ฉบับที่ 124 กุมภาพันธ์ ปี 2556

“วันมาฆบูชา” วันแห่งพระธรรม

บทความบุญ

เรื่อง : พระกฤตยะ สิทฺธมโน

 

 

วันมาฆบูชา วันแห่งพระธรรม

ความหมายของวันมาฆบูชา

 

         วันมาฆบูชาจัดเป็น วันแห่งพระธรรม เพราะเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์ แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก ซึ่งประกอบด้วยอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการของพระพุทธศาสนา ส่วน วันแห่งพระพุทธ คือ วันวิสาขบูชา เพราะเป็นวันที่พระพุทธองค์ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และวันแห่งพระสงฆ์ คือ วันอาสาฬหบูชา เพราะเป็นวันที่บังเกิดมีพระสงฆ์ครบองค์พระรัตนตรัยเป็นครั้งแรกในโลก

        คำว่า มาฆะ เป็นชื่อของเดือนสาม ย่อมาจากคำว่า มาฆปูรณมี หมายถึง การบูชาพระในวันเพ็ญกลางเดือนสาม การกำหนดวันมาฆบูชาตามปฏิทินจันทรคติของไทยนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือ มีเดือนแปด ๒ ครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ และมักตรงกับเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้ วันมาฆบูชาตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์

 

 

ประวัติความเป็นมาของวันมาฆบูชา

          ภายหลังจากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อมๆ กันถึง ๔ ประการ ในวัน มาฆบูชา ได้แก่

          (๑) วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์

          (๒) พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อถวายสักการะแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          (๓) พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญาหก

          (๔) พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ เอหิภิกขุอุปสัมปทา

          และเพราะเหตุอัศจรรย์ ๔ ประการข้างต้นนี้ จึงทำให้วันมาฆบูชามีอีกชื่อหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต ซึ่งมีความหมายดังนี้คือ จตุร แปลว่า สี่, องค์ แปลว่า ส่วน, สันนิบาต แปลว่า การประชุม รวมความแล้วหมายถึง การประชุมที่ประกอบด้วยองค์สี่

 

 

ความสำคัญของวันมาฆบูชา

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์ เป็นครั้งแรกในวันมาฆบูชา เป็นปาติโมกข์ที่พระพุทธองค์ ทรงแสดงด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอดปฐมโพธิกาล คือ ๒๐ พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง อาณาปาติโมกข์ อย่างปัจจุบันนี้แทน

          โอวาทปาติโมกข์หรือโอวาทสาม คือคำสอนที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ซึ่งเป็นแม่บทในการเผยแผ่ คำสอนของพระพุทธศาสนา เป็นการประกาศจุดยืนที่ชัดเจนของพระพุทธศาสนา

          โอวาทปาติโมกข์ แบ่งโครงสร้างออกเป็น ๓ ส่วนใหญ่ คือ

          ๑. พระพุทธพจน์คาถาแรก ทรงกล่าวถึง อุดมการณ์

          ๒. พระพุทธพจน์คาถาที่สอง ทรงกล่าวถึง หลักการ

          ๓. พระพุทธพจน์คาถาที่สาม ทรงกล่าวถึงวิธีการ

 

          ๑. อุดมการณ์ คือ เป้าหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิต มี ๓ ประการ ได้แก่

          ๑. ความอดทน เป็นตบะที่ดีที่สุดในการเผากิเลสให้หลุดจากใจ

          ๒. นิพพาน พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม เป็นเป้าหมายสูงสุดของมนุษยชาติ

          ๓. ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนผู้อื่น

 

          ๒. หลักการ คือ หัวใจของคำสอนที่ควรปฏิบัติในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เพื่อบรรลุอุดมการณ์ ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย มี ๓ ประการ ได้แก่

          ๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น

          ๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นต้น

          ๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส ได้แก่ การเจริญสมาธิภาวนา ทั้งสมถภาวนา (จิตภาวนา) และวิปัสสนาภาวนา (ปัญญาภาวนา) เป็นต้น

          ซึ่งหลักการทั้งสามข้างต้นสามารถสรุปเป็นคำขวัญได้ว่า ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ผ่องใส

 

       ๓. วิธีการ คือ แนวทางการปฏิบัติฝึกหัดขัดเกลาตน และเป็นแนวทางที่พระภิกษุที่เป็นพระธรรมทูตผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งมีเป็นจำนวนมากใช้เหมือนกัน เพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันและถูกต้องเป็นธรรม ได้แก่ วิธีการทั้ง ๖ ดังนี้

          ๑. การไม่กล่าวร้าย

          ๒. การไม่ทำร้าย

          ๓. ความสำรวมในปาติโมกข์ คือ รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส

          ๔. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร คือ เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณ

          ๕. อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด เพื่อให้ตนเองมีโอกาสในการประกอบความเพียรในอธิจิตได้เต็มที่

           ๖. ประกอบความเพียรในอธิจิต เพื่อบรรลุอุดมการณ์ คือ มรรค ผล นิพพาน อันเป็น เป้าหมายอันสูงสุดของชีวิต

 

 

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันมาฆบูชา

           เนื่องจากวันมาฆบูชาเป็นวันที่สำคัญที่สุด วันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ดังนั้นพุทธศาสนิกชน ทุกท่านจึงควรถือโอกาสวันหยุดราชการนี้ ปรารภเหตุในการทำความดีทุกรูปแบบให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยปฏิบัติตนตามคำสอนทุกๆ ข้อ ทั้ง ๑๒ ข้อ ในโอวาทปาติโมกข์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันได้แก่ อุดมการณ์สาม หลักการสาม และวิธีการหก เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และครอบครัว ตลอดจนสังคมและประเทศชาติ

          นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลไทยยังได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันกตัญญู แห่งชาติอีกด้วย ดังนั้น จึงควรที่สาธุชนจะกระทำการกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และผู้มีพระคุณ โดยพาไปวัดเพื่อประกอบการบุญการกุศล พร้อมหน้ากันอย่างอบอุ่นทั้งครอบครัว

            ในวันมาฆบูชาปีนี้ วัดพระธรรมกายจัดกิจกรรมงานบุญใหญ่ โดยเฉพาะภาคค่ำมีงานจุดโคมมาฆประทีป นับแสนดวงเต็มลานธรรม มหาธรรมกายเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จึงขอเรียนเชิญสาธุชนทั้งหลายไปเก็บเกี่ยวบุญกุศล ทั้งทาน ศีล ภาวนา ให้ครบถ้วนทุกประการ


ไปวัดวันเดียวเก็บเกี่ยวทุกบุญครอบครัวอบอุ่นได้บุญเต็มเต็ม
 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล