ฉบับที่ ๒๐๔ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒

Change the Mind...Change the World

เรื่องน่าอ่าน
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
มหาวิทยาลัยบอสตัน (BOSTON UNIVERSITY)

 

Change the Mind...Change the World

          รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) เป็นรัฐหนึ่งในเขตนิวอิงแลนด์ (New England) ทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา เมืองเคมบริดจ์ (Cambridge) ของรัฐแมสซาชูเซตส์นี้ ถือเป็นเมืองการศึกษาสำคัญเมืองหนึ่งของรัฐ มีมหาวิทยาลัยชื่อดังระดับโลกถึง ๒ แห่ง คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ซึ่งนักศึกษาและนักวิจัยจากทั่วโลก ต่างเดินทางมาเพื่อศึกษาวิจัยที่นี่ และท่ามกลางเมืองการศึกษาแห่งนี้ มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสมาธิอยู่


            ย้อนหลังกลับไปในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๖ (คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐) การเจริญสมาธิภาวนาได้ถูกนำมาเผยแพร่และปรับวิธีการให้เข้ากับผู้คนในวัฒนธรรมตะวันตกที่มีชีวิตในสังคมเร่งรีบ ซึ่งอาจารย์ผู้สอนสมาธิคนสำคัญ ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ท่านชุนริว ซูซูกิ (Shunryu Suzuki) นักบวชนิกายเซนชาวญี่ปุ่น ท่านติช นัท ฮันห์ (Thich Nhat Hanh) นักบวชนิกายเซนชาวเวียดนาม ท่านทะไลลามะที่ ๑๔ (The 14th Dalai Lama) หลังจากนั้น ได้มีการปรับรูปแบบของสมาธิให้ง่ายและเหมาะสมกับผู้คนในปัจจุบันมากขึ้น และโปรแกรมสอนสมาธิที่มีชื่อเสียง คือ Mindfulness-Based Stress Reduction (MRSR) ซึ่งเกิดขึ้นที่รัฐนี้เป็นแห่งแรก

           มาถึงปัจจุบันนี้ มีศูนย์สมาธิเกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในศูนย์การเรียนรู้สมาธิของรัฐที่ไม่ไกลจากเมืองเคมบริดจ์นี้มี วัดพระธรรมกายบอสตัน (Dhammakaya Meditation Center of Boston) โดยการนำของพระครูภาวนาวิเทศ (วิรัตน์ มณิกนฺโต) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน โดยทางวัดได้ดำเนินกิจกรรมสอนสมาธิแก่ชาวท้องถิ่นมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ และเวลานี้ทางวัดมิได้สอนเพียงผู้สนใจที่เดินทางมาวัดเท่านั้น แต่ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้สนใจสมาธิที่ไม่มีโอกาสเดินทางมาวัด โดยการนำสมาธิไปสู่ชาวท้องถิ่นแบบถึงตัวถึงใจ และหนึ่งในกิจกรรมดังกล่าว คือ ธรรมสัญจร @ ฮาร์วาร์ดสแควร์


           ณ ฮาร์วาร์ดสแควร์ (Harvard Square) ในวันนั้น มีเทศกาล Thai Festival รวมสิ่งที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ของเมืองไทย และแน่นอนว่าชื่อเสียงของ สมาธิ หรือ Meditation ในประเทศไทยนั้นเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งในวันนั้นเองสมาชิกทางวัดพระธรรมกายบอสตันได้เดินทางไปเพื่อนำวิธีการทำสมาธิเพื่อให้เข้าถึงสันติสุขภายในแก่ชาวท้องถิ่น


         เพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมนั่งสมาธิ สอบถามข้อควรรู้ รวมถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับสมาธิ ร่วม ๑๐๐ คนจากนานาชาติ อาทิ ชาวอเมริกัน ซาอุดีอาระเบีย จีน บราซิล อินเดีย เป็นต้น แม้รอบข้างจะมีเสียงจากผู้คนที่เดินผ่านไปมา เสียงประกาศประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ แต่ก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมส่วนมาก พบกับความสงบภายใน โดยที่เสียงรอบข้างไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ทำให้เข้าใจถึงความสงบที่สามารถมีได้ท่ามกลางความวุ่นวาย เหมือนความสงบของตาพายุที่มีอยู่กลางความผันผวนของสภาพอากาศ เมื่อปรับสภาพใจให้สงบได้ สภาพแวดล้อมรอบข้างก็สงบตามไปด้วย ผู้เข้าร่วมหลายท่านได้ขอบคุณทางวัดที่นำสิ่งดี ๆ คือ การเจริญสมาธิภาวนามามอบให้ และจะนำสมาธิที่ได้รับการถ่ายทอดในเบื้องต้นนี้ไปฝึกปฏิบัติต่อไป รวมถึงจะเดินทางไปวัดพระธรรมกายบอสตัน เพื่อเรียนรู้สมาธิต่อไป

           ในโอกาสนี้ ต้องขออนุโมทนาต่อพระอาจารย์ผู้สอนสมาธิ ๒ รูป คือ พระอาจารย์ปอเหม่า ธมฺมฐิโต และ พระมหาบุญส่ง ปรมชโย ผู้ประสานงานโครงการการเผยแผ่ชาวท้องถิ่น คือ กัลฯ เพ็ญประภา เดชะ รวมถึงกัลยาณมิตรวัดพระธรรมกายบอสตัน ที่ได้มาร่วมสนับสนุน และเป็นอาสาสมัครช่วยงานต่าง ๆ ทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความสะดวกสบายราบรื่น

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล