บริสุทธิ์ตามมา ธาตุ ๔ ในตัวก็มีความไม่สมบูรณ์ จึงมีการแตกทำลายย่อยสลายไปจากร่างกาย เราจึงต้องหาธาตุ ๔ มาเติมอยู่เรื่อย ๆ เพื่อทดแทนธาตุ ๔ ที่แตกสลายไป

          เพราะต้องเติมธาตุ ๔ กันอยู่เรื่อย ๆ นี้เอง ปัญหาทุกข์จากการดำรงชีพจึงเกิดขึ้นตามมา และเพราะต่างคนต่างต้องการธาตุ ๔ นี้เอง จึงทำให้ต้องแก่งแย่งแข่งขันช่วงชิง ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งในการแสวงหาธาตุ ๔ ปัญหาทุกข์จากการอยู่ร่วมกันจึงเกิดขึ้น ตามมา และจากนั้นการแก้ปัญหาทั้งหมดในโลกนี้ ไม่ว่าจะพยายามจัดระเบียบหรือแก้ไขอย่างไรก็ตาม จะทุ่มเทไปสู่การแก้ปัญหาภายนอกตัวทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าต้นเหตุจริง ๆ ของปัญหานั้น ก็คือ ปัญหาที่ ๓ ที่อยู่ในใจของมนุษย์ นั่นคือปัญหาทุกข์จากอำนาจกิเลสที่บีบคั้นใจให้คิดโลภ คิดโกรธ คิดหลงในการแสวงหาปัจจัย ๔ และการเบียดเบียนกันเองในขณะที่อยู่ร่วมกัน

          ในการแก้ไขปัญหานั้น เนื่องจากเราไม่เห็นหน้าตาของกิเลส แต่เราต้องทำให้มันไม่กำเริบ ปัญหาจึงจะไม่เกิด เหมือนหมอไม่เห็นเชื้อโรค แต่รักษาคนไข้ตามอาการทำให้โรคไม่ระบาด บำรุงร่างกายให้แข็งแรง แล้วร่างกายก็จะฟื้นฟูความแข็งแรงมากำจัดโรคได้

ปัญหาทั้ง ๓ แก้ไขได้ด้วยการกำหนดมาตรฐานศีลธรรม

          ปัญหาทั้ง ๓ ประเภทนั้น หากมุ่งแก้ไขที่ภายนอก ด้วยการสอนแต่วิชาการ ไม่สอน ศีลธรรม ก็กลายเป็นการให้เทคโนโลยีไว้สำหรับเป็นเครื่องมือเพิ่มพูนกิเลส เท่ากับส่งเสริมให้เอาวิชาการไปเพิ่มปัญหา ไปเพิ่มไฟให้ลุกท่วมโลก

          ความที่ทั้งโลกไม่รู้ว่า เบื้องหลังของปัญหาคือกิเลสเป็นตัวการ จึงมามุ่งเน้นที่ตัวอาชีพ เป็นหลัก เพราะคิดว่า ถ้าคนรวยแล้วปัญหาจะหมดเอง เท่ากับบอกว่า คนจนเท่านั้นที่เป็น คนเลว แต่ความจริงก็คือ คนรวยแล้วเลวก็ยังมี คนจนไม่ได้เลวก็ยังมี ความดีหรือความเลวไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรวยหรือความจน

          ความรู้ที่เกิดขึ้นกับคนเลวมีแต่นำความเดือดร้อนมาให้ เพราะความเลวเกิดจากกิเลส และกิเลสก่อให้เกิดปัญหาทั้ง ๓ ประเภท

          การศึกษาทางโลก ก็มีแต่มาตรการทางวิชาการ แต่ไม่มีมาตรการด้านศีลธรรม ปัญหาต่าง ๆ จึงเกิดมามากมาย ทุกวันนี้ สังคมจึงได้แต่ปรากฏคนที่มีความรู้ทางวิชาการ ที่มีพฤติกรรมเสียหาย ซึ่งทางศาสนาแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม

           ๑. คนปอกลอก

          ๒. คนดีแต่พูด

          ๓. คนหัวประจบ

          ๔. คนชวนฉิบหาย

           มิตรเทียม ๔ พวกนี้เองที่ก่อให้เกิดความเสียหายให้บ้านเมือง

          ดังนั้น เมื่อมีมาตรฐานทางวิชาการแล้ว จึงขาดมาตรฐานทางศีลธรรมไม่ได้ มิฉะนั้น มิตรเทียมจะระบาด ก่อปัญหาต่าง ๆ จนวุ่นวายไปทั้งโลก

          สิ่งที่ต้องทำ ก็คือ มาตรฐานวิชาการกับมาตรฐานศีลธรรมต้องไปด้วยกัน

          การตีกรอบทางการศึกษาจึงต้องนำมาใช้ควบคู่ไปกับกรอบของศีลธรรม คือ

          ๑. ไม่ทำความเดือดร้อนให้ตัวเอง

          ๒. ไม่ทำความเดือดร้อนให้สังคม

          ๓. ไม่ทำความเดือดร้อนให้เศรษฐกิจ

          ๔. สร้างคนดีให้เกิดขึ้นในทิศ ๖

          ทุกศาสนามีวิธีสร้างคนดี แต่ที่สมบูรณ์ที่สุด คือ ทิศ ๖

          การตีกรอบไม่ให้ทำความชั่ว ก็คล้าย ๆ กฎหมาย แบบนี้ง่าย แต่ตีกรอบให้คนเป็น คนดีและช่วยกันสร้างคนดีเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่ทำเป็นระบบจะเกิดคนดียาก

          แต่แม้จะตีกรอบไม่ให้เลวแล้ว มีระบบที่ดีแล้ว ยังไม่พอ ต้องมีต้นแบบทำให้ดู ต้อง มาอธิบาย ควบคุมกำกับการ คอยติดตามให้กำลังใจ จนกว่าจะทำได้ตามต้นแบบ

          ต้นแบบที่ว่านี้ ชาวโลกเรียกว่า ครู

          เพราะฉะนั้น ครูจึงต้องมี ๒ อย่างอยู่ในตัว

          ๑. ต้นแบบความรู้วิชาการ มีความรู้อยู่ในระบบที่ทำมาหากินได้และรักษาสุขภาพเป็น เพราะกายคืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำความดีตลอดชีวิต

          ๒. ต้นแบบความประพฤติหรือต้นแบบศีลธรรม การที่จะเป็นตรงนี้ได้ ครูจะต้องมีความรู้ทั้งทางภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในเรื่องศีลธรรมอย่างครบถ้วน

                    ๒.๑ มีความรู้วิชาการด้านศีลธรรม

                    ๒.๒ มีความรู้ในการฝึกอบรมตนให้มีศีลธรรม
ถ้าไม่ได้นำความรู้ทางศีลธรรมมาควบคุมความรู้วิชาการทางโลก ก็จะนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำความรู้เคมีไปทำระเบิด นำความรู้ในการช่างไปทำอาวุธฆ่าคน

                    ๒.๓ ถ่ายทอดความรู้วิชาการและนิสัยดี ๆ ให้ลูกศิษย์ด้วย
ถ้าไม่ได้ครูบาอาจารย์แบบนี้ จะไม่มีใครแก้ไขมิตรเทียมที่ระบาดปัญหาเลว ๆ อยู่ในโลกนี้ และสงครามก็ไม่เคยว่างเว้นไปจากโลก และที่ไม่เคยเว้นแม้แต่นาทีเดียว ก็คือ สงครามกับกิเลสที่อยู่ในใจคน

          คนประเภทนี้ คือ ครูดี ที่สามารถสอนตัวเองได้ทั้งทางโลกและทางธรรม และสอนลูกศิษย์ได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

          คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า "ครูดีคือใคร"

ครูดีคือใคร

          ครู มาจากคำว่า "ครุ"

          ครุ รากศัพท์เดิม แปลว่า หนัก

          ความหนักของครูคืออะไร ครูที่สอนมาตั้งแต่ประถม มัธยม ท่านก็ไม่ได้แบกหาม แต่ทำไมจึงแปลว่าหนัก

          ที่หนักเพราะสิ่งที่ยากในโลกนี้ของมนุษย์ ก็คือ

          ๑. การจะรู้ว่า อะไรถูก-ผิด ดี-ชั่ว บุญ-บาป ควร-ไม่ควรทำ คือเรื่องยาก

          ๒. การชี้ได้ว่า นิสัยดี นิสัยชั่ว ที่จะก่อให้เกิดผลในทางดีและทางชั่วในอนาคต เป็นเรื่องยาก

          ๓. การหาวิธีแก้ไขนิสัยชั่วให้ดีเป็นเรื่องยาก

          ๔. การใช้กำลังกายและกำลังใจในการแก้ไขนิสัยเสีย ๆ ให้ผู้อื่นกลับมาดีเป็นเรื่องหนัก ครูสอนหนังสือ สอนวิชาการว่าหนักแล้ว แต่การแก้นิสัยเลว ๆ กลับหนักกว่านั้น

          ครูที่สามารถแก้ไขนิสัยเลว ๆ และเพาะนิสัยดี ๆ ให้ลูกศิษย์ขึ้นมาได้ ครูแบบนี้ คือ ครูที่โลกต้องการ คนทั้งโลกจึงได้มากราบเท้าด้วยความเต็มใจ นี่คือ ครูดีที่โลกต้องการ เขาภูมิใจที่ได้ครูดี ครูแบบนี้ เขาตามหามาทุกยุคทุกสมัย คนที่เจอครูประเภทนี้แล้วยัง คิดว่าท่านเป็นเรือจ้าง เอาเงินฟาดหัวครู ลูกศิษย์ประเภทนี้จะตกนรกอย่างเดียว

          ดังนั้น ในความหมายที่แท้จริง ครู คือ ผู้แบกภาระหนัก

          ๑. หนักในการแก้ไขความโง่ของลูกศิษย์จนกระทั่งพึ่งตัวเองเป็น

          - ต้องสอนให้ศิษย์ทำมาหากินเป็น

          - ต้องสอนให้ศิษย์รักษาสุขภาพเป็น

          ๒. หนักในการพลิกมิจฉาทิฐิให้เป็นสัมมาทิฐิ

          - คนที่เป็นมิจฉาทิฐิไม่ใช่คนโง่ เขาฉลาด แต่จับทิศผิด จึงเอาความฉลาดไปใช้ ในทางที่ผิด

          - คนโง่คือคนไม่มีความรู้ จึงไม่มีปัญญาจะไปทำความเดือดร้อนให้ใคร เพราะ ว่าไม่มีความรู้

          - คนที่ทำความเดือดร้อนไม่ใช่คนโง่ เป็นคนฉลาด แต่เห็นผิดเป็นชอบ เห็น ถูกเป็นผิด จึงทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่นและตัวเอง จึงสามารถปิดสวรรค์- เปิดนรกให้ตัวเองและมหาชนได้

          - คน ๆ เดียวสามารถก่อให้เกิดสงครามโลก สามารถสร้างลัทธิมหาประลัย ขึ้นมาได้ สร้างลัทธิการปกครองที่ทำให้เกิดบาปแก่คนทั้งโลกได้

          - คนที่จะแก้ไขพวกนี้ได้ มีแต่ครูเท่านั้น ผิดจากครูจะให้ใครมาแก้ แต่การจะ แก้ไขให้ได้ถือเป็นเรื่องหนัก

          ครูดีไม่จำเป็นต้องจบวิชาการทางโลกสูง ไม่จำเป็นต้องรู้วิชาการทางธรรมมากมายถึงขั้นท่องตำราศีลธรรมได้เป็นเล่ม ๆ เพราะวิชาการในโลกนี้ อายุเป็นพันปีก็เรียนไม่จบ แต่อย่างน้อยที่สุด ขอให้ท่านมีความประพฤติทางกาย วาจา ใจที่ดีจนเป็นนิสัย และในขั้นต้นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็ไม่ได้ต้องการความรู้ทางธรรมที่มากมาย

          เพราะขั้นต้นของความเป็นมนุษย์ คือ

          ๑. คุมกาย วาจา ด้วยการไม่ทำกรรมกิเลส ๔ ให้เป็นนิสัยตลอดชีวิต ซึ่งต้องเริ่มฝึกตั้งแต่เด็ก คนที่มีนิสัยเลว ๆ มาแล้ว ถ้าไม่มีครูเคี่ยวเข็ญจริงๆ ยากจะแก้ไขได้ ถ้าท่าน ผู้ใดทำได้ และไปเคี่ยวเข็ญให้คนอื่นทำได้ นี่คือครูตัวจริง

          ๒. คุมใจให้ได้ โดยไม่ลำเอียง เพราะเราต้องอยู่ร่วมกับสังคม อย่าลำเอียง ถ้าลำเอียง อยู่ไม่ได้ คนที่ได้รับการฝึกแต่เล็ก แนะนำไม่ยาก แต่คนที่เสียแล้วแก้ยาก คนที่แก้ได้ นั่นคือ ครู

          ๓. ทรัพยากรในโลกนี้มีจำกัด ต้องปันกันกินปันกันใช้ มิฉะนั้นจะไม่พอ ถมเท่าไรก็ไม่เต็ม และต้องไม่แตะต้องอบายมุข ซึ่งต้องใช้สติปัญญาและกำลังใจสูง ใครที่ฝึกตัวเองแล้ว และแก้ไขคนอื่นได้อย่างนี้ นั่นคือ ครู

          ๔. ลำพังครูคนเดียวจะมาสร้าง ๓ อย่างนี้ หืดขึ้นคอ ต้องอาศัยความร่วมมือจากสังคมที่จะมาสร้าง ๓ อย่างนี้ให้เกิดขึ้น จึงต้องมาเริ่มที่ทิศ ๖ เพราะฉะนั้น มาตรฐานของครูดี จึงเกิดขึ้น

          ครูดี คือ ครูที่มีความรับผิดชอบทั้ง ๔ ด้าน

          ๑. รับผิดชอบต่อศีลธรรมของตนเอง

          ๒. รับผิดชอบต่อศีลธรรมของสังคม

          ๓. รับผิดชอบต่อศีลธรรมทางเศรษฐกิจ

          ๔. รับผิดชอบต่อการสร้างคนดี

          เพราะว่าครูดี คือ ครูที่ฝึกตัวเองมาได้ แก้ไขคนอื่นได้ และสอนคนอื่นให้ไปแก้ไขคนอื่นให้ดีได้ จึงต้องมีความรับผิดชอบทั้ง ๔ ด้านนี้

          เพราะฉะนั้น ศีลของครูเองนอกจากต้องเยี่ยมแล้ว ก็ต้องไปตามคนทั้งสังคมมาช่วยกันแก้ไขคนเลวให้เป็นคนดีด้วย จึงจะสมกับที่โบราณกล่าวไว้ว่า

          แพทย์รักษาคนไข้ให้หายไข้ แต่ว่าแพทย์ทำให้คนตายฟื้นไม่ได้ แต่ครูที่เป็นครู จริง ๆ นอกจากรักษาคนที่โง่ทางวิชาการให้กลับเป็นคนฉลาดได้แล้ว ที่สำคัญคือสามารถพลิกใจคนชั่ว ซึ่งตายทั้งเป็น ตายจากความดีแล้ว ให้กลับเป็นคนดีได้ ลุกขึ้นสร้างบารมีได้ใหม่ นี่คือครูดีที่โลกต้องการ

          ครูแบบนี้ ท่านอาจจะมีปริญญาหรือไม่มีปริญญาก็ไม่ได้เกี่ยง เพราะความรู้ทุกอย่าง นอกจากใช้เลี้ยงชีพได้ และใช้หาบุญได้ ความรู้ที่เล็กน้อยไม่มีเลย จึงไม่เกี่ยงว่าครูจะรวยหรือจน หล่อหรือไม่หล่อ สวยหรือไม่สวย หญิงหรือชาย อายุมากหรือน้อย ถ้ารักษาคนโง่ให้กลับฉลาดได้ ตั้งเนื้อตั้งตัวได้ โดยเฉพาะพลิกใจลูกศิษย์ให้กลับมาทำความดีได้ ท่านเป็น ครูได้

          คนที่เป็นครูได้เพราะมีความหนักแน่นในศีล ใครเอามีดจ่อคอ เอาปืนจ่อหัวให้ท่านทำผิดศีล ท่านยอมตาย ฆ่าท่านให้ตายไปเถิด

          ท่านมีความหนักแน่นในธรรม ถ้าให้ลำเอียงเข้าข้างลูกศิษย์ด้วยอคติ ๔ ท่านก็ไม่ทำ ให้ท่านตายไปเถิด เพราะท่านเป็นครู

          ครูประเภทนี้ ท่านปิดนรก-เปิดสวรรค์ให้ตัวลูกศิษย์ได้ ยิ่งกว่านั้น ท่านพร้อมจะมุ่งฆ่ากิเลสตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามพระอรหันต์เข้านิพพานไป เพราะฉะนั้น ท่านจึงเป็นครูที่สมกับคำว่า "ครู"

ศิษย์คือใคร

          ลูกศิษย์ที่สมกับคำว่า "ศิษย์" คือ ลูกศิษย์ที่มีความเคารพ

          เคารพ มาจากคำว่า "คารวะ"

          คารวะ มาจากคำว่า "ครุ" แต่แปลในมุมมองจากลูกศิษย์ จึงแปลว่า "ตระหนัก"

          ศิษย์ คือ คนที่ตระหนักในความทุ่มเทของครู จึงให้ความเคารพ เพราะตระหนักว่า ถ้าเจอครูแบบนี้ไม่กราบแล้วกราบอีกก็จะตกนรก

          ศิษย์จึงตระหนักว่า "ครู" คือ ผู้ปิดนรก-เปิดสวรรค์ให้เรา ท่านคือแพทย์ที่รักษาวิญญาณที่ตายจากความดีแล้วให้พลิกฟื้นขึ้นมา

          เพราะฉะนั้น ใครจะมาเป็นครูก็ต้องมองตัวเองให้ชัด ใครจะมาเป็นศิษย์ก็ต้องมองครูให้ชัด สิ่งที่ต้องเข้มงวดกวดขัน คือ ต้องฝึกให้ตัวเองพร้อมรองรับความรู้และความดีจากครูมาตั้งแต่เล็ก

          พ่อแม่จะส่งลูกศิษย์ไปให้ครู ก็ต้องอบรมให้มีความกตัญญู มีความอดทน รักที่จะรับความรู้และความดีจากครู อีกทั้งต้องฝึกวินัยให้ดี

          พ่อแม่ไม่มีสิทธิ์ต่อว่าครูในขณะที่ท่านเคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ เพราะท่านกำลังปิดนรกเปิดสวรรค์ให้ลูกศิษย์ พ่อแม่ต่างหากที่ต้องพาลูกไปกราบเท้าครู เช่นนั้นจึงจะเจริญ

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล