ฉบับที่ 112 กุมภาพันธ์ ปี2555

หลวงพ่อตอบปัญหา ทำงานอย่างไร...ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย?

 

ทำงานอย่างไร...

ให้มีกำลังใจ ไม่ท้อแท้ท้อถอย?

 

 

        " คุณยายมีหลักในการทำงานคือ " เอาบุญของเราเป็นตัวตั้ง" นอกนั้นเป็นผลพลอยได้ หมายความว่าผลหลัก ที่เกิดจากงานคือบุญ นี่เป็นสิ่งที่คุณยายท่าน จะเก็บเกี่ยวไปเป็นของท่า

     ในเรื่องนี้หลวงพ่อขอนำคุณยายอาจารย์ฯ มาเป็นแบบอย่าง ตลอดเวลาที่ผ่านมาหลวงพ่อเห็นคุณยาย ท่านทำงานสร้างวัดพระธรรมกายด้วยความกระตือรือร้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะมีอุปสรรค ยากเย็นแสนเข็ญเพียงใด ก็ไม่เคยเห็นท่านท้อแท้ท้อถอยแม้แต่ครั้งเดียว เราลองมาศึกษาและพิจารณาดูหลักการทำงานของท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานและการสร้างกำลังใจให้ตัวของ เราเอง

          เริ่มตั้งแต่ประการแรก คือ " หลักคิดในการทำงาน ของคุณยายอาจารย์ฯ "

          เมื่อครั้งที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ตั้งคำถามกับลูกศิษย์ที่นั่งสมาธิอยู่ในโรงงานทำวิชชาว่า

          "พวกเราที่นั่งทำวิชชากันอยู่ในที่นี้ ทำเพื่อใคร?"

          คำถามสำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่นี้ ท่านไม่ได้ถามแก่ใครทั่วไป แต่ถามกับผู้ที่ นั่งสมาธิทำวิชชาธรรมกายได้แล้ว และไม่ใช่เพิ่งจะเริ่มทำวิชชา แต่เป็นผู้ที่ทำวิชชากันมานานเป็น ปี ๆ จนมีความก้าวหน้าในการทำวิชชากันแล้ว นั่นแหละคือบุคคลที่หลวงปู่ตั้งคำถามนี้ให้ตอบ

          การทำวิชชานั้นเป็นการทำงานทางใจ ที่มีเป้าหมายคือปราบกิเลสในตัวเอง และปราบมารซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้กิเลสมนุษย์กำเริบด้วย ผู้ที่ทำวิชชาปราบมารจะต้องมีคุณสมบัติ คือ เข้าถึงพระธรรมกายได้ชัด เข้ากลาง ๑๘ กาย ได้ชำนาญ ระลึกชาติตัวเองได้ ระลึกชาติคนอื่นได้ ระลึกชาติได้ไกลขนาดไหนก็ปราบกิเลสไปได้เท่านั้น

          คำถามนี้แหละที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านถามบรรดาเหล่าผู้ทำวิชชา ซึ่งมีทั้งฝ่ายพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ฝ่ายละ ๓๐ รูป/คน ว่ากำลังทำเพื่อใคร? บ้างก็ตอบว่าทำเพื่อพระเดชพระคุณหลวงปู่ บ้างก็ว่าทำเพื่อพระพุทธศาสนา บ้างก็ตอบว่าทำเพื่อพระพุทธเจ้า บ้างก็ว่าทำเพื่อให้ได้บุญ มาก ๆ

          แต่คำตอบของคุณยายอาจารย์ฯ คือ ทำเพื่อตัวเอง เป็นคำตอบที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านพอใจที่สุด

          การที่ปราบกิเลสในตัวเองก็เพื่อจะไม่ต้องเป็นบ่าวเป็นทาสของกิเลส ซึ่งคอยบังคับควบคุมใจให้คิด พูด ทำ ก่อบาปอกุศลกรรมต่าง ๆ และถ้าจะให้ดีกว่านั้น ก็ต้องปราบมารซึ่งควบคุมกิเลสอีกที เมื่อปราบมารสำเร็จก็จะไม่มีกิเลสมาบีบบังคับใจของใครได้ งานทั้งหมดนี้เป็นการทำเพื่อตัวเอง แต่ผลพลอยได้นั้นได้ทั่วถึงทุกคนหมดทั้งโลก

          หลวงพ่ออยากให้ดูตรงนี้ให้ชัด การทำงานทุกอย่างมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น " ผลหลัก " และ "ผลพลอยได้ " ผลหลักเกิดขึ้นต่อตัวผู้ทำ ส่วนผลที่เกิดแก่คนอื่นๆ ด้วยนั้นจัดเป็นผลพลอยได้ คุณยายท่านมีหลักคิดตรงนี้ชัดว่า การงานทุกอย่างล้วนทำเพื่อตัวเอง ผลหลักหรือผลแรกที่เกิดก่อนย่อมเกิดแก่ผู้ทำก่อนเป็นคนแรก

          การทำงานนั้นเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเหน็ดเหนื่อย แต่นั่นเป็นแค่ส่วนของร่างกายเท่านั้น เพราะกล้ามเนื้อทำงานมากย่อมล้าต้องการการพักผ่อน แต่ไม่เหนื่อยใจ ไม่หน่ายที่จะทำต่อไป มีแต่ความกระตือรือร้นที่จะทำให้ยิ่งๆ ขึ้นไป คุณยายท่านมีหลักในการคิดหรืออาจจะเรียกว่าทัศนคติที่ถูกต้องต่อการทำงาน ท่านจึงไม่เหนื่อยหน่ายในการที่จะทำงานคือการสร้างบุญสร้างบารมีของท่าน

          ประการที่ ๒ คือ "หลักในการทำงาน ของคุณยายอาจารย์ฯ"

          คุณยายมีหลักในการทำงาน คือ " เอาบุญของเราเป็นตัวตั้ง นอกนั้นเป็นผลพลอยได้ " หมายความว่าผลหลักที่เกิดจากงานคือบุญ นี่เป็นสิ่งที่คุณยายท่านจะเก็บเกี่ยวไปเป็นของท่าน ส่วนผลงานที่เกิดขึ้น ใครจะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป จัดเป็นผลพลอยได้จากการทำงานของท่าน

          หลวงพ่อขอยกตัวอย่าง การทำงานของคุณยายสักเรื่องหนึ่ง ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน หลวงพ่อก็ได้อาศัยทุกอย่างที่คุณยายทำไว้ให้ แม้อาสนะที่พระนั่งฉันในหอฉันทุกวันนี้ก็เป็นผลงาน ของคุณยาย เรื่องการเลือกอาสนะที่นั่งของพระเวลาฉันภัตตาหารในหอฉัน คุณยายท่านมองว่า การที่อาสนะที่นั่งฉันของพระจะก่อให้เกิดบุญได้เต็มที่ ควรจะดูแลให้ครอบคลุมถึงผลทุกอย่างที่จะเกิดจากการใช้อาสนะ

          คุณยายท่านมองอย่างไร ข้อแรก ท่านมองถึงความสะดวกสบายของพระภิกษุผู้ขบฉัน ข้อที่สอง ท่านมองถึงความสะดวกสบายของญาติโยม และข้อที่สาม ซึ่งเป็นประการสำคัญ ท่านมองถึงความน่าเลื่อมใส น่าศรัทธา ในตัวพระภิกษุและพระพุทธศาสนา

          เริ่มต้นท่านก็ประชุมหารือกันในหมู่คณะว่า เวลาพระฉันจะนั่งกันอย่างไร ต่างก็ช่วยกันคิดหาทางเลือกที่เป็นไปได้ซึ่งมีอยู่หลายทาง เช่น ปูเสื่อนั่งฉันสบาย ๆ หรือนั่งเก้าอี้ก็สะดวกดี หรือจะให้มีอาสนะทำเป็นตั่งเป็นแท่นนั่ง ที่ประชุมถกเถียงกันไปมาตามแต่ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาต่าง ๆ กัน

          คุณยายท่านเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดให้ ท่านบอกว่าพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านทำต้นแบบไว้ดีแล้ว คือยกเป็นแท่นเป็นอาสนะขึ้นมา แล้วคุณยายก็เมตตาแจกแจง เหตุผลข้อดีข้อด้อยของแต่ละทางเลือก เพื่อให้ทุกรูปทุกคนได้เข้าใจชัดเจนตรงกันว่า

          ถ้านั่งกับพื้น ระดับมันก็เสมอกันกับญาติโยม เวลาที่ญาติโยมจะเข้ามาประเคนก็จะลำบาก ดูไม่เรียบร้อย ดูไม่งาม

          การนั่งเก้าอี้นั้น เวลาถวายสังฆทาน เวลาถวายของ พระจะหันหน้าไปคนละทางสองทาง หันหน้าให้โยมบ้าง หันหลังให้โยมบ้าง แม้ได้ความสะดวกสบาย แต่ขาดความศักดิ์สิทธิ์ อย่าไปทำ

          คุณยายท่านให้ทำอย่างที่หลวงปู่ท่านทำไว้ดีแล้ว คือยกแท่นขึ้นมา เวลาถวายสังฆทาน ไม่ว่าใครจะนั่งอยู่ตรงอาสนะไหน ก็หันหน้าให้ญาติโยมได้ทุกทิศ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่น่าเลื่อมใส แต่ในส่วนขนาด ความสูง ความกว้าง ความยาว หรือรูปแบบการจัดรายละเอียด ต่าง ๆ นั้น เนื่องจากเป็นคนละสถานการณ์ ให้ไปคำนวณหากันเอาเอง ไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับที่วัดปากน้ำ

          การที่ท่านคิดอย่างนี้ สั่งอย่างนี้ ท่านได้บุญเพื่อตัวท่านไปแล้ว ผลพลอยได้ก็คือพระมี ที่ฉันที่ใช้กันอย่างสะดวกสบาย ญาติโยมมาทำบุญได้สะดวก เพิ่มพูนกุศลศรัทธาให้แก่พุทธบริษัท ทั้งฝ่ายพระภิกษุ ฝ่ายญาติโยม ซึ่งจะมีผลทำให้พระพุทธศาสนาสืบทอดไปได้อีกยาวไกล

          งานครั้งนี้ของคุณยายเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาได้ ท่านจึงได้บุญเต็มที่ เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะการทำงานของท่านเป็นวิธีทำงานที่ยึดบุญเป็นหลัก ลูกศิษย์ต่างได้อาศัย ผลพลอยได้นี้ไปทำสิ่งต่าง ๆ ที่จะเป็นผลหลักคือบุญเกิดแก่ตัวเองต่อไป เมื่อทำเช่นนี้จึงจะเป็นบุญต่อบุญกันเรื่อยไปไม่รู้จบ

          แล้วในการคิดทำงานโดยเอาบุญเป็นตัวตั้งอย่างนี้ เป็นความอัศจรรย์ที่จะไม่มีใครบดบังรัศมีใคร จะทำงานไปด้วยกันได้ทุกฝ่าย ไม่มีใครขัดใคร ไม่มีใครได้ประโยชน์แล้วอีกฝ่ายเสียประโยชน์ ทุกคนทุกฝ่ายจะมีแต่ได้ประโยชน์กับได้ประโยชน์ เหมือนกับการเอาดวงอาทิตย์เป็นตัวตั้ง ในเวลา กลางวัน เราเดินทางไปที่ใด ดวงอาทิตย์ตามไปด้วย ไม่ว่าองศาดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนไปอย่างไร ดวงอาทิตย์ก็ยังส่องสว่างอยู่เหนือศีรษะเราทุกคน

          ดังนั้น เมื่อเราทำการงานใดก็ตาม ถ้าเอาบุญเป็นตัวตั้งอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะมีแต่ได้กับได้ กันทุกคน และก็ทำให้ทุกคนปลื้มใจ อิ่มใจในบุญ ไม่รู้สึกท้อแท้ท้อถอยในการทำความดี แม้บางครั้งร่างกายอาจจะเหนื่อยล้า แต่เรามีหลักคิดแล้วว่า เมื่อเราทำความดี คนที่ได้บุญก็คือตัวเรา ส่วนผลพลอยได้ที่ตามมานั้น ก็คือผลดีที่เกิดขึ้นกับส่วนรวม เราทำมากเท่าไร ก็เป็นผลบุญที่เกิดขึ้นกับตัวเราและผลดีที่เกิดขึ้นกับส่วนรวมมากเท่านั้น ทำให้ไม่ว่าจะมีอุปสรรคยากลำบากใด ๆ เกิดขึ้น เราก็ยกใจข้ามอุปสรรคไปได้ เพราะมีผลบุญที่เราจะได้รับเป็นตัวตั้งนั่นเอง

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล