ฉบับที่ 101 มีนาคม ปี2554

โอวาทปาฏิโมกข์ หัวใจของพระพุทธศาสนา

ทบทวนบุญ

เรื่อง : พระสมศักดิ์ จนฺทสีโล






โอวาทปาฏิโมกข์ หัวใจของพระพุทธศาสนา

โอวาทพระราชภาวนาวิสุทธิ์ วันมาฆบูชา ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔

         วันนี้เป็นวันแห่งความสว่างไสวในชีวิตของลูกทุก ๆ คน เป็นวันมาฆบูชามหาสมาคม วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตัวเราและชาวโลกทั้งหลาย เมื่อราว ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้ทรงปักหลักพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้แก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ที่ท่านมาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมายกันทางวาจา แต่ทว่ารู้กันด้วยใจของพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาที่หมดกิเลสแล้ว และทุกรูปล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทานการอุปสมบทให้

         ในครั้งนั้น ณ พระอารามเวฬุวัน พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหลักธรรมแม่บทที่ว่าด้วยอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้เป็นไป ในทิศทางเดียวกัน และเพื่อยังสันติสุขที่แท้จริงให้บังเกิดขึ้นแก่มวลมนุษยชาติ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และเผ่าพันธุ์

         อุดมการณ์ หมายถึง มโนปณิธานอันสูงส่งในการที่จะอุทิศตนเพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปยังชาวโลก ซึ่งผู้ที่จะไปทำหน้าที่เผยแผ่หรือทำหน้าที่เป็นผู้นำบุญ ยอดกัลยาณมิตร จะต้องมีขันติธรรมเป็นคุณธรรมในเบื้องต้นก่อน สมดังพระดำรัสที่ว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา ความอดทนเป็นตบะธรรมอย่างยิ่ง คือ จะต้องอดทนต่อความลำบากตรากตรำ อดทนต่อทุกขเวทนา อดทนต่อการกระทบกระทั่งกัน และอดทนต่อกิเลสอาสวะ เพื่อยังกิเลสให้เร่าร้อนจนอยู่ในตัวไม่ได้ จึงจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่เป้าหมาย คืออายตนนิพพานได้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ตรัสว่า นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ท่านผู้รู้ คือ พระสัมมา-สัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ตรัสว่า พระนิพพานเป็นเยี่ยม คือทรงเห็นพ้องต้องกันว่า ภพภูมิ ที่เลิศประเสริฐที่สุดคือพระนิพพาน

         ดังนั้น เมื่อเราได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว จะต้องแสวงหาพระนิพพาน และในระหว่างที่สร้างบารมีอยู่ก็ต้องไม่ก่อกรรมทำเข็ญ โดยการฆ่าผู้อื่นหรือเบียดเบียนใคร สมดังพระดำรัสที่ว่า น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย เอตํ พุทธาน สาสนํ นี้เป็นคำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

         แล้วจากนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงให้หลักการในการปฏิบัติ เพื่อให้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ของ ชีวิต ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มต้นตั้งแต่ทรงสอนให้ละชั่ว ทำดี ทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส ทรงมีพุทธดำรัสว่า
         

         สพฺพปาปสฺส อกรณ การไม่ทำบาปทั้งปวง
         กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
         สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส
         เอตํ พุทธาน สาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

         หรือพูดอีกนัยหนึ่ง คือให้งดเว้นจากบาปทุกชนิด ให้สร้างแต่บุญกุศล แล้วก็หมั่นเจริญสมาธิภาวนาเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในตัวให้ได้ เพราะพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด สิ่งอื่นที่จะประเสริฐยิ่งไปกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว เมื่อเราเข้าถึงแล้วก็จะพบกับความสุขที่แท้จริง จะรู้สึกอบอุ่นใจ ปลอดภัย แล้วยังสามารถปิดอบาย ไปสวรรค์ มีสุขได้ในปัจจุบันทันทีที่เข้าถึง

         และสุดท้าย พระพุทธองค์ก็ทรงให้วิธีการในการที่จะออกไปทำหน้าที่เผยแผ่ โดยให้ทำตัว ให้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา และเป็นต้นบุญต้นแบบที่ดีแก่ชาวโลก ทรงให้แนวทางดังต่อไปนี้ คือ

         อนูปวาโท ไม่ให้ไปว่าร้ายใคร หรือไปโต้เถียง ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร
         อนูปฆาโต ไม่ให้ไปทำร้ายใคร หรือไปข่มขู่บังคับให้ใครเขามาเชื่อเรา แต่ต้องแสดงด้วยเหตุผลจนทำให้เขาเข้าใจ และให้โอกาสเขาได้ตรองตามด้วยสติปัญญาจนเกิดความศรัทธาด้วยตัวของเขาเอง

         ปาติโมกฺเข จ สํวโร ให้สำรวมในศีลและมารยาท จะได้ไม่ไปเบียดเบียนใคร หรือทำให้ใครเขาเดือดร้อน อีกทั้งยังเป็นที่น่าเคารพเลื่อมใสอีกด้วย

         มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ให้รู้จักประมาณในการบริโภคแต่พอดี เพื่ออนุเคราะห์การประพฤติพรหมจรรย์

         ปนฺตญฺจ สยนาสนํ ให้อยู่ในเสนาสนะที่สงัด ที่เป็นสัปปายะ เอื้ออำนวยต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม และประการสุดท้าย

         อธิจิตฺเต จ อาโยโค ให้หมั่นประกอบความเพียรในอธิจิต คือ นำจิตเข้าสู่ปริมณฑลที่ศูนย์กลางกาย ให้ใจหยุดนิ่ง ละเอียด บริสุทธิ์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

         เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี้เป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย

         ที่กล่าวมาทั้งหมดโดยสรุปนี้ เป็นพุทธโอวาทที่สำคัญที่สุด ที่เราและชาวโลกจะต้องนำไปปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า รวมทั้งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คือ ทำให้บรรลุพระนิพพานได้

         การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นี้ มีปรากฏขึ้นในทุกยุคทุกสมัยที่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิด ขึ้นในโลก และไม่ว่าจะมาตรัสรู้กี่พระองค์ก็ตาม ทุก ๆ พระองค์ก็จะทรงสั่งสอนตรงกันหมดเหมือน เป็นเนติแบบแผนเดียวกัน ดังนั้นโอวาทปาฏิโมกข์จึงเป็นหลักธรรมที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา และเป็นหลักปฏิบัติที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อมวลมนุษยชาติ เพราะสามารถสร้างสันติสุขที่แท้จริง และสันติภาพโลกให้บังเกิดขึ้นได้

         ในวันนี้ เราก็ได้มาทบทวนโอวาทปาฏิโมกข์และได้ปฏิบัติบูชา แล้วจากนั้นก็จะได้ร่วมกันจุดมาฆประทีปถวายเป็นพุทธบูชา รวมทั้งบูชาแด่พระอรหันตสาวกทั้งหลายด้วย โดยเราจะเริ่ม จุดความสว่างภายในใจของเราก่อน และเมื่อใจของเราสว่างดีแล้ว จึงค่อยมาจุดความสว่างที่ดวงประทีปต่อ ๆ กันไป

         ซึ่งบุญจากการบูชาด้วยดวงประทีปนี้ จะทำให้เราเป็นผู้มีจักษุที่สดใส สวยงาม เราจะไม่เป็น โรคเกี่ยวกับดวงตา และจะเป็นผู้ถึงพร้อมทั้งมังสจักษุ ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ และธรรมจักษุ จะทำให้มีรัศมีกายที่สว่างไสว และจะมีดวงตาเห็นธรรม สามารถหยั่งรู้ทั่วถึงธรรมของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายได้

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล