ฉบับที่ 125 มีนาคม ปี2556

สิ่งที่ทำให้คนเรา สามารถสั่งสมบุญ ทำแต่ความดีได้สำเร็จ คืออะไร?

 

 

 

สิ่งที่ทำให้คนเรา สามารถสั่งสมบุญทำแต่ความดีได้สำเร็จ คืออะไร?

 

Answer

ตอบ 

 

          การสั่งสมบุญทำแต่ความดีได้ตลอดชีวิตนั้น เราจะต้องมีเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้องก่อน ถ้าไม่มีเป้าหมายชีวิตที่ถูกต้อง จะทำความดีได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง

          เป้าหมายชีวิตสำคัญที่นักสร้างบารมีทุกคนต้องมีอยู่ในใจคืออะไร? พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นไว้ว่า มี ๓ ประการ

          เป้าหมายชีวิตข้อที่ ๑ พระพุทธองค์ตรัสเป็นภาษาบาลีว่า ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ความอดทนเป็นตบะเครื่องเผาผลาญบาปอย่างยิ่ง

          ความอดทนเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดในการเผาผลาญบาป จึงต้องนึกไว้เลยว่า อะไรที่ว่าทำไม่ได้ มันต้องได้ หลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่ท่านจึงฝึกให้เราตระหนักไว้ในใจเสมอว่า เมื่อจะทำภารกิจบุญกุศลใด ๆ คำว่า ไม่ได้ ไม่มี ต้องได้ ต้องดี ต้องดีกว่าดีที่สุด เราจำเป็นจะต้องฝึกความอดทนทุกรูปแบบขึ้นมาให้ได้ ในบรรดาบารมีทั้ง ๑๐ ข้อ ถ้าไม่ผ่านความอดทนแล้วข้ออื่นทำไม่ได้

          อดคืออะไร ? อด คือ สิ่งที่อยากได้ แต่ว่าไม่ได้ ก็ต้องอดให้ได้ ไม่ว่าอดอย่างไรก็ไม่ยอมทำบาปกรรมหรือทำในสิ่งที่ไม่ควรเพื่อให้ได้มา ทนคืออะไร ? ทน คือ สิ่งที่ไม่อยากได้ แต่ได้มา เช่น คำด่า คำตำหนิ ติเตียน ก็ต้องทนให้ได้ ไม่ยอมก่อบาปกรรมเพิ่มอีก

          การอดทนเพื่อกำจัดกิเลส คือเป้าหมายประการที่ ๑ ของนักสร้างบารมี เราจะต้องเตือนตัวเองว่า จะต้องอดทนให้ถึงที่สุด มิฉะนั้นบารมีข้ออื่นก็ไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เช่น เมื่อจะทำทาน ถ้าไม่อดทนทำงาน แล้วจะไปหาเงินที่ไหนมาให้ทาน จะรักษาศีล ถ้าไม่อดไม่ทน ก็รักษาศีลได้ไม่ข้ามวัน เมื่อรักจะเป็นนักสร้างบารมีแล้ว ความอดทนคือด่านแรกที่ต้องฝึกให้ผ่าน ถ้าไม่ผ่านก็ทำความดีให้ตลอดรอดฝั่งไม่ได้ มันยาก

          อดทนขนาดไหน ? หลวงปู่ท่านบอกว่า อดทนให้เหมือนผ้าเช็ดเท้า แม้มันไม่สวย มันเก่าเร็วที่สุด เปื้อนเร็วที่สุด แต่ก็ให้ประโยชน์สูงสุด ดังนั้นถ้าจะให้ได้บารมีครบ ๑๐ ทัศ มีทางเดียวคือต้องฝึกความอดทนให้ถึงที่สุด พอมีเรื่องอะไรที่รู้สึกว่าจะทนไม่ได้ ขอให้นึกถึงผ้าเช็ดเท้าก็แล้วกัน แล้วจะอดทนต่อไปได้

          เมื่อหลวงพ่อไปพบคุณยายครั้งแรก เห็นเขานั่งหลับตากันอยู่บนบ้าน ข้างล่างมีรองเท้าเกลื่อนอยู่ ก็คิดว่า ใจคงสงบยาก เอาบุญจัดรองเท้าให้เรียบร้อยแล้วค่อยไปนั่งดีกว่า พอเอื้อมมือจะไปหยิบรองเท้าเท่านั้น ทิฐิมานะในใจมันพุ่งเข้ามา ก้มหยิบรองเท้าไม่ลง ก้มอยู่ ๓-๔ ครั้ง ยังหยิบไม่ได้ ก็เตือนตัวเองแรง ๆ ว่า ‘เข้าวัดแล้ว ขืนมีมานะถือตัวอย่างนี้ ชาตินี้คงไม่ถึงธรรม’ ก็เลยหยิบรองเท้าไปจัด ตั้งแต่วันนั้นมา ความถือตัวต่าง ๆ ที่เคยมีก็เลยหลุดไป พร้อมที่จะอดทนเหมือนกับผ้าเช็ดเท้าให้กับทุก ๆ คนได้

          เป้าหมายชีวิตข้อที่ ๒ นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา แปลว่า พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงสรรเสริญว่า การบรรลุพระนิพพานเป็นความยอดเยี่ยมเหนือทุกสรรพสิ่งในโลก

          การที่เราจะสร้างความดีไปได้ตลอดรอดฝั่ง เราต้องตั้งเป้าหมายชีวิตว่า เราจะต้องฝึกสมาธิให้ ‘ใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้’ ถ้าเราทำใจหยุดนิ่งไม่ได้ ใจเราก็เข้าศูนย์กลางกายไม่ได้ เมื่อเข้าศูนย์กลางกายไม่ได้ ก็หาพระนิพพานไม่เจอ เพราะพระนิพพานอยู่ในกลางกายของเรา

          เจ้าชายสิทธัตถะออกบวชเพื่อจะหาทางไปพระนิพพาน หาอยู่ ๖ ปี ในที่สุดก็พบว่า พระนิพพาน อยู่ในตัว แล้วก็ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์เอง

          แล้วทรงมาสอนให้ชาวโลกรู้จักการบำเพ็ญภาวนา ทำให้มีผู้เห็นแจ้งพระนิพพานในตัวตามพระองค์ไป ดังนั้นการที่เราจะไม่ ย่อท้อต่อการทำความดี เราก็ต้องตั้งเป้าหมายชีวิตเหมือนพระองค์ นั่นคือ ต้องหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งเพื่อ ทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้ เราถึงจะทำความดีไปได้ตลอดรอดฝั่ง

          เป้าหมายชีวิตข้อที่ ๓ น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต แปลว่า เราจะไม่ก่อเวรก่อภัยใด ๆ กับใคร ๆ อีกทั้งสิ้น การป้องกันไม่ให้ไปก่อกรรมทำเวรกับใครอีกก็คือ เราต้องตั้งเป้าหมายว่า เราจะบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตร ให้กับสรรพสัตว์โดยทั่วหน้า ถ้าไม่ทำเช่นนี้โอกาสที่เราจะก่อเวรก่อภัยก็จะ มีอีกมาก ยิ่งกว่านั้นการบำเพ็ญตน เป็นกัลยาณมิตรให้กับชาวโลก ยังเป็นการฝึกใจให้มีความเมตตากรุณา ความเมตตากรุณาที่ติดตัวเราและเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ นี้ จะกลายเป็นเกราะกำบัง ป้องกันให้เราไม่มีเวรภัยใหม่กับใคร เมื่อเวรใหม่ภัยใหม่ไม่เกิดขึ้น หนทางที่จะไปพระนิพพานของเรา ก็จะราบรื่นยิ่งขึ้น

          บทฝึกลูกหลานให้เป็นยอดนักสร้างบารมีของคุณยาย คุณยายท่านช่างสรรหาวิธี มาหล่อหลอมลูกศิษย์ได้ดีเหลือเกิน ท่านสอนหลวงพ่อด้วยการพูดเป็นนัย ไม่พูดตรง ๆ ท่านบอกว่า “ท่านจำคำยายไว้นะ ใครมาวัดร้อย จัดการเลี้ยงข้าวปลาอาหารให้ได้ทั้งร้อย มาวัดล้าน จัดข้าวปลาอาหารให้เลี้ยงได้ทั้งล้าน แล้วท่าน ก็จะได้บุญใหญ่บารมีใหญ่ แล้วทุกคนก็จะได้บุญด้วย” ตอนนั้นหลวงพ่อได้แต่รับฟังไว้ก่อน ยังไม่เข้าใจ ต่อมาท่านยังมาแถมอีกว่า “จำคำยายไว้นะ ใครมาถึงวัดร้อย ท่านก็ทำให้เขาเป็นเจ้าหน้าที่ทั้งร้อย ถ้าเขามาวัดล้าน ท่านก็ต้องให้เขาเป็นเจ้าหน้าที่ให้ได้ทั้งล้าน”

          หลวงพ่อก็นึกไม่ออกว่าจะทำอย่างไร แต่ก็จำคำของท่านไว้ แล้วก็หมั่นตรอง แล้วพยายามทำตาม ให้ได้ ในช่วงแรก เมื่อมีสาธุชนมาวัดหลักร้อย ก็พยายามฝึกเจ้าหน้าที่ให้จัดระบบเลี้ยงอาหารให้ได้ทั้งร้อย เมื่อทำได้แล้ว พอมีสาธุชนมาหลักพัน ก็ฝึกให้ผู้ที่มาก่อนเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครจัดเลี้ยงให้ได้ทั้งพัน ต่อมาเมื่อได้ในหลักพันแล้ว ก็ฝึกเจ้าหน้าที่ให้จัดเลี้ยงได้ในหลักหมื่น เมื่อจัดเลี้ยงหลักหมื่นได้แล้ว ก็มีความมั่นใจว่า ถ้าสาธุชนมาเรือนแสน ก็คงจัดเลี้ยงได้ไม่ยาก จนมาถึงวันนี้ สาธุชนก็มาวัดผ่านหลักแสนไปแล้ว ทำให้เกิดความมั่นใจเพิ่มขึ้นอีกว่า ถ้ามากันเป็นหลักล้าน ก็คงไม่เกินเอื้อม

          เพราะฉะนั้น การที่เราจะตั้งใจทำแต่ความดีและไม่ก่อเวรภัยกับใคร ก็ต้องตั้งเป้าหมาย คือ การฝึก ตัวเองให้เป็นกัลยาณมิตรต่อเพื่อนร่วมโลก ถ้าเรามาวัดแล้วจะนั่งหลับตาอย่างเดียวก็ได้ แต่เราจะไปหา บทฝึกความอดทนจากไหน เราจะไปหาบทฝึกการทำงานเป็นทีมจากไหน เราจะไปหาเพื่อนได้จากไหน

          ถ้าเราไม่เคยอาสาสมัครเข้ามาสร้างบุญให้กับผู้อื่นเขา ไม่เคยให้ความสะดวกสบายกับคนอื่น ถึงคราวเราต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่นขึ้นมาบ้าง ใครจะมาให้ความสะดวกสบายกับเรา ถ้าเราไม่เคยอำนวยความสะดวกให้ใครเลย ถึงคราวบวชเป็นพระ จะหาคนตักบาตรให้ก็ยังยากอีกด้วย สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราต้องเตรียมเอาไว้ให้ตัวเราเองทั้งสิ้น

          เพราะฉะนั้นใครที่มาเป็นอาสาสมัครวัดพระธรรมกาย ไม่ว่าอยู่แผนกไหน ๆ หลวงพ่อขออนุโมทนาด้วย ตั้งใจทำไปเถิด หลวงพ่อเองก็เป็นอาสาสมัครรุ่นแรกของวัดพระธรรมกาย แต่ทว่าแม้จะเป็นอาสาสมัครทำงานสุดชีวิต ถ้าไม่ได้นั่งสมาธิก็เข้าไม่ถึงพระธรรมกายในตัวหรอก เพราะมันบุญคนละงบกัน ดังนั้นต้องพากเพียรทำบุญให้ครบทุกงบ ต้องเตรียมเสบียงให้ชีวิตของเราเองไปทุกภพทุกชาติตราบจนถึงที่สุดแห่งธรรม

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

* * อยู่ในบุญ แนะนำ/เกี่ยวข้อง * *

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล