ฉบับที่ 70 สิงหาคม ปี 2551

ทันโลก ทันธรรม : หัวใจเศรษฐี

ทันโลก ทันธรรม
เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ (M.D.,Ph.D.) จากรายการทันโลก ทันธรรม ออกอากาศช่องDMC

 

 

 

 

       ประเด็นแรก คือ เป้าหมายในการหาทรัพย์ของเรา บางคนพออยากจะรวยก็พุ่งเป้าไปว่าทำอย่างไรก็ได้ขอให้รวยก็แล้วกัน ทุกวิธีการเอาหมดและก็ทุ่มเทเต็มที่  พอรวย เป็นเศรษฐีขึ้นมาจริงๆ ปรากฏว่าครอบครัวกลับแตกแยก เพราะตัวเองไม่มีเวลาให้ครอบครัว ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกสอนลูกเลย ภรรยาก็ไปทาง  ลูกโตขึ้นมาก็กลายเป็นคนติดยาเสพติดบ้าง เกเรไม่ยอมเรียนหนังสือบ้าง แล้วก็ เสียผู้เสียคนกันไป

        ถ้าเป็นอย่างนี้ ถามว่ารวยแล้วมีประโยชน์อย่างไร  รวยแล้วมีความสุขจริงๆ หรือเปล่า เราอยากได้ไหมรวยอย่างนี้ มีแต่ทรัพย์ แต่ผู้คนรอบข้างแย่หมดเลย ก็คงไม่มีใครอยากจะเป็นอย่างนั้น หรือว่าเอาทุกวิธีจะถูกผิดศีลธรรมอย่างไรไม่สนใจ ขอให้ได้ทรัพย์มาเถอะฉันเอาทุกอย่าง ปรากฏว่าบาปกรรมก็ทำ มิจฉาอาชีวะอาชีพผิดๆ ก็ทำ พอละโลกนี้ไปเลยไปตกนรกเสียย่ำแย่ รวยอย่างนี้เป็นเศรษฐีไม่กี่ปีอยู่บนโลกมนุษย์ แต่ไปตกนรกเป็นล้านๆ ปี มีความทุกข์สาหัสสากรรจ์  ก็คงไม่มีใครอยากจะเป็นเหมือนกัน

           เพราะฉะนั้นเราจะต้องวางเป้าหมายของการหาทรัพย์ให้ชัดเจนว่า เราหวังจะให้ทรัพย์นั้นมาตอบสนองเรา เพื่อให้เรามีความสุขในชีวิต ดังนั้น เป้าจริงๆ ไม่ใช่อยู่ที่เพียงตัวเงิน ไม่ได้จบแค่นั้น แต่จะต้องเป็นทางมาแห่งความสุขทั้งภพนี้และภพหน้า พอวางเป้าชัดอย่างนี้ เราจะได้เลือกอาชีพได้ถูกว่าจะต้องเป็นสัมมาอาชีวะ อะไรที่ผิดศีลผิดธรรมเราไม่ทำ และต้องสามารถแบ่งสัน ปันส่วนเวลาได้อย่างดี ทั้งเรื่องของการงาน เรื่องครอบครัว เรื่องส่วนตัว การดูแลรักษาสุขภาพ การประพฤติปฏิบัติธรรม จัดสรรเวลาให้พอเหมาะพอสม อย่างนี้ถึงจะใช้ได้  ถ้าจะเปรียบก็เหมือนกับการตัดถนน บางคนคิดว่าจะตัดถนนก็ลุยตัดสะบั้น หั่นแหลกไปเลย เหนื่อยแทบแย่ ทำถนนอย่างดี พอสุดปลายถนนพบว่ามันกลายเป็นเหวลึก ไปต่อ ไม่ได้แล้ว ตกเหว ที่ทำมาทั้งหมดก็เหนื่อยฟรี ดังนั้น ก่อนจะเริ่มลงมือตัดถนนต้องกำหนดทิศให้ชัด เสียก่อนว่า เรากำลังจะตัดถนนไปทางไหน เมื่อทิศทางชัดเจนเราจึง ก้มหน้าก้มตาตัดถนนกันไป สุดท้ายก็จะถึงเป้าหมายที่เราต้องการจริงๆ

          ประเด็นที่สอง คือ การรวยหรือการจนมันมีสองแบบ มองในแง่ประเด็นการจนก็แล้วกัน จะทำให้เราเห็นภาพของความรวยชัดขึ้น ท่านบอกว่าคนจนในโลกมีอยู่สองประเภทใหญ่ คือ ๑. จนเพราะไม่มี คือทรัพย์สินเงินทองมีน้อย  ไม่พอใช้สอย เขาเรียกว่าเป็นคนยากจน แต่ประเภทที่ ๒. จนเพราะไม่พอ มีรถคันหนึ่งก็อยากจะมีสอง มีสองก็อยากจะมีสี่ มีสี่ก็อยากมีแปด  อยากจะมียี่ห้อดีๆ สวยๆ อยากมีบ้านหลายๆ หลัง เงินในแบงก์มีเยอะแล้ว ก็อยากให้เยอะขึ้นไปอีก ประเภทนี้จนเพราะไม่พอ รวยหมื่นล้านก็มองว่า ยังมีคนรวยแสนล้าน รวยกว่าเราอีก เรายังจนอยู่เมื่อเทียบกับเขา พอรวยแสนล้านขึ้นมา ก็อยากจะมีล้านล้าน

 

 

 

           เคยมีผู้เปรียบว่าทรัพยากรที่มีอยู่ในโลกนี้ ถ้ามาจัดสรรปันส่วนอย่างดีละก็ มีเพียงพอจะ หล่อเลี้ยงให้คนทั้ง ๖,๐๐๐  กว่าล้านคนทั้งโลกบริโภค ใช้สอยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข  แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเอาทรัพยากรทั้งโลก ให้กับคนเพียง คนเดียวเพื่อตอบสนองความอยากของเขา เราจะพบว่าไม่พอ สมบัติทั้งโลกให้เป็นเจ้าเข้าครองแล้วยังไม่พอ อยากจะได้ดวงจันทร์แถมอีกสักดวงหนึ่ง ถ้าจะได้ทั้งสุริยจักรวาลก็น่าจะดีเหมือนกัน ต่อไปอยากจะครองทั้งเอกภพเลย
ทั้งยูนิเวิร์สอยากจะได้หมดเลย

          ซึ่งตัวอย่างจริงๆ เกิดขึ้นมาแล้ว พระเจ้ามันธาตุราชในอดีต มีบุญเดิมสั่งสมไว้มาก เกิดมาเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ครองสมบัติทั้ง ๔ ทวีป ยังไม่พอ  อยากจะได้สวรรค์เข้าไปด้วย แต่บุญในตัวมีมากพอ เลยได้ปกครองสวรรค์ชั้นแรก คือ ชั้นจาตุมหาราชิกา สักพักอยากจะได้สวรรค์ชั้นที่สอง คือชั้นดาวดึงส์ด้วย เป็นคนแต่ขึ้นสวรรค์ได้เป็นๆ เลยพอขึ้นดาวดึงส์ได้ บุญในตัวมีเยอะ พระอินทร์ต้องแบ่งสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง เป็นมนุษย์แท้ๆ ครองทั้งโลก แล้วยังแถมสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาทั้งสวรรค์ แล้วแถมชั้นดาวดึงส์ไปถึงครึ่งสวรรค์ ครองสมบัติอยู่นาน อายุยืนมาก ยืนกว่าเทวดาอีก จนพระอินทร์เปลี่ยนไปตั้ง ๓๖ องค์แล้ว ปรากฏว่า ท้าวมันธาตุราช วันดีคืนดีคิดว่า เอ๊ะ ทำไมเราจะต้องครองสวรรค์ แค่ครึ่งเดียว อยากจะได้หมด เลยวางแผนจะยึดอำนาจจากพระอินทร์ แต่พอมีใจเป็นอกุศล ปรากฏว่าใจหมอง  บุญไม่หล่อเลี้ยงแล้ว ตกจากสวรรค์ ลงมาเลย

          สมบัติทั้งโลกยกให้คนๆ เดียวยังไม่พอเลย แถมสวรรค์ให้ยังไม่พอ ถ้าเอาตามความอยากละก็ เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ถ้าเกิดมีชาวไร่ ชาวนา กรรมกร  ไปได้ลาภลอยขึ้นมาสักล้านหนึ่ง เขาคงจะดีใจมาก คิดว่าตัวเองรวยมาก แต่ถ้ามีมหาเศรษฐีโลก รวยเป็นล้านๆ เกิดวันใดวันหนึ่งธุรกิจผิดพลาด  ทรัพย์สินเงินทองร่อยหลอลงไป เหลือเงินอยู่แค่ล้านบาท มหาเศรษฐีใหญ่นั้นคงจะกลุ้มคิดอยากจะฆ่าตัวตายเลยทีเดียว ทำไมเงินเท่ากัน แต่คนสองคนคิดไม่เหมือนกัน มีเงินล้านเท่ากัน แต่คนหนึ่งดีใจแทบแย่ อีกคนกลุ้มแทบจะฆ่าตัวตาย มันอยู่ที่ความรู้สึกยินดีพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ มีแค่ไหน ถ้าหากไม่รู้จัก limit ไม่รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ละก็ จะกลุ้มทั้งชาติ มีทรัพย์เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ยิ่งรวยก็ยิ่งกลุ้ม ยิ่งรวยก็ยิ่งอยาก เราต้องแยกแยะตรงนี้ให้ดี ทรัพย์สินเงินทองจะต้องมาตอบสนอง เพื่อให้เรามีความสุขในภพนี้ ใช้แสวงบุญเป็นเสบียงติดตัวไปในภพเบื้องหน้า จนกระทั่งถึง เป้าหมายอย่างยิ่ง คือพระนิพพานในที่สุด อย่างนี้ถึงจะใช้ได้

 

 

          มีคนกล่าวไว้ว่า เงินเป็นบ่าวที่ดี แต่เป็นนายที่เลว คือ ใครปล่อยให้ตัวเองเป็นทาสของเงินแล้วละก็ เมื่อนั้นจะมีความทุกข์มาก แต่เมื่อไรเราเป็นนายของเงิน คือ สามารถใช้เงินให้เป็นประโยชน์ ได้ทั้งในภพนี้และภพหน้า แล้วก็ประโยชน์อย่างยิ่งอย่างที่กล่าวไปแล้ว  ก็จะมีความสุขในชีวิต ต้องใช้สอยบริโภคเงินให้ถูกต้องตามบทบาทหน้าที่ ของมัน อย่าให้เงินเป็นนายเรา แต่เราต้องเป็นนายเงิน หาทรัพย์ได้ใช้ทรัพย์เป็น รู้ค่าของทรัพย์ แต่ก็ใช้ได้อย่างเหมาะสม ไม่ใช่เก็บเอาไว้

          เราคงเคยได้ยินมาบ้างว่า มีเศรษฐีบางคน รวยมากเลย แต่เวลาไปซื้อมะม่วง ก็ไปซื้อมะม่วงที่มันเริ่มเน่าแล้วมันจะได้ถูกๆ เสร็จแล้วก็มาตัดส่วนเน่าออก กินส่วนที่เหลือ มันจะช้ำๆ เละๆ บ้างช่างมัน พอฝืนกินได้ จะซื้อมะม่วงดีๆ มากิน ก็กลัวว่าเงินทองมันจะร่อยหลอไป อันที่จริงกินตลอดชาติก็ยังไม่หมด แต่เขาก็พอใจจะบริโภคอย่างนี้ เพราะความตระหนี่ มีเงินทองเยอะแยะ เสื้อผ้ามีอยู่เต็มตู้แต่ไม่ใช้ กลัวมันจะเก่า แล้วก็เอาผ้าขาดๆ ปุๆ ปะๆ มาใช้ อย่างนี้มันเกินเหตุไป ปล่อยให้เงิน ให้ทรัพย์สินมาเป็นนายเราเสียแล้ว

          พวกเราชาวพุทธทุกคนจะต้องไม่ใช่คนที่จนเพราะไม่พอ เราต้องรู้จักพอ หากใครยังมีทรัพย์น้อย ก็ขวนขวายหาทรัพย์ แต่หาแล้วก็สามารถบริโภคใช้สอย  ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

         มาถึงประเด็นหลักอีกประเด็นหนึ่งว่า แล้วทำอย่างไรถึงจะรวยได้ คนจะรวยได้ต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ คือ 

         ๑.  เหตุในอดีต ชาติก่อนๆ ทำบุญให้ทานไว้เยอะ ก็เป็นเหตุให้ชาตินี้รวยได้ มีบางคนเป็น นักบริหารรับจ้างไปบริหารบริษัทให้เขา เจ้าของรวยเอารวยเอา แต่พอมาตั้งบริษัทเองกลับไม่ประสบความสำเร็จ ถามว่าเพราะอะไร แม้เขาฉลาดก็จริง ความสามารถสูงก็จริง แต่ในอดีตทำบุญให้ทานมาน้อยไปหน่อย บุญในตัวมีไม่พอ ที่จะรวยขึ้นมามากๆ ได้ บริหารให้เขาแล้วเขารวยได้ เพราะเจ้าของเขาฝีมือสู้นักบริหารไม่ได้ แต่เขาให้ทานไว้เยอะ ต้องอาศัยบุญเข้ามาเชื่อมต่อกันงานจึงประสบความสำเร็จได้

          เราอย่าไปคิดว่าเหตุในอดีตแก้ไม่ได้จะทำอย่างไรดี  เราต้องตั้งใจสั่งสมบุญในวันนี้  จะได้เป็นเหตุในอดีต สำหรับเราต่อไปในวันหน้า

         ๒. เหตุในปัจจุบัน เราจะต้องมีหัวใจเศรษฐี พระพุทธเจ้าท่านให้หลักไว้ว่า คนจะรวยได้จะต้องมีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ อุ-อา-กะ-สะ 

         อุ ย่อมาจากอุฏฐานสัมปทา แปลว่า รู้จักหา หาทรัพย์เป็น ข้อนี้คนมักจะเข้าใจกันอยู่แล้วว่า จะรวยได้ต้องหาเงินเป็น แต่ความจริงมันเป็นแค่ ๑ ใน ๔ ข้อ

        อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา แปลว่า รู้จักเก็บ คือหาเป็นแล้วต้องเก็บเป็นด้วย ถ้าหาเก่ง แต่เก็บไม่เป็นมันก็ไม่รวย เหมือนเอาชะลอมตักน้ำ อยู่ในน้ำมีน้ำเยอะแยะ   แต่พอยกขึ้นมาน้ำรั่วออกหมด เหลือติดชะลอมแค่ไม่กี่หยดเท่านั้นเอง คนหาเก่งแต่ว่าเก็บไม่เป็นก็เหมือนชะลอมตักน้ำ แต่ถ้าเก็บเป็นละก็ แม้หาได้ไม่มากก็เก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เหมือนเอาขันตักน้ำ รักษาน้ำได้เต็มบริบูรณ์หลายขัน เข้า เดี๋ยวก็เต็มโอ่งได้เหมือนกัน

          กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตตา แปลว่า รู้จัก คบคนดีเป็นมิตร  ถ้าใช้ศัพท์ให้ทันสมัยหน่อยก็คือ รู้จักสร้างเครือข่ายคนดี หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่ามีคอนเน็กชั่น (connection หรือสายสัมพันธ์) แล้วเป็นคอนเน็กชั่นที่เป็นคนดีด้วย คนที่เคยทำงานเยอะๆ จะเข้าใจว่าในการสร้างเนื้อสร้างตัวทำงานให้ประสบความสำเร็จ คอนเน็กชั่นมีคุณค่าขนาดไหน โดยเฉพาะคอนเน็กชั่นที่เป็นคนดี มีความจริงใจกับเรา มีคุณค่ามหาศาล เราไปคนเดียวโดดๆ ไม่ได้ ต้องมีพวก ต้องมีสายสัมพันธ์ โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ที่เป็นคนดี จริงใจกับเรา ไม่นำเราไปทางที่เสียด้วย ไม่ใช่จริงใจกับเรา แต่ขณะเดียวกันเขาก็ชอบเล่นไพ่ ชอบกินเหล้า ก็เลยชวนเราไปเล่นไพ่ กินเหล้ากับเขา อย่างนี้ก็ยังใช้ไม่ได้ ต้องมีความจริงใจกับเรา แล้วก็ต้องเป็นคนดี  ไม่ชักนำไปในทางที่เสื่อมอย่างนี้ถึงจะใช้ได้

          สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา แปลว่ารู้จักใช้ มีทรัพย์แล้วก็ใช้เป็น พอเหมาะพอสมไม่ฟุ่มเฟือยเกินไป ให้เราสามารถอยู่ในโลกนี้ ได้อย่างมีความสุขดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

          ถ้าครบ ๔ ข้อนี้ อุ-อา-กะ-สะ รับประกันได้ว่ารวยแน่ ให้พวกเราทุกคนตั้งใจหาทรัพย์ได้ ใช้ทรัพย์เป็น ให้เราเป็นนายของทรัพย์ อย่าให้ทรัพย์เป็นนายของเรา บริโภคใช้สอยทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และพระพุทธศาสนา ทั้งในชาตินี้ทั้งในชาติหน้า จนกระทั่งเข้าถึงเป้าหมายอย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน ในที่สุด

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล