ฉบับที่ 67 พฤษภาคม ปี 2551

เรื่องเร่งด่วนการศึกษาของชาติ (ตอนจบ)

พระธรรมเทศนา

 

 

ทำอย่างไรจึงจะสามารถผลักดันแนวคิดปรัชญาการศึกษานี้ให้เป็นผลสำเร็จในทางปฏิบัติ

         ในห้องเรียนหนึ่งๆ จะมีงานการศึกษา ๓ ด้านที่ต้องทำไปพร้อมๆ กัน

หนึ่ง คือ งานด้านการปลูกฝัง ได้แก่ งานปลูกฝังความเข้าใจถูกในการดำเนินชีวิตให้แก่คนที่ยังไม่รู้

สอง คือ งานด้านการพัฒนา ได้แก่ งานพัฒนาความเข้าใจถูกของคนที่รู้แล้วให้เข้มข้นยิ่งๆ ขึ้นไป

สาม คือ งานด้านการปรับปรุงแก้ไข ได้แก่ งานปรับปรุงแก้ไขคนที่เข้าใจผิดในการดำเนินชีวิตให้กลับมามีความเข้าใจที่ถูกต้อง

         โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การเริ่มต้นกระบวนการศึกษาของมนุษย์นั้น เริ่มต้นที่การสร้างความเข้าใจถูกในการดำเนินชีวิต ซึ่งต้องเป็นความเข้าใจถูกที่ตั้งอยู่บนหลักการ ๔ ประการ

๑) ตั้งอยู่บนหลักศีลธรรม

๒) ตั้งอยู่บนหลักกฎหมายของบ้านเมือง

๓) ตั้งอยู่บนหลักวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม

๔)ตั้งอยู่บนหลักความไม่ประมาท เพราะความดีต้องเร่งทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เนื่องด้วยความตายนั้น ไม่มีเครื่องหมายบอกล่วงหน้าว่าจะมาถึงตัวเมื่อไรก็ไม่รู้

      ถ้าความเข้าใจถูกในการดำเนินชีวิตของคนในชาติ ไม่ตั้งอยู่บนศีลธรรม ไม่ตั้งอยู่บนกฎหมายบ้านเมือง ไม่ตั้งอยู่บนวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามไม่ตั้งอยู่บนความไม่ประมาท นี่คือความล้มเหลวในการสร้างคน นี่คือความล้มเหลวของการศึกษา

       เพราะฉะนั้น ภารกิจนี้จึงไม่ใช่เป็นของเฉพาะครูในแต่ละห้องเรียน แต่รวมถึงพ่อแม่ในแต่ละบ้าน พระในแต่ละวัดที่มีทั้งงานปลูกฝัง
งานพัฒนา และงานปรับปรุงแก้ไขความเข้าใจถูกในการดำเนินชีวิตที่ต้องทำไปทั้ง ๓ ด้านพร้อมๆ กัน จึงจะสามารถเอาชนะความไม่รู้ ความทุกข์ และความกลัว ด้วยการไม่ทำผิดศีลธรรม ไม่ทำผิดกฎหมาย ไม่ทำลายจารีตประเพณีที่ดีงาม และไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต นี่คือความสำเร็จในการสร้างคน นี่คือความสำเร็จของการศึกษาอย่างแท้จริง

ทำอย่างไรจึงจะสร้างความเข้าใจถูก
ได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว
และเอาชนะปัญหาได้ทันการณ์
และไม่ทิ้งครูให้แก้ปัญหาอย่างโดดเดี่ยว

        วิธีง่ายๆ ที่มีบางโรงเรียนทำได้ผลมาแล้วก็คือ การจัดสอบตอบปัญหาธรรมะให้ครบทั้งพ่อแม่ ครู และนักเรียน
สำหรับพ่อแม่เป็นการจัดสอบเพื่อวัดความรู้ในเรื่อง "การดูแลครอบครัวให้อบอุ่น"

สำหรับนักเรียนเป็นการจัดสอบวัดความรู้ในเรื่อง "การพัฒนาชีวิตด้วยมงคลชีวิต ๓๘ ประการ"
และสำหรับคุณครูเป็นการจัดสอบความรู้ในเรื่อง "การสร้างคนให้เป็นคนดี"

ผลที่ได้รับก็คือ นักเรียนตั้งใจเรียน ไม่มีปัญหาเรื่องยาเสพติด และสอบเข้าเรียนต่อได้เพิ่มขึ้น พ่อแม่ก็ได้ครอบครัวที่อบอุ่น ครูอาจารย์ก็เบาแรงเพราะได้ลูกศิษย์ที่ดี

       การจัดสอบอย่างครบวงจรแบบนี้ ย่อมเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางศีลธรรมให้เกิดขึ้นในชุมชนด้วยการให้การศึกษาแก่ชุมชน โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลางซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างคนดีให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชนรอบโรงเรียนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แล้วละเลยปัญหาในจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่เหมือนกับตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือเป็นการแก้ปัญหาแบบอีกคนหนึ่งปลูกสร้างอีกคนหนึ่งทุบทำลายนั่นเอง

 

 

 

ใครบ้างที่ต้องเข้ามาร่วมมือกับ
งานด้านการศึกษาของชาติ

     การสร้างคนดี มิใช่หน้าที่เพียงลำพังของครูและกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น เพราะคนจะดีได้ต้องได้ต้นแบบจากสิ่งแวดล้อมที่ดี
ทั้งวัตถุต้นแบบ บุคคลต้นแบบ และวัฒนธรรมต้นแบบที่มีอยู่ในสังคม โดยผู้ที่ต้องมาช่วยกันทำหน้าที่เป็นต้นแบบ ในการสร้างคนร่วมกับครูและกระทรวงศึกษาธิการนั้น ประกอบด้วย

๑) สถาบันครอบครัว - พ่อแม่ผู้ปกครอง

๒) สถาบันการศึกษา - ครูอาจารย์

๓) สถาบันศาสนา - พระสงฆ์ นักบวช

๔) สื่อสารมวลชน - ทุกสาขา

๕) องค์กรเอกชน

๖) ภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาสังคม

        ทุกภาคส่วนต้องเข้ามาช่วยกันสร้างกระแสและสร้างต้นแบบที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมเพื่อให้ลูกหลานได้เห็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งงานนี้มีความอยู่รอดของประเทศชาติเป็นเดิมพัน ถ้าหากทุกคนไม่ร่วมมือกัน บอกได้คำเดียวว่า ประเทศไทยนี้ไปไม่รอด
เพราะคุณภาพของคนจะสู้ระบบการศึกษาโลกไม่ได้ มิหนำซ้ำผู้ใหญ่ยังเป็นต้นแบบที่ไม่ดี คอยสร้างมลพิษทางจิตใจซ้ำเติม เด็กเข้าไปอีก บ้านนี้เมืองนี้จะไปรอดได้อย่างไร

       ลองคิดดูว่า ผู้ใหญ่สร้างมลพิษทางจิตใจให้แก่เด็กตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ในขณะที่พ่อแม่สองคนช่วยกันดูแลลูก ไม่กี่คนและก็ไม่ได้ดูตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงด้วย แต่ในขณะที่ครูหนึ่งคนต้องดูแลเด็กนักเรียนเฉลี่ยห้องละ ๓๐-๔๐ คน และดูแลได้มาก ที่สุดเพียงวันละแปดชั่วโมงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติแล้วจึงเป็นไปไม่ได้ที่ครูหนึ่งคนจะดูแลนักเรียนทั้งห้อง ให้ปลอดภัยอย่างทั่วถึงทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียนตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

       ดังนั้น หากหลายๆ ฝ่ายไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกันสร้างระบบการศึกษาที่ก่อให้เกิดปัญญา ในการดำเนินชีวิตที่มีพื้นฐานความเข้าใจถูกในการดำเนินชีวิต ๔ ประการ คือ

๑) การสร้างสัมมาทิฐิ ๑๐ ประการ

๒) การศึกษากฎเกณฑ์ประจำโลกและชีวิต ๔ ประการ

๓) การรับผิดชอบความอยู่รอดของสังคม ๔ ประการ

๔) การดูแลห้าห้องชีวิตให้เหมาะแก่สร้างคนดีดังกล่าวแล้วข้างต้น ประเทศชาติของเราต้องไปไม่รอดอย่างแน่นอน


ดั่งคำกล่าวของผู้รู้ว่า

เราไม่อาจปลูกต้นไม้ให้งอกงาม
ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษ ฉันใด
การศึกษาของชาติก็ไม่อาจ
สร้างคนให้เป็นคนดีได้ หากปราศจากความร่วมมือ
จากทุกฝ่ายในการสร้างสิ่งแวดล้อม
ที่เหมาะแก่การสร้างคนดี ฉันนั้น 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล