ฉบับที่ ๑๘๐ เดือนธันวาคม ๒๕๖๐

การเดินธุดงค์ของประเทศไทยในอดีต มีภูมิหลังความเป็นมาอย่างไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

การเดินธุดงค์ของประเทศไทยในอดีต
มีภูมิหลังความเป็นมาอย่างไร ?

อยู่ในบุญธันวาคม2560 , อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอน , การเดินธุดงค์ของประเทศไทยในอดีต มีภูมิหลังความเป็นมาอย่างไร ? , หลวงพ่อตอบปัญหา

คำตอบ ANSWER

              เรื่องการถือธุดงค์หรือการอยู่ธุดงค์นั้นมีมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายไปทั่วโลก การเดินธุดงค์แต่ละภูมิภาคก็มีการประกอบพิธีกรรมให้เหมาะสมกับประเพณีของท้องถิ่น ให้เหมาะสมกับภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนั้น ๆ ภูมิภาคนั้น ๆประเทศนั้น ๆ

           ในประเทศไทยของเราก็มีการปรับวิธีเดินธุดงค์อย่างเหมาะสมสำหรับพระใหม่และพระผู้เฒ่าที่ต้องอบรมดูแลลูกศิษย์ลูกหารวมทั้งพระเถรานุเถระที่ตั้งใจอยู่ป่าถือธุดงค์กันตลอดชีวิต โดยปรับปรุงให้เหมาะสมกับภูมิภาคในประเทศไทยตลอดระยะเวลาพันปีที่ผ่านมา

             พระเดชพระคุณพระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินันโท) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี (ปัจจุบัน คือ พระธรรมพุทธิมงคล ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี) เคยเล่าไว้ในหนังสือ "ก้าวไปในรอยบุญ" ซึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์เพื่อแสดงมุทิตาจิตในวาระอายุครบ ๘๐ ปีของท่านท่านเล่าถึงประเพณีเดินธุดงค์ในประเทศไทยเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว ในสมัยที่ท่านบวชพรรษาแรก

              พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล่าว่า สมัยนั้นประเพณีบวชพระต้องบวชอย่างน้อย ๑ พรรษามิใช่แค่ ๗ วัน หรือ ๑๐ วัน เมื่อออกพรรษารับกฐินแล้ว ถ้ายังไม่สึก พอสอบนักธรรมเสร็จก็นิยมธุดงค์ไปพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีหรือพระแท่นดงรัง จังหวัดกาญจนบุรี

          ครั้งนั้น เมื่อสอบนักธรรมแล้ว พระเดชพระคุณหลวงพ่อกลับไปอยู่ที่วัดท่าไชย (ต.หัวโพธิ์  อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี) ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน ตอนนั้นพระวัดท่าไชย ๒ รูป กำลังเตรียมตัวเดินธุดงค์ แต่ไม่รู้ว่าการเดินธุดงค์เป็นอย่างไร พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็อยากรู้จึงขอไปด้วย โดยไปสมทบกับพระและสามเณรวัดไผ่โรงวัวอีก ๒ รูป รวมเป็น ๕ รูป พระ ๓ รูป สามเณร ๒ รูป แล้วเริ่มเดินธุดงค์กัน

       ก่อนอื่น ท่านลงเรือเมล์กันตอนเที่ยงคืนที่ตลาดบางสามซึ่งอยู่ในเขตสุพรรณบุรี ไปถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรีก็สว่างพอดี

        การเดินทางไปมาติดต่อกันสมัยโบราณเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว  ตลอดจนย้อนหลังไปร้อยปีพันปี  ในประเทศไทยเรานิยมไปมาโดยทางเรือบ้านของประชาชนก็อยู่ ๒ ริมฝั่งน้ำนั้นเอง หรือถ้าเข้ามาในแผ่นดินใหญ่หน่อย ก็เดินไปตามทางเกวียน สมัยนั้นยังไม่มีถนนซูเปอร์ไฮเวย์

            พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านเล่าว่า ถึงตัวจังหวัดสุพรรณบุรีก็สว่างพอดี ฉันเช้าเสร็จไปสมาทานธุดงค์ที่วัดประตูสารกับหลวงพ่อก๋ำ พระครูวิธุรสุตาคม แล้วเดินผ่านวัดหอยโข่งอำเภอศรีประจันต์ ปักกลดแถววัดไก่เตี้ยอีก ๑ คืน ผ่านไปหลายวัดกว่าจะได้เดินธุดงค์เดินต่อไปผ่านอำเภอสามชุก ผ่านอำเภอเดิมบางนางบวช เข้าจังหวัดสิงห์บุรีแล้วผ่านไปที่จังหวัดลพบุรี

             ขอให้ดูตรงนี้ด้วย การเดินธุดงค์นั้นเป็นเรื่องของบุญกุศลใหญ่ ต้องมีการขวนขวายทำกัน ไม่ใช่ใครอยากเดินก็เดิน

             การเดินทางที่ว่าผ่าน ๆ นั้นคือผ่านป่าไม่ได้ผ่านถนนทางเรียบแบบซูเปอร์ไฮเวย์ผ่านป่าโดยอาศัยเดินตามทางเกวียน สมัยโบราณไม่มีแม้กระทั่งถนนลูกรัง ฉะนั้นบางช่วงจึงเป็นหลุมเป็นบ่อ

           ทางเกวียนนี้แต่เดิมคือทางที่สัตว์เดินหากินมาก่อนจากแหล่งหนึ่งไปแหล่งหนึ่ง ส่วนมากคือจากป่าหนึ่งไปป่าหนึ่ง ที่ไหนอุดมสมบูรณ์สัตว์ก็เดินทางไปตามแนวนั้น สมัยโน้นก็อาศัยพึ่งสัตว์ที่เดินเป็นฝูง ๆ และเดินกันมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว มนุษย์ก็มาเดินตามทางซึ่งเป็นรอยเท้าสัตว์เก่านั่นเอง

          จากสุพรรณบุรีลัดป่าไปตามทางเกวียนตามทางรอยเท้าสัตว์ ผ่านไปจนกระทั่งถึงเขตสระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี ตั้งเป้าเดินขึ้นภาคเหนือของประเทศไทย ต่อแต่นี้เดินไปตามเส้นทางรถไฟขึ้นภาคเหนือ มุ่งหน้าจะไปไหว้พระบาท ๔ รอย ซึ่งมีตำนานว่าเป็นรอยพระบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอยู่ ๔ รอยด้วยกัน จึงมีชื่อว่าพระบาท ๔ รอย เป็นสถานที่โบราณในเขตจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งสมัยนั้นไปยากมากเพราะอยู่ในป่าลึก ไม่มีบ้านคน ต้องไปปักกลดค้างแรม เมื่อถึงเชียงใหม่ต้องสอบถามชาวบ้านจนรู้ว่าอยู่ที่ไหน แล้วจึงดั้นด้นไปถึงจนได้

              ในการเดินธุดงค์ เส้นทางที่เดินไปก็เพื่อไปไหว้ไปกราบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเพิ่มพูนศรัทธา สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยโบราณมี ๑) รอยพระพุทธบาท ๒) สถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญที่ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้านประจำเมือง เป้าหมายในการเดินทางก็คือไปกราบนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

         การเดินทางไปไหว้พระบาท ๔ รอยสมัยนั้นต้องไปปักกลดที่วัดหนองก๋าย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นปากทางอีก ๑ คืน รุ่งขึ้นออกบิณฑบาต พอฉันเช้าเสร็จฝากกลดไว้ที่วัด แล้วก็เดินข้ามเขา ข้ามห้วยไปประมาณ ๕ ชั่วโมง ต้องเดินข้ามเขาไป ๒๑ ลูก และธารน้ำอีก ๑๙ แห่ง พอไปถึงกราบไหว้เสร็จแล้ว ก็จำเป็นต้องรีบเดินทางกลับเพราะในย่านนั้นไม่มีบ้านคนอยู่เลยสักหลังพักค้างแรมไม่ได้ จึงได้กลับมาพักแรมที่วัดหนองก๋ายอีก ๑ คืน วันรุ่งขึ้น ฉันเช้าเสร็จแบกกลดเดินทางย้อนกลับมาเมืองเชียงใหม่

              พระธุดงค์แต่ละรูป แต่ละคณะ เมื่อกราบไหว้พระพุทธบาทแล้ว ก็ออกมานั่งรอบ ๆ มณฑปเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อเปิดทางให้กลุ่มอื่นเข้าไปกราบไปไหว้กันอย่างใกล้ชิด แล้วทำวัตรสวดมนต์กันตามอัธยาศัย ที่สวดเป็นกลุ่ม ๆไม่รวมกันเพราะว่ามาถึงเวลาไม่พร้อมกันพระท่านต่างเดินธุดงค์ฝ่าแดด ฝ่าลม ฝ่าสารพัดมาถึงไม่พร้อมกัน ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมงทุกคืน กว่าจะลงมาจำวัตรก็ประมาณ ๕ ทุ่มตอนเช้าก็ออกบิณฑบาตกันตามบริเวณงานพระพุทธบาทสระบุรีในยุคนั้นอยู่กลางป่า มีคนใจบุญใส่บาตรกันมาก แต่ว่าห่างไกลตลาดเพราะฉะนั้นกับข้าวที่ใส่บาตรส่วนมากก็เป็นไข่เค็ม

            ปักกลดอยู่ที่พระพุทธบาทประมาณ ๕ วัน จึงเดนธุดงคกลบมาถึงวัดท่าไชย จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษไทย คือแรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ใช้เวลาหลายเดือน

           ธรรมเนียมปฏิบัติของพระธุดงค์สมัยนั้นเมื่อกลับถึงวัดเดิมแล้ว ต้องปักกลดอยู่ในป่าช้าอีก ๑-๒ คืน เพื่อทดสอบความกล้าก่อนจึงจะลาธุดงค์หรือออกจากธุดงค์

              การออกเดินธุดงค์เป็นอุบายอย่างหนึ่งของพระสมัยก่อน ที่จะให้พระบวชใหม่ปรารถนาอยู่เป็นพระต่อไป ลำพังให้อยู่ที่วัดเดี๋ยวจะสึกเสียหมด เนื่องจากในยุคนั้นพออายุ ๒๐ ก็บวชกันแล้ว วัยรุ่นทั้งนั้น อายุเพิ่ง ๒๐, ๒๑ ก็ฝันเห็นโลกที่สดใสอยู่ข้างหน้า เคยอยู่แต่ในเขตจังหวัดของตัวเอง ก็ฝันไปว่าบ้านนั้นเมืองนั้นจะวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นนั้นก็ไปเดินดูเองให้ทั่วแผ่นดินไทย แล้วจะได้เห็นชีวิตชาวโลกว่า ไม่ว่าที่ไหนก็มีแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งนั้นที่ฝันเอาไว้เท่าไร ๆ นั้นไม่ใช่หรอกลูกเอ๋ย

            เมื่อไปดูอย่างนั้นแล้วได้อะไรอีก หลวงพ่อท่านก็บันทึกเอาไว้ว่า สมาธิแก่กล้าขึ้นมาเองแล้วการธุดงค์ยังเป็นการฝึกหัดบ่มเพาะอุปนิสัยนักสู้ให้อดทนต่อความยากลำบาก

         การออกเดินธุดงค์เป็นเสมือนโรงเรียนพระเกจิอาจารย์สมัยนั้นทีเดียว พระอาจารย์ที่ชื่อดัง ๆ ว่าศักดิ์สิทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ ได้บรรลุธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ ก็อาศัยเดินธุดงค์นี้แหละ แม้หลวงปู่ของพวกเราก็อาศัยการเดินธุดงค์เช่นนี้

           พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล่าไว้ว่า สิ่งที่ท่านได้จากการเดินธุดงค์แบบเป็นรูปธรรมจริง ๆ ก็คือ สามารถท่องจำบทสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนานฉบับหลวงได้หมดเลย เพราะตลอดระยะทางธุดงค์เกือบ ๕ เดือน เดินไปก็สวดมนต์ไปด้วย แล้วกำหนดจิตไว้ด้วยบทสวดมนต์ ซึ่งเป็นการภาวนาอย่างหนึ่งนั่นเอง

           การเดินธุดงค์ครั้งนั้นถือได้ว่าท่านผ่านการเคี่ยวกรำชีวิตแบบนักสู้มาตั้งแต่พรรษาแรกเป็นประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ และเป็นภูมิคุ้มกันที่แสนวิเศษติดตัวท่านมา ทั้งเอาไว้อบรมตัวเองไว้สู้กับกิเลส ปราบกิเลสให้ตัวเอง จนกระทั่งมาเป็นพระเทพสุวรรณโมลี นำลูกศิษย์ลูกหาทั่วจังหวัดสุพรรณบุรีให้สู้กับกิเลสตามท่านมาด้วย นี้ก็เป็นภูมิหลังเรื่องการเดินธุดงค์เรื่องหนึ่ง

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล