ฉบับที่ 92 มิถุนายน ปี2553

บวชเถิด ผู้กล้า

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙

 




 

บวชเถิด ผู้กล้า

           "ความยินดีของผู้อยู่ครองเรือนเป็นเสมือนเชือกที่ผูกเหนี่ยวไว้ ผู้ฉลาดตัดเชือกนี้ได้แล้วไม่อาลัยไยดี ละกามสุขแล้ว หลีกเร้นอยู่ ย่อมพบสุขอันเป็นอมตะ" (สุสีมชาดก)

           เครื่องพันธนาการที่คอยเหนี่ยวรั้งสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ติดข้องอยู่ในภพสาม ไม่ใช่เครื่องจองจำ ที่ใช้เหนี่ยวรั้งนักโทษ แต่เป็นความยินดีในทรัพย์สิน เงินทองและกามสุขทั้งหลาย หากเราไม่มีสติกำกับให้ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกิเลส เท่ากับเราตกอยู่ ในที่คุมขังอันแน่นหนาที่สุด ยากที่จะหลุดพ้นออก มาได้ จะถูกกักขังกันเป็นชั้น ๆ เริ่มตั้งแต่นิรยภูมิ มนุสสภูมิ โลกสวรรค์ แม้กระทั่งพรหมและอรูปพรหม ล้วนตกอยู่ในที่คุมขังกันทั้งสิ้น

 



 

          ผู้รู้ได้กล่าวอุปมาเอาไว้ว่า ปุตฺโต คีเว บุตรธิดา เป็นเหมือนบ่วงคล้องคอ ภริยา หตฺเถ ภรรยาเป็นเหมือนบ่วงคล้องแขน ธนํ ปาเท ทรัพย์เป็นเหมือนบ่วงคล้องขาเอาไว้ เป็นเครื่องผูกหย่อนๆ แม้จะอยู่ไกลแต่ผูกมัดจิตใจได้แน่นเหนียว เพราะไม่ สามารถคลายความห่วงหาอาวรณ์ต่อกันได้ ผู้ที่ฉุกคิด ได้และพยายามออกจากความยินดีในกิเลสเหล่านั้น นับว่าเป็นผู้ที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ และเป็นผู้ ที่เหมาะสมอย่างยิ่ง ที่จะเป็นแบบอย่างของนักสร้าง บารมีทั้งหลาย

          พระบรมโพธิสัตว์เจ้านับเป็นบุคคลต้นแบบ ในการแสวงหาความสุขอันแท้จริง สามารถละทิ้งความเอิบอิ่ม ในเบญจกามคุณทุกอย่าง เพราะรู้ดี ว่าเบญจกามคุณเหล่านี้ คือเครื่องผูกหย่อน ๆ ที่ สัตว์โลกมัวเพลิดเพลินยินดีและสลัดให้หลุดได้ยากยิ่งนัก แต่พระองค์กลับสามารถทำได้อย่างน่าอัศจรรย์ เรื่องมีอยู่ว่า ..ในครั้งอดีตพระบรมโพธิสัตว์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นมคธ ทรงมีพระสหายซึ่งเป็นบุตรของปุโรหิต ชื่อโสณกะ ทั้งสองได้เดินทางไปศึกษาที่เมืองตักสิลา เมื่อสำเร็จ การศึกษาแล้ว ขณะเดินทางกลับ พระโพธิสัตว์และ พระสหายต่างมีความเห็นตรงกันว่า เราน่าจะหาประสบการณ์ทางโลกให้มากกว่านี้ แล้วค่อยกลับเข้า เมือง ครั้นเดินทางมาถึงเมืองพาราณสี ทั้งสองเห็นผู้คนกำลังจัดเตรียมสถานที่เพื่อให้พวกพราหมณ์ มาสาธยายมนต์ ชาวเมืองเห็นพระโพธิสัตว์และสหาย จึงเชื้อเชิญให้ขึ้นไปนั่งบนอาสนะที่จัดไว้ โดยปูลาดผ้าขาวอย่างดีที่นำมาจากแคว้นกาสีให้พระโพธิสัตว์ นั่ง

 



 

           ท่านโสณกะเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ รู้ทันทีว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ อรินทมกุมารจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเมืองพาราณสี ส่วนตัวท่านเองจะได้รับ การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดี ต่อมาทั้งสองสหายพากันไปพักในอุทยาน โดยพระโพธิสัตว์ทรงบรรทมบนแผ่นศิลาใหญ่ ส่วนโสณกะนั่งเฝ้าอยู่ใกล้ ๆ วันนั้นซึ่งเป็นวันที่ ๗ นับจากวันที่พระราชา ผู้ครองเมืองพาราณสีได้เสด็จสวรรคต พระองค์ไม่มี พระราชโอรสสืบต่อราชวงศ์ เหล่าอำมาตย์จึงได้ประชุมตกลงกันเพื่อเสี่ยงทายราชรถ หาผู้มีบุญที่ จะมาดำรงตำแหน่งพระราชาสืบไป ราชรถได้แล่นไปรอบพระนคร แล้วมาหยุดอยู่ที่ปลายเท้าของ พระโพธิสัตว์ โสณกะเห็นดังนั้นจึงรีบหลบเข้าไป ในที่กำบัง ปุโรหิตได้ให้เจ้าพนักงานประโคมดนตรี เพื่อเฉลิมฉลองพระราชาองค์ใหม่ พร้อมทั้งอภิเษกพระโพธิสัตว์ให้เป็นพระราชา ณ อุทยานนั้นเอง เมื่อ เสด็จเข้าสู่พระราชวังพร้อมด้วยอิสริยยศอันยิ่งใหญ่ ก็ทรงลืมโสณกะผู้เป็นพระสหายเสียสนิท

           ฝ่ายโสณกะ เมื่อเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จเข้าเมืองไปแล้ว ก็ออกจากที่หลบซ่อนมานั่งบนแผ่นศิลา ขณะนั้นเอง เขาได้เห็นใบไม้เหลืองหล่นลงจากต้นสาละ เกิดความสลดสังเวชใจ คิดว่าชีวิตของเราไม่ นานก็จะถึงความชรา แล้วร่วงหล่นไปเหมือนใบไม้นี้ จึงได้เจริญอนิจสัญญา มองเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า แล้วเหาะไปอยู่ที่เงื้อมเขานันทมูลกะ

           พระโพธิสัตว์ได้เสวยราชสมบัติจนเวลาล่วงไปถึง ๔๐ ปี ทรงระลึกถึงพระสหายโสณกะ จึงทรง พระราชนิพนธ์เป็นเพลง แล้วให้ชาวเมืองพากันนำ ไปร้อง ชาวเมืองต่างนำบทเพลงนี้ไปร้องกันทั่วเมือง เพราะเข้าใจว่าเป็นเพลงที่พระราชาทรงโปรด

           ครั้นเวลาล่วงไปถึง ๕๐ ปี ยังไม่มีผู้ใดรู้ข่าวหรือพบเห็นพระโสณกะ วันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า ปรารถนาจะสงเคราะห์พระโพธิสัตว์ ซึ่งกำลังหลงใหล อยู่ในเบญจกามคุณ จึงเหาะมาจากภูเขานันทมูลกะ พบเด็กคนหนึ่งกำลังหาฟืนอยู่ในป่า และร้องเพลงพระราชนิพนธ์ด้วยความสบายอกสบายใจ ท่านจึงสอนให้เรียนเพลงร้องแก้ แล้วให้เด็กคนนั้นไปเข้าเฝ้า พระราชาเพื่อร้องเพลงแก้กับพระราชา

           เด็กน้อยดีใจยิ่งนัก รีบจดจำเพลงแก้จนคล่อง ปากขึ้นใจ แล้วรีบเข้าเมืองไปขอเข้าเฝ้าพระราชา เจ้าหนูน้อยร้องเพลงแก้ในท่ามกลางมหาสมาคมจน เป็นที่พอพระทัยของพระราชา ทั้งได้นำพระราชาไปพบพระปัจเจกพุทธเจ้า พระราชาแม้จะพบเห็นสหายเก่า แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าชีวิตนักบวชดีอย่างไร ทำไมต้องบวช จึงตรัสทักทายว่า ภิกษุนี้เป็นคนกำพร้า

 



 

           พระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสตอบว่า มหาบพิตร บุคคลผู้ประพฤติธรรมไม่ชื่อว่าเป็นคนกำพร้า ส่วน ผู้ประพฤติแต่อธรรม จึงจะชื่อว่าเป็นคนกำพร้า อุปมาว่า มีกาตัวหนึ่งเห็นซากศพช้างลอยอยู่ใน แม่น้ำใหญ่ ดีอกดีใจรีบเกาะซากนั้นไป ไม่ยอมหนีขึ้นฝั่ง เมื่อหิวก็กินเนื้อช้าง แต่เนื่องจากแม่น้ำทุกสาย ย่อมไหลลงสู่ทะเล ในที่สุดทั้งซากช้าง และกาต่างถูกพัดลงสู่มหาสมุทร ถึงแก่ความหายนะ เป็นอาหาร ของปลาและเต่า ฉันใด การหมกมุ่นอยู่ในเบญจกามคุณ ก็ฉันนั้น ขอถวายพระพร

           พระโพธิสัตว์ฟังแล้วทรงสลดพระทัย คลายจากความพอใจในเบญจกามคุณ เห็นโทษเห็นภัย ในการครองเรือน จึงได้เสด็จออกผนวช ทรงตั้งใจปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าหิมพานต์จนบรรลุฌานสมาบัติ ละโลกแล้วได้ไปบังเกิดในพรหมโลก

            ท่านสาธุชนทั้งหลาย... การบวชคือทางรอด และทางเลือกที่ผู้ชายแมนแมนไม่ควรพลาด บัณฑิตนักปราชญ์ ในปางก่อนล้วนสละลาภ ยศ สรรเสริญ ที่มาพร้อมกับความกังวล เพื่อแสวงหาความสุขที่ไม่ต้องมีกังวล แม้เราจะมีภารกิจทางโลกมากมาย ต้องรับผิดชอบครอบครัวจนไม่มีเวลาว่างเลย แต่ถ้าใจของเราบอกว่าพร้อม อะไรๆ ก็ไม่เป็นอุปสรรค ผู้แสวงหาช่องทางย่อมพบช่องทาง ถ้าใจของเราบอกว่าการบวช คือ ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิต เราจะกล้าปล่อยทุกอย่าง วางทุกสิ่ง แล้ววิ่งเข้าวัด เพื่อทำความบริสุทธิ์ให้เกิดขึ้น ต้องตระหนักในสิ่งนี้ จึงจะพบทางรอดจากสังสารวัฏ

           การบวชอย่างน้อย ๑ พรรษา เพื่อประพฤติพรหมจรรย์ จะทำให้เรามีเวลามากพอในการศึกษา พระธรรมวินัยและทำความเพียร ได้เรียนรู้เส้นทางของผู้รู้แจ้ง และอยากดำเนินรอยตามปฏิปทานั้นด้วย ความสุขที่เกิดจากการบำเพ็ญสมณธรรมจะเพิ่มพูน จะมีโอกาสสัมผัสนิรามิสสุข คือ สุขที่ไม่ต้องอิงอามิส แต่เป็นสุขที่เกิดจากใจหยุดนิ่งอยู่ภายใน อีกทั้งการบวชครั้งนี้ ยังถือเป็นการยอยกพระพุทธศาสนา ในยุคที่พระพุทธศาสนาต้องการผู้กล้าที่จะมาช่วยกันเผยแผ่คำสอนอันบริสุทธิ์ไปสู่ชาวโลก บุญใหญ่นี้จะได้ติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรมกันทุกคน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล