ฉบับที่ 72 ตุลาคม ปี 2551

หลวงพ่อ สอนผมวาดภาพ

คอลัมน์ท้ายเล่ม
เรื่อง : โค๊ก อลงกรณ์

 

 

        ย้อนไปช่วงที่เริ่มต้นสร้างสถานที่รองรับผู้มีบุญจากทั่วโลก อย่างเช่น สภาธรรมกายสากล หรือมหาธรรมกายเจดีย์ สิ่งที่เริ่มทำกันในตอนนั้นเป็นงานที่หนักและใหญ่มาก ใหญ่เกินกว่าสายตา คู่เล็กๆ ของผมจะมองเห็น  คือจะให้มองอย่างไร ก็มองไม่ออกว่า จากภาพท้องนาโล่งๆ ที่เห็นอยู่นี้ จะกลายเป็นจริงอย่างที่หลวงพ่อบอกได้อย่างไร แม้จะเชื่อตามที่ หลวงพ่อพูดจนหมดใจ แต่ความกังวลที่แฝงอยู่ ในใจ มันทำให้ผมแอบคิดขึ้นมาว่า...เราจะทำไหวหรือ   

         วันหนึ่งขณะที่ผมเดินตามหลวงพ่อผ่านใต้ร่มไม้ใหญ่ที่เขียวชอุ่ม เพื่อจะไปพุทธศิลป์ ระหว่างทางท่านได้มาหยุดแวะที่สวนหิน ซึ่งมี หินแบนๆ มนๆ ก้อนเล็กกว่าฝ่ามือวางกองอยู่หลวงพ่อก้มลงเลือกหยิบขึ้นมาก้อนหนึ่ง แล้วนำติดมือมาให้ทีมงาน พุทธศิลป์ช่วยวาดภาพบางอย่างลงไป และระบายสีให้สวยงาม

          เมื่อเสร็จเรียบร้อย หลวงพ่อได้เรียกให้ผมเข้ามาดูผลงานที่อยู่ในมือของท่านใกล้ๆ แล้วถามว่า

          "โค้กมองเห็นไหม"  
          "เห็นครับ" "เห็นอะไร"

          ผมบอกหลวงพ่อไปตามที่สายตาผมมองเห็น ซึ่งสิ่งแรกที่ผมเห็น คือภาพวาดแจกันลายครามสีเหลืองทอง เป็นภาชนะเก่าแก่ที่มีค่ามาก ผมก็ไล่สายตาและบรรยายต่อไปเรื่อยๆ แล้วผมก็เห็นจุดสำคัญ จุดหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในภาพรอบๆ ของแจกัน ผมเห็นมหาธรรมกายเจดีย์ สีทองลอยเด่นขึ้นมาอีกด้วย 

      พอผมมองเห็นสิ่งที่หลวงพ่อท่านอยากให้เห็นแล้ว ท่านก็ยิ้มออกมา โดยที่สายตาท่านยังมองดูผลงานศิลปะบนก้อนหิน แล้วท่านก็รำพึง ออกมาว่า "นี่คือรุ่งอรุณแห่งความบริสุทธิ์ที่สง่างาม" 

          ผมมองตามหลวงพ่อ ภาพที่ปรากฏอยู่ในมือของท่านกำลังบอกผมว่า หากตัดสินใจลงมือทำสิ่งใด ภาพในใจเราต้องชัด ถ้าหากยังมองภาพสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ชัดเจน ก็คงไม่รู้ว่า ความสำเร็จอยู่ที่ไหน ถ้าสิ่งที่ทำอยู่ยังเป็นภาพเบลอๆ มัวๆ แล้วจะเรียกความมั่นใจให้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

         ตอนนั้นผมรู้สึกว่า หลวงพ่อกำลังสอนผมวาดภาพ วาดไม่ต้องเสียเงินซื้อสี ไม่ต้องมีพู่กัน ไม่ได้วาดลงในกระดาษหรือผืนผ้าใบ  หลวงพ่อกำลังสอนให้ผมวาดภาพลงไปในใจ 

          หลวงพ่อถามผมต่อ "แล้วเห็นอะไรอีก ผมยื่นหน้าไปดูก้อนหิน ที่อยู่ในมือหลวงพ่อ แล้วก็ยิ้มออกมาแทนคำตอบ หลังจากนั้นหลวงพ่อก็ให้ทีมงานพุทธศิลป์วาดภาพระบายสีบนหินอีกหลายก้อน ซึ่งมีทั้งภาพมหาธรรมกายเจดีย์ มหาวิหารฯ และที่สำคัญๆ อีกหลายแห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนกำลังช่วยกันสร้างในขณะนั้น

    เมื่อผลงานศิลปะบนก้อนหินเสร็จสมบูรณ์ทั้งหมด หลวงพ่อก็ให้ ส่งไปยังที่ต่างๆ ผมจำได้ว่าชิ้นหนึ่งถูกส่งไป ยังออฟฟิศระดมทุน (สำนักงานกัลยาณมิตรสากล) และทุกครั้งเมื่อเข้าไปที่นั่น ผมก็ มักจะบอกกับตัวเองว่า หินก้อนนี้นี่แหละคือ อุปกรณ์ที่หลวงพ่อใช้สอนผมให้รู้จักวาดภาพ

         ในยามที่คนเราเริ่มวิตกกังวลถึงอุปสรรคต่างๆ รอบด้าน ทั้งอุปสรรคที่มองเห็นและมองไม่เห็น ยามนั้นเรามักจะ คิดอะไรไม่ออก เราจึงตอกย้ำความวิตกซ้ำๆ และขยายความกังวลจากจุดเล็กๆ ให้เป็นภาพที่ใหญ่ขึ้นๆ ซึ่งคงไม่ต่างอะไรกับการ วาดภาพแห่งความพ่ายแพ้ ที่เต็มไปด้วยความมืดให้เข้าไปในใจ

         แต่แทนที่เราจะเอาแต่ตอกย้ำ ภาพความล้มเหลวซ้ำๆ ลงไปอยู่อย่างนั้น  หลวงพ่อได้สอนให้ลองวาดภาพ ที่เป็นด้านดีๆ ที่เป็น ด้านสว่างแทน วาดภาพผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ลงไปฝังไว้ภายใน ให้วาดบ่อยๆ วาดซ้ำๆ ตอกย้ำลงไปเรื่อยๆ แล้วเดี๋ยวภาพที่ฝังอยู่ในใจนี้ก็จะพลันเป็นความจริง 

          หากวันนี้ ปัญหาและอุปสรรคที่ขวางหน้า ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรงลงไป ผมมักจะบอกกับตัวเองเสมอว่า น่าจะพักสักครู่  หยุดนิ่ง แล้วระบายสีแต่งแต้มให้ภาพในใจสดใสขึ้นกว่าเดิม ตอกย้ำจุดหมายที่ต้องการให้ ปรากฏแจ่มชัดมากยิ่งขึ้น

          ขณะที่ผมกำลังวาดภาพในใจอยู่นี้ ก็ฉุกคิด ขึ้นมาว่า เอ๊ะ! ภาพที่เราวาดมันจะไปตรง กับภาพของใครบ้างหรือเปล่าหนอ?
แล้วถ้าเกิดภาพในใจที่กำลังวาดๆ กันอยู่นี้ เกิดเหมือนกัน ตรงกันหมด ทุกๆ คน จนกลายเป็นว่าเราได้วาด ภาพเดียวกัน ความอัศจรรย์คงต้องเกิดขึ้นแน่ๆ

        ถ้าเป็นเช่นนี้ ผมว่าหลวงพ่อไม่ใช่สอนผมวาดภาพ คนเดียวแล้วละครับ ท่านกำลังสอนทุกคน ให้วาดภาพเป็นด้วยเช่นกัน และก็คงเป็นภาพไหนไปไม่ได้ ถ้าไม่ใช่ภาพนี้ 
"รุ่งอรุณแห่งความบริสุทธิ์ที่น่าเคารพ น่าเลื่อมใส น่ากราบไหว้ และสง่างามในใจ ของทุกๆ คน"

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล