ฉบับที่ 128 มิถุนายน ปี2556

พระภัททกาปิลานีเถรี

เรื่องจากพระไตรปิฎก 

 
เรื่อง : มาตา
 
พระภัททกาปิลานีเถรี
 
 
 
        หากคุณเป็นผู้หญิงที่หน้าตาสวยงาม เกิดในตระกูลที่ดี แต่มีกลิ่นตัวเหม็นขนาดที่สามีทนไม่ไหวต้องไล่ออกจากบ้าน คุณจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ? 
 
       ในที่นี้เราอยากให้คุณพบกับเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งเคยประสบปัญหานี้ และสามารถหาทางออกที่สวยงามได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ตัวเธอเองก็คาดไม่ถึง
 
      ผู้หญิงคนนี้ ในชาติสุดท้ายได้เป็นพระอรหันตเถรี ผู้มีความสามารถในการระลึกชาติเป็นเยี่ยม จนกระทั่งได้รับการยกย่องจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นเลิศกว่าภิกษุณี      ทั้งหลายในด้านผู้มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (มีญาณอันเป็นเครื่องระลึกชาติได้)           ชื่อของท่านก็คือ พระภัททกาปิลานีเถรี 
 
 
     ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ พระภัททกาปิลานีเกิดเป็นหญิง และได้แต่งงานกับชายหนุ่มในตระกูลเศรษฐี อาศัยอยู่ในกรุงหังสวดี นางเป็นผู้มีศรัทธาเลื่อมใสใน พระพุทธศาสนา และหมั่นสร้างบุญสร้างกุศลอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งนางไปฟังธรรมกับสามี และเห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตำแหน่งภิกษุณีผู้เลิศทางปุพเพนิวาสานุสสติญาณ นางจึงบำเพ็ญมหาทานกับพระศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ แล้วตั้งความปรารถนาที่จะได้ตำแหน่งนั้นในสมัยของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคต สามีของนาง (ในชาติสุดท้ายคือพระมหากัสสปะ) ก็ตั้งความปรารถนาที่จะได้ตำแหน่งผู้เป็นเลิศในทางถือธุดงค์เป็นวัตร จากนั้น ทั้งสองก็สร้างบุญกุศลร่วมกันตลอดมา 
 
 
       เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานแล้ว เศรษฐีผู้เป็นสามีของนางเชิญชวนญาติมิตรสร้างพระเจดีย์ด้วยรัตนะสูง ๗ โยชน์ และปลูกต้น  พญารังที่มีดอกบานสะพรั่ง เพื่อบูชาพระศาสดา ส่วนนางก็จัดเครื่องบูชาและตกแต่งประดับประดาพระเจดีย์นั้น โดยให้ช่าง ๗ คน นำรัตนะ ๗ อย่าง มาทำตะเกียง ๗๐๐,๐๐๐ ดวง จากนั้นเอาน้ำมันหอมใส่จนเต็มทุกดวง แล้วจุดประทีปจนไฟ     ลุกโพลงสว่างไสวเจิดจ้า เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
 
       นอกจากนี้ นางยังให้ช่างทำหม้อที่เต็มไปด้วยรัตนะอันล้ำค่าต่าง ๆ ไปประดับเจดีย์ ระหว่างหม้อทุก ๆ ๘ หม้อ มีวัตถุที่ควรบูชา    ทำด้วยทองตั้งไว้ ที่ประตูทั้ง ๔ ของเจดีย์ยังมี   เสาระเนียดทำด้วยรัตนะ มีแท่นที่ทำด้วยรัตนะ มีธงรัตนะ และปลูกดอกไม้น้ำสวยงามไว้ในคูน้ำ ทำให้บริเวณเจดีย์งดงามและรุ่งเรืองสว่างไสวราวกับพระอาทิตย์ส่องแสง
 
       นางและท่านเศรษฐีบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและถวายทานแด่พระสงฆ์ตลอดชีวิต เมื่อละโลกแล้ว นางได้ไปเกิดในสวรรค์ มีทิพยสมบัติอันอลังการ เวียนว่ายตายเกิดอยู่แต่ในสุคติภูมิ เคียงคู่เศรษฐีผู้เป็นสามีเสมือนเงาที่ติดตามตัวไป 
 
พระภัททกาปิลานีเถรี เรื่องจากพระไตรปิฎก
 
 
      ชาติหนึ่ง ในยุคที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้ามาบังเกิด เศรษฐีสามีได้เป็นพระราชาแห่งกรุงพาราณสี นางได้เป็นมเหสีของพระราชา และเป็นที่โปรดปรานของพระราชายิ่งกว่าใคร ๆ เพราะมีความรักความผูกพันกันมาแต่ภพชาติก่อน
 
      วันหนึ่ง นางได้ถวายบิณฑบาตแด่  พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ พระองค์ และสร้างมณฑปแก้วประดับทองที่งดงามมาก สูง ๑๐๐ ศอก แล้วอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าเข้ามารับมหาทาน
 
 
      ชาติต่อมา นางมาเกิดในตระกูลกุฎุมพีที่มั่งคั่ง ครั้นเจริญวัยขึ้น นางได้แต่งงานกับชายในตระกูลที่มั่งคั่งเช่นกัน หลังจากแต่งงานแล้ว นางและน้องสาวสามีของนางเกิดการกระทบกระทั่งกัน ต่อมาเมื่อน้องสาวสามีถวายบิณฑบาตแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยความโกรธที่ยังหลงเหลืออยู่ ในใจ ทำให้น้องสาวสามีของนางตั้งความปรารถนาว่า “ขอให้เราห่างไกลคนพาลเช่นนี้ ๑๐๐ โยชน์” เมื่อนางได้ยินเข้าก็โกรธมาก และคิดว่า “พระปัจเจกพุทธเจ้าจงอย่าฉันภัตตาหารที่หญิงคนนี้ถวายเลย” นางจึงรับบาตรมาแล้วเอาภัตตาหารเททิ้ง แล้วเอาโคลนใส่จนเต็มบาตรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า 
 
      น้องสาวสามีเห็นจึงพูดว่า “นางคนพาล เจ้าจะด่าหรือทุบตีเราก็ได้ แต่ไม่ควรทิ้งภัตตาหารจากบาตรของท่านผู้บำเพ็ญบารมีมาตลอด ๒ อสงไขย แล้วถวายโคลนตม”
 
      เมื่อได้ยินดังนั้น นางจึงได้สติแล้วรับบาตรมาล้างและขัดถูด้วยผงเครื่องหอม เอาของมีรสอร่อย ๔ อย่าง ใส่จนเต็มบาตร แล้วราดด้วยเนยใสซึ่งมีสีเหมือนดอกบัวไว้ข้างบน แล้วตั้งความปรารถนาว่า “บิณฑบาตนี้มีแสงสว่างฉันใด ขอเราจงมีแสงสว่างฉันนั้น” พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะไปบนอากาศ
 
     อานิสงส์แห่งบุญที่ถวายภัตตาหารแด่ พระปัจเจกพุทธเจ้า ทำให้นางมีรูปงามทุกภพทุกชาติ แต่มีกลิ่นตัวเหม็นเพราะกระทำกรรมหนัก คือ ถวายโคลนแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า 
 
      ในชาตินี้ สองสามีภรรยาบำเพ็ญกุศลตราบสิ้นอายุขัยแล้วไปบังเกิดบนสวรรค์
 
 
        ในสมัยพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งคู่จุติจากสวรรค์มาเกิดในกรุงพาราณสี ด้วยบุญที่เคยสร้างมา ทำให้สามีได้เกิดเป็นบุตรของเศรษฐี มีสมบัติถึง ๘๐ โกฏิ ส่วนภรรยาเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีอีกตระกูลหนึ่ง และมีรูปงามมาก แต่ด้วยผลแห่งบาปที่เอาโคลนใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้า นางจึงมีร่างกายที่มีกลิ่นเหม็นอย่างรุนแรง เป็นที่รังเกียจของมหาชน 
 
        ต่อมา เศรษฐีผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิ ส่งคนมาสู่ขอนางให้ไปแต่งงานกับลูกชายของตน เมื่อนางไปถึงบ้านท่านเศรษฐี ทั้งบ้านก็มีกลิ่นเหม็นเหมือนส้วมที่เปิดฝาไว้ เหม็นตั้งแต่นางย่างเท้าเข้าไปภายในธรณีประตูเลยทีเดียว พอลูกชายเศรษฐีรู้ว่าเป็นกลิ่นของนาง ก็ส่งนางกลับบ้าน นางถูกรับถูกส่งกลับไปกลับมาอยู่ถึง ๗ ครั้ง ทำให้เกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างยิ่ง
 
 
        ต่อมา เมื่อพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน มหาชนพร้อมใจกันก่อสร้างเจดีย์สูง  ๑ โยชน์ โดยใช้ทองคำแท่งแทนอิฐ ธิดาเศรษฐีรู้จักเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส นางคิดว่า “เราคงมีกรรมที่ทำไว้ในอดีต จึงต้องมาประสบความทุกข์เช่นนี้ ชาตินี้เราจะต้องสั่งสมบุญให้มาก ๆ ชาติหน้าจะได้ไม่ต้องมาเจอความทุกข์ขนาดนี้” จากนั้น นางก็นำเครื่องประดับไปให้ช่างหลอมทำอิฐทองคำร่วมสร้างเจดีย์
 
      ในขณะที่นางไปถึงสถานที่สร้างเจดีย์ พอดีมีอิฐตกลงมาก้อนหนึ่ง นายช่างจึงขาดอิฐที่จะใช้เชื่อมต่อเจดีย์อยู่ ๑ ก้อน เขาจึงบอกให้นางวางอิฐทองคำลงในบริเวณนั้นด้วยตนเอง และเอาน้ำมันผสมหรดาลกับมโนศิลาก่ออิฐให้แน่น แล้วบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยดอกบัว ๘ กำ และตั้งความปรารถนาว่า “ด้วยบุญกุศลนี้ ขอให้ข้าพเจ้ามีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปาก” 
 
 
พระภัททกาปิลานีเถรี เรื่องจากพระไตรปิฎก
 
 
       น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก บุญที่ตัดใจถวายเครื่องประดับทองคำอันล้ำค่าเพื่อทำอิฐสร้างเจดีย์ ๑ ก้อน มีอานุภาพอันไม่มีประมาณเกินคาดหมายจริง ๆ เพราะนอกจากสามารถตัดรอนวิบากกรรมหนักที่นางเคยทำมาในอดีตชาติ ทำให้กลิ่นเหม็นเหมือนส้วมที่ติดตัวนางมลายหายสูญไปแล้ว ยังบันดาลให้มีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากร่างกายและกลิ่นดอกบัวฟุ้งออกจากปากอีกด้วย ในขณะเดียวกันลูกชายเศรษฐีก็คิดถึงนางขึ้นมาจับใจ จนต้องรีบส่งคนรับใช้มาตามนางกลับไป 
 
        เมื่อนางไปถึงบ้านท่านเศรษฐี ทันทีที่นางเข้าบ้าน กลิ่นจันทน์และกลิ่นดอกบัวก็ฟุ้งกระจายไปทั่ว ลูกชายเศรษฐีจึงถามว่า “เมื่อก่อนมีกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากร่างกายของเจ้า แต่เดี๋ยวนี้มีกลิ่นจันทน์หอมฟุ้งออกจากร่างกาย กลิ่นดอกบัวฟุ้งออกจากปาก เจ้าไปทำอะไรมาหรือ” นางจึงเล่าให้ฟังว่า นางถวายแผ่นอิฐทองคำสร้างเจดีย์บูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และผลบุญที่ถวาย        อิฐทองคำได้ตัดรอนวิบากกรรมเหล่านั้นจน    หมดสิ้น 
 
      ลูกชายเศรษฐีเป็นผู้มีปัญญามาก เมื่อเห็นอานุภาพอันยิ่งใหญ่ของบุญจากการร่วมสร้างเจดีย์ด้วยทองคำ ที่สามารถส่งผลได้อย่างอัศจรรย์ในปัจจุบันชาตินี้ ก็รู้ว่าบุญต้องแรงมาก เขาจึงปรารถนาที่จะได้บุญนี้บ้าง จึงให้ช่างนำทองคำไปทำดอกประทุมทองขนาดเท่าล้อรถ เพื่อนำไปประดับเจดีย์ และนำผ้ากัมพลที่มีราคาแพงที่สุด  ในสมัยนั้นไปหุ้มเจดีย์ให้สวยงามยิ่งขึ้น 
 
 
      ในชาติสุดท้าย ธิดาเศรษฐีจุติจากพรหม-โลกมาเกิดในครั้งพุทธกาล ในตระกูลพราหมณ์ มีชื่อว่า ภัททา สามีมาเกิดในตระกูลพราหมณ์ เช่นกัน ชื่อ ปิบผลิมาณพ
 
       เมื่อนางมีอายุได้ ๑๖ ปี ปิบผลิมาณพมีอายุ ๒๐ ปี ทั้งคู่เข้าพิธีแต่งงานกัน เพราะไม่อาจขัดความประสงค์ของบิดา มารดา และญาติผู้ใหญ่
 
     หลังแต่งงาน เนื่องจากทั้งสองไม่ฝักใฝ่ในโลกีย์เหมือนกัน จึงเป็นสามีภรรยากันแต่เพียง   ในนาม มิได้ข้องเกี่ยวกันในทางกามคุณ
 
๑๐
 
      เมื่อบิดามารดาของทั้งสองสิ้นชีวิตแล้ว ทรัพย์สมบัติของ ๒ ตระกูล ที่รวมกันเป็นจำนวนมหาศาลถึง ๘๗ โกฏิ กลายเป็นภาระอันหนักอึ้งในการดูแล อีกทั้งเมื่อบริวารทำไร่ไถนา เครื่องมือหว่านไถก็จะไปถูกสัตว์เล็กสัตว์น้อยเสียชีวิต หรือเวลาตากถั่วตากงา หากมีนกกามาจิกกินหนอนและแมลงทั้งหลาย ทั้งคู่เกรงว่าบาปเหล่านี้จะตกถึงตนผู้เป็นเจ้าของไร่นา แม้ไม่ได้ลงมือทำเองก็ตาม
 
      สองสามีภรรยาจึงปรึกษากันว่า เหตุใดเราต้องมาคอยรับบาปกรรมที่คนอื่นทำ ควรสละการครองเรือน แล้วออกบวชหาหนทางหลุดพ้นจากวัฏสงสารดีกว่า
จากนั้นสองสามีภรรยาจึงช่วยปลงผมให้กัน แล้วครองผ้าย้อมน้ำฝาด และอธิษฐานว่า “พระอรหันต์เหล่าใดมีอยู่ในโลก เราจักบวชเพื่ออุทิศพระอรหันต์เหล่านั้น” แล้วทั้งคู่ก็สะพายบาตรดินเดินออกจากปราสาทไปโดยปราศจากความกังวลใด ๆ
 
๑๑
 
      เมื่อทั้งคู่เดินไปถึงทางสองแพร่ง ปิบผลิ ได้กล่าวขึ้นว่า “หากเธอเดินตามหลังเราอย่างนี้ ใคร ๆ ก็จะพากันคิดว่า พวกเราบวชแล้วยังไม่ยอมพรากจากกัน อกุศลจิตเช่นนี้จะทำให้พวกเขาตกนรก เธอจงเลือกเอาทางหนึ่ง เราจะไปอีกทางหนึ่ง” นางกระทำประทักษิณรอบสามี ๓ รอบ แล้วประคองอัญชลีพร้อมกล่าวว่า “ความสนิทสนมกันฐานมิตรที่มีมาประมาณแสนกัปสิ้นสุดลงแล้วในวันนี้” จากนั้นทั้งคู่ก็แยกทางกันไป
 
      ในคัมภีร์บันทึกไว้ว่า ขณะที่ทั้งสองแยกจากกัน แผ่นดินไหวสะเทือนปานจะกล่าวว่า “แม้เราสามารถรองรับขุนเขาในจักรวาลและเขาพระสุเมรุได้ แต่ไม่สามารถจะรองรับคุณธรรมของท่านทั้งสองได้” ขณะนั้นแม้ยอดเขาพระสุเมรุก็ เอนเอียงบันลือลั่น ในอากาศก็มีฟ้าแลบแปลบปลาบ
 
๑๒
 
     จากนั้นปิบผลิพราหมณ์เดินไปพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับขัดสมาธิอยู่ที่ใต้ต้นไทร และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในวันที่ ๘ ท่านได้บรรลุอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และต่อมาได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่า เป็นเลิศในทางถือธุดงค์เป็นวัตร
 
     ส่วนนางภัททกาปิลานีไปบวชอยู่ในสำนักปริพาชก เนื่องจากในสมัยนั้นพระบรมศาสดายังมิได้มีพุทธานุญาตให้สตรีบวช ต่อมา เมื่อ  พระปชาบดีโคตมีเถรีบวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในพระพุทธศาสนาแล้ว นางจึงไปขอบวชเป็นภิกษุณี และได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วย ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๓ วิโมกข์ ๘ และอภิญญา ๖
 
๑๓
 
     พระภัททกาปิลานีสร้างบุญในพระพุทธ-ศาสนามาหลายภพหลายชาติ และเคยถวายทองคำบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายครั้ง ทำให้ท่านสมบูรณ์พร้อมด้วยรูปสมบัติ คือเกิดมามีรูปงามทุกชาติ และสมบูรณ์พร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ คือได้เกิดในตระกูลเศรษฐี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ สุขสบาย ในชาติสุดท้าย ท่านมิเพียงรูปงามและร่ำรวยเท่านั้น แต่ยังได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์พร้อมด้วยคุณสมบัติทั้งปวง คือถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ วิชชา ๓ วิโมกข์ ๘ อภิญญา ๖ และยังมีความสามารถในการระลึกชาติ จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกย่องท่านไว้ในตำแหน่ง เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในด้านผู้มีปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นภิกษุณี ๑ ในจำนวน ๑๓ รูป ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอตทัคคะ
 
๑๔
 
      พวกเราทั้งหลายล้วนเคยสร้างบารมีในพระพุทธศาสนามาหลายภพหลายชาติเช่นกัน  มิฉะนั้นคงไม่ได้มาพบพระพุทธศาสนา ไม่ได้มา สร้างบุญบารมีอย่างทุกวันนี้ และเชื่อว่าหลาย ๆ คนเคยทำบุญด้วยทองคำมามิใช่น้อย ซึ่งนับเป็นบุญเก่าที่เกื้อหนุนชีวิตอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บุญเก่าย่อมมีวันหมดไป บุญใหม่จึงเป็นสิ่งที่พึงสั่งสมไว้ เพื่อให้ความสุขความเจริญอยู่กับเราอย่างยั่งยืน 
 
 
 
หล่อหลวงปู่ทองคำ องค์ที่ ๗
 
หล่อหลวงปู่ทองคำ องค์ที่ ๗
 
       ในช่วงนี้นับว่าเราทุกคนโชคดีมาก ๆ ที่จะได้ทำบุญด้วยทองคำซึ่งเป็นวัตถุธาตุที่สูงค่าอีกครั้ง และทองคำนี้จะนำไปหล่อเป็นรูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เพื่ออัญเชิญไปบนเส้นทางมหา-ปูชนียาจารย์ในการเดินธุดงค์ธรรมชัยทุกครั้ง ซึ่งจะมีผลต่อการประกาศพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายไปสู่ใจของมหาชน และจะมีผลต่อความเจริญรุ่งเรืองของพระศาสนาสืบไป 
 
        กุศลผลบุญอันไพศาลจากการหล่อ รูปเหมือนทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จะนำความสุขความสำเร็จมาบังเกิดขึ้นแก่ผู้    ร่วมบุญอย่างเป็นอัศจรรย์ เพราะบุญมีอานุภาพในการดึงดูดสิ่งดี ๆ คนดี ๆ ของดี ๆ ช่องทางดี ๆ โอกาสดี ๆ ให้เข้ามาในชีวิตของเราได้จริง และยังช่วยขจัดปัดเป่าอุปสรรคปัญหาต่าง ๆ ให้มลายหายสูญได้อีกด้วย และสำหรับบางกรณี บุญก็สามารถส่งผลฉับพลันทันทีในปัจจุบันชาติโดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ดังเรื่องราวของพระภัททกาปิลานี และเรื่องราวของสาธุชนในยุคปัจจุบันที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวของผู้ที่เคยทำบุญกับพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ 
 
หล่อหลวงปู่ทองคำ องค์ที่ ๗
 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล