ฉบับที่ 42 เมษายน ปี 2549

พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี

 

 

        "ปพฺพชฺชา จ ทุลฺลภา การบวช เป็นสิ่งที่หาได้ยาก"
          สิ่งใดที่ทำได้ยากลำบาก สิ่งนั้นจะเป็นบุญบารมีที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการบวชนั้นเป็นการดำเนินชีวิตสวนกระแสโลกอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นเนกขัมมบารมีที่จะนำเราไปสู่ความหลุดพ้น ทำให้เรามีโอกาสศึกษาพระธรรมคำสอนอันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นหนทางลัดที่จะนำพาเราไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต การบวชอย่างมีเป้าหมาย เพื่อสลัดออกจากกองทุกข์ และกระทำพระนิพพานให้แจ้ง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากในโลก เพราะผู้บวชจะต้องใช้กำลังใจที่สูงส่งกว่ามนุษยโลกทั่วไป กล้าที่จะสละความสุขอันเป็นโลกียะทั้งหลาย เพื่อแสวงหานิรามิสสุขคือสุขที่เกิดจากการทำใจหยุดนิ่งภายใน

         พระเตมีย์ คือพระชาติชาติหนึ่ง ในทศชาติชาดกหรือพระเจ้าสิบชาติ ที่พระบรมโพธิสัตว์ของเรา ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมีอย่างยิ่งยวด ในระดับที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ซึ่งจัดเป็นปรมัตถบารมี

 

        

   ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี พระราชาพระนามว่า พระเจ้ากาสิกราช ทรงปกครองไพร่ฟ้า ด้วยความร่มเย็นมาช้านาน แต่โดยส่วนพระองค์แล้วไม่ค่อยทรงสบายพระหฤทัยนัก เพราะแม‰ทรงครองราชย์มานานแล้ว แต่ไม่มีพระโอรส หรือพระ-ธิดาแม้เพียงพระองค์เดียว จึงทรงรับสั่งให้ประชุมพระสนมกำนัล และพราหมณาจารย์ทั้งหลาย ให้ทำ พิธีบวงสรวงอ้อนวอนเทวดาเพื่อขอพระโอรส

          พระนางจันทาเทวี ผู้เป็นพระอัครมเหสี ทรงเห็นพวกพระเทวีทำการอธิษฐานให้ได้บุตร แต่ไม่มีใครสมปรารถนา ในวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ พระนาง ได้สมาทานอุโบสถศีล แล้วตั้งสัจจอธิษฐานว่า ด้วยอำนาจแห่งศีลนี้ขอให้เทพผู้มีบุญได้มาเกิดเป็นโอรสของพระนางด้วยเถิด

        ด้วยอานุภาพแห่งศีลบารมีที่พระนางจันทา-เทวีทรงบำเพ็ญดีแล้ว กอปรกับแรงสัจจอธิษฐานนั้น ปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกเทวราชผู้ปกครองภพดาวดึงส์จึงเกิดอาการร้อนขึ้น เป็นเหตุให้ท้าวเธอร้อนรุ่มพระหฤทัยจนไม่อาจทนนิ่งเสวยทิพยสมบัติเป็นปกติสุขได้ จึงทรงสอดส่องทิพยเนตร ตรวจดู ก็ทรงเห็นเหตุชัดเจนว่า พระนางจันทาเทวี ทรงปรารถนาพระโอรส ก็ตกลงพระทัยที่จะเชื้อเชิญ เทพบุตรผู้มากด้วยบุญญาธิการ มาถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวี จึงเสด็จออกจากเวชยันตปราสาทด้วยราชรถอันตระการตา ไม่ช้าก็ไปปรากฏยังทิพยวิมานของเทพบุตรองค์นั้น

         

 

      เมื่อเสด็จเข้าไปประทับยืนใกล้ เทพบุตรองค์นั้น ท้าวสักกะก็ตรัสเชื้อเชิญว่า "ข้าแต่ท่านผู้เปี่ยมด้วยบุญญาธิการ ขอท่านจงไปบังเกิดในพระครรภ์ ของพระนางเจ้าจันทาเทวี อัครมเหสีของ พระเจ้ากาสิกราชในเมืองพาราณสีด้วยเถิด เพราะบัดนี้เป็นโอกาสอันดี ที่ท่านจะได้บำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์ เพื่อประโยชน์สุขแก่โลกสืบไป"

          เทพบุตรโพธิสัตว์ได้สดับคำเชื้อเชิญของท้าวสักกะเช่นนั้น ก็มีความปีติยินดี ด้วยปรารถนาจะสร้างบารมีให้เต็มเปี่ยมในเร็ววัน จึงตัดสินใจรับคำเชื้อเชิญของท้าวสักกเทวราช ส่วนเทพบุตรบริวารอีก ๕๐๐ องค์ ก็รับอาสาว่า แม้พวกตนก็ขออาสาที่จะจุติลงไปเกิดเพื่อเป็นบริวารของท้าวเธอ

          ในวันที่เทพบุตรประสูติจากพระครรภ์ของพระนางจันทาเทวีนั้น พระเจ้ากาสิกราชทรงโปรดให้คัดเลือกแม่นมเป็นพิเศษพระราชทานแด่ พระกุมารจำนวนถึง ๖๔ นาง โดยแต่ละนางล้วนถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะที่ดี และจะต้องปราศจากลักษณะอันเป็นโทษ ๑๐ ประการคือ ไม่สูง ไม่ต่ำ ไม่ดำ ไม่ขาว ไม่อ้วน ไม่ผอมจนเกินไป ถันไม่แบน ไม่หย่อนยาน ไม่เป็นโรคหอบหืด และไม่เป็นโรคไอ

          เมื่อพระราชกุมารมีพระชนมายุได้ ๑ เดือน พี่เลี้ยงนางนมได้ประดับพระกายแล้วอัญเชิญขึ้นเฝ้าพระราชบิดา ขณะที่พระองค์กำลังเสด็จออก ว่าราชการอยู่ภายในท้องพระโรงมหาวินิจฉัย ก็ทรงรับเอาพระราชกุมารมาจากมือของพี่เลี้ยงนางนม ทรงอุ้มพระราชกุมารให้ประทับนั่งบนตัก แล้วก็ทรงวินิจฉัยคดีความต่อไป โดยตรัสสั่งให้ลงพระ-อาญาแก่มหาโจร ๔ คน ให้โบยโจรคนหนึ่งด้วยหวายหนามแช่น้ำเกลือจนตาย โจรอีกคนหนึ่งให้จองจำไว้กับขื่อคา โจรอีกคนหนึ่งก็ให้นำไปประหารด้วยคมหอก โจรคนสุดท้ายให้เสียบด้วยหลาวทั้งเป็น

 

 

ความคิดอันยิ่งใหญ่ของพระบรมโพธิสัตว์

        พระเตมิยราชกุมาร เมื่อได้สดับคำตัดสิน ลงอาญาของพระราชบิดา ก็ทรงหวาดสะดุ้ง เกิดความสลดหดหู่ ดำริว่า พระราชบิดาของเรา ทำบาปกรรมใหญ่หลวงนัก คงไม่พ้นจากการเสวยทุกข์ในนรกเป็นแน่ หากปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ต่อไปในภายหน้า แม้เราเอง ก็จะต้องตัดสินคดีความดุจเดียวกับพระราชบิดา ดำริฉะนี้แล้วก็ยิ่งสลดพระทัยเพิ่มขึ้น

       ในวันรุ่งขึ้นขณะที่พระราชกุมารบรรทมอยู่ ภายใต้เศวตฉัตรนั้น ลืมพระเนตรขึ้นแลดูณเบื้องบนเห็นพระเศวตฉัตร และสิริราชสมบัติอันโอฬารเช่นนั้น ก็ทรงดำริขึ้นว่า ก่อนที่จะมาเกิดในพระราชมณเฑียร ภายใต้พระเศวตฉัตรนี้ เรามาจากไหนหนอ

        ด้วยอำนาจบุญเก่าที่สั่งสมมา และด้วยเหตุที่ทรงเกิดในที่เดิมซึ่งทรงคุ้นเคยมาก่อน เมื่อทรงนึกทบทวนดู จึงทำให้พระเตมิยกุมารระลึกชาติหนหลังได้ว่า "เราเคยเป็นกษัตริย์เสวยราชสมบัติอยู่ในพระนครนี้ถึง ๒๐ ปี เพราะอกุศลกรรมที่เคยตัดสินประหารชีวิตผู้คนมาไม่น้อย ครั้นตายแล้ว บาปกรรมเมื่อครั้งเป็นกษัตริย์ในชาตินั้น ก็บันดาลให้ไปบังเกิดในอุสสทนรกเป็นเวลายาวนานถึง แปดหมื่นปี พอพ้นจากนรก บุญได้โอกาสจึงส่งผลให้ไปเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ จากนั้นจึงได้กลับมาเกิดในที่นี่อีก"

        เมื่อทรงนึกถึงความทุกข์ทรมาน ที่ตนเคยเสวยในนรก ก็ทรงสะดุ้งกลัว หวาดเสียวพระทัยยิ่งนัก จึงทรงดำริว่า หากเราได้เสวยราชสมบัติสืบต่อจากพระราชบิดา ก็คงไม่พ้นต้องทำบาปกรรม สั่งประหารชีวิตผู้คนมากมายเช่นเดิม และจะต้องไปเสวยทุกข์ใหญ่ในนรกอีกเป็นแน่แท้

      ที่กำลังเหลียวมองพระองค์ด้วยความรัก ซึ่งในครั้งอดีตชาติ นางได้เคยเกิดเป็นพระมารดาของพระ-ราชกุมาร ครั้นได้ทราบความดำริของพระราชกุมาร จึงแสดงตนให้พระองค์เห็น แล้วปลอบโยนให้ทรงคลายความโศกว่า "พ่อเตมิยะ อย่าคิดกลัวไปเลย หากพ่อต้องการจะพ้นไปจากพระราชมณเฑียรนี้ พ่อก็จงแสร้งทำตนเป็นคนง่อยเปลี้ย แสร้งหูหนวก แสร้งทำเป็นคนใบ้...พ่ออย่าได้แสดงตนว่าเป็นบัณฑิต จงปล่อยให้คนเข้าใจว่าพ่อเป็นคนเขลาเถิด แล้วเขาก็จะเหยียดหยามว่าพ่อเป็นคนกาลกิณี ขับไล่พ่อออกไป หากพ่อสามารถกระทำตามอุบายนี้ได้ ความปรารถนาของพ่อก็จะสำเร็จแน่นอน"

 

 

พระมูคผักขกุมาร ผู้มั่นในปณิธาน

       พระเตมิยกุมารได้สดับดังนั้น ก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า "ต่อจากนี้ไป เราจะแสดงตนเป็นคนง่อยเปลี้ย เป็นคนหูหนวก และเป็นคนใบ้ จนกว่าความปรารถนาของเราจะสำเร็จ" นับจากนั้นมาพระ-ราชกุมารก็มิได้ตรัสอะไรอีก ไม่ทรงขยับพระหัตถ์และพระบาท ไม่เคยแสดงอาการผิดสังเกตให้ใครได้เห็นเลย ลำพังเพียงแสร้งทำเป็นคนง่อยเปลี้ย เป็นคนใบ้ ก็ได้รับความลำบากเป็นทุนอยู่แล้ว พระองค์ยังถูกทดสอบด้วยวิธีการที่ยากเหลือเกินที่คนทั่วไปจะทนทานได้ เช่น ไม่ยอมให้ดื่มนมเป็นเวลาหลายวัน แสร้งปล่อยช้างเข้าเหยียบ เอาไปนอนจมกองมูตรคูถเป็นปีๆ หรือแสร้งให้ไฟไหม้เผาทั้งเป็น พระกุมารก็ไม่สะทกสะท้าน ยึดมั่นในปณิธานโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จึงสามารถฝ่าฟันอุปสรรคเหล่านั้นมาได้ จนกระทั่งมีพระชนมายุได้ ๑๖ ชันษา

    เมื่อพราหมณ์กราบทูลว่า "พระกุมารเป็นตัวกาลกิณี จะนำภัยมาสู่พระองค์และพระมเหสี และจะเป็นอันตรายต่อเศวตฉัตรของพระองค์ ควรให้นำพระ-กุมารไปฝังในป่าช้าผีดิบเสีย" พระราชาหลงเชื่อ จึงมีรับสั่งให้ทำตามนั้น ฝ่ายพระเทวีได้สดับกระแสรับสั่งแล้ว ทรงเศร้าโศกมาก ประหนึ่งว่าพระทัยจะแตกสลาย ได้แต่รำพันเพราะจะต้องพลัดพรากจากพระโอรส พอรุ่งเช้า สารถีนำเตมียกุมารประทับนั่งบนราชรถ พระกุมารทอดพระเนตร เห็นพระชนนีรํ่าไห้สลบไสลไป ก็ทรงข่มความรู้สึกเอาไว้ ดำริว่า ถ้าเราพูดออกไปตอนนี้ ความพยายามที่ได้ทำมาตลอด ๑๖ ปี ก็จะไร้ผล แต่ถ้าเราไม่พูด ประโยชน์ก็จะสำเร็จแก่เรา แก่พระชนกชนนีและมหาชนทั้งหลาย จึงทรงข่มความโศกเอาไว้

          สารถีได้พาพระกุมารออกจากเมือง เพื่อนำไปฝังในป่าทึบแห่งหนึ่ง เมื่อถึงที่หมายแล้ว ได้หยุดราชรถ แล้วคว้าจอบเดินไปขุดหลุม เตมีย-กุมารทรงทดลองขยับพระหัตถ์และพระบาท ก็รู้ว่ายังมีพระกำลังแข็งแรงอยู่ จึงทรงก้าวลงจากราชรถ และเสด็จดำเนินไปมา ๒-๓ เที่ยว แล้วทรงจับ ท้ายรถยกขึ้น เพื่อจะทดสอบพระกำลัง ราชรถนั้นก็ถูกยกขึ้นอย่างง่ายดาย ทรงเดินเข้าไปหานายสารถี ซึ่งกำลังขุดหลุมอยู่ นายสารถีเงยหน้าขึ้นมองดู เห็นพระโอรสประทับยืนอยู่ก็ตกตะลึง จึงกราบลงแทบพระยุคลบาท อ้อนวอนให้เสด็จกลับพระราชวัง แต่พระกุมารทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะบวชอยู่ในป่าแห่งนี้ ทรงอุทานว่า "ความหวังของเราสำเร็จแล้วด้วยดี เพราะไม่ใจเร็วด่วนได้ ประโยชน์ที่ชอบย่อมสำเร็จแก่ผู้ไม่ใจร้อน จึงได้ความอิสระในที่สุด"

 


           สารถีฟังแล้วคิดว่า ขนาดราชกุมารยังทรงอดทนทุกอย่าง เพื่อจะให้พ้นจากราชสมบัติ แล้วเราเป็นเพียงสามัญชน ทำไมจะสละชีวิตไม่ได้ จึงทูลขอบวชตาม แต่พระกุมารรับสั่งให้นำราชรถกลับไปคืนก่อน จะได้บรรพชาโดยไม่เป็นหนี้ เมื่อสารถีกลับถึงพระนคร ได้กราบทูลพระราชาว่า "พระโอรสมีรูปสมบัติงดงาม สมบูรณ์ด้วยพละกำลัง พระกระแสเสียงก็ไพเราะ เป็นมหาบุรุษที่ยากจะหาบุรุษใดมาเทียบเท่า" พระราชาทรงดีพระทัยเป็นล้นพ้น จึงตรัสเรียกเสนาอำมาตย์มาเข้าเฝ้า และทรงมีรับสั่งให้เตรียมราชรถ ไปอัญเชิญพระโอรส เสด็จกลับพระนครทันที

          ฝ่ายเตมียกุมารทรงเบิกบานพระทัยในชีวิตของนักบวช ที่เป็นอิสระมีความสุขในเพศสมณะประทับนั่งใต้โคนไม้ บำเพ็ญภาวนาจนได้บรรลุฌานสมาบัติ ทรงอยู่ด้วยพรหมวิหารธรรม มีพระ-อินทรีย์ผ่องใส เมื่อพระราชาพร้อมด้วยข้าราช-บริพารมาถึง เตมียดาบสก็ทำการปฏิสันถารเป็นอย่างดี แต่เมื่อพระราชาทรงขอร้องให้กลับไปรับราชสมบัติ พระดาบสปฏิเสธ และทรงแสดงธรรมถวายพระชนกว่า "คนหนุ่มควรประพฤติพรหมจรรย์ การบรรพชาของคนที่ยังแข็งแรง ผู้รู้ทั้งหลายย่อมสรรเสริญ อาตมภาพไม่มีความปรารถนาในราช-สมบัติ เพราะมฤตยูย่อมรุกรานอยู่เป็นนิตย์ ชีวิตเป็นของน้อยเหมือนไม้ใกล้ฝั่ง เหมือนฝูงปลาในน้ำน้อย จักทำอะไรได้ การอภิเษกจะมีประโยชน์อะไร"

          พระราชาและพระเทวีทรงเลื่อมใส มีพระ-ประสงค์จะผนวช นางนมและเหล่าอำมาตย์ก็ปรารถนาจะบวชตาม พระราชาจึงมีรับสั่งให้ป่าวประกาศว่า "ผู้ใดต้องการจะบวชก็เชิญบวชได้" แล้วให้เปิดท้องพระคลัง สละราชสมบัติทั้งหมด บรรดาชาวเมืองต่างทิ้งบ้านเรือนพากันออกบวชหมด และได้เป็นผู้เข้าถึงฌานสมาบัติ

          เมื่อพระราชาเมืองอื่นตั้งใจว่าจะมายึดครองแว่นแคว้น ครั้นทราบข่าวการออกผนวชของพระราชาและชาวเมืองแล้ว ก็บังเกิดความเลื่อมใส จึงสละราชสมบัติ ออกผนวชตามเป็นจำนวนมาก และได้บรรลุอภิญญาสมาบัติกันถ้วนหน้า ละโลกไปแล้วก็เข้าถึงพรหมโลกและสุคติโลกสวรรค์

 

 

ลูกผู้ชาย... ครั้งหนึ่งในชีวิต
ควรได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์

          ท่านสาธุชนทั้งหลาย การบวชเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเหลือเกิน ต้องอาศัยกำลังใจที่สูงส่ง เพราะต้องสละอะไรหลายๆ อย่างที่ไปผูกมัดเอาไว้ การที่มีเยาวชนหรือหนูน้อยอายุเพียงไม่ถึง ๑๐ ขวบ วัยรุ่น วัยที่รักการเล่นรักความสนุกสนาน กลับมาแสวงหาความวิเวกทางใจให้กับตัวเอง หรือนักศึกษา ในระดับอุดมศึกษาและผู้ใหญ่ที่ผ่านการทำงานมาแล้ว ได้ตัดสินใจมาบวชแม้เป็นช่วงสั้นๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ยิ่งใหญ่กว่าการตัดสินใจเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเสียอีก เพราะเป็นการดำเนินชีวิตตามอย่างพระบรมโพธิสัตว์เจ้าทั้งหลาย เพราะนี่แหละคือเส้นทางสู่ความสุขที่แท้จริง

          อานิสงส์ที่จะได้จากการบวชเป็นภิกษุสามเณร นี้ ไม่ใช่เพียงแค่ชาติสองชาติเท่านั้น แต่จะส่งผลเป็นเวลายาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน กระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม และบุญนี้ยังถึงแก่มารดาบิดา ผู้มีพระคุณทั้งหลาย ถ้าท่านรับรู้ก็จะได้อานิสงส์ใหญ่ ถึงครึ่งหนึ่งของผู้บวช หมู่ญาติและผู้มีบุญที่มาเป็นเจ้าภาพร่วมอนุโมทนาจะพลอยได้อานิสงส์ผลบุญกับเราไปด้วย ดังนั้นครั้งหนึ่งในชีวิตของลูกผู้ชาย ต้องได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์

          ส่วนท่านหญิงหรือผู้ที่ยังไม่สามารถบวชได้ ก็ควรให้การสนับสนุนต่อผู้บวชอย่างเต็มที่ อานิสงส์นี้ เมื่อถึงคราวที่เราอยากบวชบ้าง ก็จะมีผู้อนุโมทนาและคอยสนับสนุนการบวชของเราอย่างเต็มที่ โดยไม่มีผู้ใดมาขัดขวาง จะได้เป็นผู้ไม่มี ห่วงกังวล ไม่ถูกขัดขวางจากผู้ไม่เข้าใจ จะออกบวช ด้วยความโล่งใจ ไร้กังวลจากคน สัตว์ สิ่งของมีค่าทั้งหลาย เพราะเราจะมุ่งมาเอารัตนะที่ล้ำค่าที่สุด นั่นคือพระรัตนตรัยที่เกิดจากใจหยุดนิ่ง ได้เข้าถึงพระธรรมกายภายในกันทุกคน

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล