ฉบับที่ 69 กรกฏาคม ปี 2551

พิธีรับมอบและเฉลิมฉลองพระประธาน ณ ดินแดน ศรีลังกา

เรื่องเด่น
เรื่อง : กองบรรณาธิการ

 

 

 

    เหตุที่กล่าวข้างต้น ก็เพราะว่าจากหลักฐานสำคัญใน "คัมภีร์มหาวงศ์" ซึ่งเป็นพงศาวดารและตำนานพระพุทธศาสนาของศรีลังกา มีเนื้อหาที่บันทึกไว้ว่าเมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ชีพเคยเสด็จไปลังกาทวีปถึง ๓ ครั้ง และยังได้บันทึกเรื่องราวของเจ้าชายวิชัย

     โอรสของพระเจ้าสีหภาหุ ที่เดินทางจากแคว้นลาฬะ ไปก่อตั้ง อาณาจักรสิงหลในลังกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ ที่พระพุทธองค์กำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์จึงได้ทรงรับสั่งกับท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ว่า "ลังกาจะเป็นที่ประดิษฐานศาสนาของตถาคต ขอให้ท้าวสักกะคุ้มครองเจ้าชายวิชัยพร้อมด้วยบริวารและลังกาด้วยเถิด"

   ซึ่งท้าวสักกะ ทรงรับดำเนินการให้เป็นไปตามพุทธประสงค์ข้อความในคัมภีร์มหาวงศ์ ดังกล่าวได้ปลูกฝังและหล่อหลอม ให้ชาวสิงหลเชื่อมั่นว่า ชาวสิงหลเป็น ผู้ถูกกำหนดให้พิทักษ์รักษาพุทธศาสนา และศรีลังกา เป็นแดนแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้วยเหตุนี้ พระพุทธศาสนาจึงอยู่ในวิถีชีวิต และจิตวิญญาณของ ชาวพุทธศรีลังกา ทุกคนมาตลอดหน้าประวัติศาสตร์ กว่า ๒,๕๐๐ ปี

 

 

"ศรีลังกา" จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูคำสอนดั้งเดิม

         ด้วยความปรารถนาที่จะสืบสานมโนปณิธานของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่มุ่งขยายวิชชาธรรมกาย อันเป็นคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมา สัมพุทธเจ้าไปทั่วโลก พระราชภาวนาวิสุทธิ์จึงมีดำริ ที่จะถวายองค์พระประธาน ซึ่งเป็นพุทธปฏิมากรกายมหาบุรุษ ที่จำลองมาจากพระธรรมกายภายใน เพื่อนำไปถวายวัดต่างๆ ทั่วโลก โดยเริ่มต้นที่ประเทศ ศรีลังกาจำนวน ๒๒๒ องค์เนื่องจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์ได้เล็งเห็นว่า ศรีลังกาเป็นดินแดนพระพุทธศาสนา อันเก่าแก่รองจากประเทศอินเดีย แต่ยังคงรักษาความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาเอาไว้ได้ตราบจนปัจจุบัน อีกทั้ง ความสัมพันธ์ทางด้านพระพุทธศาสนาระหว่างไทยกับศรีลังกาที่มีมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่ คณะสงฆ์ลังกาเดินทาง มาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบ อาณาจักรศรีวิชัยเมื่อพันกว่าปีที่แล้ว ซึ่งต่อมาได้แผ่ขยายเข้าสู่กรุงสุโขทัย รวมถึงการที่ประเทศสยามส่งคณะสงฆ์ไปช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาด้วยการอุปสมบท ให้แก่กุลบุตรชาวศรีลังกาเมื่อประมาณ ๒๕๐ ปีก่อน จนเป็นจุดกำเนิดของคณะสงฆ์ลังกาที่ได้เรียกขาน กันว่า "สยามวงศ์" หรือ "สยามนิกาย"ซึ่งในปัจจุบันศรีลังกามีวัดทั่วประเทศประมาณ ๙,๐๐๐ แห่ง และเป็นวัดในสังกัดของสยามนิกายถึงกว่า ๕,๐๐๐ วัด รวมถึงวัดเก่าแก่ และเจดียสถานต่างๆ ที่สำคัญทาง พระพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของคณะสงฆ์สยามนิกายทั้งสิ้น

        และด้วยพื้นฐานความสัมพันธ์อันแนบแน่น ของทั้งสองประเทศเช่นนี้ ประเทศศรีลังกาจึงมีความเหมาะสม อย่างยิ่งที่จะอัญเชิญ องค์พระประธาน กายมหาบรุษไปประดิษฐาน เพื่อเริ่มต้นภารกิจ การฟื้นฟูคำสอนดั้งเดิม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปสู่ชาวโลก ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ได้ดำเนินการจัดสร้างและประกอบพิธีกรรมต่างๆ

      จนกระทั่งถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา องค์พระประธาน จำนวน ๒๒๒ องค์ ได้ทยอยเดินทางไปถึงประเทศศรีลังกาตามกำหนดการ และพร้อมจัดพิธีเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นข่าวที่นำความปลื้มปีติ ยินดีมาให้แก่พุทธบริษัททั้งชาวไทย และชาวศรีลังกา ทุกคน

 

 

พิธีเฉลิมฉลองพระประธาน"ครั้งประวัติศาสตร์"

        วันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาอีกวาระหนึ่ง เมื่อ รัฐบาลศรีลังกาได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองพระประธานที่ได้รับมอบจากพระราชภาวนาวิสุทธิ์ อย่างเป็นทางการ ณ เมืองมาตะเล ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในตอนกลางของประเทศศรีลังกา และเป็นเมืองสำคัญ ทางประวัติศาสตร์ที่มีการทำ สังคายนาพระไตรปิฎก และจารึกลงบนใบลานเป็นครั้งแรกด้วยภาษาสิงหลพิธีในครั้งนี้ จัดขึ้นที่ Bernard Aluviharaya Stadium

     โดยทางรัฐบาลศรีลังกาได้เชิญบุคคลสำคัญ เข้าร่วมพิธี ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากหลายกระทรวง สมาชิกวุฒิสภา และในส่วนของคณะสงฆ์ศรีลังกานั้น ได้รับความเมตตาจากสมเด็จพระสังฆราช และ พระเถรานุเถระ รวมถึงคณะสงฆ์อีกกว่า ๒,๐๐๐ รูป จากทุกนิกายในศรีลังกา สำหรับตัวแทนของคณะสงฆ์ จากวัดพระธรรมกาย นำโดยพระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งเป็นผู้แทนของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ ประธานมูลนิธ ิธรรมกายพร้อมทั้งตัวแทนคณะท่านเจ้าภาพ ที่ได้ร่วมสร้างองค์พระประธานถวายวัดในประเทศ ศรีลังกา นำโดย ดร.ประกอบ จิรกิติ และท.พ.สุวัฒน์ทพญ.วิไล สุริยาแสงเพ็ชร เป็นต้น

       พิธีเริ่มต้นขึ้น เมื่อขบวนของวงดุริยางค์ ทั้งแบบ สากลและแบบสิงหล เดินนำคณะท่านผู้มีเกียรติชาวศรีลังกาเข้าสู่พื้นที่ จากนั้นเป็นการเชิญธง อันประกอบไปด้วย ธงชาติศรีลังกา ธงชาติไทย ธงฉัพพรรณรังสี ธงองค์กรยุวพุทธสงฆ์โลก ธงธรรมจักร และธงมูลนิธิธรรมกาย ทั้งหมดได้ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาโดยพร้อมเพรียงกันด้วยเพลงชาติของศรีลังกา จากนั้นเป็น การปาฐกถาจาก บุคคลสำคัญของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาสของศรีลังกาที่กล่าวแสดงความยินดีที่ ได้จัดให้มีพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา และซาบซึ้งในไมตรีของ พระราชภาวนาวิสุทธิ์ และวัดพระธรรมกายเป็นอย่างยิ่งจากนั้น เป็นพิธีอาราธนาศีล ๕ เป็นภาษาสิงหล โดยพระมหาเถระชาวศรีลังกา ต่อด้วยพระครู ปลัดภูเบศ ฌานาภิญฺโญ นำนั่งสมาธิโดยแนะนำให้ ชาวศรีลังกาวางใจเบาๆ และตรึกนึกถึงองค์พระประธาน ซึ่งเป็นตัวแทนของพระธรรมกาย ไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่เจ็ด ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาสิงหล โดยท่านพระธรรมรักขิตตะเมื่อเริ่มนั่งสมาธิ แสงแดด ที่ร้อนก็พลันหรี่ลง และมีลมพัดโชยมาทำให้อากาศในบริเวณพิธีเย็นสบาย ทำให้ทุกคนต่างนั่งสมาธิด้วยความสงบนิ่งเป็นเวลา ๓๐ นาที ซึ่งจากการสอบถามคณะสงฆ์และสาธุชนที่มีร่วมงาน หลายท่าน กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจมากที่สามารถนึก องค์พระประธานไปปรากฏอยู่ในกลางท้องได้อย่างง่ายดาย รู้สึกสงบและมีความสุขมากหลังจากนั้น เป็นพิธีรับมอบองค์พระโดยตัวแทนของคณะกัลยาณมิตรจากประเทศไทยมอบถวายพานดอกไม้ให้แก่สมเด็จพระสังฆราชศรีลังกา และพระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญฺโญ ซึ่งรับถวายพานดอกไม้พร้อมกัน และนำพานดอกไม้ไปบูชาที่ฐานขององค์พระประธาน ปิดท้ายด้วยการที่คณะสาธุชนร่วมถวายภัตตาหารเพล และปัจจัยไทยธรรม แด่คณะสงฆ์ศรีลังกาจำนวน ๒,๐๐๐ รูป

       หลังจากพิธีเสร็จ  ชาวศรีลังกาต่างพากันกรูเข้าไปกราบองค์พระประธาน พร้อมทั้งนำมือ ทั้งสองข้างแตะองค์พระและก้มศีรษะลงกราบด้วยความเคารพสูงสุด จากนั้น วัดต่างๆ ที่ได้รับองค์พระ ต่างก็ตกแต่งขบวนรถด้วยดอกไม้อย่างประณีตและสวยงาม เพื่ออัญเชิญองค์พระประธานกลับ ไปประดิษฐานที่วัด จากนั้นจึงค่อยๆ เคลื่อนขบวนรถออกจากบริเวณพิธี พร้อมด้วยเสียงฆ้อง กลอง และเสียงสวดมนต์ของสาธุชนเพื่อนำองค์พระกลับไป จัดพิธีสมโภชในวันรุ่งขึ้นต่อไป พิธีรับมอบและเฉลิมฉลององค์พระประธานในครั้งนี้ นับเป็นภาพอันงดงามที่ก่อให้เกิดความปลื้ม ปีติใจอย่างไม่มีประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวแทน คณะสงฆ์และคณะกัลยาณมิตรจากประเทศไทย ที่ได้เดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้ ซึ่งหลายท่านล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกปลื้มปีติจนน้ำตาไหล เมื่อได้เห็นพลัง ศรัทธาของชาวศรีลังกาที่มีต่อ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทำให้เกิดความมั่นใจว่า พระประธานทุกองค์ที่ได้ถวายไปนั้น จะเป็นประโยชน์ อย่างมหาศาลต่อชาวศรีลังกา ที่จะได้มีโอกาสรู้จักกับคำว่า "ธรรมกาย" และจะได้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนดั้งเดิมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายภายใน และเกิด กุศลศรัทธาที่จะมาช่วยกันเผยแผ่คำสอนอันทรงคุณค่านี้ไปสู่ดวงใจของชาวโลกต่อไป

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล