ฉบับที่ 77 มีนาคม ปี2552

อัญมณีแห่งล้านนา งานปอยหลวง ฉลองโบสถ์ วัดบ้านขุน

บทความบุญ
เรื่อง : อัญชลี เรืองจิต

 

 

 

          อากาศหนาวเย็นช่วงปลายเหมันตฤดู ยังแฝง มนต์เสน่ห์แห่งเมืองเหนืออย่างไม่เคยเสื่อมคลาย ช่วยบ่มเพาะรอยยิ้ม อันสดใสและสำเนียงอ่อนหวาน ของภาษาคำเมืองอันไพเราะ ภายใต้วิถีชีวิตอันเงียบ สงบ ในร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนา ที่บ่งบอกถึงความรุ่มรวยแห่งอารยธรรม ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของชาวล้านนาที่ประทับใจผู้มาเยือนมิรู้ลืม

         เช่นเดียวกับบรรยากาศการต้อนรับของเหล่าสาธุชนผู้ใจบุญ แห่งศรัทธาวัดบ้านขุน ต.บ่อหลวง อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ในงานปอยหลวง พิธีฉลองโบสถ์ ที่จัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ทำให้ทุกนาทีที่ผ่านไปกลายเป็น ภาพความประทับใจ ไปอีกนานแสนนาน

        ไม่ว่าใครก็ตามที่เดินทางมาถึงวัดบ้านขุนแห่งนี้ ต่างอุทานด้วยความดีใจเมื่อมองเห็นอุโบสถ ทรงล้านนาโบราณ งดงามสง่าอยู่เบื้องหน้า สีแดงตัดสีขาว สว่างของหลังคาอุโบสถสะท้อนแสงแดดดูงามระยับ โดดเด่นอยู่ท่ามกลางแมกไม้เขียวขจี จนกล่าวได้ว่า ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่ฝังรากหยั่งลึก มาหลายอายุคน ได้ก่อเกิดพุทธศิลป์อันงามวิจิตร ตระการตา ที่พาให้รู้สึกสงบลึกซึ้งอย่างยิ่ง

 

 

         ตรงกึ่งกลางหลังคาโบสถ์แห่งนี้มี "สัตบริภัณฑ์" ทรงยอดแหลมสีทองอร่าม จำลองเครื่องหมายแห่งขุนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ดุจชี้ทางพระนิพพานด้วยปรารถนาก้าวพ้นสังสารวัฏ

          ช่อฟ้าอ่อนช้อย ป้านลมโค้งเว้าฉลุลายหริภุญชัย ประดับหลังคาโบสถ์ซ้อนชั้นลดหลั่นกันลงมา ดั่ง การประนมมือไหว้ ด้วยความเคารพ ในพระรัตนตรัย ชายคาทอดลงครอบตัววิหาร เปรียบดังอาภรณ์ของ ชาวล้านนาผู้อ่อนน้อม และสงบงาม

         เหนือสิ่งอื่นใด คือ องค์พระประธาน ที่ชาวบ้าน เรียกว่า องค์หลวง ช่างดึงดูดสายตาผู้พบเห็น เพราะงดงามสง่าด้วยลักษณะ มหาบุรุษทุกประการ ตั้งแต่ก่อนเริ่มงานเหล่าสาธุชนทยอยเข้ามานมัสการ พระประธานและปิดทองลูกนิมิตอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ภายในอุโบสถเนืองแน่นด้วยผู้มีบุญจำนวนมาก จนเจ้าหน้าที่ต้องขอร้องเชื้อเชิญให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นชุดๆ

 

 

            ๐๙.๓๐ น. ริ้วขบวนต้อนรับเสลี่ยงท่านประธานสงฆ์ พระเดชพระคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วย พระราชาคณะและพระเถรานุเถระ กว่า ๒๕๐ รูป นำหน้าด้วยขบวนบุปผชาติ ตุง และขบวนรำฟ้อนตามอย่างประเพณีล้านนา เคลื่อนจากด้านหน้าทาง เข้าวัดบ้านขุนถึงอาคารรับรอง จากนั้น เจ้าภาพ ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณร ณ หอฉัน

         ๑๒.๓๐ น. เป็นพิธีฝังลูกนิมิต หรือเรียกเป็นทางการว่า "ผูกพัทธสีมา" คำว่า สีมา หมายถึง เขตแดนที่กำหนดไว้สำหรับ ทำสังฆกรรมของสงฆ์ เมื่อกำหนดเขตแดนแล้ว จึงเรียกเครื่องหมายบอก เขตแดนนี้ว่า "นิมิต" สำหรับการฝังลูกนิมิตอุโบสถวัดบ้านขุนแห่งนี้เป็นไปตามประเพณีนิยม โดยใช้ลูกนิมิตเพื่อผูกสีมาจำนวน ๙ ลูก โดยฝังตามทิศต่างๆ โดยรอบอุโบสถทั้ง ๘ ทิศ และฝังตรงกลางอุโบสถอีก ๑ ลูก เรียกว่า ลูกนิมิตเอก

 

 

           เมื่อเริ่มพิธี คณะสงฆ์ทุกรูปยืนเรียงเป็นแถวรายรอบอุโบสถในช่วงหัตถบาส โดยไม่ให้ขาดระยะ เพื่อทำพิธี "สวดถอน" ไม่ให้อาณาบริเวณที่จะกำหนดนี้ไปทับที่ที่เคยเป็นสีมาหรือเป็นที่ที่มีเจ้าของครอบครองอยู่ก่อน เมื่อครบทุกทิศแล้วคณะสงฆ์ ได้กลับเข้าไปในโบสถ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำพิธีตัดลูกนิมิตและ พิธีทักนิมิต

           คณะเจ้าภาพผู้ตัดลูกนิมิตทั้ง ๙ คณะ นำโดย ท่านประธานบุญพิธีผู้ตัดลูกนิมิตเอก คือ คุณเอกภพ คุณสุธาสินี เสตะพันธุ และครอบครัว เมื่อท่านประธานสงฆ์ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เดินทางมาถึงศูนย์กลางพิธี พระครูสังวรสิทธิโชติ เจ้าอาวาสวัดบ้านขุน ถวายธูปเทียนแพเครื่องสักการะ แด่ท่านประธานสงฆ์ ต่อด้วยพิธีอาราธนาศีล

            จากนั้น ท่านประธานบุญพิธี กล่าวรายงานต่อท่านประธานสงฆ์ คุณวิชิต บุญกังวาน นายอำเภอ ฮอด อ่านคำประกาศ พระราชทานวิสุงคามสีมา

 

 

          ๑๔.๐๐ น. พิธีกล่าวคำถวายอุโบสถ และถวาย องค์พระประธาน จากนั้นเจ้าภาพตัดลูกนิมิตทั้ง ๙ คณะ เข้าประจำพื้นที่ตัดลูกนิมิตรายรอบอุโบสถ คณะสงฆ์สวดชยันโต คณะเจ้าภาพตัดลูกนิมิตพร้อมกัน

         ๑๕.๓๐ น. พิธีถวายเครื่องไทยธรรม และถวาย อาคารเรียน ณ ศาลาอเนกประสงค์ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ท่านสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร คุณสมเกียรติ ศรลัมภ์ จุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัย และกล่าวคำถวายวัตถุทานเครื่องไทยธรรม

        เมื่อถึงเวลาสว่าง ท่านพระครูสังวรสิทธิโชติ เจ้าอาวาสวัดบ้านขุน น้อมถวายเครื่องไทยธรรมแด่ท่านประธานสงฆ์ เป็นลำดับแรก จากนั้นคณะเจ้าภาพ ถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระราชาคณะบริเวณอาสน์ สงฆ์ด้านหน้า แล้วก็ถึงช่วงเวลา แห่งความปลื้มปีติใจ เมื่อท่านประธานสงฆ์ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้เมตตาประทานโอวาท แก่ศรัทธาญาติโยม เรียกรอยยิ้มและหยาดน้ำตาแห่ง ความปีติสุข อิ่มเอิบเบิกบานในบุญไปทั่วบริเวณ

 

 

          วัดบ้านขุน นับเป็นต้นบุญต้นแบบให้กับบรรดา ญาติโยมนักบุญขุนเขาในพื้นที่ห่างไกล ศาสนสถาน และถาวรวัตถุทุกอย่างภายในวัด ล้วนสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์สูงสุดในการเผยแผ่ธรรมะไปสู่ใจชาวโลก ซึ่งภาพงานปอยหลวง ฉลองโบสถ์ในวันนี้ นับเป็นความสำเร็จในการประกาศชัยชนะแห่งพระพุทธศาสนา ที่สำคัญเปรียบดังการจุดประทีปธรรม ให้สว่างไสวบน ยอดดอยสูง นำมาซึ่งสันติสุขบนดินแดนล้านนาแห่งนี้ ไปอีกนานแสนนาน..

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล