ฉบับที่ 92 มิถุนายน ปี2553

สมการชีวิต

เรื่อง โค้ก อลงกรณ์

 

 

สมการชีวิต

เมื่อต้นฤดูฝนที่ผ่านมานี้ คุณครูไม่ใหญ่ได้สอนสมการไว้ ๒ สมการ

           สมการโดนดูดกับสมการโดนดีด

           ดูด = ดู - ดัน

         ดีด = ดู + (ดัน ยกกำลังสอง)

           ฟังเพลิน ๆ ผ่าน ๆ ชวนให้รู้สึกขำ ๆ แต่ว่าทำให้เราจำได้อย่างดี

           สมการทั้ง ๒ นี้ ช่วยเตือนย้ำในเรื่องการปฏิบัติธรรมว่า ควรทำและไม่ควรทำอะไร?...อย่างไร?

           เมื่อหลับตาทำใจสงบนิ่ง ๆ จนถึงจุดที่ใจจะถูกดูดเข้าสู่ความสว่างภายในนั้น สิ่งที่สมการแรกบอกให้ทำก็คือ ให้มองดูอยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ปล่อยใจให้ไหลลื่นเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องออกแรงดันใด ๆ เลยแม้แต่นิดเดียว ผลลัพธ์ที่ได้จากสมการเท่ากับ ใจถูกดูด

           แต่หากใจดื้อดึงใช้แรงผลักดัน และยิ่งออกแรงดัน แทนที่ผลลัพธ์จะออกมาอย่างสมการโดนดูด กลับจะออกมาเป็นตรงกันข้าม ดังสมการที่ ๒ คือมีค่าเท่ากับใจจะโดนดีดแทน

           เป็นการเรียนรู้การปฏิบัติธรรมที่ชวนสนุก แปลกใหม่ เข้าใจง่าย และเห็นภาพชัด

.................................

นึกสนุกขึ้นมาเลยลองคิดเล่น ๆ ต่อไปอีก สมมุติว่าถ้าสมการทั้ง ๒ นี้มีชีวิตเหมือนคนเราจะเป็นอย่างไร

           ทั้ง ๒ น่าจะเป็นคู่หูคู่ฮาฝาแฝด มีหน้าตาคล้ายกัน เป็นผู้ช่วยคุณครูไม่ใหญ่ ที่คอยดูแลช่วยเหลือนักเรียนอนุบาลฯ อย่างพวกเราทุกคน

           วันหนึ่งขณะที่ผมกำลังขับรถอยู่ ท้องฟ้าก็ค่อย ๆ โปรยปรายละอองฝนลงมาเกาะหน้ากระจกรถ กระจกเริ่มฝ้ามัว แต่ก็ยังสามารถขับต่อไปได้อย่างสบาย ๆ

           สักพักต่อมาท้องฟ้าได้เทฝนเม็ดใหญ่ ๆ ลงมาอย่างต่อเนื่อง นั่นทำให้ผมมองไม่เห็นเส้นทาง

           เวลานั้นผมเริ่มเข้าใจความรู้สึกของหลาย ๆ ท่านที่กำลังเผชิญหน้ากับมรสุมชีวิต คิดถึงการพูดคุยปัญหาต่าง ๆ ที่ท่านเหล่านั้นเล่าให้ผมฟัง หลายท่านเจอพิษเศรษฐกิจเล่นงาน บางท่าน ถูกคนภัยพาลรุมรังแก เจอความอยุติธรรมทุกรูปแบบ บางท่านเจอโรคภัยรุมเร้าเบียดเบียนแบบไม่ทันตั้งตัว

           ผมรับฟังด้วยความเห็นใจ เข้าใจ ที่ไม่รู้จะหาวิธีแก้ไขอย่างไรในภาวะมืดมัวมองไม่เห็นทางออกเช่นนี้

           ไม่รู้ว่าถึงแยกที่จะต้องเลี้ยวหรือยัง ไม่แน่ใจจะไปซ้ายหรือขวาดี จะเบรกหรือไปต่อ จะชะลอหรือจะทำอย่างไร ไม่มีความมั่นใจและตัดสินใจไม่ถูก

           ถ้าการขับรถในทัศนวิสัยเช่นนี้ สารถีจะรีบตบก้านปัดน้ำฝนให้ทำงานทันทีเมื่อมองไม่เห็นทาง

           ผมคิดว่าที่ปัดน้ำฝนเป็นเหมือนผู้ช่วย ช่วยกวาดความฝ้ามัวออกไป ทำให้เรามองเห็น เส้นทางชัดเจนยิ่งขึ้น

           เช่นกันขณะที่กำลังฝ่าฟันมรสุมชีวิต สารถีอย่างเราก็น่าจะหาอุปกรณ์หรือเครื่องมืออะไรสักอย่างมาเป็นผู้ช่วย ซึ่งในยามนี้ผมจึงนึกถึงพี่ดูดกับพี่ดีด สมการฝาแฝดทั้ง ๒ ของคุณครูไม่ใหญ่ อยากให้รีบมาช่วย

           ขณะที่ความทุกข์จากความเจ็บป่วย ปัญหาหนี้สิน ปัญหาหน้าที่การงาน ความกลัดกลุ้ม ต่าง ๆ ที่มาเกาะเต็มไปหมดบนกระจกใจ เหล่านี้ได้บดบังทำให้เรามองไม่เห็นทางแก้ไข แล้วเวลา นั้น พี่ดีดรีบกระโดดเข้ามาช่วยผมเป็นคนแรก

           ในเมื่อเรายังมองไม่เห็นทางออก คุณครูไม่ใหญ่ได้เคยบอกไว้ ให้รีบออกจากความคิด ทำจิตให้สงบแล้วจะพบทางออก ดังนั้นสิ่งที่ผมคิดได้ คือนำสมการพี่ดีดมาประยุกต์ใช้ ต้องจัดการรีบดีดใจให้ออกมาไกล ๆ จากปัญหาเสียก่อนเป็นลำดับแรก

           ต่อมาก็เป็นหน้าที่สมการพี่ดูดบ้าง หลังจากที่ดีดใจเราออกจากปัญหาแล้ว ก็หันมาจัดการดูดปัญหาที่ฟุ้งกระจายเต็มกระจกให้มารวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพื่อควบคุมไม่ให้มันบานปลายเกินเหตุ ทำเช่นไม้ปัดน้ำฝนที่กวาดความฝ้ามัวไปไว้ด้านข้างเราจะได้มองเห็นช่องทางและวิธีแก้ไข

           แล้วก็มาถึงขั้นตอนจัดการกับกลุ่มก้อนปัญหา

           ปัญหาชีวิตไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ มันก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทุกชีวิตต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยง ไม่ได้

           หากมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ไขมันก็ยาก

           แต่หากมองว่ามันเป็นเรื่องง่าย ๆ การแก้ไขก็กลายเป็นเรื่องสนุกและท้าทาย

           พอถึงขั้นตอนนี้ ผมเลยลองสร้างให้อยู่ในรูปของสมการดูดดีดชวนขำแบบพี่ทั้ง ๒ ดู

           ทางคณิตศาสตร์ สมการเป็นเรื่องที่ว่าด้วยประโยคสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงค่า ๒ สิ่งที่เหมือนกันหรือเทียบเท่ากัน โดยมีเครื่องหมายเท่ากับเป็นตัวเชื่อม ดังเช่น ๑ + ๑ = ๒

           แต่สำหรับชีวิต สมการเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับชีวิตของเรา วิถีการดำเนินชีวิต การทำมาหาเลี้ยงชีพ ปัญหาอุปสรรค เรื่องบุญและบาป รวมไปถึงทุกเรื่องราวในชีวิต

           จากการลองคิดเล่น ๆ คิดให้สนุก ๆ สามารถสร้างสมการขึ้นมาได้หลากหลาย โดย ส่วนตัวผมชอบอยู่สมการหนึ่ง เป็นสมการที่สามารถอธิบายได้ถึงความสำคัญของชีวิตและจิตใจ

           สมการนี้เกิดจากที่เคยถามและสังเกตหลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่ยามที่ท่านพบเจอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ท่านบอกว่าให้เอาใจอยู่ในบุญและให้ดำเนินชีวิตตาม ๔ ข้อนี้ มีงานก็ทำกันต่อไป มีปัญหาก็แก้กันไป มีบุญก็หมั่นสั่งสมกันเรื่อยไป ส่วนธรรมะก็ต้องนั่งไปขาดไม่ได้

           สมการที่ออกมาหน้าตาเป็นแบบนี้

           ชีวิต = (บุญ + ธรรมะ) - (งาน + ปัญหา)

           ถ้าขยายความตามฉบับนักเรียนอนุบาลฯ อย่างผม จะได้ความว่า คุณค่าของชีวิตมีค่าเท่ากับบุญที่หมั่นสั่งสม บวกด้วยผลการปฏิบัติธรรม ลบออกด้วยเวลาที่หมดไปกับการทำงานรวมกับความทุกข์ที่เกิดจากปัญหา

           ผลลัพธ์ของสมการจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การดำเนินชีวิตของเรา

           ถ้าเราหมั่นสร้างบุญไว้เยอะ ๆ ผลลัพธ์สมการชีวิตออกมาเป็นบวก เท่ากับว่าเราได้กำไรชีวิต

           เราต่างก็ปรารถนาความสุข ความสำเร็จในชีวิต และมุ่งที่จะไปให้ถึงเป้าหมายโดยเร็วกันทุกคน

           แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่องบุญ มุ่งทำแต่งาน สมการชีวิตมีโอกาสติดลบ

           หรือถ้าพบเจอปัญหา มัวแต่กลุ้มและทุกข์ใจโดยไม่หมั่นเติมบุญ สมการชีวิตช่วงนี้ย่อมมีโอกาสติดลบ

           ยิ่งในเรื่องของงาน หากงานที่ทำเป็นงานที่ส่งเสริมสนับสนุนเพิ่มค่าของบุญมากขึ้น ทำให้มองเห็นได้ชัดว่าสุดท้ายเมื่อปิดงบดุล ชีวิตย่อมไม่ขาดทุน

           ดังนั้น จึงควรหมั่นทบทวนสมการให้เกินดุลเสมอ และไม่ว่าอยู่ในภาวะใดต้องทำทุกอย่างไปด้วยกันอย่างที่ครูไม่ใหญ่ได้บอกไว้

           ผมเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากเสียเวลา เมื่อมารู้ทีหลังว่า ชีวิตเราขับมาผิดเส้นทาง

...............................................................................................................

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล