ฉบับที่ 74 ธันวาคม ปี 2551

หลวงพ่อตอบปัญหา นั่งสมาธิ เรียนดีจริงหรือเปล่า?

 

 

 

 

 

              การให้ลูกนั่งสมาธิ จะช่วยให้การเรียนดีขึ้นได้ จริงหรือเปล่า

 

 

           การที่ฝึกให้ลูกของเราทำสมาธิตั้งแต่เล็กๆ นั้น เป็นเรื่องดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ ไม่ใช่ดีเฉพาะในเรื่องการเรียนของเด็ก แต่ว่าดีในเรื่องอื่นๆ ตามมาเยอะแยะเลย

 

 

        การที่ฝึกให้ลูกของเราทำสมาธิตั้งแต่เล็กๆ นั้น เป็นเรื่องดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ ไม่ใช่ดีเฉพาะ ในเรื่องการเรียนของเด็ก แต่ว่าดีในเรื่องอื่นๆ ตามมาเยอะแยะเลย ก่อนอื่นต้องเข้าใจหลักการ ของการฝึกสมาธิก่อน การจะฝึกเด็กให้ทำสมาธิ มีข้อแม้ขั้นต้นดังนี้

         ข้อที่ ๑. จะต้องรู้จักวิธีฝึกที่ถูกต้องก่อน เช่น ฝึกกำหนดลมหายใจเข้าออก ฝึกกำหนดเป็นองค์พระ เป็นดวงแก้วขึ้นมาในใจ ซึ่งแต่ละวิธีก็มีเทคนิคเฉพาะของเขา ตรงนี้เราต้องรู้ให้ชัดเจน
           ข้อที่ ๒. เมื่อรู้วิธีฝึกชัดเจนแล้ว สิ่งที่ต้องตามมาอีกก็คือ จะต้องฝึกให้ตรงเวลาเป็นประจำ เช่น ฝึกก่อนนอน ฝึกแต่เช้ามืด พอตื่นขึ้นมาก็นั่งสมาธิ เป็นต้น เมื่อถึงเวลาฝึกก็ต้องฝึกกัน แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะฝึกสมาธิอย่างนี้เท่านั้น แม้การทำอะไรอย่างอื่น ก็ต้องให้เขารู้จักประคองสมาธิเข้าไปด้วย นี่คือความหมายของการฝึกสมาธิ ตั้งแต่เล็กของลูกเรา
           คราวนี้ เมื่อลูกของเราถูกสอนให้ฝึกสมาธิเป็นตั้งแต่เล็ก เราจะได้อะไร
          ขั้นต้นได้ความตรงเวลาของลูก การที่ลูกเรา เป็นคนตรงต่อเวลาอย่างนี้ ดูเผินๆ ก็ไม่อัศจรรย์ แต่จริงๆ แล้วอัศจรรย์ คือ เท่ากับว่าเรากำลังฝึกลูกของเราให้รู้จักตัดสินแล้วก็ตัดใจเป็น เด็กทุกคนในโลกจะติดเล่น เมื่อติดเล่น เด็กจะไม่ตรงเวลา แต่เมื่อเราให้เด็กมาติดการฝึกสมาธิ แล้วก็ตรงเวลา เพราะฉะนั้นไม่ว่าแกจะเล่นอะไร สนุกอย่างไรก็ตาม พอถึงเวลาฝึกสมาธิ ให้มาฝึกทันที ก็เลยกลายเป็นว่าในขณะที่ฝึกสมาธินั้น ก็เป็นการฝึกตัดใจไปด้วย ตัดใจจากเรื่องสนุกที่เล่นอยู่
            ความสามารถในการตัดใจ ของคนเราเป็นสิ่งที่จำเป็น ขั้นพื้นฐานของชีวิตทีเดียวว่า ต่อไปข้างหน้าเด็กคนนั้น เมื่อโตขึ้นจะเป็นคนที่นอกจากตัดสินเรื่องราวต่างๆ ว่าดีชั่ว ผิดถูกได้แล้ว ยังตัดใจได้อีกด้วย เมื่อรู้ว่าผิดตัดใจทิ้งไปเลย เมื่อรู้ว่าถูกก็ทุ่มเทจิตใจลงไปเลย
      เมื่อเราฝึกลูกให้ใจ เป็นสมาธิเป็นประจำๆ จะมีผลดีไม่เฉพาะ แต่การตัดใจจาก เรื่องเล่นหรือ เรื่องสัพเพเหระเท่านั้น เนื่องจากการฝึกสมาธินั้น เป็นเรื่องของการตัดใจทิ้งเรื่องราว ที่ไม่ควรจะคิดออกจากใจไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลาลูกเราไปเรียนหนังสือ เรื่องรกใจต่างๆ เขาก็จะตัดทิ้งออกไปจากใจได้ การเรียนของลูกก็จะต้อง ดีขึ้นเป็นธรรมดา
            แต่ตรงนี้หลวงพ่ออยากจะให้ข้อคิดสะกิดใจไว้อีกนิดหนึ่งว่า อย่างไรก็ตาม การที่เด็กจะตัดสินและตัดใจได้ดีขึ้น มีความสามารถที่จะอ่านหนังสือ จะทำการบ้านได้ ต่อเนื่องดีขึ้น ห้ามเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ให้เปรียบเทียบกับ ตัวของเขาเองว่าก่อนฝึกเขาเป็นอย่างไร แล้วหลังฝึกดีขึ้นกว่าเดิมมากไหม อย่าไปตั้งความหวังไว้ว่า เมื่อลูก ของเราลงมือฝึกสมาธิแล้ว คงจะได้เป็นที่หนึ่งในห้องหรืออะไรอย่างนี้ ไม่ใช่ ถ้าอย่างนั้นผิด เพราะว่าเอาตัวของลูก ไปเปรียบกับคนอื่น ซึ่งคนอื่นบางคนเขาอาจจะมีสมาธิติดตัวข้ามภพข้ามชาติมาเยอะ คือแม้เขาไม่ได้ฝึก แต่ใจเขาก็เป็นสมาธิมากกว่าลูกของเรามาตั้งแต่เล็กแล้ว ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ดี อย่าตั้งความหวังผิดๆ เดี๋ยวจะผิดหวัง
             แต่ว่าเมื่อเราฝึกลูกของเราให้ทำสมาธิจนเคย เราพอจะหวังได้ทีเดียวว่า ลูกเราอย่างไรก็เรียนดีขึ้น แล้วจะเป็นคนดีขึ้น ดีในที่นี้ก็คือ มีจิตใจสงบเยือกเย็น เรียนอาจจะ ไม่ได้ท็อป แต่ความสงบเยือกเย็นเป็นต้อง ยอมรับกันทั้งบ้านทั้งเมืองขึ้นมาทีเดียว ถ้าเขาได้ปูพื้นฐานในเรื่องของ การฝึกสมาธิมาตั้งแต่ต้น ความอดทนของเขาจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะอดทนต่อการกระทบกระทั่ง อดทนต่อความยั่วเย้า เย้ายวนต่างๆ อดทนที่จะทำการบ้าน อดทนที่จะอ่านหนังสือค้นคว้าตำรับตำราได้นานๆ ซึ่งจากความอดทนตรงนี้ จะกลายเป็นความขยัน กลายเป็นความน่ารัก กลายเป็นความดีอีกต่างๆ นานาเกิดขึ้นแก่ลูก ของเรา ถ้าตรงนี้เราหวังได้ทีเดียว อย่างนี้หวังไม่ผิด แล้วเราก็เลยไม่ต้องไปผิดหวัง เพราะฉะนั้นภาพตรงนี้ต้องชัดด้วย

       

"...การที่ฝึกให้ลูกของเราทำสมาธิตั้งแต่เล็กๆนั้น เป็นเรื่องดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ ไม่ใช่ดีเฉพาะเรื่องเรียนของเด็ก แต่ว่าดีในเรื่องอื่นๆ ตามมาเยอะแยะ..."

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล