ฉบับที่ ๑๔๗ เดือนมกราคม ๒๕๕๘

มหาสังฆทาน ครั้งประวัติศาสตร์ใจกลางนครเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์

พลังพุทธศรัทธา
เรื่อง : มาตา

 

มหาสังฆทาน

ครั้งประวัติศาสตร์ใจกลางนครเชียงตุง

รัฐฉาน ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 

 


    หากพูดถึงความรักความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของ ชาวเมียนมาร์แล้ว สามารถกล่าวได้ว่าไม่แพ้ใครทั้งในด้านคุณภาพและปริมาณ...


    “ศาสนาพุทธ” เป็นศาสนาประจำชาติของเมียนมาร์อย่างเป็นทางการ โดยมีประชาชนกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์เป็นศาสนิก ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ทำให้ในเมียนมาร์มีวัดวาอารามถึงกว่า ๔๕,๐๐๐ วัด มีเจดีย์ใหญ่น้อยมากมาย (เฉพาะเมืองพุกามแห่งเดียวยังมีเจดีย์กว่า ๔,๐๐๐ องค์ ทำให้พุกามได้ชื่อว่าเมืองแห่งทะเลเจดีย์) นอกจากนี้ยังมีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐๐,๐๐๐ รูป นี้คือผลของความศรัทธาที่แสดงออกมาให้เห็นเป็นตัวเลข ส่วนในเชิงคุณภาพนั้น คำสอนของ   พระบรมศาสดาแทรกซึมหยั่งรากลึกลงไปในระดับจิตวิญญาณของชาวเมียนมาร์มาเป็นเวลาเนิ่นนาน และถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา อย่างเข้มข้นจากรุ่นสู่รุ่น จนกลายมาเป็นวิถีชีวิตที่ผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับวัดวาอาราม การทำทาน การรักษาศีล การนั่งสมาธิ ความเชื่อมั่นในเรื่องกฎแห่งกรรม และที่สำคัญในใจของลูกผู้ชายชาวพุทธเมียนมาร์ต่างรู้สึกว่า จะต้องบวชเพื่อศึกษาธรรมะให้ได้อย่างน้อยสักหนึ่งครั้งในชีวิต             

       



    ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ซึมซาบอยู่ในใจของชาวเมียนมาร์ ส่งผลให้เมื่อพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ดำริให้มีการร่วมกันฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมารุ่งเรืองดังเช่นยุคพุทธกาล ด้วยการจัดพิธีถวายมหาสังฆทานในนครเชียงตุงรวมถึงพิธีตักบาตรและการเดินธุดงค์ครั้งใหญ่ในเมืองทวาย       (๖ พ.ย. ๒๕๕๗) พุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาร์จึงขานรับด้วยความปีติ และพร้อมใจกันผลักดันให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี 

 


    พิธีสำคัญที่จะจารึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของนครเชียงตุง เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๗ ณ บริเวณวงเวียนห้าแยกวัดมหาเมียะมุนี นครเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ 

 


    เช้านี้ ผู้คนในนครเชียงตุง เมืองท่าขี้เหล็ก เมืองพยาก เมืองสาด เมืองยาง เมืองลา ฯลฯ รวมทั้งชาวพุทธจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ต่างเดินทางฝ่าอากาศหนาวเย็นอุณหภูมิ    ๑๑-๑๔ องศา มุ่งไปยังจุดหมายเดียวกัน คือวงเวียนห้าแยกวัดมหาเมียะมุนี เพื่อร่วมพิธีถวาย    มหาสังฆทาน ๓๒๐ วัด แด่พระภิกษุสามเณรกว่า ๓,๕๐๐ รูป


    พิธีในวันนี้ เจ้าประคุณสมเด็จอาชญาธรรมพระเจ้า ประมุขสงฆ์นครเชียงตุง วัดราชฐานหลวงเชียงยืน เมืองเขมรัฐ นครเชียงตุง เมตตาไปเป็นประธานสงฆ์ และได้รับเกียรติจาก ท่านอูลาทุน และแต๊นไหน่วิน เลขาสำนักนายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ อูเซาอ่องเมี่ยน รัฐมนตรี     รัฐฉาน ร่วมด้วยข้าราชการและแขกผู้มีเกียรติเป็นผู้นำสาธุชนประกอบพิธี โดยมีพระอุโบสถ       วัดราชฐานหลวงหัวข่วงเป็นศูนย์กลางพิธี
    



    เมื่อถนนทุกสายทุกแยกในบริเวณพิธีคับคั่งไปด้วยมหาชนดังที่ปรากฏในภาพแล้ว ในเวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. พิธีถวายมหาสังฆทานครั้งประวัติศาสตร์ใจกลางนครเชียงตุงครั้งแรก และการทำบุญเลี้ยงพระทั้งนครเชียงตุงก็เริ่มขึ้น  


    พิธีเริ่มด้วยการจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย โดย อู้ หอง คำ หนุ่ม ประธานกรมการศาสนาเมืองเชียงตุง จากนั้นแม่ทัพภาค ต้าน ท้อน อู้ ถวายเครื่องสักการะแด่ประธานสงฆ์ และเป็นผู้แทน นำกล่าวแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ตามด้วยพิธีมอบโล่ขององค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (ยพสล.) แก่ผู้สนับสนุนหลัก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในเชียงตุงและรัฐฉาน โดยมี นพ.พรชัย พิญญพงษ์ ประธาน ยพสล. เป็นผู้มอบ

 


    ต่อมา เป็นพิธีกล่าวคำถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พิธีกล่าวคำถวายจีวร พิธีกล่าวคำถวาย คิลานเภสัช พิธีกล่าวคำถวายค่ายานพาหนะ    พิธีกล่าวคำถวายภัตตาหาร และพิธีกล่าวคำอธิษฐานจิต โดยมีคณะกัลยาณมิตรผู้มีบุญจากประเทศไทยหลายท่าน เป็นผู้แทนนำกล่าว 


    เมื่อถึงเวลาอันควร ประธานฝ่ายฆราวาส แขกผู้มีเกียรติ คณะเจ้าภาพ และสาธุชนทุกท่าน พร้อมเพรียงกันถวายมหาสังฆทานแด่คณะสงฆ์ ๓๒๐ วัด กว่า ๓,๕๐๐ รูป และในเวลาประมาณ ๑๐.๔๕ น. ร่วมกันถวายภัตตาหารแด่คณะสงฆ์ ด้วยความปลื้มอกปลื้มใจ

 

 


    งานบุญใหญ่ขนาดนี้ แม้เพิ่งจัดขึ้นเป็น ครั้งแรกในนครเชียงตุงที่หลากหลายไปด้วยผู้คนต่างเชื้อชาติ ต่างภาษา ต่างศาสนา และต่างวัฒนธรรม แต่บรรยากาศในงานยังคงเปี่ยมไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ สงบ และมีระบบระเบียบ เช่นเดียวกับการจัดงานโดยออร์แกไนเซอร์       มืออาชีพระดับโลก ทั้งนี้เพราะทุกฝ่ายตั้งแต่คณะสงฆ์ หน่วยงานต่าง ๆ บุคคลสำคัญใน    รัฐฉาน ข้าราชการ นักเรียน นักศึกษา และพี่น้องประชาชนชาวเชียงตุง ต่างเห็นความสำคัญของงานพระศาสนา จึงพากันมาช่วยงานอย่างเต็มที่ และต่างให้ความร่วมมือกับทีมงานจากวัดพระธรรมกายเป็นอย่างดี หลายคนมารับบุญช่วยงานตั้งแต่ต้นจนจบด้วยความภูมิใจที่มีส่วนในความสำเร็จของงานบุญครั้งนี้ 


    แม้เย็นวันนี้ บริเวณวงเวียนห้าแยกวัดมหาเมียะมุนีกลับคืนสู่สภาพเดิมแล้วก็ตาม แต่ภาพการร่วมกันทำความดีในวันนี้ยังคงตราตรึงอยู่ในใจของทุกคนที่มีส่วนร่วมในงาน นอกจากนี้       การถ่ายทอดพิธีกรรมผ่านทางช่อง DMC ยังช่วยให้ชาวพุทธทั่วโลกมองเห็นภาพความรุ่งโรจน์    ของพระพุทธศาสนาในอนาคตได้ชัดขึ้น และอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ

 

 


    เหตุการณ์งานบุญที่เกิดขึ้นในเชียงตุงและในทวายเมื่อไม่นานมานี้ นับเป็นก้าวสำคัญของ การเชื่อมสัมพันธ์ชาวพุทธระหว่างประเทศในวงกว้าง เพื่อผนึกกำลังกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาทั้งในประเทศไทยและเมียนมาร์ให้เจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน ซึ่งจะส่งผลให้พระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้มั่นคงเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธให้แข็งแกร่ง  ซึ่งจะช่วยให้พุทธศาสนิกชนของทั้งสองประเทศมีภูมิคุ้มกันเพียงพอที่จะตั้งรับการถ่ายเท    วัฒนธรรมที่ไม่พึงปรารถนา ที่จะหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน    อย่างเต็มตัว และที่สำคัญ หากในอนาคตพุทธบริษัท ๔ ทั่วทั้งภูมิภาคมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว เราก็จะไม่ต้องเป็นเพียงฝ่ายที่คอยตั้งรับอีกต่อไป แต่เราจะมีศักยภาพเพียงพอที่จะเผยแผ่วัฒนธรรมอันดีงามของชาวพุทธให้หยั่งรากลึกไปทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียน และถึงแม้ว่าเรื่องนี้อาจไม่ง่ายนัก แต่ก็มิได้หมายความว่าเราจะทำไม่ได้ 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล